พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา

                       1.แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกหมด ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากอยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริง ๆ
                        2.พระพุทธศาสนา เป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยจนทุกวันนี้
                        3.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือ ไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ และความหลง
                       4.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุชาติและวงศ์สกุล โดยไม่ตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลต่ำสูง ยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้าม คือ ล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้จะเกิดในสกุลสูง กับได้ว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ
                      5.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ โดยวิธีฆ่าสัตว์ หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ
                       6.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้สู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย แล้วให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน โดยชี้ไปที่ความประพฤติปฏิบัติว่าทำคนให้เป็นเทวดาได้
                      7.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยดี และสอนให้แก้ที่ตัวเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิต ก็ให้หัดแผ่เมตตาในตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
                       8.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นพระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาและการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสนาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้
                      9.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อน ด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล
                      10.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้รู้จักพึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี ในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิดแต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลักเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฏแห่งกรรม (Law of Karma) อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมนับถือมากขึ้น
                      11.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเดียวในโลกที่กล้าปฏิเสธตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งชาวโลกถือกันว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย (Science of Sciences) โดยได้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่า แน่นอนกว่าพร้อมทั้งให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจน
                     12.พระพุทธศาสนา  มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอนตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิชาวิทยาศาสตร์ของโลกะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้น
                      ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาเจริญยั่งยืนมาได้ถึง 2500 ปี หรือร้อยปีที่ 25 ที่เรียกว่า 25 พุทธศตวรรษ โดยนับ พ.ศ. 1 ตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วเป็นต้นมา ถ้าจะนับย้อนหลังเข้าไปถึงระยะเวลา 45 ปีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และเสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในคามนิคมชนบทราชธานีต่างๆ ด้วย ก็นับได้ว่าพระพุทธศาสนาดำรงมาด้วยดีจนย่างเข้าศตวรรษที่ 26 ได้ 45 ปีแล้ว
                    เฉพาะในประเทศไทย ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่า พระพุทธศาสนาแพร่มาถึงเมื่อ 2 พันปีล่วงมาแล้ว โดยประดิษฐานที่นครปฐมเป็นเบื้องแรก ก่อน พ.ศ. 500 การค้นพบศิลาสลักเป็นรูปกวางและรูปธรรมจักรอันเป็นเครื่องหมายแห่งการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกหรือปฐมเทศนาเนื้อหาแห่งพระธรรมนั้นมีชื่อเรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อคือพระธรรม) การสลักหินเป็นรูปล้อรถจึงหมายถึงธรรมจักรหรือวงล้อ คือพระธรรมและการสลักรูปกวางก็เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าการแสดงธรรมครั้งแรกนั้นได้กระทำ ณ ป่ากวาง (มิคทายะ แยกเป็น"มิคะ" แปลว่าเนื้อหรือกวาง "ทายะ" แปลว่าป่า จะแปลสั้นๆ ว่าป่าเนื้อหรือป่ากวาง หรือแปลเติมว่าป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อหรือกวางก็ได้ แสดงว่าคนโบราณเมื่อ 2 พันปีเศษมาแล้ว ได้รู้จักความหมายของคำว่า “ป่าสงวน” เป็นอย่างดี)
                    ก่อนที่จะเกิดการสร้างพระพุทธรูปต่างๆ นั้น มนุษย์ได้สร้างรูปธรรมจักรบ้าง กวางบ้าง พระบาทของพระพุทธเจ้าบ้างเป็นเครื่องหมายในพระพุทธศาสนา โบราณวัตถุที่ขุดพบ ณ บริเวณพระปฐมเจดีย์ แสดงว่าสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งประเทศอินเดียได้นำพระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยเมื่อ 2 พันปีเศษมาแล้วเวลา 2 พันปีเศษ ไม่ได้ให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยกลายเป็นของโบราณ หรือล้าสมัยแต่ประการใด กลับปรากฏว่าในปัจจุบันนี้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นโดยลำดับ
                    จำนวนวัดมีประมาณ 2 หมื่นวัด ภิกษุและสามเณรประมาณ 2 แสนรูป จำนวนผู้สมัครเข้าสอบนักธรรมและธรรมศึกษาประจำปี ซึ่งมีทั้งพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ไม่น้อยกว่า 1 แสน 5 หมื่นมาหลายปีแล้ว พุทธสมาคมและยุวพุทธิกสมาคมพร้อมทั้งเครือสมาคมและสาขาในพระนครและต่างจังหวัด กำลังขยายกิจการอยู่เรื่อยๆ ข่าวการแสดงปาฐกถาสนทนาธรรม และแสดงพระธรรมเทศนาอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เป็นข่าวประจำวันทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ ทางราชการประกาศหยุดราชการในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนไปรักษาศีล ฟังธรรม และบำเพ็ญการกุศล พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศชาติ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา โดยมีประชาชนจำนวนแสนห้อมล้อมรถพระที่นั่งเมื่อเสด็จกลับจากการประกอบพิธี ทางราชการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษเป็นการใหญ่ ประมวลเหตุการณ์เหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากแก้วลงในประเทศไทยมั่นคงเพียงไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...