พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทที่ 3 การเลิกทาส

               “พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือ ไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ และความหลง”
              ประเพณีการมีทาสไว้ใช้ และการซื้อทาสขายทาสนั้นดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วไปในโลก
             ผู้ที่สนใจในปัญหาเรื่องระบบทาสโดยเฉพาะ ได้แสดงรายละเอียดไว้ในที่หลายแห่งด้วยกัน ในการค้นรายละเอียดเรื่องทาสอันเป็นปัญหาของโลกนี้ ข้าพเจ้าได้อาศัยหนังสือ Encyclopaedia of Social Sciences หนังสือ The New Popular Encyclopaedia กับหนังสือ Encyclopaedia Britannica และบรรดาหนังสือประวัติศาสตร์ รวมทั้งหนังสือกฎหมายเก่า ๆ ประกอบกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้ค้นหลักฐานทั้งวินัยปิฏกและสุตตันตปิฏก
            ในเรื่องที่มาของความเป็นทาส หรือทางที่คนเราจะกลายเป็นทาสนั้น ได้มีผู้ประมวลไว้ว่ามี 5 ประเภท คือ :-
              1.เป็นทาสโดยสายโลหิต คือ พ่อแม่เป็นทาส มีลูก ลูกนั้นก็กลายเป็นทาสด้วย โดยเจ้าของทาสนั้นถือเป็นสมบัติพลอยได้ของตน (Birth)
            2.พ่อแม่แม้ไม่เป็นทาส แต่เพราะยากจนหรือมีความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งขายลูกของตนไปให้เป็นทาสของผู้อื่น (Sale of children by theirfree parents)
              3.มีการสงครามเกิดขึ้น ฝ่ายชนะกวาดต้อนคนไปเป็นทาส (Capture in war)
              4.ทำการโจรสลัด หรือลักพาตัวคนมาเป็นทาส (Piracy or kidnapping)
             5.การค้าทาสที่ทำกันเป็นอาชีพเป็นล่ำเป็นสันทั้งในกรีกและประเทศอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดการนำคนมาเป็นทาส ด้วยวิธีต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก (Commerce)
             แต่เมื่ออ่านบทที่ 2 ของหนังสือเรื่องนี้มาแล้ว เชื่อว่าทุกท่านคงเห็นพ้องกันว่าควรเพิ่มได้อีก 1 ข้อ เป็นข้อที่ 6 คือ การที่คนเป็นหนี้ผู้อื่นแล้วไม่มีทางจะใช้ หรือใช้ได้ไม่ทันตามกำหนด มีกฎหมายของกรีกและโรมันโบราณที่อนุญาตให้เจ้าหนี้เอาลูกหนี้เป็นทาสได้ โดยเฉพาะกฎหมายอันรับรองสิทธิของเจ้าหนี้ ให้นำลูกหนี้เป็นทาสได้นี้ โซลอนได้เป็นผู้ประกาศเลิกล้มเมื่อ 594 ปีก่อน คริสตศก ส่วนกฎหมายของโรมันอันว่าด้วยเรื่องนี้ยังคงอยู่ต่อมาอีกนาน อย่างไรก็ตาม การเลิกกฎหมายกำหนดความเป็นทาส เพราะหนี้สินมิได้หมายความว่าเลิกล้มระบบทาสแบบอื่น เพราะฉะนั้น การซื้อทาสขายทาสจึงคงมีอยู่ทั่วไป
              แต่อันที่จริงยังมีทาสอีก 2ประเภท ซึ่งอาจจัดได้เป็นประเภทที่ 7 และประเภทที่ 8 คือ ประเภทที่ 7 ได้แก่บุคคลผู้สมัครขายตัวไปเป็นทาสผู้อื่น เพื่อนำเงินไปให้มารดาบิดาเป็นการสนองคุณ เพื่อให้มารดาบิดาใช้หนี้ผู้อื่นบ้าง บุคคลบางคนมองไม่เห็นทางว่า ตนเองจะเป็นอยู่ได้อย่างไร เพราะไม่มีอาชีพ ไม่มีทุน เป็นทาสของผู้อื่นยังได้อาศัยเป็นทางเลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องปากเรื่องท้อง ก็สมัครใจไปเป็นทาสเองบ้าง ประเภทที่ 8 ได้แก่ ทาสกรรมกร (Forced labour) คือผู้ที่ถูกบังคับให้ทำงานแบบทาส ทั้ง ๆ ที่มิได้เป็นทาส อันเป็นเรื่องที่แม้ในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ในหลายประเทศ และเป็นปัญหาที่สหประชาชาติก็พยายามอย่างยิ่งที่จะกำจัดให้หมดไป ความพยายามเหล่านี้ได้ปรากฏผลออกมาอย่างหนึ่ง คือ การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1938) ซึ่งมีข้อความอันต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การจับกุมตามอำเภอใจ, ระบบทาส, ทาสกรรมกร (Forced labour) เป็นต้น ปรากฏว่า ในการลงมติรับรองประกาศนี้ มีคะแนนรับรอง 48 ประเทศ ไม่มีประเทศไหนคัดค้านเลย มีแต่ประเทศที่งดไม่ออกเสียงบางประเทศ ซึ่งมิใช่ความมุ่งหมายของหนังสือนี้ที่จะระบุว่าประเทศไหนบ้าง
              เมื่อพูดถึงระบบทาสแล้ว ก็ใคร่จะนำท่านผู้อ่านให้ได้ความรู้เบ็ดเตล็ดเรื่องทาสต่อไปอีกสักเล็กน้อยชนชาติเฮบรูโบราณ มีธรรมเนียมให้มีทาสไว้ใช้ได้ แม้จะเป็นชนชาติเดียวกัน แต่เมื่อครบ 7 ปีแล้ว ก็ปลดปล่อยให้เป็นอิสระพร้อมทั้งให้ข้าวของเครื่องใช้รวมทั้งปศุสัตว์ แต่ถ้าทาสนั้นยังพอใจจะอยู่กับนายของตนต่อไป ก็จะได้รับการเจาะหูเป็นที่ระลึกแห่งการอาสาสมัครเป็นทาส การเจาะหูและสวมห่วงหูเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นทาสในสมัยโบราณ
               มีคำกล่าวว่า ทาสในประเทศกรีกได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเจ้าของทาสมากกว่าโรม พวกทาสในกรุงโรมถูกฆ่าตายเสียมากต่อมาก ถ้าทำอะไรไม่ถูกใจผู้เป็นนาย ต่อมาระหว่าง ค.ศ. 86 ถึง 161 อันตรงกับ พ.ศ. 629 ถึง 704 จักรพรรดิอันโตนินุส ปิอุส ได้ประกาศเลิกสิทธิของเจ้าของทาสที่จะประหารชีวิตทาสของตน แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าได้ห้ามทำทารุณกรรมอื่น ๆ หรือไม่ เพราะกฎหมายของโรมันให้สิทธิแก่เจ้าของทาสที่จะแยกคู่ผัวเมียของทาสได้ทั้งเป็นเจ้าของแห่งทรัพย์สินใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ทาสนั้นด้วย
                อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงสมัยกลาง (ระหว่าง พ.ศ. 1000) เป็นต้นมา ทาสในอังกฤษได้รับสิทธิขึ้น ก็อาจมีบ้านและที่ดินได้โดยต้องเสียค่าเช่า และอาจได้รับอิสรภาพได้โดยเงื่อนไขหลายประการ ในปี ค.ศ. 1807 ตรงกับ พ.ศ. 2350 รัฐสภาอังกฤษได้ลงมติออกกฎหมายห้ามการค้าทาสอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็ได้เจริญรอยตาม แต่ก็ยังมิได้ห้ามการมีทาสไว้ใช้ ซึ่งถือกันว่าเป็นสมบัติหรือสิทธิส่วนบุคคล ต่อมาในปี ค.ศ. 1834 ตรงกับ พ.ศ. 2377 จึงได้ออกกฎหมายเลิกระบบทาสทั้งในอังกฤษและในเมืองขึ้น โดยมีโครงการให้เลิกเด็ดขาดภายในเวลาที่กำหนด และได้ใช้วิธีการละมุนละม่อม คือ ได้ตั้งงบประมาณสำหรับชดเชยแก่เจ้าของทาสถึง 15 ล้านปอนด์ (ประมาณ 750 ล้านบาท) แต่เมื่อจ่ายปรากฏว่าต้องใช้เงินถึง 20 ล้านปอนด์ (หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทในขณะนี้) นับเป็นความเสียสละอย่างสูงที่พึงจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
                ระบบทาสนี้ได้เลิกล้มไปในประเทศฝรั่งเศสและเมืองขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1846 ตรงกับ พ.ศ. 2389 ในประเทศสวีเดน เมื่อ ค.ศ. 1846 ตรงกับ พ.ศ. 2389 ในประเทศเดนมาร์ก ปีเดียวกับประเทศฝรั่งเศส ในประเทศปอร์ตุกัล เมื่อ พ.ศ. 1865 ตรงกับ พ.ศ. 2408 และในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1856 ตรงกับ พ.ศ. 2399

บางศาสนากับระบบทาส
               หนังสือ The New Popular Encyclopaedia กล่าวไว้ว่า ทางการศาสนาคริสต์ มิได้ดำเนินการใด ๆ ที่เลิกล้มระบบทาสเลย การค้าทาสยังคงดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 1,000 ปีในชนชาติที่นับถือศาสนาคริสต์ในยุโรปเกิดขึ้นภายหลังความล่มจมของอาณาจักรโรมัน แต่ก็ได้ยอมรับว่าศาสนาคริสต์มีส่วนช่วยในระบบทาสเลิกล้มไปอยู่เหมือนกัน โดยการสั่งสอนของพระ (ทั้งที่ไม่มีหลักการในคัมภีร์ศาสนา)
               หนังสือเล่มเดียวกันได้กล่าวถึงศาสนาอิสลามว่าระบบทาสได้มีอยู่ในศาสนาอิสลาม โดยคัมภีร์ศาสนานั้นอนุญาตให้มีทาสได้โดยการรบชนะแต่หนังสือนั้นได้กล่าวต่อไปว่าดูเหมือนจะมิใช่ความประสงค์ของพระมะหะหมัดที่จะได้ทาสมาโดยวิธนี้
               วิลเลี่ยม ลินน์ เวสเตอร์มันน์เขียนไว้ในเรื่อง Ancient Slavery ว่าในสมัยโบราณ (ก่อน พ.ศ. ถึง พ.ศ. 1000) มิได้มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อจะเลิกล้มระบบทาส องค์การทางศาสนาหรือแม่ศาสนาคริสต์เองก็มิได้ดำเนินการนี้ การเปลี่ยนท่าทีต่อบุคคลชั้นทาสนั้นได้เกิดขึ้นในรูปแห่งกฎหมาย ซึ่งพระจักรพรรดิ์แห่งโรมันได้กำหนดขึ้น นับได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของมนุษย์ประการหนึ่ง
               บทความของ วิลเลี่ยม ลินน์ เวสเตอร์มันน์ ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ Encyclopaedia Britannica ค่อนข้างจะโจมตีศาสนาคริสต์ในเรื่องระบบทาสอยู่บ้างสำหรับความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน แม้ข้อห้ามในเรื่องระบบทาสจะมิได้มีบัญญัติไว้ในศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม ผู้เขียนก็เชื่อว่า นักพรตหรือผู้นำในศาสนาทั้งสองนั้น คงจะมีอยู่ไม่น้อยที่มีส่วนช่วยสั่งสอนให้มนุษย์ได้เลิกล้มระบบทาสไปในที่สุดเพราะกล่าวกันด้วยความเป็นธรรมแล้ว บรรดาความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย เท่าที่สามัญสำนึกของคนเราพอจะเล็งเห็นได้ นักบวชแห่งศาสนาต่าง ๆ ที่เป็นผู้มีจิตใจสูงก็คงช่วยกันชี้แจงให้ประชาชนพากันงดเว้นบ้างไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ด้วยเหตุนี้แม้ผู้เขียนเป็นพุทธศาสนิกชนก็ไม่ได้มองนักบวชแห่งศาสนาอื่นไปในแง่ร้าย ยิ่งกว่านั้นเมื่อกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายมิได้ทรงปฏิเสธความดีของศาสนาใด ๆ ทรงกล่าวไว้เป็นกลาง ๆ ว่า คำสอนของศาสนาต่าง ๆ ที่ตรงกันกับของพระองค์ก็มี ที่ไม่ตรงกันก็มี ทรงสอนถึงความถูกต้องเป็นหลัก ใครก็ตามเมื่อกล่าวถูกต้องก็ทรงรับรองว่าถูก ข้อนี้จึงน่าเป็นเครื่องเตือนใจชาวเรามิให้มองศาสนาอื่นไปในแง่ร้าย หรือเห็นคนนับถือศาสนาอื่นเป็นศัตรูไปหมด บางทีอาจจะเป็นเพราะพระพุทธศาสนามีหลักธรรม ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกศาสนาและทุกลัทธิอย่างนี้ จึงมีชาวยุโรปเปลี่ยนจากศาสนาอื่นมานับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ความพยายามของสันนิบาตชาติ
               เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว ชาติทั้งหลายได้มีการประชุมกันตั้งสันนิบาตชาติขึ้น มีสำนักงานกลาง ณ เมืองเยนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพ และได้ดำเนินกิจการเพื่อล้มระบบทาสที่ยังมีเหลืออยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยดำเนินการเป็นขั้นๆ ดังนี้
                 1.ใช้อนุสัญญา ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) ว่าด้วยการเลิกทาส ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพยายามให้ได้มาซึ่งการระงับระบบทาสในทุกกรณีรวมทั้งการค้าทาสทางบก และทางทะเลอย่างเด็ดขาด
                2.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญทางการเลิกระบบทาสขึ้น โดยเฉพาะที่เรียกว่า Committee of Experts ในปี 1924 (พ.ศ. 2467)
                3.ได้ใช้อนุสัญญาว่าด้วยระบบทาส (Slavery Convention) ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันรวม 26 ประเทศ
               4.ได้ใช้อนุสัญญาว่าด้วยทาสกรรมกร (Forced Labour Convention) เพื่อขจัดปัญหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานโดยไม่เป็นธรรม ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473)
              5.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยระบบทาสเป็นการถาวร เป็นคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญใน ค.ศ. 1932 คือ ในปี 2475 นั่นเอง
               ด้วยประการฉะนี้ เราจึงเห็นได้ว่ามนุษยชาติได้พยายามเพียงไรในการเลิกล้มสิ่งที่เป็นการกดขี่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

ระบบทาสยังมีอยู่ในโลก
                ท่านผู้อ่านหนังสือพิมพ์คงจำได้ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้หนังสือพิมพ์เมืองไทยหลายฉบับได้ตีพิมพ์ข้อความจากสำนักแถลงข่าวต่างประเทศ (พ.ศ. 2500) ซึ่งแสดงว่าระบบทาสยังมีอยู่ในโลกนี้อีกหลายแห่ง
                ข่าวนั้นกล่าวว่า ตามถ้อยแถลงของนายฟอกซปิตต์ เลขานุการสมาคมกำจัดประเพณีทาส ซึ่งเป็นสมาคมที่ตั้งมา 150 ปี และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในอังกฤษ ได้ความว่าในปัจจุบันการเอาคนลงเป็นทาสยังเป็นประเพณีที่ชอบด้วยกฎหมายในรัฐอาหรับต่าง ๆ หลายรัฐ เช่น ในเยเมน ซาอุดิอาระเบีย และบริเวณทะเลโอมาน รวมทั้งในแคว้นโมริตาเนียในแอฟริกาเหนือ และในลุ่มน้ำอะมาโซนในอเมริกาใต้ด้วย นายฟิกซปิตต์ชี้แจงว่าไว้ด้วยว่าราคาทาสที่ซื้อขายกันในดินแดนเหล่านั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามเพศตามวัยและเหตุประกอบอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หญิงทาสที่สูงอายุคงขายกันคนละไม่เกิน 35 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ ทาสชายที่รูปร่างแข็งแรง อาจขายได้ถึง 150 ปอนด์ สำหรับหญิงรุ่น ๆ ที่อายุไม่เกิน 15 ปี จัดว่ามีราคางาม อาจขายได้ถึง 400 ปอนด์ (เป็นเงินไทยประมาณ 20,000 บาท)

ระบบทาสในประเทศไทย
                 ตามกฎหมายโบราณของไทยอันว่าด้วยลักษณะทาส ได้จัดประเภทของทาสไว้ 7 อย่าง คือ
                1.ทาสไถ่มาด้วยทรัพย์ หมายความว่า เป็นทาสของคนอื่นซึ่งมีค่าตัวเท่านั้นเท่านี้ แล้วผู้ใดผู้หนึ่งนำเงินไปไถ่ นำทาสนั้นมาเป็นทาสของตน
                2.ลูกทาสเกิดในเรือนเบี้ย หมายความว่า เมื่อมารดาบิดาเป็นทาส ลูกที่เกิดมาก็พลอยเป็นทาสไปด้วย
                3.ทาสได้มาแต่ฝ่ายมารดาบิดา หมายความถึง ทาสที่บุคคลได้รับมรดกจากมารดาบิดาของตน
               4.ทาสที่มีผู้ให้
               5.ทาสอันได้มาด้วยการช่วยกังวลธุระทุกข์แห่งคนอันต้องโทษทัณฑ์
               6.ทาสอันได้เลี้ยงไว้ในกาลเมื่อข้าวแพง
               7.ทาสที่ได้มาจากการรบศึกชนะ
              ประเทศไทยได้ประกาศเลิกทาสในสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ การเลิกทาสมิได้กระทำเด็กขาดลงไปคราวเดียว แต่ได้มีพระราชบัญญัติสลับกับประกาศพระบรมราชโองการเป็นคราว ๆ ไป จนถึงได้ออกพระราชบัญญัติทาสในที่สุด ซึ่งถ้าจะประมวลการดำเนินงานเป็นขั้น ๆ ตามตัวบทกฎหมายก็จะเห็นได้ดังนี้ :-
              1.พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาส ลูกไท ออกเมื่อจุลศักราช 1263 โสณสังวัจฉระ
             สาวนมาส ชุณหปักษ์ นวมีดิถีศุกรวาร (ตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม 2417) กำหนดให้ทาส 7 ประเภท ดังกล่าวข้างต้นที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ส. 1230 (คือ ปี พ.ศ. 2411 อันเป็นปีเสวยราชย์) เป็นต้นไปให้ขึ้นค่าตัวจนถึง 8 ปี ต่อจากนั้นให้ลดลงตามระยะเดือนปีอันตราไว้ในพระราชบัญญัติจนถึงอายุ 21 ปี หมดค่าตัวทั้งชายหญิง รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ
              2.หมายประกาศลูกทาส ทำเป็นพระบรมราชโองการ ณ วันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 13 ค่ำ ปีจอ ฉศกจุลศักราช 1236 (ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2417) ให้สลักหลังสารกรมธรรม์ของทาสที่เกิดในปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ. 2411) ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท โดยให้อำเภอกำนันพร้อมกันกับตัวทาส สลักหลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นแผนก กับให้ระบุลูกทาสซึ่งติดมากับมารดาบิดาโดยชัดเจน ถ้ามีผู้ไปติดต่อที่อำเภอห้ามเรียกเงินค่าธรรมเนียมใด ๆ และให้รีบสลักหลังสารกรมธรรม์โดยมิชักช้า
               3. ประกาศเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ทำเป็นพระบรมราชโองการ ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236 (ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม 2417) เป็นการแถลงซ้อมความเข้าใจ ที่มีข่าวว่าเกิดเสียงแสดงความไม่พอใจอยู่ทั่วไป เตือนให้เห็นแก่เมตตากรุณาและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง พร้อมทั้งชี้แจงวิธีการเลิกซึ่งค่อยเป็นค่อยไป
              4. พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 124 (ตรงกับ พ.ศ. 2448) มีข้อกำหนดให้ลูกทาสทั้งปวงได้เป็นไท มิให้มีพิกัดเกษียณอายุดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติลูกทาสลูกไท จุลศักราช 1236 (พ.ศ. 2417) อีกต่อไป บรรดาคนที่เป็นไทอยู่แล้ว หรือทาสที่หลุดพ้นค่าตัวไปแล้ว ต่อไปห้ามมิให้เป็นทาส บรรดาทาสที่มีอยู่ในเวลาออกพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ทาสที่หลบหนี ให้เจ้าเงินลดค่าตัวให้คนละ 4 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน (2448) เป็นต้นไป ถ้าทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ทำสารกรมธรรม์ขึ้นค่าตัวมากกว่าจำนวนค่าตัวในเวลานั้น
               ผู้เขียนมีศรัทธาค้นเรื่องนี้ พร้อมทั้งค้นศักราชวันเดือนปีเทียบ พ.ศ. ให้ด้วย ก็เพราะเห็นว่าการเลิกทาสในประเทศไทยต้องผ่านความยากลำบาก ต้องต่อสู่กับเสียงแสดงความไม่พอใจของเจ้านาย ข้าราชการพ่อค้าคฤหบดีซึ่งเป็นนายเงิน อันเคยมีความสะดวกในการใช้ทาส รวมทั้งเสียงไม่พอใจของทาสบางคนผู้ไม่รู้ว่าเมื่อได้รับปลดปล่อยแล้วจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพราะเคยชินในการอาศัยคนอื่นกินอยู่มาตลอดหลายชั่วอายุคน ถ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงอ่อนแอกลัวโน่นกลัวนี้แล้ว อย่างไรเสียก็คงทรงทำงานอันมีคุณค่าชิ้นนี้ไม่สำเร็จเป็นแน่ เพราะจะเห็นได้ว่า เพียงการออกกฎหมายกรุยทางเพื่อจะออกพระราชบัญญัติทาส ในที่สุดก็ต้องกินเวลาถึง 31 หรือ 32 ปี
               การพยายามปลดเปลื้องข้อผูกมัดความไม่เสมอภาคและความทุกข์ยากต่าง ๆ ของประชาชนนั้น ได้กระทำกันอย่างเป็นชิ้นเป็นอันในสมัยรัชกาลที่ 5 (2411 - 2453) อันที่จริงแม้รัชกาลที่ 5 จะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2411 แต่ในระยะแรกมีผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์มาเริ่มทรงบริหารราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาด ก็เมื่อ พ.ศ. 2417 ภายหลังงานบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 อันเป็นเสมือนหนึ่งการประกาศพระราชภาระในการบริหารประเทศชาติโดยตรง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไปงานปลดเปลื้องความเดือดร้อนของประชาชนในรัชกาลที่ 5 นั้น พอที่จะรวบรวมมากล่าวได้ดังนี้ :-
              1.คนพลเรือนทุกคนจะอยู่อย่างไม่มีสังคมไม่ได้ ต้องมีสังกัดสักข้อมือเป็นเลขไพร่หลวงบ้าง ไพร่สมกำลังบ้าง เลขทาสบ้าง คนไม่มีสังกัดเรียกว่าคนข้อมือขาว (เพราะไม่มีรอยสัก) ต้องจับสักเป็นไพร่หลวงธรรมเนียมนี้มาเลิกในรัชกาลที่ 5
               2.การเกณฑ์แรงใช้ราชการ ผู้ถูกเกณฑ์ไม่ได้อะไรตอบแทนในรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดให้เลิกเสียโดยมาก ถ้าจะมีการเกณฑ์ก็ต้องมีค่าจ้างหรือค่าป่วยการตอบแทน
               3.การตัดถนนหนทางหรือการเวนคืนที่ของราษฎรเพื่อใช้ในราชการนั้น สมัยก่อนมิได้ให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของอาคารในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานค่าที่ดินและค่าชดเชยสิ่งก่อสร้างตามควรแก่ราคา
              4.ราคาหรือศักดิ์ของคนเรานั้นในสมัยก่อนกำหนดด้วยนา เช่น ศักดินาเท่านั้นเท่านี้ คนมีศักดินาสูงก็ได้เปรียบคนมีศักดินาต่ำ แต่เดิมในการเป็นความกัน ผู้มีศักดินาต่ำกว่า 400 แต่งทนายว่าอรรถคดีแทนตนไม่ได้ จึงเป็นการเสียเปรียบพวกศักดินาสูง ในเวลาเป็นความกันในศาล ผู้มีศักดินาสูง สามารถแต่งทนายได้ฝ่ายเดียว ในรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชบัญญัติให้แต่งทนายได้เสมอหน้ากัน
              5.การเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 นั้น มีวิธีการอยู่มากหลาย เช่น ผู้ยังไม่เคยเป็นทาสหรือหลุดพ้นแล้วก็ห้ามไม่ให้ขายตัวเป็นทาส ผู้เป็นทาสอยู่แล้วก็ไม่ยอมให้ขึ้นค่าตัว ทั้งมีการกำหนดให้นายลดค่าตัวเป็นรายเดือน เพื่อเร่งรัดให้หมดทาสโดยเร็ว นอกจากนั้นยังใช้วิธีกำหนดว่า ผู้เกิดสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าเป็นทาสมาเดิมตามพ่อแม่ ให้พ้นจากเป็นทาสเมื่ออายุครบกำหนดหรือเมื่อวันประกาศใช้พระราชบัญญัติทาส
             6.ในคดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้รับสารภาพ อันเรียกว่าจารีตนครบาล ในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกเสีย
            7.ในรัชกาลที่ 5 ได้มีการพระราชทานงดลงพระราชอาญาเฆี่ยนนักโทษที่ต้องคำพิพากษาให้เฆี่ยนตั้งแต่ 50 ทีลงมาเป็นจำคุกแทน
              เรื่องใหญ่ ๆ ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมานี้ เพียงพอที่ประชาชนชาวไทยในรัชกาลที่ 5 จะรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ เพราะฉะนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับพระนามว่าพระปิยมหาราช หรือพระมหาราช ผู้เป็นที่รักของปวงชนนั้น จึงเป็นพระนามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เชื่อว่าผู้มีวิจารณญาณและรักความเป็นธรรมทั้งหลาย แม้จะเกิดไม่ทันในสมัยของพระองค์ท่าน ก็คงเห็นร่วมกันว่า พระองค์ได้ทรงประกอบกรณียกิจปลดแเอกของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสมควรแล้วที่เรายังจัดให้มีงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็นการประจำปี

พระพุทธศาสนากับระบบทาส
              ในเรื่องพระพุทธศาสนากับระบบทาสนี้ ผู้เขียนขอกล่าวด้วยความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อข้อความในหนังสือพุทธคุณกถาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิชิรญาณวโรรส อันเป็นข้อความที่ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจและติดตามค้นคว้าหลักฐานในพระไตรปิฏกต่อมา เมื่อลงมือเขียนเรื่องนี้
                 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “อนึ่งในครั้งนั้น การขายทาสเช่นไปสงครามจับเชลยมาได้แล้วขายเอาสิน และขายต่อไปอีกดุจสัตว์พาหนะ ยังไม่เห็นกันว่าเป็นดุร้ายและยังไม่มีกฎหมายห้าม สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงห้ามไว้ โดยเป็นกิจอันอุบาสกคือคฤหัสถ์ผู้เคร่งในทางพระศาสนาไม่ควรทำ โดยที่สุดจนทาสสินไถ่ก็มิได้ทรงอำนวยตาม ทรงห้ามมิให้ภิกษุมีทาสเช่นนั้น”
                  ที่มาในเรื่องพระพุทธศาสนากับระบบทาสนี้ มีทั้งในสินัยปิฏก อันเป็นข้อห้ามสำหรับพระภิกษุ ทั้งในสุตตันตปิฏกอันเป็นข้อแนะนำ ดังจะกล่าวต่อไป

หลักฐานในวินัยปิฏก
                1.วินัยปิฏก เล่ม 7 หน้า 346 ห้ามมิให้มีภิกษุมีทาสหญิงชายไว้ใช้ ภิกษุใดฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฎ
                2.วินัยปิฏก เล่ม 4 หน้า 156 แสดงว่าทาสที่มาบวชแล้ว ได้รับสิทธิทั้งปวงเท่าเทียมกับภิกษุอื่น และพระเจ้าแผ่นดินในครั้งนั้นก็ถือว่าท่านที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วให้ถือว่าเจ้าของไม่มีสิทธิที่จะจับกุมหรือเรียกตัวคืน แต่เพื่อตัดปัญหายุ่งยากพระบรมศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทให้ผู้จะเข้าบวชมิใช่ผู้หนีเขามา ต้องได้รับอิสรภาพก่อน จึงมีคำถามที่ว่า ท่านเป็นไทหรือ หมายความว่า ไม่เป็นทาสหรือ

หลักฐานในสุตตันตปิฏก
            1.สุตตันตปิฏก เล่ม 22 หน้า 232 ทรงแสดงเรื่องการค้าขายที่อุบาสกควรงดเว้นว่ามีการค้าทาสรวมอยู่ด้วยข้อหนึ่ง
             2.ทรงแสดงคุณลักษณะของนักบวช ว่าจะต้องไม่รับทาสีทาสาที่มีผู้มอบให้ในสุตตันตปิฏก เล่ม 12 หน้า 284 และเล่ม 24 หน้า 220
              3.ในสุตตันตปิฏก เล่ม 23 หน้า 46 มีเรื่องเล่าว่า พราหมณ์คนหนึ่งกำลังตั้งพิธีบูชายัญเพื่อจะฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ชนิดละ 500 ตัว ซึ่งเป็นการบูชายัญครั้งสำคัญ ครั้นแล้วจะคิดอย่างไรไม่ปรากฏ ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงเรื่องการบูชาไฟและบูชายัญ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องการบูชาไฟ แบบตีความหมายใหม่ (Reinterpretation) ว่าในพระพุทธศาสนามีการบูชาไฟเหมือนกัน แต่ไฟในที่นี้ไม่ใช่ไฟจริง ๆ หากเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตนในลักษณะต่าง ๆ กัน โดยทรงแสดงว่าไฟที่พึงบูชามี 3 ประเภท คือ :
               1.) ไฟ คือ บุคคลผู้ควรเคารพ (อาหุเนยยัคคิ) ได้แก่ มารดา บิดา เป็นไฟที่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และปฏิบัติต่อในทางที่ให้มีความสุขโดยชอบ
               2.) ไฟ คือ คฤหบดี (คหปตัคคิ) ได้แก่ บุคคลผู้เกี่ยวข้องในบ้านคือ บุตร ภริยา ทาส และคนรับใช้ เป็นไฟที่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และปฏิบัติต่อในทางที่ให้มีความสุขโดยชอบ
             3.) ไฟ คือ บุคคลผู้ควรแก่ทักขิณา คือ ของที่ให้โดยเคารพ (ทักขิเณยยัคคิ) ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ผู้ตั้งอยู่ในขันติความอดทน และโสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม ผู้ฝึกตน ทำตนให้สงบระงับ เป็นไฟที่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และปฏิบัติต่อในทางที่ให้มีความสุขโดยชอบ
              พราหมณ์ได้ฟังดังนี้ ก็เลิกบูชายัญ ปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระ เพราะเห็นว่าการบูชาไฟแบบตนเป็นการทรมานสัตว์ สู้การบูชาแบบปฏิบัติตนให้เหมาะสมต่อบุคคลในสังคมไม่ได้มีข้อพึงสังเกตว่า คำว่า บูชา สักการะ เคารพ ในที่นี้เป็นคำที่ใช้เพื่อเลียนแบบการบูชาไฟของพราหมณ์เท่านั้น เมื่อกล่าวถึงบุตร ภริยา ทาส คนรับใช้ ที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นด้วยดี ก็ไม่ใช่หมายความว่าให้ลงกราบหรือแสดงความเคารพอย่างไร หากให้ปฏิบัติตามความเหมาะสมให้เขามีความสุขจึงเห็นได้ชัดว่า ในกรณีที่ห้ามไม่ให้ซื้อทาสขายทาส หรือชี้แจงให้ละเว้นการมีทาสไว้ใช้ แต่ไม่สำเร็จในบางราย พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติต่อทาสด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ให้ทาสมีความสุข ไม่ใช่โหดร้ายทารุณต่อเขาบัดนี้ท่านผู้อ่านอาจพิจารณาได้เองว่า คำสอนเรื่องนี้เป็นคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้างพระพุทธศาสนากับการปลดเปลื้องทาสภายในคำว่าทาสภายในนั้นหมายความว่า บางครั้งคนเรามีอิสรภาพทางกายไปไหนมาไหนได้ หรือมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาคนอื่นด้วยซ้ำ แต่การมีอิสรภาพทางกายมิได้หมายความว่า คนเราเป็นผู้มีอิสรภาพสมบูรณ์แล้ว เพราะบางทีคนเราก็เป็นทาสแห่งอำนาจฝ่ายต่ำ เช่น ความทะยานอยาก (ตัณหาทาโส) หรือความโลภ ความโกรธ และความหลงอย่างโงไม่ขึ้น ยอมทำความชั่วทุกจริต หรือแสดงอาการที่เลวทรามทุกอย่างสุดแต่ความโลภ ความโกรธและความหลงจะใช้หรือบัญชาให้ทำอะไรลงไปเคยมีผู้เปรียบกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่าเหมือนม้าที่ผูกเชือกล่ามกับคนผู้เป็นเจ้าของ บางครั้งเจ้าม้า 3 ตัวนี้เกิดแสดงฤทธิ์เดชออกวิ่งนำหน้าเจ้าของอย่างรวดเร็วจนเดินหรือวิ่งตามไม่ทัน แล้วลองนึกหลับตาวาดภาพดูทีหรือว่าจะเป็นอย่างไร ภาพที่คนถูกม้าซึ่งล่ามเชือกติดกันไว้ฉุดกระชากล้มลุกคลุกคลาน ถลอกปอกเปิก ถึงขนาดอาจเสียชีวิตได้ในที่สุดนั้น อาจเป็นคติเตือนใจได้ดีกว่า ถ้าเราไม่พยายามรั้งบังเหียนขึ้นขี่หลังม้าควบคุมไว้ให้อยู่ในอำนาจเราบ้าง ก็จะต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนดังตัวอย่างนี้
                 เราคงได้ยินข่าวคนฆ่าตัวตาย เพราะรักไม่สมหวัง เพราะอยากสอบได้แต่กลับสอบตก หรือข่าวคนฟันกันยิงกัน หรือประหัตประหารกันด้วยวิธีการอย่างอื่น เพียงเพื่อสนองความไม่พอใจอันเกิดขึ้นประเดี๋ยวเดียว แต่ส่งผลให้คนที่ทำร้ายกันนั้นต้องบาดเจ็บหรือเข้าคุกเข้าตะรางไปทนทุกข์ทรมานอยู่แรมปี หรือบางครั้งไม่ใช่เรื่องของความโลภ ความโกรธ แต่เป็นเรื่องของความหลงซึ่งกินความถึงความมัวเมาประมาท เช่น ขับรถเร็วด้วยความคะนอง รถคว่ำหรือชนต้นไม้ ตกคู ตัวผู้ขับเสียชีวิต หรือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ดื่มสุรามากไปจนคุมสติไว้ไม่อยู่ตกน้ำตายบ้าง กลับบ้านไม่ถูก หรือเข้าบ้านผิดบ้าง
                ความจริงคนเราที่เกิดมานี้ ที่ยังมิได้บรรลุมรรคผลก็ต้องมีโลภโกรธหลงกันทุกคนเป็นธรรมดา เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและน่าให้อภัยในการที่มนุษย์ยังต้องลุ่ม ๆ ดอน ๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีกันบ้างทะเลาะกันบ้าง แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าพอจะรู้สึกตัวได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ และความหลงมันฉุดกระชาก หรือบังคับบัญชาเราเสียจนล่มจมป่นปี้ ต้องคอยรั้งบังเหียนไว้บ้าง ด้วยการหักห้ามใจ หรือสอนใจเตือนใจตัวเราเอง
               ข้อที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังโลภ กำลังโกรธ หรือกำลังหลง ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่บางครั้งเจ้าความโลภ โกรธ หลงนี้มันปลอมตัวมาในรูปมิตรทำให้เราหลงเคารพบูชา หรือไม่รู้สึกตัวว่าเราเป็นทาสมันนี่สิร้ายนัก เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกว่าเราทำถูกแล้ว เราไม่ได้เป็นทาสของอะไรเลย ถ้าพูดตามภาษาสมัยใหม่ก็ต้องว่า ความโลภ โกรธ หลง มันทำงานใต้ดินเอาเราเป็นทาสโดยไม่รู้สึกตัว พอรู้สึกก็ระเบิดตูมตามออกมาแล้ว จึงเป็นข้อที่ควรระวังมาก
              พระพุทธศาสนาสอนให้เราปลดปล่อยตัวเราเองให้พ้นจากความเป็นทาสภายในโดยวิธีการ 3 ขั้น ดังนี้ :-
                1.ความเป็นทาสอย่างหยาบ
                คือ ความโลภ โกรธ หลง อย่างรุนแรงถึงเหตุให้ประพฤติชั่วทางกายกับวาจา ให้แก้ด้วย ศีล คือตั้งใจเว้นจากการฆ่า การโกง การลักขโมย เป็นต้น
              2.ความเป็นทาสอย่างกลาง
            คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างพอประมาณ ให้แก้ด้วยธรรม เช่นให้มีความเมตตากรุณา ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้มีสติสำรวมระวัง คำว่า ศีลธรรม ที่มาคู่กันก็หมายความว่าศีลนั้นให้เว้นความชั่ว ส่วนธรรมคือให้อบรมความดี ศีลแก้ความเป็นทาสภายในอย่างหยาบ ธรรมแก้ความเป็นทาสภายในอย่างกลาง หรือจะกล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็ได้ว่า ศีลแก้กิเลสอย่างหยาบ สมาธิแก้กิเลสอย่างกลาง คำว่า สมาธิ หมายความว่าการทำใจให้สงบระงับ มีวิธีการไม่น้อยกว่า 40 วิธี
              3.ความเป็นทาสอย่างละเอียด
             ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่แฝงตัวอย่างลึกซึ้งจนเราไม่รู้สึกว่าเป็นกิเลส บางคราวมันเก็บตัวเงียบเหมือนตะกอนนอนก้นตุ่มพอมีอะไรมากระทบกระเทือนก็แสดงตัวออกทันที ความเป็นทาสอย่างละเอียดนี้ต้องแก้ด้วยใช้ ปัญญา พิจารณาเหตุผลให้รู้แจ้งประจักษ์ในความจริงของสิ่งทั้งหลาย คำว่า ปัญญาที่ใช้สำหรับแก้กิเลสอย่างละเอียดนี้ บางครั้งเรียกว่า วิปัสสนา แปลว่าเห็นอย่างแจ่มแจ้ง
              จากข้อความที่กล่าวมา อันเกี่ยวกับทาสภายนอก คือ การทำคนให้เป็นทาสของคนจริง ๆ กับทาสภายใน คือ การที่คนเราเป็นทาสแห่งอำนาจฝ่ายต่ำในตัวเองนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้เองว่าจะโดยประวัติศาสตร์หรือโดยหลักฐานใดๆ ก็ตาม ความก็บ่งชัดอยู่ทั้งสิ้นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกในโลกที่มีหลักการและคำสอนเพื่อให้เลิกระบบทาส อันเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามที่เรียกร้องกันในปัจจุบันนี้ จึงนับได้ว่าข้อนี้เป็นคุณลักษณะพิเศษประการหนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...