พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธเจ้าคือใคร

                    เมื่อกล่าวโดยรากศัพท์คำว่า “พระพุทธเจ้า” ในภาษาไทยเรามาจาก “พุทธ” ในภาษาบาลีซึ่งแปลว่า “ท่านผู้ตรัสรู้” คือรู้ประจักษ์ความจริงอันเป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง คำว่า “พระพุทธเจ้า” ที่แปลว่า“ท่านผู้รู้”นั้น มีความหมายที่พึงอธิบายได้เป็น 2 ประการคือ
                   1. ท่านผู้ตรัสรู้ ซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ได้แก่เจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางมหามายา ประสูติก่อนพุทธศก 80 ปี เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษาดืทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราหรือพิมพา เมื่อพระชนมายุ 29 ปี มีพระโอรสองค์หนึ่งชื่อ ราหุล และได้เสด็จออกทรงผนวชเพื่อทรงค้นคว้าสัจธรรมอยู่ถึง 6 ปี จึงได้ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ 35 ปี ครั้นตรัสรู้แล้วได้ประกาศพระพุทธศาสนาประดิษฐานสังฆมณฑลขึ้นเสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ เผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลาถึง 45 ปี จึงเสด็จดับขันธ์นิพพานเมื่อพระชนมายุ 80 ปี สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมครั้งแรกและปรินิพพาน ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ ซึ่งรัฐบาลอินเดียในปัจจุบันได้พยายามอำนวยความสะดวกในการตัดถนนทำทาง และสร้างที่พักสำหรับผู้จะไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งนั้น ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างบ้าง ศิลาจารึกบ้างเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลที่มีตัวจริงในทางประวัติศาสตร์
                    2. ท่านผู้ตรัสรู้ ซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งศาสดาเอกของโลก ใครก็ตามเมื่อบำเพ็ญบารมี คุณความดีต่างๆ โดยสมบูรณ์แล้ว ก็จะได้ตรัสรู้สัจธรรมเป็นพระพุทธเจ้าประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก กล่าวโดยหลักการแห่งพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้มีเพียงพระองค์เดียวที่เรานับถือในปัจจุบันเท่านั้น แต่มีมากมายนับจำนวนไม่ถ้วนทั้งในอดีตและอนาคต คือตลอดระยะกาลนานไกลนั้น ย่อมมีพระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมเกิดขึ้นเป็นคราวๆ หลักการนี้มองในแง่หนึ่งคล้ายเป็นความเชื่อแบบปรัมปรา แต่มองอีกแง่หนึ่งจะเห็นความจริงชัดขึ้นว่าตำแหน่งพระพุทธเจ้านี้มิได้ผูกขาดตัดตอนไว้เพื่อผู้ใดผู้หนึ่งไว้เฉพาะโครที่ทำความดีไว้มากจนสมบูรณ์ ก็มีโอกาสได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นหลักกลางๆ สำหรับทุกคน และเป็นหลักที่มีเหตุผล เพราะในคนจำนวนมากเมื่อมีความตั้งใจทำความดี สักวันหนึ่งก็คงมีใครที่สามารถบรรลุผลของความดีนั้น
                    หลักการนี้แสดงว่า การเป็นพระพุทธเจ้ามิใช่การชุบมือเปิบหรือเป็นการได้ดีอย่าลอยๆ ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด และต้องมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอยจึงจะประสบความสำเร็จ อีกประการหนึ่ง มีฝรั่งบางคนเขียนหนังสือกล่าวถึงพระพุทธศาสนาไว้ว่า เป็นศาสนาของมนุษย์ ไม่ใช่ของเทวดา จึงสู้ศาสนาของเขาไม่ได้ ตามความรู้สึกของข้าพเจ้า การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของมนุษย์และการที่มนุษย์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้เป็นที่น่าพอใจยิ่งนัก เพราะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ประกอบด้วยเหตุผล ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่โลกเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ มนุษย์มักจะมองเรื่องของเทพนิยายเป็นเรื่องไม่มีอะไรจริงจังหรือเป็นเพียงนิทานไป
                 การที่มนุษย์คนหนึ่งมีความพากเพียรพยายามในการสร้างคุณงามความดีจนประสบผลแห่งความเพียรพยายาม แล้วสั่งสอนชาวโลกตามความจริงที่ค้นพบนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และเป็นตัวอย่างจูงใจให้ทุกคนไม่ทอดอาลัยปล่อยชีวิตไปตามบุญตามกรรม พูดง่ายๆก็คือ เป็นตัวอย่างที่คนอื่นๆ อาจปฏิบัติตามได้ ไม่เป็นการผูกขาดสำหรับใครเพียงผู้เดียว
                   ท่านผู้ตรัสรู้ 3 ประเภท
                   ท่านผู้ตรัสรู้หรือ “พุทธ” นั้นกล่าวโดยประเภท แบ่งออกเป็น 3 คือ
                  1. สัมมาสัมพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้ด้วยตนเอง แล้วสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วยประเภท นี้ได้แก่ พระพุทธเจ้า ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก
                  2. ปัจเจกพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้จำเพาะตน ไม่สามารถตั้งหลักคำสอนขึ้น ประเภทนี้ ได้แก่ท่านผู้บำเพ็ญบารมีรองลงมาจากพระพุทธเ แม้ตัวท่านเองสามารถตรัสรู้ได้ ก็ไม่สามารถตั้งศาสนาขึ้นได้
                  3. สุตพุทธะ หรือ สาวกพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้ที่อาศัยฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้ชั้นสาวก หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนุพุทธะ แปลว่า ท่านผู้ตรัสรู้ตาม มิใช่ตรัสรู้ด้วยตนเอง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...