พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทที่ 1 อยู่ได้ด้วยเหตุผลและความดี

         “แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกหมด ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากอยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริง ๆ”
ผู้ที่รับการศึกษาทางพระพุทธศาสนาเข้าใจถึงสาระสำคัญบ้างพอสมควร ย่อมมีความเข้าใจตรงกันว่า เรามิได้นับถือพระพุทธศาสนาเพราะเห็นแก่เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์เลย เรามิได้นับถือพระพุทธเจ้าเพราะพระองค์เหาะเหินเดินอากาศได้ มิได้นับถือเพราะพระองค์ประสูติออกมาก็เดินได้ 7 ก้าว แม้พระองค์จะไม่มีฤทธิ์ ไม่มีสิ่งอัศจรรย์ ก็ไม่ทำให้เราคลาย ความเคารพนับถือลงไปแต่ประการไร ทั้งนี้ เพราะเท่าที่เราอบรมกันมาให้รู้พระคุณของพระองค์นั้น กล่าวโดยย่อก็ได้แก่พระคุณทั้ง 3 ประการ คือ :-
         1.พระปัญญาคุณ คุณ คือ ปัญญาความรู้ประจักษ์แจ้งในความจริง
         2.พระบริสุทธิคุณ คุณ คือ ความบริสุทธิ์สะอาดทางกาย วาจา ใจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความประพฤติดี ประพฤติชอบ และ
         3.พระมหากรุณาคุณ คุณ คือ ความกรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีในสัตว์โลก
         พระคุณทั้ง 3 ประการนี้ ไม่มีแม้แต่ข้อเดียวที่เกิดขึ้นลอย ๆ โดยอาศัยฤทธิ์เดช ข้อต้น คือ ปัญญา ก็หมายถึง ปัญญาที่อบรมให้เจริญให้เกิดมีขึ้นด้วยความพากเพียร ค้นคว้า ทดลอง จนประจักษ์แจ้งความจริง ความบริสุทธิ์หรือความกรุณาก็เป็นคุณภาพที่เนื่องด้วยความประพฤติปฏิบัติและน้ำพระหฤทัยของพระองค์ซึ่งควรเป็นตัวอย่างและแบบฉบับที่ดีแก่คนทั้งหลาย
         พระคุณที่เราเคารพบูชาทั้ง 3 ประการนี้ ใครยิ่งพยายามฝึกฝนอบรมตนปฏิบัติตามได้ก็ยิ่งดี เพราะมิใช่มีไว้ประดับบุญบารมี เพื่อให้เห็นเป็นของสูงพิเศษเท่านั้น แท้จริงกลับแสดงว่าเป็นมาตรฐานที่ทุกคนควรยกระดับของตนเองขึ้นไปหา แม้ไม่ได้ถึงขนาดนั้นก็ยังดีกว่าปล่อยให้ขาดตกบกพร่องเสียด้วยประการทั้งปวง
          เมื่อพิจารณาในแง่เหตุผล คำว่า “ฤทธิ์” แปลว่า ความสำเร็จ ทุกคนก็คงปรารถนาความสำเร็จผลในสิ่งที่ปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น เมื่ออวยพรกันจึงแสดงความปรารถนาดีต่อกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักธรรมที่ให้ประสบความสำเร็จไว้ ที่เรียกว่า อิทธิบาท อันอาจแปลได้ 2 ทาง คือ ทางหนึ่งแปลว่า ข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงฤทธิ์ (Basis of Psychic Power) แปลอย่างนี้หมายถึงฤทธิ์เดชจริง ๆ ซึ่งเป็นอานุภาพทางใจชนิดหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งแปลว่า ข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ (Law of Success)
         ขอให้เราพิจารณาข้อปฏิบัติที่จะให้มีฤทธิ์หรือประสบความสำเร็จนั้นต่อไป พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 4 ประการ คือ :-
           1.ฉันทะ ความพอใจรักใครในสิ่งนั้น (Preference)
           2.วิริยะ ความพากเพียร (Energy)
           3.จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ไม่ทอดธุระ (Thought)
          4.วิมังสา สอบสวน ค้นคว้า ทดลอง (Investigation)
          จากหลักการ 4 ข้อนี้ เราย่อมพิจารณาได้เองว่าบรรดา ความสำเร็จทั้งหลายที่อยู่ในวิสัย เราย่อมมีทางไต่ขึ้นไปหา โดยอาศัยคุณธรรมดังกล่าวมานี้ได้อย่างมีเหตุผลจริง ๆการค้นคว้าการประดิษฐ์ที่สำเร็จผลของโลกทุกวันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าข้อใดข้อหนึ่ง และทั้งหมดของคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง แท้จริงจะเห็นว่าจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ทุกข้อ
        เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ตามทัศนะทางพระพุทธศาสนาต่อไปอีกโดยถี่ถ้วน ผู้เขียนขอเสนอบทความเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเคยเขียนไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
           เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนเป็นอันมาก และเนื่องจากบางคนก็เชื่อสนิท บางคนก็ไม่เชื่อเลย บางคนก็ยังคลางแคลงอยู่ จึงเป็นเรื่องน่าพิจารณาด้วยความรอบคอบ และพร้อมกันนั้นก็น่าจะหาคติหรือประโยชน์จากเรื่องนี้ให้ได้ตามสมควร
         โดยเหตุที่เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มีส่วนเข้ามาเกี่ยวพันกับทางพระพุทธศาสนาด้วย ถ้าได้ซ้อมความเข้าใจกันให้ดีแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ในการนับถือพระพุทธศาสนาได้ไม่น้อย
            ในชั้นแรก ก่อนจะพิจารณากันถึงตัวเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ขอให้เราตรวจดูหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก่อนว่า พระพุทธศาสนานั้นถ้าตัดเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกให้หมด จะยังมีสาระอะไรที่ควรแก่การนับถือหรือไม่ จากการตรวจสอบหลักธรรมทางพุทธศาสนา เราจะได้คำตอบว่าตราบใดเรายังนับถือพระพุทธศาสนา เพราะพอใจในฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ตราบนั้น เรายังไม่เชื่อว่ารู้จักหรือเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานตั้งอยู่บนความลึกลับหรือฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อะไรเลย และแม้เราจะตัดเรื่องฤทธิ์เดชาปาฏิหาริย์ออกเสียหมด ก็มิได้ทำให้พระพุทธศาสนามีส่วนที่น่านับถือน้อยลงที่ตรงไหน ตรงกันข้ามกลับจะทำให้เด่น หรือเป็นศาสนาแห่งเหตุผลยิ่งขึ้น แต่สำหรับศาสนาอื่นดูเหมือนจะลำบาก และแทบจะกล่าวได้ว่า เมื่อตัดเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกแล้วก็ล้มครืนทีเดียว เพราะศาสนาเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเทวนิยม (Theism) เชื่อว่า มีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ให้สร้างสรรดลบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปอย่างนี้อย่างนั้นได้ตามต้องการ พอไม่เชื่อฤทธิ์เดชของเทพเจ้านั้น ก็เป็นอันเป็นต้องเลิกนับถือกันหมด เพราะถ้านับถือก็ต้องเชื่อ
            คราวนี้ขอให้เราย้อนมาพูดถึงพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ที่ว่าถ้าตัดเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกทั้งหมดจะยิ่งเห็นชัดถึงความเป็นศาสนาแห่งเหตุผลนั้น มีคำอธิบายอย่างไร
            ประการแรก พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทวดาลึกลับอะไรที่ไหน จะได้ดีอะไรก็อาศัยความพากเพียรพยายามไม่ใช่ได้ดีอย่างลอย ๆ ทรงเป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้ก่อสร้างตนด้วยความเข้มแข็งอดทน กล้าเสียสละเพื่ออุดมคติอันสูงส่ง คือการช่วยให้โลกพ้นทุกข์ประสบสุขโดยไม่พรั่นพรึงต่ออุปสรรคใด ๆ
            ประการที่สอง แม้จะมีตำราหรือคัมภีร์ใด ๆ กล่าวถึงความอัศจรรย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติแล้วเสด็จดำเนินได้ 7 ก้าว มีดอกบัวรองรับพระบาท พร้อมทั้งเปล่งวาจาออกมาแสดงถึงความที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ต่อไปในภายภาคหน้า และถ้าเราจะไม่สนใจเรื่องอัศจรรย์นั้นเลย คงถือเพียงว่าพระองค์ประสูติอย่างเด็กธรรมดาอื่น ๆ ไม่ได้เสด็จดำเนินไปไหนไม่ได้รับสั่งอะไร ไม่จำเป็นต้องมีน้ำร้อน น้ำเย็น ตอกลงมาจากอากาศสนานพระกายเลย ก็ไม่ทำให้เสียพระเกียรติอะไรแก่พระองค์ และการไม่เชื่อในเรื่องเช่นนี้ เราก็ไม่ถูกขู่หรือปรับให้ตกนรก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระมหาเถระองค์แรกในเมืองไทยที่ต้องการสอนให้คนรู้จักสาระที่แท้จริงจากพระพุทธศาสนา จึงทรงนิพนธ์เรื่องพุทธประวัติ โดยอธิบายเปรียบเทียบฤทธิ์เดชว่าอาจถอดความหมายได้ด้วยทรงชี้ให้ถือคติการรู้รับประทานผลไม้เช่นมังคุดว่า ไม่ควรรับประทานทั้งเปลือก นิยายหรือเรื่องราวที่เล่ากันมาแต่โบราณ อาจต้องมีเรื่องที่เทียบด้วยเปลือก หรือกระพี้ปนอยู่บ้างเป็นธรรมดา หรือเทียบด้วยหนังสือกาพย์ต่าง ๆ ที่อาจะมีเรื่องอลังการประดับให้น่าสนุกสนานเพลิดเพลิน ทรงพยายามถอดความแห่งฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ เช่น เรื่องเสด็จดำเนิน 7 ก้าวเมื่อประสูติ เทียบด้วยการแผ่ศาสนาไปในแคว้นใหญ่ 7 แคว้น เป็นต้น เป็นการนำทางให้รู้จักอ่านหนังสือ ถือเอาแต่ความที่สำคัญไม่ไปติดในเกร็ดหรือเปลือกต่าง ๆ
             ประการที่สาม เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยกย่องว่าเป็นของดีเลิศ ทรงแยกปาฏิหาริย์ออกเป็น 3 อย่าง คือ
              1.แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ (อิทธิปาฏิหาริย์)
              2.ทายใจได้เป็นอัศจรรย์ (อาเทศนาปาฏิหาริย์)
              3.สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ (อนุศาสนีปาฏิหาริย์)
              ครั้นแล้วทรงแสดงว่าสั่งสอนเป็นอัศจรรย์นั้นนับเป็นเลิศ คือ เป็นประโยชน์ เป็นคติทุกกาลสมัย ส่วนการแสดงฤทธิ์หรือการดักใจทายใจนั้น นักเล่นกล (มายาการ) ก็อาจทำได้ การที่ทรงยกย่องคำสั่งสอนว่าเป็นอัศจรรย์นั้น ก็เพราะคำสอนที่ดีและมีเหตุผลย่อมตั้งอยู่ได้นานเท่านาน เป็นของทันสมัยอยู่เสมอ และอำนวยประโยชน์แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างไพศาล ส่วนฤทธิ์เดชต่าง ๆ นั้นก็เพียงแต่ได้ดูสนุก ๆ หรือถ้าใครไม่ได้ดูก็ไม่เชื่อและคลางแคลง นานไปก็กลายเป็นเพียงเรื่องเล่ากันคล้ายนิทาน ซึ่งคนรุ่นหลังไม่ค่อยเชื่อ และไม่เป็นประโยชน์ในทางความประพฤติปฏิบัติ จริงอยู่เรื่องฤทธิ์เดชถ้ามีจริงหรือแสดงได้จริงก็เป็นประโยชน์ในการจูงใจคนอยู่บ้าง ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงมิได้ถึงกับตำหนิ เป็นแต่ไม่ยกย่องเท่าคำสั่งสอนที่ดี ส่วนที่มีปรับอาบัติไว้แก่พระที่แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ นั้นก็เพื่อป้องกันบุคคลบางผู้มุ่งหากินในทางมิชอบ แปลกปลอมเข้ามาใช้กลอุบายหลอก ลวงว่ามีฤทธิ์ อันจะพลอยเสื่อมเสียไปถึงภิกษุผู้ประพฤติดีประพฤติชอบด้วย นอกจากนั้นทางพระพุทธศาสนาไม่นิยมโอ้อวด ถ้าจะสั่งสอนหนักไปในทางให้ติดในฤทธิ์เดช คนก็จะสนใจในความประพฤติปฏิบัติน้อยลง จึงพยายามรักษาจุดประสงค์เรื่องสั่งสอนศีลธรรมและความสงบสุขไว้ให้เป็นสำคัญยิ่งกว่าส่วนอื่น
           ประการที่สี่ พระพุทธศาสนามีคำอธิบายเรื่องฤทธิ์เดชไว้เหมือนกัน แต่เป็นไปในทางให้เหตุผลกลาง ๆ อันเป็นวิทยาศาสตร์โดยตรง คือ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องฤทธิ์เดชเพื่อจะล่อให้เชื่อ หากถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการทำจิตใจให้สงบ และมิได้กักกันหวงแหนไว้เพื่อประดับบารมีของใครโดยเฉพาะ โดยวางหลักสูตรปฏิบัติทางจิตใจไว้เป็นกลาง ๆ มีวิธีปฏิบัติเพื่อได้ฤทธิ์เดชชนิดนั้นชนิดนี้ ภายหลังที่จิตใจสงบเป็นสมาธิชั้นสูงแล้ว ซึ่งใคร ๆ ก็มีสิทธิจะทดลองฝึกหัดได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นทางพ้นทุกข์ ทั้งการทำจิตใจให้สงบก็ไม่ใช่เพื่อให้มีฤทธิ์เดช หากเพื่อก้าวไปสู่ขั้นต่อไป คือ การ อบรมปัญญารู้แจ้งความจริงของชีวิต เป็นเหตุคลายความยึดมั่นถือมั่น ทำความหลุดพ้นจากทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นตอนที่แสดงถึงข้อปฏิบัติเมื่อจิตสงบแล้ว เพื่อให้ได้ฤทธิ์บางอย่าง จึงเข้าลักษณะปฏิบัติเพื่อผลพลอยได้ แต่ไม่ใช้เพื่อติดในฤทธิ์ ถ้ายังติดอยู่ในฤทธิ์ก็ยังถือว่าติดอยู่ในเครื่องกังวล (ปลิโพธ) ประการ 1 ใน 10 ประการ ไม่เป็นเหตุบรรลุธรรมชั้นสูงขึ้นไปได้ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องฤทธิ์เป็นเพียงกีฬาอย่างหนึ่งของผู้อบรมใจให้สงบจนมีอำนาจก็ได้ แม้เช่นนั้นในพระพุทธศาสนาก็ยังให้เหตุผล และวิธีปฏิบัติไว้เป็นกลาง ๆ แก่ทุกคน ซึ่งถ้าพิจารณาตามที่กล่าวมานี้ เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา ก็คือความเป็นผู้สามารถอบรมจิตใจให้สงบ มีอำนาจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ จะว่าอัศจรรย์ก็น่าอัศจรรย์สำหรับคนที่ทำไม่ได้ จะว่าเป็นของธรรมดาก็อาจกล่าวได้ถ้าเราเข้าใจฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์นั้น ๆ แท้จริงก็เป็นเรื่องรู้วิธีทำหรือเข้าใจในเหตุผลกฎเกณฑ์ของธรรมชาติทางจิตใจนั้นเอง เทียบให้เห็น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องบิน และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ จะว่าน่าอัศจรรย์ก็น่าอัศจรรย์สำหรับคนที่ทำไม่ได้ จะว่าเป็นของธรรมดาก็ว่าได้ กล่าวคือ ผู้คิดค้นประดิษฐ์ได้อาศัยความรู้หลักเกณฑ์ของธรรมชาติประดิษฐ์ขึ้น ใครก็ตามถ้ารู้หลักเกณฑ์และจัดทำขึ้นถูกหลักเกณฑ์แล้ว ก็ทำได้สำเร็จเหมือนกันหมด ฤทธิ์เดชก็เช่นกัน ถ้าทำให้ถูกหลักเกณฑ์ก็ทำกันได้ทั้งนั้น เหตุนี้จึงอาจถือได้ว่า เรื่องของฤทธิ์เดชที่ปรากฏในทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องพิเศษหรือจุดหมายชั้นสูง เป็นเพียงการรู้จักแสดงผลบางประการของวิทยาศาสตร์ทางจิตใจเท่านั้น
           ในปัญหาข้อต่อไปที่ว่าฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์เป็นของมีจริงหรือไม่ ซึ่งเรามักจะได้ฟังคำถามนี้เสมอนั้น โดยมากมักจะพูดกันเมื่อได้ฟังข่าวลือถึงผู้วิเศษแสดงความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ในที่นั้น ๆ ถ้าจะตอบเป็นกลาง ๆ ไม่เกี่ยวกับรายใดรายหนึ่ง ก็ต้องตอบว่า ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ที่เลื่องลือกันต่าง ๆ นั้น อาจจะเป็นไปได้ทั้งของจริง และเป็นการเล่นกลให้คนอื่นหลงเชื่อสุดแต่ตัวบุคคลนั้น ๆ ถ้าจะเทียบด้วยเรื่องของจริงของปลอม เช่น ธนบัตร หรือทองคำ ก็อาจจะมีได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งของจริงและของปลอม ในกรณีที่เรื่อง ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์เป็นของมีได้จริงนั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุผลว่าอาจเป็นไปได้อย่างไร เราน่าจะต้องซ้อมความเข้าใจกันไว้ถึงข้อความที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นด้วย ว่าเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์นี้ไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่พระพุทธศาสนาสั่งสอน หากถือเป็นเรื่องผลพลอยได้ของการที่มีจิตใจสงบ อันได้ฝึกหัดจนชำนิชำนาญแล้ว แม้จะไม่ใช้หรือไม่นำเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเลย ก็มีคำสั่งสอนซึ่งเป็นหลักธรรม อันจะช่วยให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ กำจัดความทุกข์บรรลุถึงความสุขได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
            ในปัจจุบันฝรั่งนักค้นคว้าทางจิตใจ ได้ตั้งสถาบันเพื่อการนี้ขึ้น ซึ่งเรียกว่า Institute for Psychical Research แปลว่า สถาบันเพื่อการค้นคว้าทางจิตใจ พยายามจะให้บทพิสูจน์ บททดลองฤทธิ์เดชต่าง ๆ ซึ่งอาจฝึกหัดทางจิตใจจนแสดงได้แปลก ๆ อันสุดแต่ผู้แสดงจะมีความชำนิชำนาญมากเพียงไร ทั้งนี้เพื่อให้เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์กลายเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางจิตใจขึ้นมาจริง ๆ มีศาสตราจารย์ร่วมการค้นคว้าทดลองในการนี้แห่งละหลาย ๆ คน มีทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในการทดลองเขาได้มีบันทึกและมีสถิติไว้ชัดเจน เช่น ทดลองตาทิพย์ ให้คนนำวัตถุบรรจุลงไปในกล่องทึบมองข้างในไม่เห็นในอีกห้องหนึ่ง แล้วนำมาสู่ห้องทดลอง ให้คนที่ฝึกอำนาจจิตไว้แล้ว ทายได้ถูกต้องเหมือนอย่างได้เห็นของในหีบนั้น โดยไม่มีอะไรปกปิดเป็นต้น
             ในปัจจุบัน นักจิตวิทยายอมรับแล้วว่า กระแสประสาทหรือพลังงาน ที่เกิดขึ้นในระบบประสาท รายงานให้มันสมองรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งปลายประสาทบางส่วนรับทราบนั้น คือ พลังงานไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมความแล้วระบบประสาท (Nervous system) มีเรื่องของพลังงานไฟฟ้าปนอยู่มิใช่น้อย
              ในส่วนที่กว้างขวางกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical scientists) ในสมัยหนึ่งเคยกล่าวว่า สสารหรือสิ่งที่มีขนาดน้ำหนักมีการกินที่ทั้งปวง เมื่อทอนลงไปถึงที่สุดแล้วจะเหลือเพียงปรมาณู คือ ส่วนเล็กที่สุดจะแยกออกไปอีกไม่ได้แล้ว แต่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นได้ยอมรับแล้วว่าปรมาณูนั้นเมื่อก้าวให้ถึงชั้นในเข้าไปอีก ก็คือ พลังงานไฟฟ้านั่นเอง และเพราะรู้วิธีแยกปรมาณู จึงสามารถประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูชนิดที่มีอำนาจทำลายยิ่งกว่าระเบิดธรรมดาตั้งพันตั้งหมื่นเท่าได้
              นักวิทยาศาสตร์อเมริกันคนหนึ่งกล่าวว่า ในตัวคนเรานี้มีพลังงานไฟฟ้าอันอาจทำระเบิดปรมาณูได้ 1 ลูก ซึ่งมีอำนาจทำลายเมืองนิวยอร์คทั้งเมืองให้พินาศลงได้ในพริบตาเดียว อันยืนยันว่าในตัวมนุษย์เรามีพลังงานซึ่งซ่อนอยู่มากมาย เรารู้จักนำพลังงานนั้นออกมาใช้หรือไม่เท่านั้น
              เมื่อพลังงานไฟฟ้ามีส่วนสำคัญทั้งในทางวัตถุภายนอก และในระบบประสาทของคนเช่นนี้ ใครจะแสดงฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์วิเศษพิสดารได้แค่ไหนเพียงไร จึงเป็นสิ่งที่อาจเป็นไปได้ โดยขึ้นอยู่แก่การรู้จักฝึกหัดหรือนำพลังงานไปใช้ในทางที่ต้องการได้
              คนที่อบรมจิตจนสงบนั้น จะรวบรวมพลังงานไฟฟ้าในตัวเองได้มากกว่าปกติ และเมื่อฝึกหัดใช้จนชำนิชำนาญแล้ว ก็อาจทำอะไรแปลก ๆ ต่าง ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่อเราก็คงเคยได้เห็นพลังงานไฟฟ้าทำงานให้เกิดแสงสว่างกำลังงานหมุนพัดลม ยกของหนักซึ่งมนุษย์ตั้งร้อยยกไม่ได้อย่างง่ายดายกันมาบ้างแล้ว อันนั้นแหละจะตอบคำถามได้ว่าพลังงานไฟฟ้ามีฤทธิ์เดชทำอะไรได้บ้างในส่วนจิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่ออบรมถูกส่วนแล้ว ก็จะเกิดพลังงานทำให้แสดงฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้ ไม่แพ้พลังงานที่แสดงออกมาทางวัตถุ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น
              เมื่อการรู้จักวิธีทำ หรือการทำเป็น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การเข้าถึงธรรมชาติทั้งฝ่ายวัตถุธรรม และนามธรรม สามารถทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ที่น่าประหลาดมหัศจรรย์เช่นนี้ และนามธรรม สามารถทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ที่น่าประหลาดมหัศจรรย์เช่นนี้ เรื่องของฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ เมื่อกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การรู้จักใช้อำนาจหรือกำลังงานในตัวเรา ซึ่งเนื่องมาจากจิตใจนั่นเอง ถ้าทำเป็นก็ไม่น่าแปลกหรืออัศจรรย์อะไร ถ้าทำไม่เป็นก็นับว่าน่าอัศจรรย์ แต่อย่างไรก็ตามทางพระพุทธศาสนาคงถือเรื่องสงบระงับจากความทุกข์ความเดือนร้อนเป็นเกณฑ์ การกระทำใด ๆ ก็ตาม ถ้ายังไม่เป็นไปเพื่อดับความทุกข์ความเดือดร้อน ก็ยังไม่นับว่าดำเนินไปตามจุดหมายปลายทางที่มุ่งหมาย
              ฉะนั้น ใครอยากจะเล่นกีฬาทางฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ถึงกับมีอุตสาหะฝึกหัด จนสามารถแสดงอะไรได้แปลก ๆ ขลัง ๆ แล้ว ถ้าจะไม่ให้ผิดทางก็ควรจะได้ตั้งจุดหมายไว้ว่า อย่าทำไปเพราะโลภอยากได้ลาภสักการะ เพราะโกรธ คือ เพื่อจะทำลายผู้นั้นผู้นี้ หรือเพราะหลง คือ ติดอยู่ในฤทธิ์เดชนั้นก็จะได้เดินทางไปถึงที่หมายที่สูงกว่า คือ ความสงบสุขชั้นสูงได้
              เป็นอันว่าในบทนี้ เราได้พูดกันถึงคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ในข้อที่อาจยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเรื่องฤทธิ์เดชหนุนหลัง เพียงอาศัยคุณงามความดีและเหตุผลในการสั่งสอนและการประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดี ก็เพียงพอที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีความเคารพนับถือและปฏิบัติตามได้อย่างภาคภูมิใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...