พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งยุคปัจจุบัน

               
                 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มีนามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่ตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 9 คน ของนายสำราญ - นางชุนกี อารยางกูร ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย และมีกิจการโรงสีไฟ พระพรหมคุณาภรณ์ได้รับอิทธิพลดำเนินชีวิตด้วยครรลองคลองธรรมจากบิดามารดามาแต่เยาว์
           การศึกษาเริ่มศึกษาจากโรงเรียนอนุบาล ที่ตลาดศรีประจันต์ เรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ เมื่อจบประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาพาไปจังหวัดพระนคร เพื่อเข้าศึกษาต่อโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา แต่พักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ ได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ความใส่ใจของท่านเรื่องของการศึกษา แม้จะยังเป็นเด็กอยู่ แต่เมื่อ ด.ช.ประยุทธ์กลับบ้านขณะปิดเทอม ได้นำวิชาความรู้มาสอนน้องๆ จนสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
              สุขภาพของท่านไม่ดีมาแต่เด็ก เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ โดยมีพระครูเมธีธรรมสาร เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นจึงศึกษาเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2496 ได้กลับกรุงเทพฯ มาสังกัดวัดพระพิเรนทร์ สอบไล่ได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม จนได้เปรียญธรรม 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ให้อุปสมบทในฐานะ นาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (กิตติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้น ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้นามฉายาว่า "ปยุตฺโต" แปลว่า ประยุกต์ หรือประกอบ, ผู้เชี่ยวชาญวิทยาการ
              ภายหลังศึกษาต่อจนรับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2505 และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม. เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษา 10 สถาบันรวม 11 ปริญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยร่วม 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2507-2517 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ระหว่าง พ.ศ. 2515-2519
               พระพรหมคุณาภรณ์เป็นพระเถระที่ศึกษาดี มีจรรยาวัตรงดงาม สมบูรณ์ด้วยศีล มีนิสัยใฝ่รู้เป็นปราชญ์ ได้รับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณเป็นอันมาก ทั้งในฐานะผู้คุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา วงการศึกษา วัฒนธรรม และการศึกษาเพื่อสันติภาพของโลก
                บนเส้นทางชีวิตของพระคุณเจ้าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จาก ด.ช. ประยุทธ์ อารยางกูร ที่รูปร่างค่อนข้างจะบอบบาง ขี้โรค มีอุปนิสัยช่างสังเกต นุ่มนวล ประณีต รักงานช่าง และ มีจิตใจที่อ่อนโยนเป็นกุศล จากครอบครัวที่มีฐานะปานกลางของอำเภอศรีประจันต์ ที่มีพ่อเป็นผู้ที่สนใจใฝ่ธรรม ส่งเสริมในแนวทางที่ลูกมีใจรักและศรัทธา และได้บวชเรียนให้ตั้งแต่อายุ 13 ปีด้วยความขยันหมั่นเพียรและศรัทธาในพระพุทธศาสนา เส้นทางในชีวิตบรรพชิตจึงเรียบง่าย นุ่มนวล งดงาม และสงบ ประสบความสำเร็จอย่างน่าพิศวง จากการทำงานหนักทั้งในการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นชัดถึงสัจธรรมที่ว่า "ความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" และคำพังเพยที่ว่า "ฝนทั่งให้เป็นเข็ม"
                จากประวัติชีวิตย่อมแสดงให้เห็นความเป็น "คนที่หาได้ยากยิ่ง" ที่จะประสบความสำเร็จได้สูงสุด เป็นสามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นพุทธศาสตร์บัณฑิตขั้นยอดเยี่ยมย่อมแสดงถึงความรู้ความคิดที่ปราดเปรื่องแตกฉาน มีความเพียรพยายามที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเล่าเรียนที่ควรเป็นแบบอย่างที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง 2 ปี หลังจากจบการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือ 1 ปี หลังจากสอบวิชาชุดครู พ.ม. ก็ได้ทำงานในตำแหน่งรองเลขาธิการณ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยต่อเนื่องมาอีก 10 ปี
              เพราะประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาสงฆ์ที่ยาวนาน และอยู่ในช่วงของการบุกเบิกวางรากฐานและการแก้ ปัญหาหนักนานาประการ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าและความเป็นปึกแผ่นให้กับสถาบันซึ่งสืบทอดต่อเนื่องมาเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจนปัจจุบันนี้ ท่านจึงเป็น "หนึ่งในครูที่มีค่ายิ่งในวงการสงฆ์ไทย"
               เส้นทางที่ต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของสงฆ์ ที่เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่ต้องเปิดตัวให้กับปัญหาสังคมของบ้านเมืองของโลกมากขึ้น การผสมผสานความคิดฝ่ายเปรียญธรรมดั้งเดิมให้เข้ากับการศึกษาวิชาการทางโลก และการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อให้หลักสูตรการศึกษาทางพุทธศาสนามีคุณค่า มีความงดงาม เหมาะสม และกลมกลืนกับยุคสมัย เป็นความรับผิดชอบและความจำเป็นที่ส่งเสริมให้ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น ต้องใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา และแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และคงมีส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้ต้องทำงานหนักอย่างยิ่ง ต้องใคร่ครวญครุ่นคิดทั้งลุ่มลึกและกว้างไกลในศาสตร์ต่างๆ จนมีความรู้แจ้งในปัญหาต่างๆ ได้อย่างอัศจรรย์
            จากความสำเร็จของสถาบันที่ท่านมีส่วนรับผิดชอบและวางรากฐานในตำแหน่งรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จากการเป็นเจ้าอาวาสวัดพิเรนทร์ จากการบรรยายธรรมในโอกาสต่างๆ จากการอภิปรายร่วมกับนักคิด นักวิชาการในวงการต่างๆ จากการที่ได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศให้ไปปาฐกถาธรรม จากการแสดงทัศนะต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยความรอบคอบ รัดกุมที่เปี่ยมไปด้วยสาระในแนวทางที่เป็นกลาง ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นมัชฌิมา และเมตตาต่อทุกฝ่ายได้มีส่วนในการทำให้เกิดแสงสว่างแห่งปัญญา ในการมองปัญหาได้อย่างแจ่มแจ้งจนนำไปสู่การยุติปัญหาและข้อโต้แย้งปรับบรรยากาศในสังคมจากความขัดแย้ง รุนแรง ร้อนระอุเป็นเย็นสงบ
                 ดังที่ได้เคยปรากฏและทราบกันอยู่แล้วหลายครั้ง จากหนังสือตำราต่างๆ ที่ได้ร้อยกรองไว้มากมายจนแทบไม่น่าเชื่อทั้งส่วนที่ถือเป็นตำราแม่บทที่ใช้อ้างอิงได้ในวงการพุทธศาสนาเช่น หนังสือ "พุทธธรรม" ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เพชรน้ำเอก" ของวงการพุทธศาสนาของโลก ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่มีคุณค่ายิ่งและยากยิ่งที่จะร้อยกรองได้ จากหนังสือเล่มนี้แสดงถึงสภาวะของการใช้ความพากเพียรอย่างยิ่ง การมีศรัทธาอย่างแก่กล้ามีพื้นฐานที่หนักแน่น เหมาะสม มีการวางแผนการเขียนอย่างรอบคอบ รัดกุม ความอดทนทำงานหนัก ความมีวินัยที่จะทำตามแผน การสู้งาน และความเพียรพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้งานที่ยากยิ่งนี้สำเร็จได้
                    นอกจากนี้ยังมีหนังสืออื่นอีกร่วม 300 เล่ม และมีปาฐกถาธรรมอีกมากมายนับพันเรื่อง ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งโดยการอ่าน การฟังธรรมบรรยาย และการฟังเทปบันทึกเสียงหนังสือจำนวนมากได้รับการพิมพ์เผยแพร่เล่มละหลายๆ ครั้งตามความเหมาะสม และมีหลายเล่มได้มีการพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศ เฉพาะหนังสือธรรมนูญชีวิตมีการพิมพ์กว่า 200 ครั้ง และมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
                   เพราะผลงานที่มีคุณค่ายิ่งดังที่กล่าวโดยสรุปนี้ และเพราะเป็น "พระผู้ให้ ผู้มีเมตตาสูง" ยึดแนวมัชฌิมาปฏิปทาในการมองและวิเคราะห์ปัญหา มีโยนิโสมนสิการที่เฉียบคม มีความเป็นกัลยาณมิตรกันคนทั้งหลาย และเป็นกัลยาณมิตรที่ให้ปัญญาให้ธรรมะ เป็นแสงสว่างของชีวิตอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย
                   แม้สุขภาพของพระคุณเจ้าจะไม่สู้เข็งแรงนัก แต่ก็ดูประการหนึ่ง "งานเป็นโอสถวิเศษ" ตลอดเวลาเกินกว่า 50 ปี ในเพศบรรพชิตท่านได้อุทิศตนเพื่อประกาศพุทธธรรมเพื่อเป็นแสงสว่างแก่มนุษยชาติ เพื่อขจัดอวิชชา เพื่อการแก้ปัญหา เพื่อลดละกิเกสตัณหา เพื่อสามัคคีและเมตตาธรรม เพื่อความสุขสงบเย็นของผู้รับ ของหมู่ชน และสังคมส่วนรวมทั้งในระดับชาติและประชาคมโลก แนวทางในการสอนและจริยวัตรอันงดงาม เรียบง่ายของพระคุณเจ้าจึงเป็นไปในเส้นทางของการศึกษาเพื่อสันติภาพโดยแท้
                 จากความลุ่มลึกกว้างไกลในศาสตร์ต่างๆ ซึ่งครอบคลุมปัญหาทั้งหลาย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลอดเส้นทางเดินของพระคุณเจ้า ได้มีส่วนสร้างสรร สั่งสม ข้อคิด ข้อปฏิบัติที่เหมาะสมและมีคุณค่ายิ่งบนรากฐานของพุทธธรรม เป็นปัญญา เป็นแสงสว่าง เป็น "หยาดเพชร หยาดธรรม" เกิดประโยชน์มหาศาลแก่มนุษยชาติ และได้รับเรียกขานว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งสยาม
                  ต้องถือว่าเป็นโชคดีของชาติไทยและของโลก ที่มีคนที่ทุ่มชีวิตจิตใจศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งจริงจัง ทำงานหนักด้วยศรัทธาอย่างต่อเนื่องไม่ท้อถอย ประพฤติปฏิบัติตนเป็น "พุทธสาวกที่มีคุณค่าและหาได้ยากยิ่ง" ที่ได้พากเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติภารกิจเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาที่ถูกต้องให้แก่มวลมนุษยชาติ จนได้รับรางวัลอันมีคุณค่าและมีเกียรติยิ่ง คือ รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากยูเนสโก ซึ่งยืนยันว่าผลงานของพระคุณเจ้าในการเผยแพร่พุทธธรรมได้รับการยอมรับในระดับโลก พระคุณเจ้าเองก็เป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลกและเป็นคนไทยคนแรกในโลกที่ได้รับรางวัลนี้
                 และย่อมถือได้ว่าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) นั้นเป็นคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งของโลกในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังต่อเนื่องตลอดมา เพื่อให้เกิดสันติภาพโดยใช้กระบวนการการศึกษา เป็นการชี้ทางเลือกอันสำคัญและมีคุณค่ายิ่งให้แก่โลกอีกทางหนึ่งที่มนุษชาติควรแสวงหาแนวทางให้การศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพโลก เพราะคุณค่าของผลงานที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นปกติพระคุณเจ้าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จึงได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงถึง 10 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับรางวัลอันมีเกียรติและน่าชื่นชมอีกเป็นอันมาก
                 พระเดชพระคุณท่าน เป็นบุคคลตัวอย่างที่สามารถยืนยันแก่ชาวโลก ผู้ร่วมสมัยได้อย่างชัดเจนว่า หลักพุทธธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ร่วม 2,600 ปีแล้วนั้น ยังคงเป็นอมตะ และเป็นอกาลิโก สามารถน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลดีอย่างแท้จริงได้ ทั้งแก่ส่วนบุคคล สังคมประเทศชาติ มนุษยชาติ ตลอดจนธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้
                  ในมหามงคลวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา เมื่อวันที่ 12 ส.ค. พ.ศ. 2547 นี้ ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
                   พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส วัดพระพิเรนทร์ ระหว่างปี พ.ศ. 2515-2519 ต่อมาท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดา และในปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งท่านได้จัดสภาพแวดล้อมของวัดให้ร่มรื่นด้วยไม้นานาพรรณ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูป แบบต่างๆ ให้ผู้มาวัดรู้สึกสบายใจกับบรรยากาศของวัด สมกับเป็นวัดในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นแหล่งเผยแพร่ความดีและปัญญา ตลอดจน ความสงบร่มเย็นสันติสุขให้แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป
                ปัจจุบันท่านเจ้าคุณเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และดูแลสถานสำนักสงฆ์สายใจธรรม บนเทือกเขาสำโรงดงยาง ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
               ''พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งยุคปัจจุบัน ''
                พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งยุคปัจจุบัน ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่ง และยอมรับอย่างกว้างขวางจากชาวไทยและชาวโลก ทั้งจากชาวพุทธและผู้ที่นับถือศาสนาอื่น
               พระเดชพระคุณท่านเป็นบุคคลตัวอย่าง ที่ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีวัตรปฏิบัติที่อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความสำคัญและความสนใจแก่ผู้ที่เข้าพบโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา ผิวพรรณ และเพศ
             เป็นพระสงฆ์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อวงการพระพุทธศาสนา และสังคมของมวลมนุษย์อย่างหาที่เปรียบได้ยาก ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องแห่งธรรมวินัย ปกป้องภัยพระพุทธศาสนาทั้งภายนอกและภายใน
               ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ สิริอายุ 68 พรรษา 45 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม และสถานสำนักสงฆ์สายใจธรรม เทือกเขาสำโรงดงยาง ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
              อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ที่ตลาดศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 9 คน
               ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย มีกิจการโรงสีไฟ ตัวท่านได้รับอิทธิพลการดำเนินชีวิตด้วยครรลองคลองธรรมจากบิดามารดามาแต่วัยเยาว์
          เริ่มเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลที่ตลาดศรีประจันต์ เรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ เมื่อจบประถมศึกษาแล้วโยมบิดาพาไปจังหวัดพระนคร เพื่อเข้าศึกษาต่อโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา แต่พำนักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์
                ได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการเป็นประจำ แต่ด้วยสุขภาพไม่ดี เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้กลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ โดยมีพระครูเมธีธรรมสาร เป็นพระอุปัชฌาย์
                  จากนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ.2496 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร เป็นรูปที่ 2 แห่งรัชกาลปัจจุบัน
                  จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฐานะนาคหลวง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2504 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดเบญจมบพิตร ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
                 ได้รับฉายานามว่า ปยุตฺโต อันมีความหมายว่า ผู้เชี่ยวชาญวิทยาการ
                ภายหลังอุปสมบทได้มุ่งมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม พ.ศ.2505 สำเร็จการศึกษาปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2506 สอบได้วิชาชุดครู พ.ม.
                พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระเถระที่ศึกษาดี มีจริยาวัตรงดงาม สมบูรณ์ด้วยศีล มีนิสัยใฝ่รู้เป็นปราชญ์ ขณะเดียวกันเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เป็นรองเลขาธิการมหาวิทยาลัย ขณะที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ด้วย
               ท่านได้อุทิศตนให้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งด้านการบรรยาย ทางวิชาการ การแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดจนงานด้านนิพนธ์ เอกสารวิชาการ และตำราจำนวนมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
                ความใฝ่รู้ ใฝ่ค้นคว้าวิจัย ทำให้พระพรหมคุณาภรณ์ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และพระคัมภีร์ชั้นรองอื่นๆ เสมอมา พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าศาสตร์ต่างๆ ทางโลกทั้งมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์
               จนมีความรู้อย่างแตกฉานลึกซึ้ง สามารถแต่งตำรา และบรรยายทั้งหลักพระพุทธศาสนาโดยตรง และพระพุทธศาสนาประยุกต์ กับวิชาการต่างๆ ทางโลกแทบทุกสาขา ดังปรากฏหลักฐานจากการแต่งหนังสือกว่า 312 เรื่อง และการบรรยายนับพันครั้ง
                ผลงานเขียนทุกชิ้นจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ทั้งร่างโครงการ หาข้อมูล ดำเนินการ จนกระทั่งงานเสร็จสมบูรณ์ บางชิ้นใช้เวลา 7 วัน บางชิ้นร่วมเดือน สองสามเดือน ปีหนึ่ง หรือมากถึง 3 ปี
                 โดยเฉพาะหนังสือ "พุทธธรรม" ซึ่งถือเป็นผลงานเพชรน้ำเอก
                 จากการเตรียมข้อมูลดี ทำให้งานเพียบพร้อมสมบูรณ์และออกมาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งหนังสือ ตำรา เทป-ซีดี ร่วม 1,000 เรื่อง
               นอกจากงานด้านนิพนธ์แล้ว ยังได้รับการอาราธนาให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาในการประชุมนานาชาติขององค์กรระดับโลกหลายครั้งหลายครา
                 อีกทั้งยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ พ.ศ.2537 จากยูเนสโก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้รับรางวัลนี้ ถือเป็นการสร้างเกียรติประวัติ และชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก
                ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2512 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิโมลี พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชวรมุนี
               พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพเวที
               พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมปิฎก
               พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นพรหม ที่พระพรหมคุณาภรณ์
             ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านมีอาการเจ็บป่วยต่างๆ นานามากมายหลายโรค แต่ไม่เป็นผลกระทบด้านจิตใจ ท่านยังคงทำงานทุกอย่างด้วยความตั้งใจและความเพียรอย่างเข้มแข็ง
              เพราะความเป็นปราชญ์ทรงภูมิ ท่านจึงมักได้รับนิมนต์ไปเทศน์หรือการแสดงปาฐกถา แต่ทุกวันนี้ต้องงดเสียส่วนใหญ่เพราะสุขภาพอ่อนแอ เนื่องจากสภาพปัญหาทางกายภาพของท่าน อาทิ ปัญหาทางสายตา โรคหัวใจ ความดันโลหิต เป็นต้น
              ตลอดระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมาท่านจึงงดรับกิจนิมนต์ แม้แต่ภายในวัดก็ไม่ได้ออกมาร่วมพิธีทั่วไป เว้นแต่ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือในวาระจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
              นับตั้งแต่ท่านเริ่มอาพาธ โดยเฉลี่ยสามารถเขียนหนังสือได้ถึงเดือนละ 2 เล่ม ส่วนมากเขียนขึ้นจากคำบรรยายที่นำมาถอดเทป เรียบเรียง ตรวจทาน และปรับสำนวนใหม่ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจง่าย
             ผลงานใหม่ของท่านยังมีออกมาให้เห็นเป็นระยะ อาทิ รัฐศาสตร์แนวพุทธ ตอนจริยธรรมนักการเมือง, หนังสือชุดธรรมะประยุกต์สำหรับคนทำงาน ประกอบด้วย อาทิ นรก-สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่, รักนั้นดีแน่ แต่รักแท้ดีกว่า, ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น และงานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข เป็นต้น
           นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่ได้มีการแยกหมวดหมู่ไว้อีกมากมาย รวมทั้งหนังสือที่ท่านได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษอีกหลายเล่ม
            ทั้งนี้ วัดญาณเวศกวันได้มอบหมายให้มูลนิธิพุทธธรรม 87/126 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 เป็นผู้ดำเนินการจัดจำหน่าย เพื่อความสะดวกในการติดต่อของญาติโยมทั้งหลาย
             ทุกวันนี้ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ยังคงมิได้หยุดนิ่งต่องานวรรณกรรมศาสนาแต่อย่างใด
เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาโดยแท้
              ที่มา http://www.watnyanaves.net/th/home







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...