พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

หลักทั่วไปแห่งพระพุทธศาสนา

                       พระพุทธศาสนาสอนหลักทั่วไปไว้ 3 ประการคือ
                      1.เว้นความชั่ว
                      2.ประพฤติความดี
                      3.ชำระจิตใจให้สะอาด
                   จากหลัก 3ประการนี้ จะสังเกตได้ว่าพระพุทธศาสนาสอนหนักเน้นในเรื่องความประพฤติปฏิบัติ ต่างจากศาสนาประเภทธรรมชาติเทวนิยม ที่สอนให้นับถือหรือบูชาเทวดาในธรรมชาติ เช่น ดินน้ำ ไฟ ลม พระจันทร์ พระอาทิตย์ หรือศาสนาประเภทเทวนิยม (Theism) ที่สอนให้เชื่อและมีความจงรักภักดีในพระเป็นเจ้าผู้สร้างโลก
                      วิธีจัดศาสนาประเภทต่างๆ
                     ในตำราว่าด้วยวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ได้มีคำอธิบายวิจัดประเภทศาสนาไว้หลายแบบ แต่แบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแบ่งศาสนาทั้งหมดนี้ในโลกออกเป็นพวกใหญ่คือ
                     1.ธรรมชาติเทวนิยม ศาสนาประเภทที่เชื่อหือบูชาเทวดาประจำธรรมชาติ
                     2.เทวนิยม ศาสนาประเภทที่เชื่อหรือบูชาเทวดาผู้สร้างโลก
                     3.อเทวนิยม ศาสนาประเภทที่ไม่เชื่อหรือไม่บูชาเทวดาผู้สร้างโลก
                    ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะได้อธิบายในรายละเอียดของศาสนาทั้ง 3 ประเภทเหล่านี้ เพื่อเทียบเคียงกับพระพุทธศาสนา ให้ทราบข้อคิดเห็นของพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึงศาสนาแต่ละประเภทนั้นๆ เป็นลำดับไป
                     1.ศาสนาที่บูชาเทวดาประจำธรรมชาติ หรือเชื่อว่าในธรรมชาติต่างๆ เช่นดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ ภูเขา ตลอดจนดาวนพเคราะห์ มีเทวดาประจำอยู่ ศาสนาประเภทนี้เรียก ธรรมชาติเทวนิยม ศาสนาประเภทนี้ไม่มีศาสดาเจ้าลัทธิเป็นตัวเป็นตนที่มีชื่อเสียงอะไร แต่ก็เป็นความเชื่อถือที่มีอิทธิพลฝังอยู่ในจิตใจของมนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ ชาวอินเดียโบราณ ชาวกรีกและโรมันโบราณ มีความเชื่อถือในเรื่องเทวดาประจำธรรมชาติอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่า พิธีลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน 12 ของไทยก็สืบมาจากความเชื่อของอินเดียโบราณที่ว่ามีเทวดาประจำแม่น้ำ การที่เราเททิ้งของโสโครกหรือถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในน้ำบางโอกาส เป็นการล่วงเกินพระแม่คงคา ถึงปีจึงควรมีการลอยกระทงเป็นการบูชาและขอขมา ในบัดนี้ชาวไทยนับถือศาสนาพุทธโยมีเหตุผลยิ่งขึ้น ความเชื่อถือที่เป็นฝ่ายธรรมชาติเทวนิยมและศาสนาพราหมณ์จืดจางลงไปมาก จึงมีผู้อธิบายเรื่องการลอยกระทงว่าเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวพุทธทำได้โดยไม่กระดากใจ ความเชื่อในเรื่องเทวดาประจำดาวพระเคราะห์ คือพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร เป็นต้นนั้น มีต้องกันทั้งฝ่ายอินเดีย กรีก และโรมัน ในปี พ.ศ. 2497 ผู้เขียนมีโอกาสไปดูเมือง "ปอมเปอี" อันตั้งอยู่ในประเทศอิตาลี เป็นเมืองที่มีภูเขาไฟพ่นถ่านเถ้ากลบทับเมืองของชาวโรมันโบราณ ยังได้เห็นซากโบสถ์ยูปีเตอร์ (พระพฤหัสบดี) ซึ่งถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา ความรู้ แม้การที่คนไทยเราถือกันว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครูก็สืบมาแต่ความเชื่อถือทำนองนี้
                       ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อศาสนาประเภทนี้ ปรากฏในพุทธภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งพระใช้เป็นบทสวดมนต์ตามวัดต่าง ๆ อันเป็นใจความได้ว่า “มนุษย์ที่ถูกความกลัวคุกคาม ย่อมยึดถือที่พึ่งต่าง ๆ กันมากมาย เช่น ภูเขา,ป่า,ต้นไม้,เจดีย์ (คำว่าเจดีย์ หมายถึงอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมีแพร่หลายในสมัยก่อนพระพุทธศาสนา และในสมัยพุทธกาล) ที่ซึ่งเช่นนั้นยังไม่ใช่ที่พึ่งอันปลอดโปร่ง อันนับได้ว่าเป็นที่พึ่งชั้นเลิศ พึ่งแล้วก็ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ แต่ผู้ใดนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เห็นอริยสัจ 4 ประการ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้ทุกข์เกิด เห็นความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่พึ่งนั้น จึงเป็นที่พึ่งอันปลอดโปร่ง อันนับได้ว่าเป็นที่พึ่งชั้นเลิศ พึ่งแล้วย่อมพ้นทุกข์ได้”
                        เมื่อวิเคราะห์ดูคำกล่าวของพระพุทธศาสนาข้อนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาชี้ไปที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตัวปัญญาที่รู้แจ้งประจักษ์ความจริงว่า อะไรเป็นทุกข์ และต้นเหตุของทุกข์แล้วหาทางดับทุกข์ให้ได้ว่า เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง การชี้ไปที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น ก็เห็นได้ว่าเป็นอันเดียวกับการชี้ไปที่ตัวปัญญาเห็นแจ้งความจริง เพราะพระพุทธเจ้าเองก็เคยทรงแสดงว่า “ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั่นชื่อว่าเห็นธรรม” อันบ่งว่าพระพุทธเจ้าไม่อื่นไปจากธรรม ธรรมไม่อื่นไปจากพระพุทธเจ้า ส่วนพระสงฆ์ที่แท้นั้น หมายถึง ผู้ตรัสรู้ธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางให้ ที่เรียกว่า อริยสงฆ์ ถ้าไม่ตรัสรู้ธรรมก็ยังไม่จัดเป็นอริยสงฆ์ ตกลงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง 3 ก็รวมลงเป็นหนึ่งได้ คือ รวมลงที่ธรรม การที่จะรู้แจ้งธรรมได้ก็ต้องอาศัยปัญญา และปัญญาที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนานั้น มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองลอย ๆ หากต้องอาศัยเหตุเกิด 3 ประการ การคิดนึก 1 การศึกษาสดับตรับฟัง 1 การลงมือปฏิบัติให้เกิดความรู้แจ้งประจักษ์ในผลนั้น 1 พระพุทธเจ้าเองที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ทรงอาศัยการฝึกฝนอบรมปัญญาในข้อสุดท้าย คือ ลงมือปฏิบัติทดลองอันผ่านการลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานานถึง 6 ปี จึงประสบผลสำเร็จในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ที่พึ่งชั้นสูงสุดทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่สิ่งภายนอก เช่น ต้นไม้ ภูเขา และสิ่งลึกลับอื่น ๆ แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมตนในทางที่ถูก เพื่อให้เกิดปัญญา ตรัสรู้สัจธรรมอันเป็นเหตุให้พันจากความทุกข์ และปัญญาที่ถูกต้องนั้นเอง จะทำให้เรารู้ว่าพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์มิใช่สิ่งภายนอก หากรวมลงเป็นหนึ่งที่สัจธรรมนั่นเอง
                        2.ศาสนาที่บูชาเทวดาผู้สร้างโลก คือ เชื่อว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ รวมทั้งตัวโลกต้องมีเทพผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่สร้างขึ้น มนุษย์ทั้งหลายจึงควรจงรักภักดี วิงวอนและขอพรจากพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์ มีอำนาจนั้นศาสนาประเภทนี้เรียกว่า เทวนิยม ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์ จัดเข้าในประเภทเทวนิยมนี้ เพราะแต่ละศาสนาแม้จะเรียกพระเจ้าไปคนละอย่าง ก็คงรวมลงในความเชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลกด้วยกัน ตามความรู้สึกของชาวยุโรปซึ่งเคยอบรมกันมาในทางให้เชื่อถือในเรื่องพระเจ้าสร้างโลก ถ้าใครสอนในทางตรงกันข้าม ก็รู้สึกเป็นการเสียหายอย่างร้านแรง ฉะนั้น ฝรั่งที่นับถือพระพุทธศาสนาในยุโรปเมื่อแต่งตำราว่าด้วยพระพุทธศาสนาจึงลังเลเอามาก ๆ ว่าจะกล่าวถึงพระพุทธศาสนาในทางไหนดี ทั้งนี้อาจกลัวจะจูงคนได้น้อย ถ้ากล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็น อเทวนิยม ไม่สอนว่ามีพระเจ้าสร้างโลก อย่างไรก็ตามบางคนก็กล้ากล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพราะถือว่าเป็นเรื่องของการหาเหตุผลใครจะมีความฝังใจอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
                       ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อศาสนาประเภทนี้ อาจอธิบายได้ด้วยคำพูดสั้น ๆ ว่า ศาสนาประเภทเทวนิยมเชื่อใน พรหมลิขิต คือ โชคชะตาของมนุษย์เราสุดแต่พระพรหมหรือพระเจ้าจะกำหนดให้ แต่พระพุทธศาสนาเชื่อใน กรรมลิขิต คือ การกระทำของเราเอง สร้างโชคดีโชคร้ายหรือความเจริญความเสื่อมให้แก่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้นในคำสอนทางพระพุทธศาสนา จึงไม่มีที่ให้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าหากสอนให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ สร้างความเจริญให้แก่ตน ด้วยความขยันหมั่นเพียรตามปกติธรรมดานี้เอง ความหนักเน้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงอยู่ที่การเว้นความชั่ว ประพฤติความดีและชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ดังได้กล่าวไว้แล้วในหลักทั่ว ๆ ไปแห่งพระพุทธศาสนา...
                         อาจมีคำถามขึ้นว่า พุทธศาสนิกชนก็มีการสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย และในบทสวดมนต์บางแห่งก็มีการขอพรเหมือนกัน เรื่องนี้ขอตอบว่า ผู้แต่งบทสวดมนต์ในชั้นหลังได้แทรกลงไปจริง แต่การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนานั้น เรื่องดั้งเดิมเป็นการท่องจำพระพุทธภาษิตหรือคำสั่งสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่บทสวดมนต์ เมื่อแปลออกแล้วจะเป็นเรื่องสอนในทางประพฤติ ปฏิบัติ เช่น มงคลสูตร สอนถึงข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อันเป็นสิริมงคล 38 ประการ กรณียเมตตสูตร สอนถึงการแผ่ไมตรีจิตไปในบุคคลและสัตว์ทุกประเภท อย่าคิดเบียดเบียนประทุษร้าย แม้พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่า ผู้ใดเกาะชายสังฆาฏิของพระองค์ ก็หาชื่อว่าเห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดบูชาด้วยเครื่องสักการะต่าง ๆ ก็หาชื่อว่าบูชาพระองค์ด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยมไม่ ผู้ใดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจึงชื่อว่าบูชาพระองค์ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม อันนี้เป็นการแสดงหลักพระพุทธศาสนาอย่างตรงไปตรงมา
                           เพราะฉะนั้น บทสวดมนต์ทางพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่จึงเป็นข้อความในพระไตรปิฎก อันเป็นหลักคำสอนต่าง ๆ ส่วนที่มีผู้แต่งขึ้นเป็นบทเบ็ดเตล็ดในภายหลังที่มีขอพรต่าง ๆ นั้น เป็นเรื่องเพื่อปลอบใจและทำใจให้สบาย และเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ใช่หลัการใหญ่ทางพระพุทธศาสนาเพราะถึงอย่างไรก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ถ้าบุคคลไม่ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ดีที่ชอบแล้ว ก็จะไม่ได้รับผลที่ดีที่ชอบ การสวดมนต์ที่แสดงถึงหลักความประพฤติปฏิบัติจึงเป็นเพียงการกล่าวถึงตำรายา ยังไม่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ การลงมือประพฤติปฏิบัติจึงเป็นการรับประทานยาซึ่งสำคัญกว่าและจำเป็นกว่า เพราะเป็นเงื่อนสำคัญที่จะให้หายโรคภัยไข้เจ็บอย่างแท้จริง
                         เป็นอันสรุปว่า พระพุทธศาสนาไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลกและไม่สอนเรื่องการมีฤทธิ์เดชดลบันดาลสร้างสรรค์ของพระเจ้า หากสอนให้มนุษย์สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเองด้วยการกระทำที่ดีที่ชอบของตนเอง
                        3.ศาสนาที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลก มีชื่อเรียกว่า อเทวนิยม ศาสนาพุทธ, และศาสนาเชนอยู่ในประเภทนี้ ศาสนาประเภทนี้แม้จะมีไม่น้อยกว่าสอง ก็หมายความเฉพาะหลักการใหญ่ที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลกเท่านั้น ส่วนหลักการปลีกย่อย และสาระสำคัญอย่างอื่นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
                          ศาสนาเชน (Jainism) เป็นศาสนาที่ศาสดาชื่อ มหาวีระ ตั้งขึ้นหรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าศาสนานิครนถ์ก็ได้ ศาสนานี้ปฏิเสธหรือคัดค้านเรื่องพระเจ้าสร้างโลกไว้รุนแรงมาก ปัจจุบันยังมีผู้นับถืออยู่หลายล้านคนในอินเดีย เป็นศาสนาระหว่างพราหมณ์กับพุทธ ไม่ตรงกับพราหมณ์ในเรื่องสร้างโลก ตรงกับพุทธในเรื่องสอนหลักอหิงสา คือ ไม่เบียดเบียน ไม่ตรงกับพุทธที่ศาสนาเชนสอนเรื่องอัตตา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา ศาสนาเชนแบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายนุ่งผ้าขาว (เศวตัมพร) กับนิกายไม่นุ่งผ้า (ทิคัมพร) แปลว่า นุ่งทิศ ที่เรียกว่า ชีเปลือย
                        พระพุทธศาสนาไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลก แต่มิได้สั่งสอนในลักษณะรุกรานศาสนาอื่น ด้วยเหตุนี้เอง ฝรั่งที่เขียนตำราทางพระพุทธศาสนาบางคนจึงพยายามอธิบายว่า พระพุทธศาสนามิได้เป็นอเทวนิยม และบางคนเพื่อจะตัดปัญหาเสียเลยจึงกล่าวว่า พระพุทธศาสนาไม่เป็นทั้งเทวนิยม (สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลก) ไม่เป็นทั้ง อเทวนิยม (ปฏิเสธเรื่องพระเจ้าสร้างโลก) ซึ่งตามความเห็นของข้าพเจ้าที่จัดพระพุทธศาสนาไว้ในประเภทอเทวนิยมนั้น ก็เห็นว่า เราพูดกันอย่างตรงไปตรงมาดีกว่า เพราะพระพุทธศาสนาไม่ต้องการคนนับถือเพียงเพราะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้าสร้างโลก หากสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล และลงมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักศีลธรรมและทางดับทุกข์เป็นประมาณ คนเราไม่จัดว่าดีหรือชั่ว เพราะเชื่อหรือไม่เชื่อในพระเจ้า แต่ดีชั่วเพราะการกระทำ และความประพฤติ และถ้าจะกล่าวกันอีกอย่างหนึ่ง ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่ค่อยต้องการคน ที่จะหันมานับถือโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่หลักธรรมข้ออื่น ๆ ที่สอนไว้ให้พิจารณาและปฏิบัติซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
                          เป็นอันว่าเรารู้จักวิธีจัดศาสนาต่าง ๆ ในโลกเป็น 3 ประเภทอย่างนี้ เราก็จะรู้ได้ว่าศาสนาประเภทไหนสอนหนักเน้นในเรื่องอะไร พระพุทธศาสนาที่เรานับถือต่างจากศาสนาอื่นอย่างไร ต่อไปนี้ จึงจะกล่าวถึงหลักการสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นลำดับไป...
                          ลักษณะการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 3 อย่าง
                          กล่าวตามแบบแผนทั่วไป การสอนของพระพุทธเจ้าแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ :-
                          1. ทรงสอนให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
                          2. ทรงสั่งสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้
                          3.ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ที่ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ
                         ในที่นี้ ข้าพเจ้าประสงค์จะตั้งข้อสังเกตเป็นส่วนตนเอง ในการสอนของพระพุทธเจ้า โดยแบ่งหลักการสอนออกเป็น 3 ประการเหมือนกัน คือ:-
                       1.ทรงสั่งสอนโดยการปฏิวัติ เป็นการ “เปลี่ยน” หลักคำสอนดั้งเดิมของศาสนาพื้นเมืองอย่างกลับหน้ามือเป็นหลังมือ
                         2.ทรงสั่งสอนโดยการปฏิรูป เป็นการสอนโดยวิธีดัด “แปลง” ของเก่าที่ยังไม่ดีให้ดีขึ้น หรือของเก่ามีความหมายอย่างหนึ่งแต่นำมาแปลความหมายเสียใหม่เพื่อให้ตรงกับหลักเหตุผลยิ่งขึ้น
                          3.ทรงสั่งสอนโดยตั้งหลักขึ้นใหม่ ที่ยังไม่มีสอนในที่อื่น แต่ก็เป็นไปตามหลักสัจธรรมที่ทรงค้นพบ
                          เพื่อที่จะขยายความแห่งหลักการสอน 3 ประการนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสอธิบายไว้ในที่นี้สักเล็กน้อย
                        1.การสอนโดยวิธีปฏิวัตินั้น หมายถึง การเปลี่ยนหลักการเดิมที่สอนกันมาทั้งหมด เช่น การสอนให้ฆ่าสัตว์บูชายัญของศาสนาพราหมณ์ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธและสอนในทางตรงกันข้าม ให้มีเมตตากรุณาต่อสัตว์แทน การสอนให้ทรมานตนในการปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณธรรมชั้นสูงพระพุทธเจ้าทรงทดลองมาแล้ว เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทางสอนให้ใช้วิธีอื่นที่เรียกว่าทางสายกลาง เป็นการอบรมกายวาจาใจในทางประพฤติปฏิบัติที่ชอบแทน การสอนว่ามีอัตตาตัวตนหรือที่เรียกว่าอาตมันเป็นหลักใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ทรงสอนในทางตรงกันข้ามที่เรียกว่า อนัตตาเพื่อไม่ให้ยึดมั่นในตัวตนแทน ในที่นี้ขอพูดแทรกเรื่องการปฏิวัติ (Revolution) สักเล็กน้อย คำนี้ใช้ใกล้กับคำว่าวิวัฒน์ (Evolution) ปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนอย่างกลับหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนวิวัฒน์หรือวิวัฒนาการ หมายถึง ความค่อย ๆ เจริญขึ้นทั้งในทางธรรมชาติและความเป็นอยู่ของมนุษย์ การสอนศาสนาของพระพุทธเจ้าบางครั้งมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนหลักการที่สอนกันอยู่ดั้งเดิมอย่างตรงกันข้าม ก็ต้องสอนในทำนองนี้ เพื่อจูงให้เข้าใจหลักที่แท้จริงทางพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
                          2.การสอนโดยวิธีปฏิรูป (Reform) คือ ดัดแปลงของเก่าให้ดีขึ้นโดยอธิบายความหมายใหม่บ้าง โดยให้เหตุผลใหม่บ้าง เช่น คำสอนเรื่องพราหมณ์ว่าได้แก่ผู้ประเสริฐโดยชาติกำเนิด คือ เกิดจากมารดาบิดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายใหม่ว่า คนเราไม่เป็นพราหมณ์หรือผู้ประเสริฐเพราะชาติสกุล แต่เป็นผู้ประเสริฐเพราะการกระทำหรือความประพฤติ ศาสนาพราหมณ์สอนว่าให้ลงอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วจะบริสุทธิ์จากบาปได้ พระพุทธศาสนาสอนให้อาบน้ำในแม่น้ำคือศีล ได้แก่ ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันเป็นการอาบที่ตัวไม่เปียกแต่ทำให้บริสุทธิ์สะอาดได้ดีกว่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวต่อไปว่าถ้าใครประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ แม้น้ำดื่มในถ้วยก็เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว เรื่องเทวดาจริง ๆ ที่สอนกันอยู่ทั่วไป พระพุทธศาสนาสอนว่าคนเราอาจเป็นเทวดาได้ โดยตั้งอยู่ในคุณธรรม เช่น ความละอายแก่ใจ ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นต้น
                         3.การสั่งสอนโดยตั้งหลักขึ้นใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นในเมื่อพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ตั้งขึ้นในท่ามกลางศาสนาอื่น ถ้าไม่มีอะไรเป็นของตนเองเลยก็ไม่ควรนับเป็นศาสนาที่ตั้งขึ้นใหม่ เพราะการค้นพบความจริงที่ยังไม่มีใครพบ ดังจะเห็นได้ในเรื่องหลักธรรมเรื่องความพ้นทุกข์ที่เรียกว่าอริยสัจ 4 ประการ เป็นหลักธรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ อันแสดงไว้ชัดทั้งเหตุและผล คือ การจะพ้นทุกข์ก็ต้องรู้ว่า อะไรเป็นตัวความทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุของมัน การดับความทุกข์คือดับอะไร และทำอย่างไร หรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ และหลักธรรมเรื่องอริยสัจนี้ พระองค์แสดงว่าได้ปฏิบัติมาแล้วด้วยพระองค์เองจนเกิดผลแล้วจึงได้ทรงนำมาสั่งสอน
                           จากข้อความที่กล่าวมาในบทนำพอเป็นสังเขปนี้ คงพอทำให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้เข้าใจในพระพุทธศาสนาขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น จะได้กล่าวถึงคุณลักษณะพิเศษแต่ละข้อของพระพุทธศาสนาในบทต่อ ๆ ไป ตามลำดับ
                          ในท้ายบทนำนี้ขอนำข้อความสั้น ๆ อันว่าด้วยคุณลักษณะพิเศษ 12 ประการแห่งพระพุทธศาสนามากล่าวไว้ เพื่อเป็นบทที่ตั้งในการอธิบายในบทต่อ ๆ ไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...