“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้สู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย แล้วให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน โดยชี้ไปที่ความประพฤติปฏิบัติว่าทำคนให้เป็นเทวดาได้”
การสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริงนั้น กล่าวอีกสำนวนหนึ่ง ก็คือการสอนอย่างตรงไปตรงมา การกล้าพูดความจริงอย่างเปิดเผยนั้นเอง ท่านผู้อ่านที่ได้ผ่านบทที่ว่าด้วยการเลิกแบ่งวรรณะ (บทที่ 4) คงจำได้ว่า พวกพราหมณ์สั่งสอนกันว่า ตนเป็นพวกประเสริฐเกิดจากปากพรหม แต่พระพุทธเจ้ากล้าตรัสตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกพราหมณ์ก็เกิดมาจากมารดาและคลอดออกมาทางช่องคลอด ไฉนจะว่าวิเศษกว่าคนประเภทอื่น ความดีเลวจึงมิใช่อยู่ที่ชาติชั้นวรรณะ หากอยู่ที่การกระทำและความประพฤติต่างหาก
คราวนี้จึงมาถึงปัญหาเรื่องการพูดความจริง ขึ้นชื่อว่าความจริงแล้ว จะต้องพูดกันอย่างไม่จำกัดอะไรเลยหรือ เพื่อซ้อมความเข้าใจไว้ในเบื้องแรกก่อน จึงจะขอยกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อันว่าด้วยการกล่าวความจริงมาเป็นแนวพิจารณาในที่นี้
๑. ในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย สุตตันตปิฏก เล่ม 20 หน้า 261 พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ไม่ถูกความโลภ ความคิดประทุษร้าย และความหลงครอบงำ ย่อมเป็นผู้กล่าวถูกกาล (กาลวาที), กล่าวความจริง (ภูตวาที), กล่าวเป็นประโยชน์ (อัตถวาที), กล่าวเป็นธรรม (ธัมมวาที), กล่าวเป็นวินัย (วินัยวาที)
ในพระพุทธภาษิตนี้แสดงองค์ประกอบในการกล่าวถ้อยคำที่นับว่าดีไว้หลายประการ คือกล่าวถูกกาลไม่ใช่พูดพร่ำเพรื่อ กล่าวความจริง และกล่าวคำเป็นประโยชน์คือ คำจริงที่จะกล่าวนั้นถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรกล่าวนอกจากจะกล่าวให้ถูกกาล ถูกตามความจริง และมีประโยชน์แล้ว ยังควรให้อิงธรรมอิงวินัยด้วย ธรรมกับวินัยที่มาคู่กันเช่นนี้ ก็คล้ายกับคำว่าศีลธรรม ศีลหมายถึงการเว้นความชั่ว ธรรมหมายถึงการประพฤติความดี ธรรมที่มาคู่กับวินัยหมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นไปเพื่อปลูกฝังความดี ชำระจิตใจให้สะอาด วินัยหมายถึงการเว้นความชั่ว ทางกายวาจาใจ ตลอดจนจรรยามารยาท ต่าง ๆ จึงเป็นอันเข้าใจได้ว่า การพูดความจริงนั้นไม่ใช่พูดส่ง ๆ ไปโดยไม่มีความหมาย จะต้องพูดให้ถูกกาลเทศะ อิงประโยชน์อิงธรรม อิงวินัย จึงจะนับว่าเป็นความถูกต้องอย่างสมบูรณ์
๒. อีกแห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบอภัยราชกุมารปรากฏในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สุตตันตปิฏก เล่ม 13 หน้า 91 ความว่า
“ดูก่อนราชกุมาร ! ตถาคตรู้ว่าวาจาใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ วาจานั้นจะถูกใจชอบใจคนอื่นหรือไม่ถูกใจก็ตาม ตถาคตก็ไม่กล่าววาจานั้น แต่วาจาใด ตถาคตรู้ว่าเป็นเรื่องจริง เรื่องแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ วาจานั้นจะถูกใจชอบใจคนอื่นหรือไม่ก็ตาม ตถาคตย่อมรู้กาลเวลาที่จะกล่าววาจานั้น เพราะมีความอนุเคราะห์ในสัตว์ทั้งหลาย”
ข้อความที่เก็บมาจากพระสุตตันตปิฏกโดยย่อนี้ แสดงว่า ถ้าถ้อยคำที่จะกล่าวเป็นเรื่องไม่จริง ไม่มีประโยชน์แล้ว จะชอบใจใครหรือไม่ก็ตาม พระพุทธเจ้าไม่ยอมตรัสถ้อยคำนั้น ไม่มีประโยชน์แล้ว จะชอบใจใครหรือไม่ก็ตามพระพุทธเจ้าไม่ยอมตรัสพร่ำเพรื่อ พระองค์จะทรงพิจารณากาลเทศะที่สมควรก่อนแล้วจึงตรัสวาจานั้น ถ้าเป็นกาลเทศะอันสมควรแล้ว แม้บางคนจะไม่ชอบ พระองค์ก็คงตรัสเพราะทรงมุ่งประโยชน์ มุ่งอนุเคราะห์สัตว์เป็นที่ตั้ง เมื่อได้ซ้อมความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็สะดวกที่เราจะได้พิจารณาการแสดงธรรมอย่างตัดตรงเข้าหาความจริงของพระพุทธเจ้าในข้ออื่น ๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการกล่าวอย่างตรงไปตรงมาต่อไป
การกล้าสู้ความจริงเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย
คนธรรมดาทั่วไป ไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องชนิดนี้เพราะถือว่าไม่ค่อยเป็นมงคลนัก โดยเฉพาะเรื่องความตายยิ่งไม่อยากพูดถึง ด้วยเกรงจะเป็นลางบ้างเกรงว่าจะทำให้ใจไม่สบายบ้าง ถึงกับประเพณีบางแห่งห้ามพูดเรื่องเหล่านี้ด้วย ถือว่าเป็นอัปมงคล หรือบางคนที่คิดตื้นก็หาความเลยว่า การมองเรื่องแก่เจ็บตายนี้เป็นการมองในแง่ร้าย ทำไม่ไม่พูดหรือไม่มองถึงเรื่องที่จะให้เกิดความสบายใจ ให้รื่นเริงผาสุก จะมานั่งจับเจ่าเศร้าโศก นึกแต่เรื่องทุกข์ ๆ ร้อน ๆ ให้เปลืองเวลาอยู่ทำไม ทั้งเป็นการทำจิตใจให้หดหู่ไปเปล่า ๆ ความข้อนี้ควรจะได้พิจารณากันโดยรอบคอบ และในทางที่เกิดประโยชน์เป็นประเด็น ๆ ไป
ถ้าเราจะไม่ยอมพูดเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะเกรงจะเป็นลางหรือเป็นเรื่องอัปมงคลแล้ว พระพุทธศาสนาก็ตอบได้ทันทีว่าศาสนานี้ไม่ถือความจริงเรื่องนี้ว่าเป็นมงคล หรืออัปมงคล หากสอนให้รู้จักความจริงจะได้ไม่ประมาท จะได้หาประโยชน์จากเวลาที่ล่วงไป ๆ นั้นให้ได้มากน้อยตามสมควร ดีกว่าปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปเปล่า เพราะใครจะพูดถึงหรือไม่พูดถึง ใครจะกลัวหรือไม่กลัว ก็จะต้องเผชิญหน้ากับความแก่ ความเจ็บและความตายด้วยกันทุกคน แต่คนที่รู้ตัวไว้ก่อนไม่ประมาท ย่อมได้เปรียบที่ได้มีโอกาสบำเพ็ญคุณงามความดีไว้ ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่มารู้สึกตัวเอาเมื่อสายแล้ว ข้อที่ลึกซึ้งลงไปกว่านั้น ก็คือเรื่องของความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องไม่ดีไม่ถูกใจคน ถ้าเราฉลาดพอเราก็อาจหาประโยชน์จากเรื่องไม่ดีนี้ให้ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายก็คงจะไม่มีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก ซึ่งกล่าวอีกสำนวนหนึ่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายทรงหาประโยชน์อย่างสูงสุดได้จากเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เป็นการหาของไม่เน่าได้จากร่างกายอันมีความเน่าเปื่อยเป็นธรรมดานี้เอง เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าการกล้าสู้หน้ากับความจริงนี้ ไม่ใช่เพราะเก่งกล้าอวดดีอะไร แต่เป็นเพราะต้องการจะหาประโยชน์จากความจริงที่ไม่น่าพอใจนี้ให้ได้ ฉะนั้นจึงไม่น่าถือเป็นลางร้ายหรืออัปมงคล
ส่วนปัญหาที่ว่าเราเกิดมาในโลกมีเวลาอยู่ไม่นานนักควรจะหาความสุขให้มากที่สุด ไม่ควรจะมาเสียเวลามองอะไรต่ออะไรในแง่ร้ายให้ใจหดหู่ไปเปล่า ๆ คำตอบมีอยู่ว่า การมองเรื่องความเกิดแก่เจ็บตายนี้ ไม่ใช่มองในแง่ร้ายแต่เป็นการมองเพื่อจะให้เกิดแง่ดี เทียบได้กับนายแพทย์ การศึกษาวิชาของแพทย์จะต้องกล้าสู้หน้ากับความจริงเรื่องลักษณะอาการของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยไม่หดหู่ย่อท้อ เพราะการศึกษาอันนั้นจะเป็นเหตุให้กำจัดโรคภัยไข้เจ็บนั้น ๆ ได้ในที่สุด การดำเนินงานของแพทย์เพื่อความผาสุกสำราญปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และการศึกษาของแพทย์ไม่พึงตำหนิว่ามองในแง่ร้าย แต่ควรชมว่าเป็นการศึกษาเพื่อให้ได้ประสบความสุขฉันใด คำสั่งสอนที่ให้สู้หน้าความจริงเรื่องความเกิดแก่เจ็บตายในพระพุทธศาสนาก็ฉันนั้น เป็นการสอนเพื่อให้เอาชนะความเกิดแก่เจ็บตายได้ เป็นการกล้าสู่หน้ากับความจริงเพื่อจะค้นต่อไปว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นจากอะไร จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรเพื่อกำจัดต้นเหตุนั้นๆ จริงอยู่การหาความสุขสำราญโดยไม่ยอมคิดถึงความจริงอื่นๆ อาจจะสบายได้พักหนึ่ง แต่จะเข้าทำนองคนที่ไม่อยากเรียนหนังสือหรือทำมาหากิน เพราะเกรงเสียเวลาและลำบากเปล่า ๆ สู้นั่ง ๆ นอน ๆ หาความสบายไม่ได้ คนประเภทนี้อาจหาความสบายได้จริง แต่ในที่สุดจะต้องเดือดร้อน อันเข้าสุภาษิตไทยว่า “ใครใฝ่ร้อนจะนอนเย็น ใครใฝ่เย็นจะดิ้นตาย คนที่ลำบากไว้ก่อนจะนอนสบาย คนที่ไม่ยอมลำบากเลยจะต้องดิ้นตายในภายหลัง” นี่เป็นคติเตือนใจอย่างดียิ่ง อีกอย่างหนึ่งความหมายของคำว่ามองแง่ร้าย หรือทุนิยม (Pessimism) นั้น หมายความว่า มองไม่เห็นทางแก้ดูอะไรต่ออะไรเป็นเรื่องแย่ไปหมด แต่การสู้หน้ากับความจริง ในพระพุทธศาสนาเป็นการมองอย่างหาทางแก้ไว้ด้วย เพื่อความสุขสมบูรณ์ในที่สุด จึงเห็นได้ชัดว่า มิใช่เป็นการมองในแง่ร้าย แต่เป็นการศึกษาให้รู้จักความจริงเพื่อหาประโยชน์แห่งชีวิตจากเรื่องที่มองให้ได้เท่านั้น เหตุนี้ การที่บางท่านอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาว่าเป็นสายกลางไม่ใช่ สุนิยม (Optimism) ไม่ใช่ทุนิยม (Pessimism) คือไม่ใช่ทั้งมองในแง่ดี ไม่ใช่ทั้งมองในแง่ร้าย จึงนับว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องและเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนเองควรทำความเข้าใจให้ดี เพื่อประโยชน์ในการรู้ความมุ่งหมายและเนื้อหาคำสั่งสอนในศาสนาของตนเอง
คำสอนเรื่องฤกษ์ยาม
พระพุทธเจ้าทรงกล้าประกาศอย่างตรงไปตรงมาถึงหลักคำสอน เรื่องฤกษ์ยาม เช่นที่ตรัสว่า
๑.คนเขลามัวถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์ย่อมล่วงเลยไป ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้ : พระสุตตันตปิฏก เล่ม 27 หน้า 61
๒.สัตว์ประพฤติสุจริตกายวาจาใจในเวลาเช้า เช้าวันนั้นย่อมเป็นเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น ประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจในเวลาเที่ยง เที่ยงวันนั้นย่อมเป็นเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น ประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจในเวลาเย็น เย็นวันนั้นย่อมเป็นเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น : พระสุตตันตปิฏก เล่ม 20 หน้า 178
พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้ากล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่ต้องหาฤกษ์ ถือความสุจริต ความสะดวกเป็นเกณฑ์ก็แล้วกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกับคนอื่นที่เขายังอยากจะหาฤกษ์ของเขา ปัญหาขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะมีใจเข้มแข็งแค่ไหน ถ้าใจเข้มแข็งแล้วก็เลิกถือจุกจิกหรือฤกษ์ยามได้
คนบางคนเมื่ออายุยังน้อย อ่านหนังสือปฏิทินพกประจำปี ซึ่งมีผู้แต่งโคลงเรื่องตัดเล็บตัดผมไว้ ห้ามตัดวันนั้นให้ตัดวันนี้ ท่องจำได้ขึ้นปาก มาภายหลังได้ลองตัดในวันที่ห้ามดูเพื่อฝืนใจให้กล้าสลัดความเชื่อถือโชคลาง เมื่อฝืน ๆ ไปก็เกิดความสบายใจที่จะตัดเล็บตัดผมได้ในโอกาสที่ว่าง ไม่ต้องเลือกว่าเป็นวันไหน ทำให้วันเวลาใน 1 สัปดาห์ ไม่กลายเป็นอัมพาตไป บางวันสำหรับเว้นการทำนั่นทำนี่
ในการกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ ผู้เคร่งทางถือฤกษ์อาจไม่ชอบ แต่ข้าพเจ้าเห็นมีทางประนีประนอมกันได้ กล่าวคือพระพุทธศาสนานั้นมีข้อปฏิบัติหลายชั้นถ้าปฏิบัติได้แค่ไหน ก็ถือว่าเป็นการกระทำตามความเหมาะสมแก่จริตอัธยาศัย คือยังอยากถือฤกษ์ยามอยู่ และในขณะเดียวกันก็จะทำคุณงามความดีหรือทำบุญกุศล ดังนี้ก็หาได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนผิด คนเสียอะไรไม่ ยกเว้นไม่ได้ก็เชิญถือต่อไป ถ้าใจแข็งพอก็จะเว้นได้เองในภายหลัง เพราะไม่ใช่เรื่องนี้เท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นอีกถมไปที่พระพุทธศาสนาว่าไม่ดี แล้วเราก็ยังละไม่ได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือ เราถือเขาเป็นต้น ข้อสำคัญเมื่อละไม่ได้ก็อย่าไปเหมาเอาว่า พระพุทธศาสนาสอนให้มีโลภ โกรธ หลง ก็ใช้ได้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า จะเกณฑ์ให้คนทุกคนมีจิตใจเหมือนกันหมด มีความประพฤติทางกาย วาจา อย่างเดียวกันหมดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความจริงการตั้งพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่เพื่อคนที่วิเศษแล้ว เพราะถ้าคนทั้งหลายประเสริฐวิเศษไปหมดแล้ว ดูก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องตั้งศาสนา แต่เพราะเหตุที่ยังมีคนหลายชนิดหลายประเภทซึ่งเป็นคนยังมีกิเลสธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ผู้วิเศษมาจากไหนนี้เอง จึงได้มีพระพุทธศาสนาขึ้น และก็เป็นธรรมดาของการสอนที่ต้องขึงเชือกหรือตั้งขีดขั้นไว้ ตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงอย่างสูง เริ่มต้นทีเดียวเราจะเอาอย่างสูงมาเป็นแนวตัดสิน ก็อาจจะยังไม่ได้ผลดี เพราะฉะนั้นในปัญหาเรื่องฤกษ์ยามนี้ ถ้าท่านจะถือก็ไม่ทำให้เสียหายหรือตกนรกหรือชื่อว่าทำบาปทุจริตอันใด แต่ถ้าท่านใจกล้า ท่านจะลองหัดไม่ถือดูบ้างก็จะสบายใจดีไม่น้อย
ในการนี้อาจมีบางท่านยังติดใจที่จะสนับสนุนเรื่องฤกษ์ยามอยู่ โดยให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่า ดวงดาวในท้องฟ้าย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับมนุษย์และโลกเราอยู่ไม่น้อย เช่น ดวงจันทร์เกี่ยวข้องกับน้ำขึ้นน้ำลง และเกี่ยวโยงถึงการมีระดูของสตรี ธาตุต่าง ๆ ในดวงดาวย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับธาตุต่าง ๆ ในโลกเรา และในร่างกายมนุษย์ จุดดับในดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า Sun Spot ย่อมทำให้เกิดพายุแม่เหล็กในโลกเรา เป็นอุปสรรคแก่การส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น ฉะนั้น อิทธิพลของดวงดาวจึงน่าจะมีอยู่โดยแท้ เมื่อเป็นเช่นนี้การถือฤกษ์ยามจะว่าไร้เหตุผลเสียทีเดียวก็ไม่เชิง น่าจะมีอะไรที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์อยู่เหมือนกัน
เรื่องนี้ถ้าจะตอบตามหลักพระพุทธศาสนา ก็ตอบได้ว่าจุดที่เพ่งเล็งนั้นต่างกัน พระพุทธศาสนาต้องการให้ทำคุณงามความดี โดยไม่ต้องให้ชื่อว่าดีเพราะอาศัยเหตุภายนอกคือฤกษ์ยาม หากให้ทำดีที่กาย วาจา ใจของตนหรือให้สร้างคุณงามความดีขึ้นเป็นพื้นฐาน เพื่อให้สิ่งอื่น ๆ ถูกจูงให้ดีไปตาม ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าทรงประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ แม้สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระองค์ก็กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานคือวันวิสาขบูชา ก็กลายเป็นวันสำคัญของโลก ก้อนดิน ท่อนไม้ โลหะ หรือของอื่น ๆ ที่นำมาปั้นแกะสลักหล่อหลอมเป็นพระพุทธรูปก็กลายเป็นของควรแก่การกราบไหว้บูชา ถามว่าอะไรจูงอะไร ตอบว่าคุณงามความดีจูงให้ทุก ๆ อย่างดีไปหมด ถ้าเอาคุณงามความดีออกเสียอย่างเดียว อย่างอื่น ๆ ก็พลอยหมดความหมายไปด้วย คราวนี้ถ้าเราจะลองเอาฤกษ์วิสาขะที่พระองค์ประสูติมาจูงอย่างอื่น ๆ บ้างจะได้หรือไม่ ปรากฏในตำนานว่าคนที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้านั้นมีหลายคนเราก็คงเห็นแล้วฤกษ์วิสาขะจูงไม่สำเร็จที่จะให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน หรือเพื่อความยุติธรรม เราอาจกล่าวตามเหตุผลทางโหราศาสตร์ได้ว่า คนเกิดฤกษ์เดียวกันวันเดียวกันแต่ต่างเวลากันเพียงเล็กน้อย ก็ต่างกันได้ แต่เมื่อย้อนถามกันอย่างตรงไปตรงมาว่าแน่หรือที่ว่า ฤกษ์สร้างความดีให้คน สร้างความสำเร็จต่าง ๆ ให้ ก็คงจะยอมรับกันว่า ยังไม่แน่เหมือนหลักพระพุทธศาสนาที่ว่าความดี ความชั่ว หรือกรรมที่ทำนั้นย่อมปรุงแต่งคนให้ดีเลวต่างกัน
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงพิจารณาเรื่อง พรหมลิขิต ของพราหมณ์เทียบกรรมลิขิต ของพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนขึ้น คือพราหมณ์ถือว่า ใครจะดีจะชั่ว พระพรหมผู้สร้างโลกได้ลิขิตไว้เสร็จแล้วที่หน้าผาก ไม่มีใครแก้ได้ นอกจากพระพรหมเอง ส่วนพระพุทธศาสนาถือว่าความดี ความชั่วที่เราทำ ซึ่งเรียกว่ากรรมดีกรรมชั่วนี้แหละที่ลิขิตชีวิตของเรา แต่เพราะเราทำไว้หลายอย่างต่าง ๆ กัน บางทีก็ดี บางทีก็ชั่ว ผลที่ได้รับจึงไม่เหมือนกัน และบางครั้งก็สลับซับซ้อนจนเหลือที่จะสาวหาเบื้องต้นและที่สุดได้ เมื่อพิจารณากันถึงรากฐานชั้นใน คือกรรมดีกรรมชั่วของคนแล้ว ผู้เรียนโหราศาสตร์บางคนก็อธิบายว่า ดวงดาวหรือท้องฟ้าเป็นคล้ายแผนที่ ซึ่งแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของคนเราต่าง ๆ กัน คนที่ทำกรรมดีก็เกิดมาโดยมีแผนที่ท้องฟ้าบอกไว้ว่าจะได้ดี คนที่ทำกรรมชั่วแผนที่ก็บอกไว้ว่าจะได้รับผลชั่ว เป็นการอธิบายโหราศาสตร์ให้มาสมคล้อยกับหลักทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอีกต่อหนึ่ง คือยอมรับว่าความดีความชั่วจูงสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งกำหนด ให้คนหรือสัตว์เกิดในขณะที่ดวงดาวอยู่ในลักษณะดีหรือชั่ว ไม่ใช่ดวงดาวบังคับคนให้ดีชั่ว หรือในตัวอย่างอื่นอีก กรรมดีกรรมชั่วนั้นเอง จูงให้คนไปเกิดในที่ที่มีความสุข ความเจริญ ให้มีสิ่งแวดล้อมดีงาม เรื่องของดวงดาวเป็นเพียงแผนที่อ่านกรรมดีกรรมชั่วของคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอย้ำในที่นี้ว่า ทางพระพุทธศาสนาต้องการปลูกฝังดีใน คือดีที่ตัวคน ไม่ใช่ให้ไปติดที่ ดีนอก เช่น ที่ดวงดาว เพราะดีในเป็นดียั่งยืนและตรงไปตรงมา ส่วนดีนอกยังเป็นที่น่าสงสัย เช่น นาย ก. สอบไล่ได้ เพราะขณะสอบฤกษ์ดี, กับนาย ข. สอบไล่ได้เพราะมีความรู้ ความสามารถ เราก็คงเห็นแล้วรากฐานของคนสองคนนี้ไกลกันมาก คนที่สอบได้เพราะฤกษ์ดี (สมมติว่ามี) นั้น เราจะหวังเอาความรู้ความสามารถที่เป็นสาระอะไรไม่ได้เลย แต่คนที่สอบได้เพราะมีความรู้ ความสามารถ ย่อมเป็นผู้มีรากฐานมั่นคงมาก และเป็นที่พึ่งประสงค์ยิ่งกว่าโดยแท้
อาจมีปัญหาเกิดขึ้นอีกข้อหนึ่งที่ว่า ทางพระพุทธศาสนาไม่สอนให้เชื่อถือโชคลางหรือฤกษ์ยาม แต่เหตุไฉนกำหนดกาลต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และเข้าพรรษา จึงเนื่องด้วยดวงฤกษ์ทั้งสิ้น กล่าวคือวันมาฆบูชา กำหนดในวันที่พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อมฆา วันวิสาขบูชากำหนดในวันที่พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อวิสาขา และวันเข้าพรรษากำหนดเมื่อพระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่ออาสาฬหา ล่วงแล้ววันหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้จะว่าพระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับฤกษ์ยามอย่างไร (กลุ่มดาวฤกษ์ชื่อ มฆา มี 5 ดวง มีลักษณะคล้ายงูผู้ ชื่อวิสาขะมี 3 ดวงมีลักษณะคล้ายคันฉัตรหรือแขนนาง, ชื่ออาสาฬหะ มี 3 ดวงมีลักษณะคล้ายสัปคับช้าง ชื่อทั้ง 3 นี้เป็นอิตถีลิงค์ เป็นชื่อกลุ่มดาว ถ้าเป็นชื่อเดือนก็เป็นมาฆะ,เวสาขะและอาสาฬหะ)
ปัญหานี้ ถ้ารู้เรื่องวิธีนับวันเดือนปีของอินเดียโบราณแล้วก็จะเข้าใจได้ชัดขึ้นว่า กำหนดกาลทางพุทธศาสนานั้นเป็นไปตามปฏิทินโบราณนั่นเอง กล่าวคือ ปฏิทินของอินเดียโบราณ ไม่มีการพิมพ์เป็นเล่มเป็นแผ่นดังทุกวันนี้ แต่ใช้ท้องฟ้าทั้งฟ้าเป็นแผ่นปฏิทิน วิธีนับวันกำหนดด้วยดวงจันทร์ข้างขึ้น ข้างแรมเป็นขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ วิธีกำหนดเดือนและเรียกชื่อเดือนใช้วันพระจันทร์เต็มดวงเป็นหลัก พระจันทร์เต็มดวงในเดือนไหน ผ่านกลุ่มดาวอะไร ก็เรียกชื่อเดือนตามกลุ่มดาวนั้น เช่น พระจันทร์เต็มดวงผ่านกลุ่มดาวชื่อมาฆะก็เรียกเดือนนั้นว่า มาฆะ พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวชื่อวิสาขะ ก็เรียกเดือนนั้นว่าวิสาขะ ส่วนวันเข้าพรรษากำหนดตามฤดูที่แบ่งออกเป็น 3 คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันกลางเดือน 8 (รวม 4 เดือน) ฤดูฝนกำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันกลางเดือน 12 (รวม 4 เดือน) และฤดูหนาวกำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันกลางเดือน 4 (4 เดือนเช่นเดียวกัน) การจะรู้กำหนดดังกล่าวก็ต้องดูท้องฟ้าซึ่งเป็นแผ่นปฏิทินใหญ่ ว่าดวงจันทร์โคจรไปถึงไหนผ่านกลุ่มดาวอะไร ก็กำหนดฤดูเดือนวันได้ ตกลงวันมาฆบูชา วิสาขบูชาและเข้าพรรษา ไม่ใช่เอาดีกันที่ตรงฤกษ์นั้น ๆ แต่อาศัยดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเครื่องกำหนดปฏิทินเท่านั้น
ความจริงหลัก 3 ประการ ในการกำหนดเดือน คือ 1. พระจันทร์เต็มดวง 2. โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ที่เป็นชื่อของเดือน 3 ดิถีนั้นต้องเป็นดิถีที่ 15 นับแต่วันขึ้น 1 ค่ำมา เราจะเห็นได้ว่าข้อกำหนดทั้ง 3 นี้ มีคลาดเคลื่อนกันอยู่เสมอ เช่น พระจันทร์เต็มดวง แต่ยังไม่เสวยฤกษ์นั้นยังขาดไปอีก 1 ฤกษ์ หรือดิถีคลาดเคลื่อนไปวัน 1 แต่รวมความแล้ว ก็ถือเอาถูกส่วนมากเป็นประมาณ ผู้ที่รู้จักถือเอาประโยชน์ ก็เพ่งเพียงพอกำหนดเป็นปฏิทินได้ ส่วนผู้เข้าใจผิดก็นึกว่าเป็นเรื่องถือฤกษ์ยาม เพราะเห็นข้อกำหนดว่า พระจันทร์เต็มดวงเข้าฤกษ์นั้นฤกษ์นี้แล้วหรือยังกลายเป็นจะเอาดีกันทั้งตรงดาวฤกษ์ซึ่งกลายเป็นเรื่องวุ่นวายไป ในครั้งพุทธกาลเองพระพุทธเจ้าก็ทรงทราบดีว่าการใช้ท้องฟ้าเป็นปฏิทินนั้นอาจจมีความเห็นแตกต่างกันได้บ้าง ในวินัยปิฏกพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งข้อกำหนดไว้ ในเรื่องวันอุโบสถ วันปวารณาว่า ถ้าความเห็นไม่ตรงกัน ระหว่างพระสงฆ์ฝ่ายอาคันตุกะ (ผู้มาอาศัยพัก) กับพระสงฆ์ฝ่ายเจ้าถิ่น ให้ถือเสียงของพระสงฆ์เจ้าถิ่นเป็นประมาณดังนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวุ่นวายในเรื่องฤกษ์ยามอะไรเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรทราบว่าดาวฤกษ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาในพระพุทธศาสนานั้น เพียงสำหรับกำหนดวันเดือนปีเท่านั้น วิธีการคิดปฏิทินแบบนี้มีทั่วไปแม้ในปฏิทินยิว ปฏิทินจีน เรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ (Lunar Calendar) คือคิดตามวิถีโคจรของดวงจันทร์ ในสมัยปัจจุบันกำหนดปฏิทินตามวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ จึงเรียกว่าปฏิทินตามวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ จึงเรียกว่าปฏิทินสุริยคติ (Solar Calendar)
ผู้เขียนขอกล่าวใจความสำคัญในเรื่องฤกษ์ยามตามคติทางพระพุทธศาสนาโดยย่อเพื่อเป็นแนวทำความเข้าใจกันดังนี้ :-
๑. ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือฤกษ์ยามเป็นสำคัญแต่ถือคุณงามความดีเป็นสำคัญ ถ้าทำคุณงามความดีในวันเวลาใด วันเวลานั้นก็กลายเป็นฤกษ์งามยามดีไป
๒. ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือว่าฤกษ์งามยามดีเป็นตัวจูงให้เกิดความดีงามหรือความสำเร็จผล แต่ถือว่าตัวคุณงามความดีเป็นตัวจูงให้เกิดความสำเร็จผล รวมทั้งจูงให้เกิดฤกษ์ดีด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงทำคุณงามความดีไว้ แม้จะประสูติวันวิสาขะวันนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร แต่เพราะพระองค์ทรงทำคุณงามความดีไว้ ทุกสิ่งที่เนื่องด้วยพระองค์เช่นวัน เดือนปี ก้อนดินท่อนไม้หรือโลหะที่นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปก็เลยพลอยเป็นของมีค่าไปด้วย จึงนับได้ว่าคุณงามความดีเป็นตัวจูงสิ่งอื่น ๆ ให้ดีตาม
๓. ในบางครั้งทางพระพุทธศาสนามีกำหนดกาลเวลาเนื่องด้วยดาวฤกษ์ ก็ไม่ใช่เพราะคิดในเรื่องฤกษ์งามยามดี แต่เป็นการอาศัยดาวฤกษ์เป็นปฏิทินตามวิธีการคำนวณของอินเดียโบราณเท่านั้น วันเดือนปีตามกำหนดนั้น มิได้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อะไรขึ้นมาเลย สำคัญที่คนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่างหาก ที่จะทำให้วันเดือนปีพลอยมีความหมายไปด้วย
จากข้อสรุป 3 ข้อนี้ เชื่อว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความตรงไปตรงมาของพระพุทธศาสนามากขึ้น ว่าในศาสนานี้ทำได้สอนแฝงความลึกลับอะไรไว้เลย เป็นเรื่องคิดได้ หาเหตุผลได้ อย่างตรงไปตรงมาทั้งสิ้น และข้อเสนอนี้อาจทำให้ท่านผู้ที่เข้าใจว่า เรื่องกำหนดกาลพระพุทธศาสนาเป็นการติดฤกษ์ยาม ได้โปรดเข้าใจให้ถูกต้องต่อไปด้วย เพื่อพิจารณาว่า แท้จริงพระพุทธเจ้าทรงมุ่งการปฏิบัติมากกว่าการเถียงกันเรื่องวัน เดือน ปีอันเคยมีข้อเถียงกันมาแล้วแม้ในครั้งพุทธกาล
มีข้อควรกล่าวไว้ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไปอีกเล็กน้อยก็คือสำหรับท่านที่ยังติดในเรื่องฤกษ์ยาม ท่านอาจรู้สึกว่า เรื่องนี้ออกจะขัดใจท่านอยู่บ้าง ก็ขอได้โปรดเข้าใจด้วยว่า ถ้าท่านยังทิ้งไม่ได้ก็โปรดถือของท่านตามสบายต่อไป เพราะไม่เป็นบาปตกนรกอะไร และไม่ทำให้ท่านเสียหายอะไรเป็นแต่อย่าถือจนเป็นเหตุให้ตัวท่านเอง เดือดร้อน หรือเป็นเหตุเสียการเสียงาน แต่ถ้าท่านจะหัดผ่อนคลายการถือลงทีละเล็กละน้อย และหัดใจให้เข้มแข็งขึ้นถึงกับไม่ถือได้เลยในที่สุด ก็หมายความว่าท่านได้ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์แล้วในเรื่องนี้ ข้อสำคัญให้ถือคุณงามความดีเป็นหลักเกณฑ์เป็นแนวทางปฏิบัติจริง ๆ ก็จะทำให้จิตใจสบายและเป็นทางสร้างความเจริญได้อย่างถูกตรงตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่ามีหลายชั้น พุทธศาสนิกจึงเลือกปฏิบัติได้ตามความสามารถหรือความสะดวกใจ
เรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำมนต์
เข้าใจว่าเรื่องน้ำมนต์ เป็นเรื่องมีแพร่หลายอยู่ในหลายศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์ คริสต์ศาสนา และพระพุทธศาสนา แต่ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าจุดสำคัญอยู่ที่น้ำมนต์ หากอยู่ที่คุณงามความดี
การที่ทางพระพุทธศาสนาพลอยมีน้ำมนต์กับเขาไปด้วยนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องโดยตรง แต่เป็นเรื่องโดยอ้อมที่มีเล่าไว้ในหนังสือที่แต่งภายหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 1,000 ปี คือในชั้นอรรถกถา อธิบายความในรัตนสูตร (อรรถกถาจุททกปาฐะหน้า 173) เล่าเรื่องภัย 3 ประการเกิดขึ้นในกรุงไพศาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ภัย 3 ประการนั้น คือ ทุพภิกขภัย (ภัยเพราะข้าวยากหมากแพง) อมนุสสภัย (ภัยเพราะอมนุษย์หรือปีศาจ) และโรคภัย (ภัยเพราะโรค) โดยเฉพาะที่เกิดในภาษาบาลีว่า อหิวาตกโรค แต่จะเหมือนอหิวาตกโรคในปัจจุบันหรือไม่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ลักษณะที่เล่าไว้รู้สึกว่าเป็นโรคร้ายแรงมาก ตายกันเป็นครัว ๆ และลามไปถึงสัตว์ต่าง ๆ ด้วย คณะกษัตริย์ลิจฉวีจึงส่งคนไปอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จจากแคว้นมคธไปโปรดยังแคว้นวัชชี เมื่อทรงรับนิมนต์แล้วก็เสด็จผ่านบ้านปาฏลีคามข้ามแม่น้ำคงคาตรงนั้น สู่ฝั่งแคว้นวัชชีเข้าสู่กรุงไพศาลี ในเรื่องเล่าว่าพอเสด็จเข้าเขตวัชชีฝนก็ตกใหญ่ ทำให้โรคระบาดสงบ เมื่อเสด็จเข้าสู่กรุงไพศาลีนครหลวงแล้ว ก็ทรงสอนให้พระอานนท์ท่องจำรัตนสูตร (ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ ฯลฯ) พระอานนท์จำได้แล้วก็เอาบาตรใส่น้ำประพรมไปทั่ว พวกอมนุษย์ก็หนีไป เหตุร้ายต่าง ๆ ก็สงบ
จากเรื่องเล่าในอรรถกถานี้ จึงมีการตั้งน้ำมนต์ในเมื่อมีการสวดพระปริตรในบ้านเมือง เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็มีการอาราธนาพระสังฆเถระให้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งแก่คณะบุคคลในบ้านนั้น และแก่บ้านเรือนเพื่อเป็นสวัสดิมงคล และเพื่อขจัดสิ่งไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ ต่อมาก็มีเรื่องเป็นพิเศษส่วนตัวตามความเชื่อถือของบุคคล ใครรู้สึกว่าเหตุการณ์ในชีวิตไม่ราบรื่นหรือมีอะไรไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไปหาพระให้ช่วยรดน้ำมนต์ให้ ทำให้ใจสบายไปได้ไม่น้อย กล่าวกันในทางจิตวิทยารู้สึกว่าจะได้ผลทางจิตใจมาก ถ้าผู้รดน้ำมนต์มีความเชื่อว่า จะเป็นเหตุผ่อนคลายความไม่ดีต่าง ๆ ลงไป
ในศาสนาพราหมณ์เขามีความเชื่อในเรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เช่น แม่น้ำคงคา ถือกันว่าไหลมาแต่สวรรค์ผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้า ซึ่งช่วยให้กระแสน้ำอ่อนลง มิเช่นนั้นก็จะท่วมโลก เพราะน้ำนั้นไหลผ่านเศียรพระศิวะ จึงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ล้างบาปได้ ทำให้ผู้อาบลอยบาปไปตามกระแสน้ำ หรืออาบแล้วทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ทุก ๆ ปีที่ท่าอาบน้ำเมืองพาราณสีจะมีคนไปอาบน้ำทำพิธีทางศาสนาในแม่น้ำคงคาตอนนั้นนับจำนวนล้าน ๆ คน
มีเรื่องเล่าไว้ในวรรณคดีฝ่ายพระพุทธศาสนาว่า แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์นับถือกันนั้น มิใช่มีแต่แม่น้ำคงคาเท่านั้น แม่น้ำอื่น ๆ เช่น ยมุนา สรภู สรัสสตี นินนคา อจิรวตี และมหี (รวมเป็น 7 สาย ทั้งแม่น้ำคงคา)1 บางแห่งก็กล่าวถึงแม่น้ำสายอื่นอีกคือ พาหุกา, คยา, สุนทริกา, สรัสสตี, ปยาคะและพาหุมตี2 (เฉพาะปยาคะดูเหมือนจะไม่ใช่ชื่อแม่น้ำ เป็นชื่อท่าน้ำหรือเมืองท่า แต่ในหนังสือ Geography of Early Buddhism ของ B.C.Law กล่าวไว้ในหน้า 36 ว่า ทั้งปยาคะและคยาเป็นชื่อของแม่น้ำก็มี คือแม่น้ำเนรัญชราตอนที่ผ่านตำบลคยา คล้ายกับแม่น้ำสุพรรณ แม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำท่าจีน ความจริงเป็นลำน้ำสายเดียวกัน ผ่านเมืองไหนก็เลยตั้งชื่อไปตามเมืองนั้น)
เมื่อถึงฤดูร้อน พวกพราหมณ์ที่มีทรัพย์ ก็ไปยังบ้านพักร้อนริมฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสาธยายมนต์ และอาบน้ำดำหัววันละ 3 เวลา ทางพระพุทธศาสนา ไม่สอนให้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ดังจะเห็นได้ในตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบสุนทริกะภารทวาชพราหมณ์ว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ! ท่านจงอาบน้ำในธรรมวินัยนี้จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งหลาย ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ มีความเชื่อ (ตามเหตุผล), ไม่ตระหนี่, ท่านจะไปแม่น้ำคยาทำอะไร, แม้น้ำดื่มของท่านก็เป็นแม่น้ำคยาแล้ว” (สุตันตตปิฏก เล่ม 12 หน้า 70)
“ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ ซึ่งคนส่วนมากพากันอาบ ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดเป็นพราหมณ์ (ไม่ใช่พราหมณ์เพราะสืบสกุล)” : (พุทธอุทาน พระสุตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 81)
“ถ้าบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการรดน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) แล้ว กบ, เต่า, งู, จระเข้ และสัตว์น้ำทั้งปวงก็จักไปสวรรค์ได้เป็นแน่” (ปุณณิกาเถรีภาษิต พระสุตตันตปิฏก เล่ม 26 หน้า 475)
จากหลักพระพุทธศาสนาดังกล่าวมานี้ แสดงว่า พระพุทธศาสนาไม่ยอมยกความสำคัญให้แก่น้ำภายนอกไม่ว่าจะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำไหน หากถือการประพฤติปฏิบัติทางศีลธรรมว่าเป็นแม่น้ำที่อาบโดยไม่เปียกตัวเป็นการยืนยันอย่างหนักแน่น ให้คนถือเอาคุณงามความดีจูงสิ่งอื่น ๆ ไม่ใช่เอาแม่น้ำที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเครื่องจูงคุณงามความดี เป็นการสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริงและสอนตรงไปตรงมา
เมื่อหลักพระพุทธศาสนาเป็นเช่นนี้ เรื่องการใช้น้ำมนต์ในพระพุทธศาสนาที่ถือกันอยู่ทุกวันนี้จะว่าอย่างไร ? ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า หลักฐานเรื่องน้ำมนต์ทางพระพุทธศาสนาสืบค้นได้ว่าปรากฏในหนังสือชั้นอรรถกถา ที่แต่งภายหลังพระพุทธปรินิพพานประมาณพันปี ในพระไตรปิฏกแท้ ๆ ไม่มีสอนให้ใช้น้ำมนต์ หรือทำน้ำมนต์ในที่ไหนเลย ผู้ถือเรื่องน้ำมนต์อาจสบายใจได้อย่างหนึ่งก็คือ เราดัดแปลงให้เป็นแบบพุทธได้ก็ดีแล้ว คือแทนที่จะลงอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แบบพราหมณ์ เราอาน้ำมาใส่บาตรหรือใส่หม้อน้ำมนต์ อาราธนาพระเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเรานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้
อย่างไรก็ตามเมื่อพูดกันโดยเคร่งครัดตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว น้ำมนต์ไม่สามารถทำคนชั่วให้ดีหรือทำคนดีให้ชั่วได้ จะช่วยได้ก็ในทางจิตใจ ให้สบายขึ้นโปร่งใจขึ้นอันเป็นผลทางจิตวิทยา
คราวนี้มีปัญหาว่าคนที่นับถือพระพุทธศาสนานั้นมีความรู้ความเข้าใจหลายชั้น คนทั่วไปย่อมนับถือด้วยต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งอำนวยความสามัคคี ช่วยบำบัดทุกข์ภัยต่าง ๆ จะให้เคร่งครัดตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นขั้น ๆ คือ จากเปลือกนอกเข้าไปหาแก่น เพราะฉะนั้น ระบบจูงคนด้วยน้ำมนต์จึงไม่น่าเสียหายอะไร หากจะยกตัวอย่างต่อไปอีก คนที่เจริญเติบโตแล้วกินอาหารแข็งได้ เช่น ข้าวสุกเนื้อสัตว์เป็นชิ้น ๆ มีฟันบดเคี้ยวให้แหลกได้ แต่เด็กเกิดใหม่ยังไม่มีฟันจะให้กินข้าวแบบผู้ใหญ่ก็คงเกิดโทษถึงตายเป็นแท้ การสอนศาสนาก็เช่นเดียวกัน จะพรวดพราดให้ขึ้นชั้นสูงทีเดียว ขึงเส้นตึงไว้เลยไม่ยอมผ่อนก็น่าจะมีโทษมากกว่ามีคุณเรื่องน้ำมนต์ก็น่าจะเป็นแบบนั้นในเมื่อคนยังไม่ซาบซึ้งหลักกรรมดีพอ ยังไม่เข้าใจหลักพระพุทธศาสนาชั้นสูงแจ่มแจ้งพอ จะปฏิเสธเสียทีเดียวก็จะทำให้คนเข้าไม่ติด ข้อชี้แจงนี้เป็นการช่วยให้ฝ่ายใช้น้ำมนต์สบายใจขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าการศึกษาพระพุทธศาสนานั้นไม่ควรติดอยู่แค่น้ำมนต์ หรือชั้น ก. ข. เท่านั้น เราควรจะรู้ความจริงกันให้ถี่ถ้วน เมื่อเข้าใจตลอดสายแล้วจะได้เป็นตัวของตัวเองในการนับถือพระพุทธศาสนา ไม่มีน้ำมนต์รดก็ไม่เดือดร้อน
ผู้เขียนขอกล่าวถึงเรื่องจริงใจงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่สนามหลวง ได้มีเสียง 2 ฝ่าย คือ ควรวงสายสิญจน์ และตั้งน้ำมนต์เพราะพระสวดมนต์ กับอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรเพราะงานนี้เป็นงานใหญ่ เป็นการแสดงหลักพระพุทธศาสนาให้นานาประเทศได้รู้เห็นเรื่องที่เคยเป็นขนบธรรมเนียม ถ้าจะมีควรจะมีส่วนเอกชน ไม่ใช่ส่วนรวมซึ่งจะจารึกลงในประวัติศาสตร์ และชาวพุทธในประเทศอื่น ๆ อาจนำไปเขียนวิจารณ์ในทางไม่เป็นสิริมงคลแก่ประเทศไทยได้ ทั้งสองฝ่ายไม่อาจตกลงกันได้ จึงต้องส่งเรื่องให้พระคุณเจ้าสมเด็จพระวันรัตสังฆนายก วัดเบญจมบพิตร(ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2503 สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2505) เป็นผู้ตัดสิน ท่านได้ชี้ขาดให้งดการวงสายสิญจน์และตั้งบาตรน้ำมนต์ จึงเป็นอันตกลงตามนั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการประกาศ ความเติบโตทางจิตใจของชาวพุทธไทยว่าถึง 2,500 ปีแล้ว อย่าติดอยู่แค่ ก. ข. กันโดยไม่ยอมขึ้นชั้นอื่นบ้างเลย ผู้เขียนขอบันทึกสดุดีพระคุณเจ้าสมเด็จสังฆนายกไว้ในที่นี้ด้วยคารวะอย่างสูง ที่ได้ช่วยให้เรากล้าศึกษาความจริงทางพระพุทธศาสนากันให้สูงขึ้น ไม่ติดอยู่เพียงวัตถุภายนอก ทั้งยังช่วยประกาศคุณแห่งพระพุทธศาสนาที่สอนอย่างตรงไปตรงมาโดยถือเหตุผลเป็นประมาณ
อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่ยังมีความเลื่อมใสในน้ำมนต์อยู่ หนังสือนี้ไม่คัดค้านท่าน ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อท่าน โปรดนับถือน้ำมนต์ของท่านต่อไปตามสบายใจ เพราะอย่างน้อยนอกจากจะทำให้ท่านสบายใจแล้ว ก็ยังทำใจของท่านให้ใกล้ชิดกับพระรัตนตรัยโดยอาศัยวัตถุ คือ น้ำเป็นสื่อกลางได้ทางหนึ่ง ข้อสำคัญขอให้ท่านพยายามถือเอาหลักใหญ่เข้ามาร่วมด้วย นั้นก็คือพยายามทำคุณงามความดีด้วย อย่าคิดเพียงจะนั่งนอนอยู่เฉย ๆ ให้น้ำมนต์ดลบันดาลอะไรต่ออะไรให้ท่านดีขึ้นมาเอง ความดีก็ทำ น้ำมนต์ก็ใช้ ท่านก็มีหวังได้ประสบผลดีอันเนื่องมาจากการจูงของคุณงามความดีได้ แต่ก็อย่าถึงกับเดือดร้อนถ้าบางโอกาสหาน้ำมนต์รดไม่ได้
อนึ่ง ผู้เขียนขอซ้อมความเข้าใจไว้ด้วยว่า หนังสือนี้ไม่สนับสนุนให้ยกตนข่มผู้อื่นเพียงเพราะเขาเลื่อมใสในน้ำมนต์ คนบางคนอาจมีความประพฤติดีมีนิสัยใจคอดีกว่าคนที่ดีแต่ยกหลักชั้นสูงขึ้นมาอ้างสำหรับข่มคนอื่น แล้วตนเองไม่ทำคุณงามความดีอะไร คอยแต่จะจับผิดผู้อื่นเพื่อยกตนว่ามีความรู้ชั้นสูง อย่างนี้ยังมิใช่ทางที่ควรดำเนิน แท้จริงเราควรเห็นอกเห็นใจกันในระหว่างพุทธศาสนิกชนทุกประเภท อย่าดูหมิ่นเหยียดหยามกันใครปฏิบัติได้แค่ไหนก็ควรช่วยกันส่งเสริมให้ปฏิบัติได้สูงขึ้น ๆ อย่าเสียเวลาในการทะเลาะกันเอง หรือยกตนข่มผู้อื่นเลย ดังนี้หลักพระพุทธศาสนาทุกชั้นจะไม่เป็นพิษแก่ใคร ๆ
คำสอนเรื่องเทวดา
ในพระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องเทวดาไว้หลายประเภทรวมทั้งประเภทที่นับว่าสำคัญที่สุด คือที่ทุกคนอาจเป็นไปได้ในชาตินี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน นั้นก็คือการเป็นเทวดาได้โดยมีคุณธรรมอันเป็นคำสอนที่ต้องการให้ได้ประโยชน์และได้ผลจริง ๆ ในหมู่ผู้ฟัง เพราะการฟังเรื่องเทวดาบนสวรรค์ว่ามีสุขสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับฟังนิทาน พอเลิกแล้วก็แล้วไป ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรได้ หรืออาจปฏิบัติด้วยเชื่อว่าตายแล้วจะได้เป็นอย่างนั้นบ้าง แต่ก็รู้สึกว่าจะเลื่อนลอยเกินไป ต้องทุ่มความเชื่อลงไปจนเต็มที่จึงจะปลอบใจให้สบายได้ ด้วยเหตุนี้จึงสู้คำสอนที่ให้เป็นเทวดาด้วยคุณธรรมในชาตินี้ไม่ได้ เพราะตรงไปตรงมาและมีเหตุผลในหลักคำสอนที่ให้เกิดผลดีแก่เอกชนและแก่ส่วนรวมอย่างน่าพอใจ
ประเภทแห่งเทพหรือเทวดาที่แสดงไว้ในพระพุทธศาสนามีดังนี้ :-
๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชินี พระราชกุมาร และพระราชกุมารี
๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาจริง
๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ อย่างสูง ได้แก่ พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้า
เทวดาทั้ง 3 ประเภทนี้ พอจะเห็นความได้ชัด คือ ในประเภทแรกสมมติเทพนั้น มนุษย์เราได้ยกย่องหัวหน้าขึ้นเทียบด้วยเทวดา ทั้งนี้เป็นไปตามระบบราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ การใช้ถ้อยคำแสดงคารวะก็เป็นไปโดยพิเศษ แต่เทวดาโดยสมมติอย่างนี้ ใคร ๆ จะเลือกเป็นตามชอบใจไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นไปตามการสืบสกุลตามกฎมณเฑียรบาล ส่วนเทวดาประเภทที่ 2 ที่เรียกว่า อุปปัตติเทพนั้น ได้แก่ เทวดาจริง ๆ ซึ่งจะได้วินิจฉัยในตอนสุดท้ายที่ว่าด้วยสวรรค์นรกมีจริงหรือไม่ เทวดาประเภทนี้ กล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาได้แก่ผู้เคยประกอบคุณงามความดีไว้ แล้วผลแห่งคุณงามความดีนั้นส่งสนองให้ได้ประสบสุขในเทวโลก ซึ่งดูเหมือนจะมีกล่าวไว้ในทุกศาสนา แต่คนสมัยใหม่ไม่ค่อยเชื่อ หาว่าเป็นเรื่องปดหรือเอาสวรรค์มาล่อให้คนทำความดี ฉะนั้นจึงควรได้รับการพิจารณาในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงเทวดาประเภทที่ 3 แล้ว จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาได้ใช้หลักตัดสินที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในการวินิจฉัยเรื่องเทวดาโดยให้หลักไว้ว่า ยังมีเทวดาอีกประเภทหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเทวดาประเภทอื่น 2 ข้อข้างต้น คือ วิสุทธิเทพหรือเทวดาโดยความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ในที่นี้หมายถึงความบริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ อันได้แก่ความประพฤติตนเป็นคนดีพร้อมนั้นเอง
คนที่ประพฤติตนดี มีความบริสุทธิ์ ย่อมชื่อว่าเป็นเทวดาสูงกว่าเทวดาโดยสมมติ สูงกว่าเทวดาบนสวรรค์ นี่แสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ให้เกียรติเทวดาบนสวรรค์ยิ่งกว่ามนุษย์ที่ประพฤติปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์สะอาดทางกายวาจาใจแต่ประการไร อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกในโลกที่สอนเรื่องเทวดาบนพื้นโลกซึ่งทุกคนอาจเป็นได้ อันสูงกว่าเทวดาทุกประเภทซึ่งมีกล่าวไว้ในศาสนาต่าง ๆ ทั้งเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอันอาจตรองตามและลงมือประพฤติปฏิบัติได้ด้วย
เทวดาโดยความประพฤติประเภทนี้ ที่ว่าอย่างสูง ได้แก่พระอรหันต์ผู้ละกิเลสได้ เป็นอันแสดงว่าอย่างต่ำก็มี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ประกอบด้วยหิริความละอายแก่ใจ โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต ประพฤติธรรมฝ่ายขาว คือ คุณงามความดี ชื่อว่ามีธรรมของเทวดา”
นอกจากนั้นในศาสนาพราหมณ์ได้มีการสอนและพรรณนารูปลักษณะของพระพรหมไว้ว่ามี 4 หน้า นั่งเหนือดอกบัว ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่ขัดคอ แต่ได้แสดงใหม่ในลักษณะ Reinterpretation คือ แปลความหมายใหม่ว่า ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการ ที่เรียกว่า พรหมวิหาร คือ
๑. เมตตา ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขถ้วนหน้า (ปราศจากความพยาบาท)
๒. กรุณา เอ็นดูหรือสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุก (ปราศจากความโหดร้ายหรือความคิดเบียดเบียน)
๓. มุทิตา พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี (ปราศจากความริษยา)
๔. อุเบกขา วางใจเป็นกลาง (ปราศจากความลำเอียง)
คุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ เป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่โดยแท้ ผู้ใดประกอบด้วยคุณธรรมชนิดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นพรหมซึ่งเป็นเทวดาชั้นสูง และท่านได้ยกตัวอย่างว่า มารดาบิดามีความรู้สึกเช่นนี้ต่อบุตร จึงชื่อว่าเป็นพรหมของบุตร เมื่อทางพระพุทธศาสนาโยงมาให้ประพฤติปฏิบัติได้จึงชื่อว่าได้ช่วยให้คนสมัยใหม่เข้าใจศาสนานี้ดีขึ้น และมองเห็นความทันสมัยไม่เก่าแก่ของพระพุทธศาสนา เพราะทุกคนอาจนำคติธรรมเรื่องเทวดานี้ไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ตนและส่วนรวมได้โดยทั่วกัน การกล้าตัดสินอย่างตรงไปตรงมาโดยชี้ไปที่คุณความดีว่า อาจทำให้คนธรรมดาดีเลิศยิ่งกว่าเทวดาโดยสมมติ หรือเทวดาจริง ๆ บนสวรรค์นั้น ทำให้หมดความยุ่งยากไปได้ เพราะส่วนที่ดีเลิศเป็นของกลางที่ทุกคนอาจนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้แล้ว ไฉนจะตะเกียกตะกายเพื่อเป็นเทวดาจริง ๆ บนสวรรค์ ซึ่งจะต้องรอให้ตายเสียก่อน และตายแล้วก็ไม่แน่ว่าจะได้เป็น เพราะเราอาจก่อกรรมทำชั่วอื่น ๆ ไว้ อาจไปนรกก่อนก็ได้ ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ผ่าน บทก่อน ๆ มาแล้วคงจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้แล้ว เมื่ออ้างถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สรรเสริญว่า คนที่มีความรู้ดีและความประพฤติดีชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทวดาและมนุษย์ ซึ่งแสดงว่าเทวดาจริง ๆ ก็อาจต่ำกว่ามนุษย์ ถ้าเทวดานั้นยังไม่เป็นเทวดาที่ดี ยังมีใจต่ำหรือเกะกะเกเร การได้เป็นเทวดาก็เป็นเพียงได้รับผลดีของกรรมเก่าเท่านั้น ถ้าไม่ประพฤติตนให้ดีสมเป็นเทวดาก็สู้มนุษย์ที่ประพฤติดีไม่ได้ ฉะนั้น คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาที่กล้าชี้ว่ามนุษย์อาจดีกว่าหรือสูงกว่าเทวดานี้ จึงนับเป็นลักษณะพิเศษจริง ๆ ที่จะหาไม่ได้ในคำสอนอื่น เพราะในคำสอนอื่นเทวดาล้วนสูงกว่ามนุษย์ทั้งนั้น ที่จะหาไม่ได้ในคำสอนอื่น เพราะในคำสอนอื่นเทวดาล้วนสูงกว่ามนุษย์ทั้งนั้น ซ้ำบ้างทีก็มองไม่ค่อยเห็นทางด้วยว่าทำอย่างไรมนุษย์จึงจะยกฐานะของคนให้เท่าเทียมได้บ้าง เพราะเป็นเรื่องผูกขาดฐานะ ส่วนพระพุทธศาสนาไม่ถือว่าตำแหน่งอะไร เช่น เทวดา หรือพระพุทธเจ้าจะเป็นตำแหน่งลอย ๆ ที่มีไว้เพื่อผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ จะต้องมีเหตุผลเพียงพอคือผู้ได้รับตำแหน่งนั้น จะเป็นใครก็ได้ที่ลงมือประพฤติปฏิบัติชอบตามควรแก่เหตุผล จึงจะได้รับผลเช่นนั้น อันนี้เองที่พระพุทธศาสนากลายเป็นวิทยาศาสตร์ไป ซึ่งทุกคนผู้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลย่อมเว้นเสียมิได้ที่จะชื่นชมในหลักธรรมอันตรงไปตรงมา ไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษใด ๆ แฝงอยู่เลย
เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านเรื่องนี้ได้อ่านข้อวินิจฉัยเรื่องนรกสวรรค์เทียบเคียงกับเรื่องเทวดาที่ผ่านมาแล้ว ผู้เขียนขอแสดงบทความเรื่องนรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ซึ่งเคยเขียนวินิจฉัยเรื่องนรกสวรรค์ไว้เป็นทางพิจารณาโดยเหตุผลสืบไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า เราพยายามพิจารณาหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเราอย่างใช้เหตุผล หรือข้อพิสูจน์ตามแนวทางวิทยาศาสตร์มากเพียงใด ก็จะเป็นประโยชน์ให้เราได้ชื่อว่านับถือศาสนาด้วยปัญญามากเพียงนั้น และการนับถือศาสนาแบบใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลนี้เป็นที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา
ต่อไปนี้ขอเชิญท่านอ่านบทความเรื่องนรกสวรรค์มีจริงหรือไม่เป็นลำดับไป :-
นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่?
ปัญหาเรื่อง นรกสวรรค์ มีจริงหรือไม่นี้ นับว่าน่าสนใจ เพราะถ้าเราทำความเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งก็จะชื่อว่านับถือศาสนาอย่างใช้ความพิจารณารอบคอบ และไม่ต้องทำให้เกิดความสงสัยบ่อย ๆ ในศาสนาที่ตนนับถือว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ เพียงไร?
เราอาจแบ่งนรกสวรรค์ออกเป็นชั้น ๆ ได้ดังนี้
๑. นรกสวรรค์ในจิตใจของเราเอง อย่างที่พูดกันว่าสวรรค์ในอกนรกในใจ
๒. นรกสวรรค์ในโลกปัจจุบันที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
๓. นรกสวรรค์ที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตา เป็นเรื่องของอีกโลกหนึ่งต่างหาก
ต่อไปนี้จะอธิบายเรื่องนรกสวรรค์ ตามที่จำแนกประเภทไว้นั้นโดยลำดับ
ประเภทที่ 1
นรก สวรรค์ ในจิตใจของตนเอง
ทางพระพุทธศาสนาถือว่า จิตใจของเรานี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะบังคับบัญชาร่างกายให้ทำอะไรได้ทั้งในทางดีทางชั่วตามลักษณะของจิตใจนั้น กาย วาจา เป็นเพียงหุ่นให้ในชักหรือเชิดให้แสดงอาการต่าง ๆ และจิตใจนั้นก็เป็นตัวรับรู้รับทราบและรับผิดชอบแทนร่างกายทั้งหมด แม้มีใครมาด่าว่าเสียดสีร่างกาย จิตใจก็เป็นผู้ออกรับแทนร่างกาย ในเวลานอนหลับจิตใจพักงาน แม้จะมีใครมาด่าว่าก็ไม่รู้สึกโกรธเคือง เพราะจิตใจไม่รู้ตกลงว่าร่างกายที่ปราศจากจิตใจก็ไม่ผิดอะไรกับท่อนไม้ เมื่อจิตใจเป็นตัวรับผิดชอบการกระทำต่าง ๆ ซึ่งตนสั่งงานไปทางกายกับวาจาเช่นนี้ ทางพระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้ศึกษาเรื่องของจิตใจเป็นพิเศษ
จิตใจที่เต็มไปด้วยความรู้สึกใฝ่ต่ำ คือ คิดแต่ทางชั่วช้าเลวทราม เมื่อสั่งงานให้กายวาจาแสดงอาการอะไรออกมา ก็ย่อมเป็นไปในทางชั่วช้าเลวทรามเช่นเดียวกัน จิตใจชนิดนี้ย่อมเต็มไปด้วยความเดือดร้อน เพราะความชั่วช้าภายในเผาอย่างหนึ่ง เพราะผลความชั่วที่ทำลงไปคอยตามรบกวนจิตใจอีกอย่างหนึ่ง คนทุกจริตฉ้อโกงผู้อื่นหรือคนที่มากไปด้วยความโกรธความริษยา ย่อมมีจิตใจเร่าร้อนอยู่เนืองนิตย์ เหมือนกับตกนรกทั้งเป็นและเป็นการตกนรกทางจิตใจ และโดยประการตรงกันข้ามถ้าจิตใจประกอบด้วยคุณธรรม เช่น เมตตากรุณาความคิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความพลอยยินดีในความเจริญของผู้อื่นไม่ริษยาและความรู้จักรังเกียจความชั่วต่าง ๆ จิตใจใฝ่สูงนี้จะเต็มไปด้วยความสุขสงบ ชื่นบาน เป็นสวรรค์ ไปในตัว เพราะฉะนั้น ด้วยจิตใจนี้ บุคคลอาจตกนรก ขึ้นสวรรค์ เป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉานเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้าได้ สุดแต่ว่าจะประกอบส่วนชั่วหรือส่วนดีมากน้อยเพียงไร
ประเภทที่ 2
นรกสวรรค์ที่มองเห็นได้ด้วยตา
ผู้เคยเข้าไปดูในคุกตะรางห้องขังแล้ว คงได้เห็นคนตกนรกทั้งเป็นไปถูกขังทนทุกข์ทรมานอยู่ในลักษณะต่าง ๆ กัน นานบ้าง ไม่นานบ้าง ตามควรแก่โทษานุโทษ และทำนองเดียวกัน เราก็คงได้เห็นผู้ประพฤติตัวเป็นพลเมืองดี ไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง อุตสาหะทำมาหากินตั้งเนื้อตั้งตัวได้เป็นหลักฐาน มีความเป็นอยู่ดี มีบ้าน มีที่ดินและยวดยานพาหนะใช้สอยพรั่งพร้อมผาสุกไปด้วยทรัพย์สมบัติและสิ่งที่ปรารถนา ผู้เป็นเช่นนี้เมื่อเทียบกับนักโทษดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันอย่างชัดเจน เป็นนรกสวรรค์ที่สอนให้มนุษย์มองเห็นผลแห่งความดีความชั่ว ว่าต่างกันอย่างไรในปัจจุบันทันตาเห็น
ประเภทที่ 3
นรกสวรรค์จริง ๆ ที่เห็นไม่ได้ด้วยตา
เราคงจะเคยได้ฟังคำพรรณนาถึงเรื่องนรกสวรรค์ว่ามีสภาพวิจิตรพิสดารอย่างน่าสนใจ แต่ก็รวมความได้อย่างหนึ่งว่า นรกมีไว้สำหรับลงโทษคนชั่ว สวรรค์มีไว้ให้รางวัลแก่คนดี ปัญหาที่สำคัญก็คือ นรกสวรรค์ดังกล่าวนี้มีจริงหรือ ถ้ามีเราทำไมจึงไม่เห็น ถ้าพูดเพียงเรื่องเห็นหรือไม่เห็นแล้ว อย่าว่าแต่นรกสวรรค์ซึ่งอยู่คนละโลกกับเราเลย แม้เมืองที่อยู่ห่างไกลคนละเมืองกับเรา เราก็มองไม่เห็นต้องอาศัยฟังคำบอกเล่าของคนอื่น เรื่องนรกสวรรค์จริง ๆ นั้นผู้บำเพ็ญคุณธรรมทางจิตใจสูง จนสามารถเห็นได้ด้วยตาภายใน ได้บอกกล่าวไว้ว่ามี ส่วนคำพรรณนารายละเอียดนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวสืบ ๆ กันมา เราไม่ควรติดใจอะไรมากนักมาพิจารณากันในขั้นว่า มีหรือไม่มีก่อนดีกว่า และในการวินิจฉัยเรื่องนรกสวรรค์มีจริงหรือไม่นี้ ถ้าสามารถอาศัยวิชาวิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบายได้เราก็น่าจะลองวินิจฉัยดู
เราลองสอบสวนข้างฝ่ายผู้ไม่เชื่อก่อนว่า มีเหตุผลอย่างไร ก็มักจะได้รับคำตอบว่า เพราะไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ปรากฏ หรือนำมาแสดงไม่ได้ ในการวินิจฉัยปัญหาใด ๆ ก็ตาม เราจะอ้างเพียงความไม่รู้ไม่เห็นมาเป็นเหตุผลว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้หรือเหตุการณ์นั้นนี้ไม่มีจริงหาได้ไม่ การละเมิดกฎหมาย โดยอ้างว่าไม่รู้กฎหมายย่อมไม่ทำให้เป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนัก การที่เราไม่รู้ว่าไฟเป็นของร้อนแล้วยื่นมือเข้าไปในไฟนั้น ไฟจะยอมรับรู้กับข้ออ้างของเราแล้วไม่ทำให้มือเราร้อนได้หรือ ในการโต้ตอบปัญหาใด ๆ เราจะใช้ข้ออ้างเพียงว่าไม่รู้ไม่เห็นมาเป็นเหตุผล ก็จะทำให้คำกล่าวของเราปราศจากน้ำหนักมากขึ้น เพราะการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ เราจำเป็นต้องให้ข้อวินิจฉับนั้นมีรากฐานอยู่บนความรู้ ไม่ใช่บนความไม่รู้ แม้ไม่รู้ประจักษ์ก็ให้เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุผลก็ยังดี ส่วนในข้อที่นำมาแสดงไม่ได้ อย่าว่าแต่เรื่องเช่นนั้นเลย แม้เรื่องในโลกเราเช่นมีผู้เล่าเรื่องภูเขาหิมาลัยให้ฟัง เราไม่เชื่อว่ามีเพราะเราไม่รู้ไม่เห็น และนำภูเขานั้นมาแสดงแก่เราไม่ได้ ดังนี้เราก็เห็นได้ว่า ความไม่รู้ไม่เห็น หรือการที่ไม่สามารถยกภูเขาหิมาลัยไปแสดงแก่ใคร ๆ ได้นั้น ย่อมไม่ทำให้ภูเขานั้นพลอยไม่มีไปตามข้ออ้างของผู้ไม่เชื่อไปด้วย
นรกสวรรค์ตามคำอธิบายของท่านผู้ฝึกฝนอบรมจิตชั้นสูงว่า มีความเป็นอยู่ต่างไปจากมนุษย์ และมีเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่ง ผู้จะรู้จะเห็นต้องมีเครื่องมือ คือ ทิพยจักษุ (ตาทิพย์) อันต้องอาศัยการฝึกหัดอบรมจึงสามารถรู้เห็นได้ นักวิทยาศาสตร์ทางจิตใจในปัจจุบัน เช่น ดร. เทาเลสส์, ดร.ไทเรล, ดร.คาริงตัน, ดร.โซล, ดร.เฮตติงเกอร์ แห่งอังกฤษ และ ดร.ไรน์ แห่งอเมริกา ได้พยายามพิสูจน์ความสามารถในเรื่องทิพยจักษุ (ตาทิพย์) เรื่อง เจโตปริยญาณ (กำหนดรู้ใจผู้อื่น) ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าถ้าเราฝึกหัดแล้ว ก็จะเกิดความสามารถรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างแปลกประหลาด ซึ่งมนุษย์ธรรมดาไม่อาจรู้เห็นได้ (ดู The Personality of Man ของ G.N.M. Tyrell หน้า 106-128, และดู Guide to Modern Thought ของ C.E.M. Joad ตอนที่ว่าด้วย Abnormal Psychical Phenomena)
นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นคว้าเรื่องไก่ ได้พยายามติดตามค้นคว้าโรคไก่ชนิดหนึ่งชื่อนิวคาสเซิล อันเป็นไวรัสชนิดเล็กถึงกับลอดเครื่องกรองได้ ไวรัสชนิดนี้ต้องใช้กล้องจุลทัศน์ที่มีสมรรถนะ (ความสามารถ) สูงจึงเห็นได้ เพราะจะต้องขยายให้ใหญ่กว่าเดิมตั้งหมื่นหรือแสนเท่า คราวนี้เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และเราไม่ยอมใช้เครื่องมือแบบนักวิทยาศาสตร์ เราก็ไม่มีทางอื่นนอกจากเชื่อว่าไม่มีเพราะมองไม่เห็น หรือถ้าเชื่อว่ามีตามอย่างนักวิทยาศาสตร์ความเชื่อนั้นก็ไม่พิเศษอะไรไปกว่าความเชื่อตามเขาว่าในเรื่องอื่น ๆ แม้ในเรื่องนรกสวรรค์ ถ้าต้องการพิสูจน์จริง ๆ ก็ต้องสร้างเครื่องมือ คือ ทิพยจักษุซึ่งมีวิธีการสร้างให้เกิดได้ แต่เรามักจะใช้วิธีลัด คือไม่ยอมสร้างเครื่องมือแล้วจะเรียกร้องให้เห็นด้วย จึงเป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้
นักดาราศาสตร์จะช่วยคลี่คลายปัญหานี้ได้ดีพอใช้ เพราะกล่าวตามเหตุผลทางดาราศาสตร์ โลกอื่นจากโลกเรายังมีอยู่อีกหลายล้านหลายโกฏิโลก หรือมีผู้ที่มีความสุขสูงกว่ามนุษย์เรา คือ อาจมีความเจริญเทียมเทวดาในสวรรค์ หรือในอีกบางโลกจะมีมนุษย์หรือสัตว์อยู่กันอย่างลำบากยากเข็ญ ทนทุกข์ทรมานดั่งตกนรก และความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น อาจวิจิตรพิสดารไปกว่าในโลกเราเท่าไรก็ได้ เพราะแม้แต่ในโลกเราเองก็มีสัตว์มากมายหลายแสนหลายล้านชนิด ตั้งแต่ตัวเล็กที่สุดจนมองไม่เห็นกับตัวใหญ่ที่สุด มีรูปร่างต่างกัน กินอาหารต่างกัน อาศัยอยู่ในน้ำในดินหรือในต้นไม่บนพื้นดินแผกกันตามชนิด เหตุนี้นรกสวรรค์ซึ่งมีอยู่ในโลกอื่นก็อาจมีได้ แม้ในการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
แต่นรกสวรรค์ จริง ๆ เป็นเรื่องเห็นได้ยาก เราอาจเข้าใจเรื่องสวรรค์ในอกนรกในใจ หรือนรกสวรรค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีเลวต่าง ๆ กันนี้เองได้ดีกว่า เราจะได้เว้นเหตุชั่ว ประกอบกระทำแต่เหตุที่ดีเพื่อจะได้ไม่ต้องตกนรกทั้งเป็น แม้เราจะไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์จริง ๆ ก็ไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะยังมีนรกสวรรค์ปัจจุบันให้เราเห็นอยู่อีก ข้อสำคัญขอให้เราเว้นชั่วประพฤติดีเป็นใช้ได้ ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์คิดได้ดีเพียงแต่จะไปสวรรค์ หากสอนไว้สูงกว่านั้นโดยสอนให้บรรจุนิพพาน ซึ่งสูงกว่าสวรรค์ คือ ไม่มีการกลับกลอกแปรปรวนต่อไปอีก เพราะสวรรค์ยังมีความไม่ยั่งยืน ผู้อยู่ในสวรรค์ก็ยังไม่หมดกิเลส ท่านจึงสอนเรื่องนิพพานอันเป็นเรื่องของการดับกิเลสและทุกข์ทั้งปวง
ในบทนี้ขอตั้งประเด็นเป็น 2 ประการ คือ พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักแก้ไขความทุกข์อย่างถูกทาง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน คือ เมื่อใช้สติปัญญาก็เป็นเหตุให้แก้ความทุกข์ความเดือดร้อนได้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น