พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สรุปสาระสำคัญของพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม

        สรุปสาระสำคัญของพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม (เรียงตามลำดับเล่ม)
ก. พระวินัยปิฎก
            ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินกิจการต่างๆของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจ ว่า อา ปา ม จุ ป) ๘ เล่ม
            เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ฝ่าย ภิกษุสงฆ์ (กฎหรือข้อบังคับที่เป็นหลักใหญ่สำหรับพระภิกษุ) ๑๙ ข้อแรก ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติหนักหรือความผิดสถานหนัก คือ ปาราชิก๔ สังฆาทิเสส ๑๓ และอนิยต ๒
            เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ข้อที่เหลือ ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติเบาหรือความผิดสถานเบา ที่ย่อเป็น อา กับ ปา นั้นเนื่องมาจากวิธีจัดแบ่งอีกแบบหนึ่ง คือเรียกเล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่า อาทิกัมมิกะ (ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของภิกษุ) และเรียกเล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ กับ เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่า ปาจิตตีย์ (ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุเป็นต้นไปจนจบสิกขาบทในปาติโมกข์ของ ภิกษุณี)อนึ่ง วินัยปิฎกทั้ง ๘ เล่ม หรือ ๕ คัมภีร์นี้ บางทีเรียกรวมกันให้สั้นกว่านี้อีกเป็น ๓ คัมภีร์คือ วิภังค์หรือ สุตตวิภังค์ (= มหาวิภังค์และ ภิกขุนีวิภังค์ได้แก่ เล่ม ๑๓) ขันธกะ (= มหาวรรค และจุลลวรรค ได้แก่ เล่ม ๔๗) และปริวาร (เล่ม ๘)คือ ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ จนครบสิกขาบท ๒๒๗ หรือที่มักเรียกกันว่า ศีล ๒๒๗
             เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑๑ ของภิกษุณี
             เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์(ระเบียบข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นอยู่และการดำเนินกิจการของภิกษุสงฆ์) ตอนต้น มี ๔ ขันธกะ (หมวด) คือ เรื่องกำเนิดภิกษุสงฆ์และการอุปสมบท อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
             เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนต้น (ต่อ) มี ๖ ขันธกะ (หมวด) คือ เรื่องเครื่องหนัง เภสัช กฐินจีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี
             เล่ม ๖ จุลลวรรค ภาค ๑ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ ตอนปลาย มี ๔ ขันธกะ คือ เรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธี และการระงับอธิกรณ์
             เล่ม ๗ จุลลวรรค ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนปลาย (ต่อ) มี ๘ ขันธกะ คือ เรื่องข้อบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะสังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาติโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนา ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒
             เล่ม ๘ ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย๓๙ พระไตรปิฎก: สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้

ข. พระสุตตันตปิฎก
             ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือพระธรรมเทศนา คำบรรยายหรืออธิบายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที มสํ อํ ขุ) ๒๕ เล่ม คือ
                     ๑. ทีฆนิกาย (ชุมนุมพระสูตรขนาดยาว) ๓ เล่ม
                     ๒.มัชฌิมนิกาย (ชุมนุมพระสูตรขนาดกลาง) ๓ เล่ม
                     ๓. สังยุตตนิกาย (ชุมนุมพระสูตรที่เกี่ยวกับหัวเรื่องเดียวกัน) ๕เล่ม
                     ๔. อังคุตตรนิกาย (ชุมนุมพระสูตรที่จัดเป็นหมวดตามจำนวนข้อธรรม) ๕ เล่ม
                     ๕.ขุททกนิกาย (ชุมนุมพระสูตร ภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราว เบ็ดเตล็ด) ๙ เล่ม
                 ๑. ทีฆนิกาย (ชุมนุมพระสูตรขนาดยาว)
             เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร เริ่มด้วยพรหมชาลสูตร (หลายสูตรกล่าวถึงความถึงพร้อมด้วยสีลขันธ์ ซึ่งบางทีก็จำแนกเป็นจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล จึงเรียกว่า สีลขันธวรรค)
            เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๐ สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย มหา เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสมยสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
            เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค (ปาถิกวรรค ก็เรียก) มีพระสูตรขนาดยาว๑๑ สูตร เริ่มด้วยปา_ฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียง เช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร
                ๒. มัชฌิมนิกาย (ชุมนุมพระสูตรขนาดกลาง)
            เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ (บั้นต้น) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตรบางสูตรอาจจะคุ้นชื่อ เช่น ธรรมทายาทสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สติปัฏฐาน-สูตร รถวินีตสูตร วีมังสกสูตร
            เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ (บั้นกลาง) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐สูตร ที่อาจจะคุ้นชื่อเช่น เสขปฏิปทาสูตร ชีวกสูตร อุปาลิวาทสูตรอภยราชกุมารสูตร มาคัณฑิยสูตร รัฏฐปาลสูตร โพธิราชกุมารสูตร องคุลิมาลสูตร ธรรมเจดียสูตร วาเสฏฐสูตร
            เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ (บั้นปลาย) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒สูตร มีเนื้อหาแตกต่างกันหลากหลาย เช่น เทวทหสูตร โคปกโมคคัลลานสูตร สัปปุริสสูตร มหาจัตตารีสกสูตร อานาปานสติสูตร กายคตาสติสูตร ภัทเทกรัตตสูตร จูฬกรรมวิภังคสูตร สัจจวิภังคสูตร ปุณโณวาทสูตร สฬายตนวิภังคสูตร อินทรียภาวนาสูตร
               ๓. สังยุตตนิกาย (ชุมนุมพระสูตรที่เกี่ยวกับหัวเรื่องเดียวกันๆ คือชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า สังยุตต์ หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวม ๕๖ สังยุตต์มี ๗,๗๖๒ สูตร)
             เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุตต์
              เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุและปัจจัย คือหลัก_ปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์
              เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่อง สมาธิ และทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุตต์
              เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิก-ทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์
              เล่ม ๑๙ มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค (พร้อมทั้งองค์ธรรมก่อนมรรค) โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่นนิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์
                ๔. อังคุตตรนิกาย (ชุมนุมพระสูตรที่เพิ่มจำนวนขึ้นทีละหน่วย คือชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่า นิบาต หนึ่งๆตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรมที่เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่หมวด ๑, หมวด ๒ฯลฯ ไปจนถึงหมวด ๑๑ รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร)
               เล่ม ๒๐ เอกทุกติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ (เช่น ธรรมเอกที่ฝึกอบรมแล้ว เหมาะแก่การใช้งาน ได้แก่ จิต องค์คุณภายในอันเอกที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ ได้แก่ ความไม่ประมาท ฯลฯรวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ) หมวด ๒ (เช่น สุข ๒ สิบสามชุด, คนพาล ๒,บัณฑิต ๒, ปฏิสันถาร ๒, ฤทธิ์ ๒ ฯลฯ) หมวด ๓ (เช่น มารดาบิดามีฐานะต่อบุตร ๓ อย่าง, ความเมา ๓, อธิปไตย ๓, สิกขา ๓ ฯลฯ)
               เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๔ (เช่น อริยธัมม์หรืออารยธรรม ๔, พุทธบริษัท ๔, ปธาน ๔, อคติ ๔, จักร ๔, สังคหวัตถุ๔ ฯลฯ)
              เล่ม ๒๒ ปัญจกฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๕ (เช่น พละ๕, นิวรณ์ ๕, อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕, นักรบ ๕ ฯลฯ) และ หมวด ๖(เช่น สาราณียธรรม ๖, อนุตตริยะ ๖, คารวตา ๖, อภัพพฐาน ๖, ฯลฯ)
              เล่ม ๒๓ สัตตกอัฏฐกนวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๗ (เช่นอริยทรัพย์ ๗, อนุสัย ๗, อปริหานิยธรรม ๗, สัปปุริสธรรม ๗,กัลยาณมิตรธรรม ๗, ภรรยา ๗ ฯลฯ) หมวด ๘ (เช่น โลกธรรม ๘,คุณสมบัติของภิกษุที่จะไปเป็นทูต ๘, ทาน ๘, ทานวัตถุ ๘, การบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ในระดับต่างๆ ๘, สัปปุริสทาน ๘, ทิฏฐิธัมมิกสัมปรายิกัตถิกธรรม ๘ ฯลฯ) และหมวด ๙ (เช่น อาฆาตวัตถุ๙,_อนุปุพพนิโรธ ๙, อนุปุพพวิหาร ๙, นิพพานทันตา ๙ ฯลฯ)
               เล่ม ๒๔ ทสกเอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑๐ (เช่นสังโยชน์ ๑๐, สัญญา ๑๐, นาถกรณธรรม ๑๐, วัฑฒิธรรม ๑๐ ฯลฯ)และ หมวด ๑๑ (เช่น ธรรมที่เกิดต่อจากกันตามธรรมดา ไม่ต้องเจตนา ๑๑, อานิสงส์เมตตา ๑๑ ฯลฯ)ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐ-_ธัมมิกัตถะถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิตและสำหรับคฤหัสถ์กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน
         ๕. ขุททนิกาย (ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้ ๑๕ คัมภีร์)
               เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ(๑) ขุททกปาฐะ รวมบทสวดย่อยๆ เช่น มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร(๒) ธรรมบท บทแห่งธรรม หรือบทร้อยกรองเอ่ยเอื้อนธรรม มี ๔๒๓ คาถา(๓) อุทาน พระสูตรแสดงคาถาพุทธอุทาน มีความนำเป็นร้อยแก้ว ๘๐ เรื่อง(๔) อิติวุตตกะ พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย เอวมฺเม สุตํแต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า อิติ วุจฺจติรวม ๑๑๒ สูตร (๕) สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วน หรือมีร้อยแก้วเฉพาะส่วนที่เป็นความนำ รวม ๗๑ สูตร
               เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อย ๔ ซึ่งเป็นบทประพันธ์ร้อยกรองคือคาถา ล้วน ได้แก่
                         (๑) วิมานวัตถุ เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง
                          (๒) เปตวัตถุ เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง
                          (๓) เถรคาถา คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น
                          (๔) เถรีคาถา คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น

เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมบทร้อยกรองคือคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง
                 เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้นเพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐คาถา ภาคนี้มี ๒๒ เรื่อง บรรจบทั้งสองภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก
                 เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต
                 เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตรในปารายนวรรค และขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรคแห่งสุตตนิบาต
                 เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตร อธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่น เรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน
                 เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ บทประพันธ์ร้อยกรอง (คาถา) แสดงประวัติพระอรหันต์ โดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน(ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เริ่มแต่พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะพระอนุรุทธะ ฯลฯ พระอานนท์ ต่อเรื่อยไปจนจบภาค ๑ รวม ๔๑๐ รูป
                  เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐
                 ต่อนั้นเป็นเถรีอปทาน แสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญ คือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา ฯลฯพระยโสธรา และท่านอื่นๆครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์ จนถึง
                 ประวัติของพระองค์เอง รวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ จบแล้วมีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อขุททกนิบาตนี้ เมื่อมองโดยภาพรวม ก็จะเห็นลักษณะที่กล่าวว่าเป็นที่ชุมนุมของคัมภีร์ปลีกย่อยเบ็ดเตล็ด คือ แม้จะมีถึง ๑๕ คัมภีร์ รวมได้ถึง ๙ เล่ม แต่
                 • มีเพียงเล่มแรกเล่มเดียว (๒๕) ที่หนักในด้านเนื้อหาหลักธรรม แต่ก็เป็นคัมภีร์เล็กๆ ในเล่มเดียวมีถึง ๕ คัมภีร์ ทุกคัมภีร์มีความสำคัญและลึกซึ้งมาก
               อีก ๓ เล่ม (๒๘๒๙๓๐) คือ นิทเทส และ ปฏิสัมภิทามรรคแม้จะแสดงเนื้อหาธรรมโดยตรง แต่ก็เป็นคำอธิบายของพระสาวก(พระสารีบุตร) ที่ไขความพุทธพจน์ที่มีอยู่แล้วในคัมภีร์ข้างต้น (ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของอรรถกถา)
                • ที่เหลือจากนั้นอีก ๘ คัมภีร์ ล้วนเป็นบทประพันธ์ร้อยกรองที่มุ่งความไพเราะงดงามให้เร้าความรู้สึก เช่นเสริมศรัทธาเป็นต้น คือเล่ม ๒๖ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา เล่าประสบการณ์ความรู้สึก และคติของคนดี คนชั่ว ตลอดจนพระอรหันตสาวกที่จะเป็นตัวอย่าง/แบบอย่างสำหรับเร้าให้เกิดความรู้สึกสังเวช เตือนใจและเร้ากำลังใจ ให้ละความชั่ว ทำความดี และเพียรบำเพ็ญอริยมรรคเล่ม ๒๗๒๘ ชาดก แสดงคติธรรมที่สั่งสอนและเร้าเตือนให้กำลังใจจากการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าเองเล่ม ๓๒๓๓ อปทาน พุทธวงส์ จริยาปิฎก เป็นบทร้อยกรองบรรยายประวัติ ปฏิปทา และจริยา ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ในแนวของวรรณศิลป์ที่จะเสริมปสาทะและจรรโลงศรัทธาในพระรัตนตรัย
ค. พระอภิธรรมปิฎก
               ประมวลพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นเนื้อหาวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) ๑๒ เล่มดังนี้
                    ๑. ธัมมสังคณี
                    ๒. วิภังค์
                    ๓. ธาตุกถา
                    ๔. ปุคคลบัญญัติ
                    ๕. กถาวัตถุ
                    ๖. ยมก
                    ๗. ปัฏฐาน
                เล่ม ๓๔ (ธัมม)สังคณี ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีต-ธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และชุด ๒ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรมโลกุตตรธรรม ชุดหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกาตอนต่อจากนั้น ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของคัมภีร์นี้เป็นคำ วิสัชชนา ขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรมอกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ที่กระจายออกไปในแง่ของจิต เจตสิกรูป และนิพพานท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แต่ละบทแสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บทต่างแนวกันเป็น ๒ แบบ(แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)
                เล่ม ๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจง แยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่ และวินิจฉัยจนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล ๕ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณประเภทต่างๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่า วิภังค์ ของเรื่องนั้น เช่น อธิบายขันธ์ ๕ก็เรียก ขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์
                เล่ม ๓๖ มี ๒ คัมภีร์ คือ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดจัดเข้าได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และ บุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรมเช่นว่า โสดาบัน ได้แก่บุคคลผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้วดังนี้เป็นต้น
                เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้นเพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง ๑๘นิกาย เช่น ความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา
                เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์ยมกนี้อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่”) เช่น ถามว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล”, “รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด)เป็นรูป”, “ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด)เป็นทุกข์หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล)ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่า ยมก ของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก
                เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศลอกุศลอัยพากต-ธรรม) อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก
                เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือ ข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในต้นคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกาปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คืออนุโลม-ติกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย
                ในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศล-ธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร กุศลธรรมเป็นปัจจัย แก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุป_นิสสยปัจจัยอย่างไร กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอา_รัมมณปัจจัยอย่างไร ฯลฯ ฯลฯ (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลม คือตามนัยปกติ ไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธ จึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน)
                 เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรมโดยอารัมมณปัจจัย(พิจารณารูป เสียง เป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้ว ว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น
                เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น โลกีย-ธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (รูปายตนะเป็นปัจจัย แก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น
               เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ
               เล่ม ๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมาประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา)โยงกับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) เช่น อธิบายกุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติ-ปัจจัยเป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงกับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) อนุโลมติกติก-_ปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงกับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่น อธิบายว่า กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรม เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรมเป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกันเช่น ชุดโลกียะ_โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น
                เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปัจจนีย์ (ปฏิเสธ) + ปัจจนีย์(ปฏิเสธ) เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม + ปัจจนีย์(ปฏิเสธ) เช่นว่า อาศัย_โลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปัจจนีย์(ปฏิเสธ) + อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศล ธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓ ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับชุด ๓ ชุด ๒ กับชุด๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก- ทุก- ทุกติก- ติกทุก- ติกติก- ทุกทุก- ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น_ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไปจนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆเท่านั้น เล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้ว เอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า มหาปกรณ์ แปลว่า ตำราใหญ่ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรม ปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
     
        
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)    พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้     ฉบับสองภาษา พิมพ์ครั้งแรก พ.. ๒๕๔๖  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...