“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้แก่ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยดี และสอนให้แก้ที่ตัวเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิต ก็ให้หัดแผ่เมตตาในตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น”
เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านแยกพิจารณาหัวข้อเรื่องนี้เป็นประเด็น ๆ ไป จะขอแยกเนื้อความในบทนี้เป็น 3 ประเด็น คือ :-
๑. เรื่องคำสอนที่ไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ
๒. เรื่องแก้ความชั่วด้วยความดี
๓. เรื่องไม่มองข้ามตนเอง ในการแก้ปัญหาศีลธรรม
ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่าในบทนี้ทำไมจึงต้องมีประเด็นหลายประเด็นนัก น่าจะบทละประเด็นก็จะสะดวกแก่การจำและพิจารณา ขอเรียนว่าบทนี้ทั้งหมดอาจกำจัดความให้เหลือประเด็นเดียวก็ได้ คือ พระพุทธศาสนามีคุณลักษณะพิเศษในการเสนอหลักส่งเสริมศีลธรรมไว้อย่างดียิ่ง ถ้าพิจารณาเพียงประเด็นเดียวนี้ ข้อที่แยกไว้ข้างต้นก็ถือได้ว่าเป็นประเด็นปลีกย่อยในประเด็นใหญ่ อันที่จริงผู้เขียนไม่ประสงค์จะแสดงคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาให้มากมายหลายสิบข้อ จนยากแก่การกำหนดจดจำ อันไหนพอจะรวมเข้าประเภทเดียวกันได้ภายใต้หัวข้อใหญ่ ก็พยายามรวมไว้เป็นข้อเดียวกัน ในหนังสือเล่มนี้ที่ตั้งไว้ 12 หัวข้อก็คิดว่าย่นย่อเหลือเกิน แต่แม้เช่นนั้น ถ้าท่านผู้อ่านจะจำได้เยงไม่กี่ข้อก็เป็นที่พอใจแล้ว ข้อสำคัญเมื่อนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าให้ถึงกับอธิบายอะไรในเรื่องคุณความดีแห่งศาสนานี้ไม่ได้เอาเสียเลย
1. เรื่องคำสอนที่ไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาที่สำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์ข้อหนึ่ง ในข้อที่สำคัญทั้งหลายก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ว่า ทำอย่างไรจะมีที่อยู่ มีอาหารรับประทาน หรือมีของกลาง คือ เงินไว้จับจ่ายใช้สอยบำบัดความต้องการต่าง ๆ
ถ้าท่านอ่านตำราเศรษฐกิจของฝรั่งหลาย ๆ เล่มจะรู้สึกว่าต่างยืนยันตรงกันข้อหนึ่ง ก็คือ จุดประสงค์ของเศรษฐกิจนั้น ได้แก่ การพยายามบำบัดหรือสนองความต้องการของมนุษย์ (To try to satisfy human wants)
พระพุทธศาสนาได้เสนอหลักทางศีลธรรมที่เนื่องด้วยหลักเศรษฐกิจนี้เป็น 2 ทาง คือ ชั้นต่ำ หลักสนอง กับชั้นสูง หลักบำบัด หลักสนอง หมายถึงการสอนให้ตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ในทางเศรษฐกิจ พยายามยกฐานะของตนให้สูงขึ้นด้วยความขยันหมั่นเพียร และวิธีการอื่น ๆ ส่วนหลักบำบัดนั้นหมายถึงการสอนให้รู้จักบรรเทาความต้องการชนิดรุนแรงที่กลายเป็นความทะยานอยาก อันก่อความทุกข์ให้ คือ ถ้าจะมัวแต่หาทางสนองความอยากอยู่อย่างเดียว อย่างไรก็ไม่รู้จักพอท่านจึงเปรียบความอยากเสมอด้วยไฟ ไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อ หรือแม่น้ำไม่รู้จักเต็ม แม้เราจะเทน้ำลงไปสักเท่าไรก็ตาม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีหลักบำบัด หรือบรรเทาความทะยานอยากให้น้อยลงโดยลำดับ อันเป็นทางแก้ทุกข์ได้
คำสอนหลักเศรษฐกิจขั้นต่ำ
หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เห็นได้ว่าเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจส่วนบุคคลและครอบครัว โดยทั่วไป คือ:-
๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน) อันว่าด้วยการสอนให้ตั้งตัวได้ทางเศรษฐกิจ 4 ประการ คือ
(๑) ความขยันหมั่นเพียรแสวงหาทรัพย์
(๒) การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ หรือรู้จักเก็บออม
(๓) การคบเพื่อนที่ดีงาม
(๔) การใช้จ่ายพอเหมาะสมแก่ฐานของตน (พระไตรปิฏก เล่ม 23 หน้า 294)
๒. การเว้นอบายมุข (เหตุให้เสื่อมทรัพย์) 4 ประการ คือ :-
(๑) ความเป็นนักเลงหญิง
(๒) ความเป็นนักเลงสุรา
(๓) ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
(๔) ความคบคนชั่วเป็นมิตร (พระไตรปิฏก เล่ม 23 หน้า 296)
ข้อสังเกตสำหรับอบายสุขที่ควรเว้นทั้ง 4 ข้อนี้ ในที่ไหนมีคำว่านักเลง หมายถึงประกอบกรรมนั้นบ่อย ๆ เป็นอาจิณ จนกลายเป็นนักเลงในทางนั้น ๆ
๓. สุขของผู้ครองเรือน 4 อย่าง คือ :-
(๑) สุขเกิดจากการมีทรัพย์ (จะมีได้ก็ต้องทำมาหากิน)
(๒) สุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์ใช้สอย
(๓) สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
(๔) สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ไม่มีโทษ (พระไตรปิฏก เล่ม 21 หน้า 90)
ในข้อนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญในทางเศรษฐกิจว่า ทำให้เกิดความสุข แต่ก็ต้องเป็นเศรษฐกิจในทางที่ไม่มีโทษ
๔. สกุลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะเหตุ 4 ประการ คือ :-
(๑) ของหายไม่หา
(๒) ของชำรุด ไม่ซ่อมแซม
(๓) ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่าย
(๔) มอบความเป็นใหญ่ในครอบครัวให้แก่หญิง หรือชายผู้ทุศีล คือ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม
หลักนี้แสดงว่าตระกูลอันมั่งคั่งสักเพียงไรก็ตาม ถ้าขาดการรู้หลักเศรษฐกิจและศีลธรรมอันพึงปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ก็จะถึงความพินาศไปในที่สุด
ในที่นี้ผู้เขียนได้เทียบให้ดูว่า หลักเรื่องประโยชน์ปัจจุบันของพระพุทธศาสนา ข้อแรกคือความขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพให้เกิดทรัพย์นั้น ตรงกับหลักเศรษฐกิจข้อแรก คือ Production (ผลิตกรรม) อย่างนัดกันไว้ ทั้ง ๆ ที่วิชาเศรษฐกิจเกิดภายหลังพระพุทธศาสนานับจำนวนพันปี
ส่วนข้อ 2 คือ การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ก็ตรงกับหลักการออมทรัพย์ (Saving) ข้อ 3 คือการรู้จักคบเพื่อนที่ดีงาม ก็เทียบกันได้กับการดำเนินงานในรูปบริษัท หรือสหกรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องเลือกสมาชิกที่ดี แต่โดยปกติแม้ไม่ดำเนินงานในรูปบริษัทหรือสหกรณ์เพียงการครองชีวิตเฉพาะตัว มิตรสหายก็เป็นส่วนสำคัญอยู่มิใช้น้อย ส่วนข้อสุดท้าย คือการใช้จ่ายพอเหมาะสมแก่ฐานะของตนนั้น ในภาษาทางเศรษฐกิจใช้คำว่า Household Budget ซึ่งแปลว่างบประมาณประจำบ้านบ้าง ในส่วนกว้างขวางถึงประเทศชาติ เรียกว่า The Nation’s Economic Budget (งบประมาณเศรษฐกิจแห่งชาติ) บ้าง รวมความแล้วก็เพื่อควบคุมรายจ่ายกับรายรับ ให้สมดุลกัน อันตรงกับศัพท์ทางพระพุทธศาสนาว่าสมชีวิตาในทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน) นั่นเอง
ส่วนหลักคำสอนข้ออื่น ๆ เช่นให้เว้นทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ (อบายมุข) ต่าง ๆ การรู้ว่าความสุขของผู้ครองเรือนมีอะไรบ้าง การจะทำให้สกุลวงศ์ตั้งอยู่ได้นานยั่งยืนจะต้องทำอย่างไรบ้าง อันเป็นเรื่องของการเศรษฐกิจควบคู่กับศีลธรรมนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้มองเห็นแล้วว่าศีลธรรมจะดีได้โดยยาก ถ้าเศรษฐกิจส่วนบุคคลไม่ดี ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนเน้นหนักให้ตั้งตัวให้ได้ในทางเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำกูฏทันตพราหมณ์ผู้ไปทูลถามปัญหาเรื่องการบูชายัญ พระองค์กลับเตือนพราหมณ์ผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านพราหมณ์อันใหญ่เท่ากับเมืองๆ หนึ่ง ให้จัดปัญหาทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองให้ดีก่อน วิธีปราบโจรผู้ร้ายไม่ใช่ปราบด้วยการฆ่า เพราะจะมีตัวตายตัวแทนอยู่เสมอ แต่ถ้าจัดการเศรษฐกิจให้ดี ให้ทุกคนมีงานทำตามความเหมาะสมแก่ความรู้ความสามารถของตน มีการช่วยเหลือชาวนา พ่อค้าและข้าราชการให้เจริญในหน้าที่และอาชีพของตน บ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข (ดูพระไตรปิฏก เม 9 หน้า 162 และดูข้อความที่ถอดออกเป็นภาษาไทยแล้วเฉพาะเรื่องนี้ในหนังสือของผู้เขียนชื่อ ชุมนุมบันทึกเบ็ดเตล็ดของ ส.ช. หน้า 134)
จากหลักฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เกี่ยวกับเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับศีลธรรมนี้ ย่อมเป็นเครื่องตอบปัญหาได้ดีต่อคำใส่ความของคนบางคนที่ว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้ขยันไว้เป็นข้อแรก ในเรื่องประโยชน์ปัจจุบันอยู่แล้ว
ยิ่งกว่านั้นในบางกรณีพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงคุณธรรมในการประกอบ อาชีพบางอาชีพ เช่น การค้าขายว่าถ้าใครประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ประการแล้วก็จะเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างดี คือ :-
๑. เป็นผู้มีตาดี หมายถึง รอบรู้ในการค้าขายสิ้นค้า รู้ทุนรู้กำไร
๒. เป็นผู้มีความเพียร หมายถึง เพียรพิจารณากาลเทศะ รู้ทะเลซื้อทำเลขาย ว่าซื้อที่ไหนจะได้ถูก ขายที่ไหนจะได้ราคา แล้วไม่ทอดธุระ
๓. รู้จักชอบพอกับคนมาก หมายถึง มีมิตรมีสหายมาก รู้จักทำตนให้เป็นที่นิยม ไว้เนื้อเชื่อใจของคนทั้งหลาย
หลักฐานเรื่องนี้ดูพระไตรปิฎก เล่ม 20 หน้า 146 ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงรู้สึกบ้างไม่มาก็น้อย ในความรอบคอบละเอียดลออแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่ยกมากล่าวไว้หลายเรื่องด้วยกันในที่นี้
คำสอนหลักเศรษฐกิจขั้นสูง
เมื่อได้กล่าวถึง การที่พระพุทธศาสนาได้สอนให้บุคคลสนใจทำตนให้เจริญในทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเหตุให้สะดวกในการที่จะปฏิบัติตามศีลธรรม อันนับได้ว่าเป็นคำสอนหลักเศรษฐกิจชั้นต่ำแล้ว ก็ควรจะได้กล่าวถึงหลักคำสอนเศรษฐกิจชั้นสูง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือสูงเกินเศรษฐกิจไว้ด้วย เพราะหลักคำสอนขั้นนี้ แทนที่จะให้เราคอยสนองความอยากได้ใคร่ดีต่าง ๆ กลับสอนให้เราเป็นนายเหนือความทะยานอยากนั้น ๆ รู้จักเอาชนะไม่เป็นทาสของความทะยานอยาก รู้ว่าแค่ไหนเป็นความจำเป็น แค่ไหนเกินความจำเป็น แค่ไหนเป็นความทะยานอยากที่มาเผาลนจิตใจของเราให้เร่าร้อน
ถ้าท่านผู้อ่านติดตามดูวิธีการของพระพุทธเจ้าในข้อนี้แล้ว จะรู้สึกน่าอัศจรรย์ใจในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจขั้นสูง โดยวิธีอันสุขุมฉลาดรอบคอบของพระองค์ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ซึ่งเป็นงานใหญ่มากเทียบดูกับการดำเนินงานต่าง ๆ ในทางโลกแล้ว เราก็เห็นได้เองว่าพระพุทธศาสนาอยู่มาได้กว่า 2,500 ปีแล้วอย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่น แต่องค์การทางโลกยังไม่ปรากฏว่า มีองค์การใดดำรงมั่นคงสืบต่อกันมาเป็นหลักฐานได้ยั่งยืนและแพร่หลายเท่านี้
วิธีการในทางโลกนี้ จะทำอะไรเกือบจะหนีปัญหาเรื่องเงินไม่พ้นจะกระทั่งบางคนกล่าวว่า มีปัญหาสำคัญในการดำเนินงานชิ้นใหญ่ ๆ อยู่เพียง 3 ข้อ คือ 1. เงิน 2. เงิน 3. เงิน รวมความว่า ถ้ามีเงินก็ทำอะไรสำเร็จหมด ถ้าไม่มีเงินก็เกือบจะเลิกพูดกันได้ทีเดียว
พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นมาแล้ว ถึงวิธีการของชาวโลก ซึ่งต้องใช้เงินเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงใช้วิธีตรงกันข้าม ซึ่งผู้เขียนใคร่เรียกว่าเป็นหลักเศรษฐกิจขั้นสูง หรือ หลักการเหนือหลักเศรษฐกิจกล่าวคือไม่ใช้เงินเลย
ในพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระหยิบจับหรือรับเงินทอง ทรงปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้นคล้ายจะแสดงให้โลกดูว่า โดยไม่ใช้เงินทองเลยนี่แหละจะทำงานชิ้นใหญ่ให้ดู และก็ทำได้สำเร็จจริง ๆ ด้วย
หลักการที่เรียกว่าเศรษฐกิจขั้นสูงของพระองค์ก็คือพยายามเป็นนาย เหนือความทะยานอยากต่าง ๆ พยายามรู้ว่าเท่าไรจำเป็น เท่าไรเกินจำเป็นเท่าไรกลายเป็นความทะยานออกไป
พระองค์ได้อนุญาตสิ่งจำเป็นสำหรับภิกษุไว้ 4 ประการเรียกว่า ปัจจัย 4 หรือที่ตรงกับคำอังกฤษว่า Four Requisites คือ ผ้านุ่งห่ม (จีวร) อาหาร (บิณฑบาต) ที่อยู่อาศัย (เสนาสนะ) และยาแก้เจ็บไข้ (คิลานเภสัช) เครื่องอาศัยทั้ง 4 ประการนี้ มีการซ้อมความเข้าใจกันตั้งแต่แรกบวชว่า เอาพออาศัยเป็นไป ไม่มีผ้าดีผ้าใช้เก็บตกชิ้นเล็กชิ้นน้อยปะติดปะต่อกันก็ใช้ได้ ยารักษาโรคไม่มีดี เพียงยาดองน้ำมูตรก็ใช้ได้
นอกจากนั้นยังมีข้อบัญญัติอีกหลายประการไม่ให้ใช้ของที่ทำด้วยทองหรือเงิน หรือกาววาวสวยงามเกินไป ห้ามไม่ให้ขอของจากใครต่อใคร โดยเขามิได้อนุญาตให้ขอได้ ในเมื่อไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ไม่ให้มักมากสะสม แม้กระทั่งเก็บอาหารที่รับไว้แล้ว ให้ค้างคืนเพื่อจะได้บริโภคในวันรุ่งขึ้น ในที่สุดได้ทรงวางหลักใหญ่ไว้ว่า
๑. ความทะยานอยาก เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ดับความทะยานอยากได้โดยไม่เหลือ เป็นการดับทุกข์ (พระวินัยปิฏก เล่ม 4 หน้า 18)
๒. ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ตกเป็นทาสของความทะยานอยากที่เกิดขึ้นเพียงใด ก็ยังความเจริญได้ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น (พระสุตตันตปิฏก เล่ม 23 หน้า 21)
ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่า หลักเศรษฐกิจคือการสนองความต้องการของคน แต่หลักชั้นสูงของพระศาสนา มิใช่การสนอง หากเป็นการบรรเทาความต้องการที่ไม่จำเป็น และพยายามเป็นนายเหนือความต้องการนั้น ๆ ผู้ต้องการหาความสุขจึงควรจะได้พิจารณาดูด้วยความรอบคอบ
อนึ่ง เพื่อที่จะให้พุทธศาสนิกชนได้ก้าวไปสูงกว่าเศรษฐกิจทางโลกอีกขั้นหนึ่ง ทางพระพุทธศาสนาได้เสนอเรื่องทรัพย์ประเสริฐ (อริยทรัพย์) หรือทรัพย์ภายในไว้ 7 ประการ คือ :-
๑. เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ (ศรัทธา)
๒. รักษากายวาจาให้เรียบร้อย (ศีล)
๓. ละอายต่อบาปทุจริต (หิริ)
๔. เกรงกลัวต่อบาปทุจริต (โอตตัปปะ)
๕. สดับตรับฟังหรือเล่าเรียนมาก (พาหุสัจจะ)
๖. รู้จักเสียสละ (จาคะ)
๗. มีปัญญารอบรู้สิ่งที่เป็น ประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ (ปัญญา)(พระสุตตันตปิฏก เล่ม 23 เล่ม 5)
ถ้ามีทรัพย์ภายในหรือทรัพย์ประเสริฐที่เรียกว่าอริยทรัพย์นี้แล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทรัพย์ภายนอกจะหลั่งไหลมาเองโดยอัตโนมัติ
โดยกลับกัน คนมีทรัพย์ภายนอกที่ไม่มีศีลธรรมประกอบ หรือไม่มีทรัพย์ภายใน 7 ข้อนี้ประกอบเลย ก็แน่นอนว่าทรัพย์ภายนอกนั้นจะยั่งยืนอยู่ไม่ได้
2. เรื่องแก้ความชั่วด้วยความดี
ในหัวข้อที่ 2 ของบทนี้ ที่ว่าพระพุทธศาสนาสอนให้แก้ความชั่วด้วยความดีนั้น มีปัญหาสำคัญที่พึงพิจารณาอยู่ไม่น้อย แต่ก่อนที่จะพิจารณาในรายละเอียดอื่น ๆ ขอให้เราพิจารณาหลักคำสอนซึ่งจะยกมาเป็นตัวอย่างก่อน
๑. พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเหละแหละด้วยคำสัตย์จริง
(ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 45)
๒. เวรไม่ระงับด้วยการจองเวรในที่ไหน ๆ เลย ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรต่างหาก ธรรมนี้เป็นของเก่า
(ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 15)
๓. ความชั่วที่ทำแล้ว ผู้ใดปิดกั้นเสียด้วยความดี (คือเลิกทำชั่วเสีย ทำความดีแทนต่อไป) ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่าง เหมือนดวงจันทร์พ้นจากหมอกฉะนั้น(ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 45)
เหตุผลทางพระพุทธศาสนาที่ให้แก้ความชั่วด้วยความดีก็คือ ถ้าใช้ความชั่วแก้ความชั่ว จะไม่มีวันกลายเป็นความดีขึ้นมาได้เลย เปรียบเหมือนการล้างของโสโครกด้วยของโสโครก การซักเสื้อผ้าที่สกปรกด้วยน้ำ กระโถน จะยิ่งเพิ่มความสกปรกยิ่งขึ้น
จริงอยู่ มองในแง่หนึ่ง คล้ายเป็นการหัดเสียเปรียบคนที่คอบจะเอาชนะเขาด้วยความดี ปล่อยให้เขาเอาความร้ายมาใส่เราข้างเดียว และคล้ายกับเป็นการอ่อนแอด้วย แต่ถ้าเข้าใจความหมายในคำสอนให้ตลอดแล้ว จะรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว ที่จะไม่ให้ต้องเสียเปรียบ และไม่เป็นการอ่อนแอ
นั้นก็คือการสอนให้แก้ปัญหาตั้งแต่ยังไม่เกิดเรื่องร้ายขึ้น เช่น สอนไม่ให้ปลูกศัตรู สอนให้ปลูกมิตร ให้บำเพ็ญสังคหวัตถุ คือรู้จักผูกน้ำใจคนด้วยการให้ การพูดไพเราะ การบำเพ็ญประโยชน์ และการวางตัวให้เข้ากับเขาได้ สอนไม่ให้ยินดีในการหาเรื่องโต้เถียงอันเป็นการตัดทางทะเลาะวิวาท สอนให้มีเมตตากรุณาต่อคนอื่น อันเป็นการเตรียมตัวในทางดี แทนที่จะให้คนอื่นคิดเป็นศัตรูกลับให้คิดเคารพนับถือ การเตรียมตัวหรือวางตัวในทางดีไว้ให้เป็นนิสัยนี้ทำให้ไม่ต้องแก้ปัญหาร้าย ๆ ในภายหลัง มีคำถามว่าถ้าเราทำตนเป็นคนดี แต่คนอื่นเขายังร้ายต่อเราอยู่ เราจะทำอย่างไร ตอบว่าทำในทางที่เราจะเสียน้อยที่สุด นั้นก็คือให้พยายามต่อสู้ด้วยความดี
ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอบทความเรื่องความพยาบาท ซึ่งเคยเขียนไว้เพื่อประกอบพิจารณาต่อไป
ความพยาบาท
ได้มีท่านผู้หนึ่งตั้งปัญหาขึ้นว่า คำว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรนั้น น่าจะอย่างไร ๆ อยู่ เพราะถ้าเราไม่จองเวรตอบ ก็จะเป็นการปล่อยศัตรูให้ได้ใจ และคิดอ่านข่มเหงเบียดเบียนเราหนักขึ้น ทางที่จะระงับเวรได้จึงควรใช้วิธีอาฆาตพยาบาทเพื่อให้ศัตรูรู้ว่า เมื่อเขาข่มเหงรังแกผู้อื่นเขาจะได้รับตอบแทนอย่างสาสม เพราะฉะนั้นการอาฆาตพยาบาท จึงเป็นเครื่องทำให้ศัตรูคิดหน้าคิดหลัง ไม่รังแกใครง่าย ๆ
ปัญหาเรื่องนี้นับว่าน่าพิจารณามาก เพราะเกี่ยวกับการตัดสินใจในการปฏิบัติตนให้เหมาะแก่เหตุการณ์ ซึ่งทุกคนอาจประสบได้ในวันใดวันหนึ่ง
คำว่า เวรระงับด้วยการไม่จองเวรนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามีทางพิจารณาได้เป็น 2 ประการ คือพิจารณาตามพยัญชนะ หรือเท่าที่ปรากฏเป็นถ้อยคำอย่างหนึ่ง พิจารณาตามความหมายชั้นในซึ่งเป็นเนื้อหาของพระพุทธศาสนาแท้ ๆ อีกอย่างหนึ่ง
ประการที่1 เวรจะระงับด้วยการไม่จองเวรหรือด้วยความพยาบาทกันแน่ ถ้ามองกันในแง่ศีลธรรมและความสงบแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่เราจะเห็นได้ว่า เวรนั้นระงับด้วยการไม่จองเวรแน่นอน เราอาจถูกคนพูดเสียดสีหรือด่าว่าให้เจ็บใจ เราอาจถูกคนพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ถ้าเรามีความอดกลั่นพอ ไม่ตกเป็นทาสของความโกรธและความวู่วามแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะผ่านหายไปด้วยการทำเป็นไม่รู้เท่าทัน หรือทำเป็นไม่ได้ยินของเรา มองในแง่เสียเราอาจเสียหายบ้าง ในการถูกเขาว่าข้างเดียว แต่เป็นการเสียน้อยเพื่อแลกกับการไม่ต้องเสียมาก เพราะถ้าเราไม่อดทนปล่อยให้เกิดการประหัตประหารกันขึ้น เราจะต้องเสียมากแน่นอน คนที่ไม่ยอมเสียน้อยนั้น ได้เสียมากถึงขนาดเสียอวัยวะกลายเป็นคนพิการ หรืออย่างแรงถึงกับเสียชีวิตไปก็มี เราจะเห็นได้ว่าบุคคลบางคนดูจะเหมือนจะมีเรื่องกังวลอยู่แต่การแก้เผ็ดแก้แค้น หรือพูดจาโต้ตอบกับคนนั้นคนนี้อยู่เนืองนิตย์ ใครพูดจาแหลมมาเป็นต้องถูกโต้กลับไปอย่างสมใจ ถ้านึกไม่ออกในขณะนั้น ก็ต้องไตร่ตรองหาคำพูดที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจให้จงได้ บางครั้งถึงกับนอนไม่หลับ มีเรื่องเล่าว่าเคนแจวเรือไปได้ 2 คุ้งน้ำแล้ว เพิ่งนึกคำโต้ตอบได้ อุตส่าห์แจงเรือกลับมาตอบเขาอีกคำสองคำแล้วจึงจากไป ลองนึกดูว่าก็ได้ว่าบุคคลที่ทำดังนี้จะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อใจเต็มไปด้วยเรื่องโกรธเคืองขุ่นแค้นคนนั้นคนนี้ คอยแต่จะต่อความยาวสาวความยืดตลอดเวลา เมื่อเทียบดูบุคคลผู้พร้อมที่จะให้อภัยคนอื่น ผู้เกินบ้าง เลยบ้าง ก็ไม่ถือสาหาความ และบางทีก็อาจคิดสนุก ๆ ไปจนว่า การที่ทนให้คนอื่นเขาเสียดสีหรือว่ากล่าวเอาบ้าง ก็เป็นการช่วยให้เขามีความสุขได้อย่างหนึ่ง ได้ชื่อว่าทำประโยชน์แก่เขาโดยทางอ้อม จะว่าเป็นการถูกด่าเปล่า ๆ ก็ไม่เชิง เป็นการเสียสละเพื่อความสุขของคนที่ชอบด่าอยู่บ้างเหมือนกัน และถ้าคิดเทียบเคียงไปว่า คนขนาดเราก็ไม่ใช่วิเศษมาแต่ไหน จะถูกเสียดสีว่ากล่าวบ้างไม่ได้เทียวหรือ ก็คนขนาดประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจ ยังถูกด่ากันโครม ๆ แล้วเราเป็นอะไรมาจะถูกกระทบกระเทือนบ้างไม่ได้
แม้ในคดีโลก กฎหมายบ้านเมืองก็ไม่สนับสนุนความพยาบาทอาฆาต คนที่ลุอำนาจแก่โทสะประทุษร้ายร่างกายหรือชกต่อยตีรันกันกฎหมายก็ถือว่าเป็นคู่วิวาทมีตัวบทลงโทษด้วยกัน ทั้งคู่ไม่ได้ยกเว้นให้เอาความพยาบาทขึ้นมาแก้ตัวเลย จะยอมให้ แก้ตัวก็ต่อเมื่อเป็นการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้น ยิ่งในการฆ่าคนตายยิ่งเห็นได้ชัดว่า กฎหมายลักษณะอาญาเก่าลงโทษไว้สถานหนักแก่ผู้ฆ่าคนด้วย “ความพยาบาทมาดหมาย” ด้วยประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกัน ส่วนประมวลกฎหมายอาญาที่ออกใหม่ พ.ศ. 2499 กล่าวว่าผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยไตรตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษประหารชีวิตอันแสดงว่าความพยาบาทหาได้ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ศัตรูของเราเท่านั้นไม่ แต่ได้กลับมาเป็นอาวุธประหัตประหารเจ้าของความพยาบาทนั้นเองด้วย
เมื่อคดีโลกไม่สนับสนุนความพยาบาทแล้ว คดีธรรมจะสนับสนุนได้อย่างไร ? เพราะเหตุนี้ผู้พยาบาทบรรเทาความอาฆาตพยาบาท จึงเท่ากับเป็นผู้หัดเสียน้อย จะได้ไม่ต้องเสียมาก และประสบความทุกข์ความเดือดร้อนอันเกิดจากกรรมที่ตนก่อขึ้นนั้น แม้จะไม่กล่าวถึงคนที่เสียชีวิต เพราะความพยาบาทของตนชักนำ เราก็จะเห็นตัวอย่างอื่นอีก เช่น คนผู้อยู่ในคุกตะราง ต้องจองจำทำโทษเป็นสิบ ๆ ปี หรือตลอดชีวิต เพราะทนต่อความพยาบาทอันเกิดขึ้นประเดี๋ยวเดียวไม่ได้ จึงต้องไปทนอยู่ในที่คุมขังอันร้ายแรงยิ่งกว่าการทนประเดี๋ยวเดียวอย่างเปรียบกันไม่ได้
ประการที่ 2 ที่ว่าเราอาจพิจารณาปัญหานี้ตามความหมายชั้นใน ซึ่งเป็นเนื้อหาของพระพุทธศาสนานั้น คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไปคอยตัดเวรหรือระงับเวรเอาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ท่านสอนให้เรารู้จักระงับตั้งแต่ยังไม่มีเรื่อง หรือให้หาทางตัดไม่ให้เกิดเรื่องทีเดียวนั้น ก็คือสอนให้รู้จักวางตัวให้ดี ให้คนอื่นแทนที่จะคิดด่าว่าเสียดสีหรือข่มเหงรังแกเรา แต่ให้เขากลับมาเคารพนับถือรักใคร่ เพราะคุณงามความดีของเรา เช่น ท่านสอนให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน รู้จักช่วยเจรจาอ่อนหวานไพเราะ รู้จักช่วยขวนขวายทำประโยชน์แก่คนอื่นไม่เห็นแก่ตนถ่ายเดียว และรู้จักวางตัวให้เหมาะสมเสมอต้นเสมอปลาย ไม่กลับ ๆ กลอก ถ้าเราทำดีต่อเขาด้วยน้ำใสใจจริงเช่นนี้ก็เป็นการตัดมิให้เขาข่มเหงรังแกเรา หรือมุ่งร้ายเสียดสีด่าว่าเรา ซึ่งเป็นการระงับเวรได้อย่างแยบคายที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความพยาบาทอาฆาตเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะต้องตัดสินใจในการปฏิบัติตนให้เหมาะแก่เหตุการณ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าพระพุทธภาษิตที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรอันมีความหมายในทางให้บรรเทาความพยาบาทอาฆาต และมีความหมายในทางให้รู้จักทำตนให้เป็นที่รักใคร่ของคนทั่ว ๆ ไปนั้น ยังคงเป็นภาษิตที่ก่อให้เกิดความสงบความสดชื่น และความร่มเย็นเป็นสุขแก่มนุษย์ทุกกาลสมัย
ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องความพยาบาทเท่านั้นที่พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะด้วยความดี แม้ความไม่ดีอื่น ๆ จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ก็ควรเอาชนะด้วยความดีทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องสอนให้คนมีใจสูงไม่ปล่อยตัวไปตามอำนาจฝ่ายต่ำ
3. เรื่องไม่มองข้ามตนเองในการแก้ปัญหาศีลธรรม
โดยปกติคนมักจะเรียกหาศีลธรรม เมื่อตนเองเผชิญเรื่องยุ่งยากที่คนอื่นก่อให้ เช่น ถูกข่มเหงเบียดเบียน ถูกลวงล่อฉ้อโกงเป็นต้น พอเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะเรียกหาความเป็นธรรม เรียกหาศีลธรรม เรียกหาความยุติธรรมเป็นการใหญ่ ทั้ง ๆ ที่โดยปกติตนไม่เคยเห็นความสำคัญหรือความจำเป็นของศีลธรรมและความเป็นธรรมแต่อย่างไรเลย
เคยมีอยู่สมัยหนึ่งในระหว่างสงคราม เราได้ยินเสียงบ่นกันมากว่าศีลธรรมเสื่อมโทรม และเสียงที่บ่นนั้นก็ล้วนแต่ซัดไปที่คนอื่นทั้งสิ้น ตกลงจึงเกิดปัญหาว่าเราจะแก้ความเสื่อมโทรมของศีลธรรมที่ใครดี
ถ้าพิจารณาดูหลักการทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่าท่านสอนไม่ให้ลืมตัวเราเอง หรือมองข้ามตัวเราเองไป หากได้พิจารณาจัดการที่ตนเราเองก่อน โดยไม่ค่อยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้วเราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย
มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “บุคคลพึงตั้งตนเองนั่นแหละไว้ในทางที่ควรก่อน” (อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏรูเป นิเวสเย) ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 36 อันแสดงว่าอย่างเกี่ยงให้คนอื่นดีโดยเราไม่สนใจจะจัดการกับตัวเราเองเลย
ข้อควรคิดพิจารณาในการส่งเสริมศีลธรรม หรือในการแก้ปัญหาเรื่องศีลธรรมเสื่อมนั้น ผู้เขียนได้เคยเสนอไว้เป็น 2 ทาง คือ :-
๑. จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจให้เรียบร้อย ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น
๒. จัดการกับตัวเราเอง และช่วยกันเผยแผ่ความรู้สึกประทับใจ รังเกียจความชั่วช้าต่าง ๆ และนิยมในคุณงามความดี ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
เฉพาะข้อหนึ่งจะขอผ่านไป เพราะได้กล่าวไว้แล้ว ส่วนข้อหลังที่ให้ปลูกฝังความรู้สึกประทับใจ รังเกียจความชั่วช้าทุจริต นิยมในคุณความดีต่าง ๆ นั้น ความจะชัดขึ้นเมื่อเราสอบสวนดูความฝังใจของเราทั้งหลายในเรื่องอื่น ๆ
ในหมู่อิสลามิกชน เขาไม่เดือดร้อนเลยที่ไม่มีเนื้อหมูขายในท้องตลาด เพราะเขามีประเพณีทางศาสนาไม่รับประทานเนื้อหมูกันโดยทั่วไปในหมู่คนไทยทั่วไป ไม่มีใครรับประทานเนื้อแมวหรือเนื้อสุนัข เพราะฝังใจกันมาแต่โบราณ โดยหาเหตุผลเพราะแมวและสุนัขใกล้ชิดกับคนและเป็นสัตว์เลี้ยง จึงไม่มีใครคิดจะกิน แต่คนรุ่นปัจจุบันแม้บางคนไม่เลี้ยงสุนัขหรือเลี้ยงแมวก็เลยพลอยไม่เกินเนื้อสัตว์ทั้งสองนี้ไปด้วย คือพลอยฝังใจไปตามชนหมู่ใหญ่ และถ้าถามเหตุผลก็คงตอบได้เพียงว่า นึกรังเกียจเพียงแต่พูดถึงก็อยากจะอาเจียนเสียแล้ว เพราะถ้าจะตอบว่าสุนัขและแมวสกปรก เราก็จะเห็นได้ว่า ในบางกรณีหมูสกปรกไม่แพ้สุนัขเลย เพราะกินอุจจาระคนเหมือนสุนัข และปลาบางชนิดเช่นปลาหมอที่คนไทยนิยมกินกันนักนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นปลาที่ชอบกินอุจจาระคนเป็นอันมาก แต่เราก็ไม่รังเกียจกัน ตกลงเมื่อสาวหาเหตุผลกันหนักเข้าก็ต้องโยนให้แก่ความฝังใจความประทับใจว่าอย่างนั้นกินได้ อย่างนี้กินไม่ได้ และเมื่อเกิดความประทับใจอย่างนี้แล้ว ก็ไม่เกินทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เมื่อความฝังใจอาจเกิดได้ในกรณีเนื้อสุนัขหรือเนื้อแมวฉะนี้แล้ว เราก็อาจหัดหรือปลูกฝังให้เกิดความฝังใจในเรื่องรังเกียจความชั่วและนิยมความดีได้ แต่เรื่องนี้จะต้องทำให้เป็นมติมหาชนโดยการช่วยขยายวงออกไปจากเอกชน และโดยเฉพาะก็คือตัวเราเองก่อน
การจะยอมปลูกความฝังใจหรือความประทับใจชนิดนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพิจารณาถึงเหตุผล ในเรื่องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เทียบเคียงกันและกัน คนที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้นั้น มักจะเทียบเคียงอกเขาอกเราเสมอ คนเช่นนี้มักไม่ลืมตน และเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั้งหลาย
คนบางคนถึงคราวตนเป็นเบี้ยล่างหรือเป็นฝ่ายเดือดร้อนแล้ว จะพยายามวิ่งเต้นอย่างเต็มความสามารถไม่เป็นอันกินอันนอน ไม่เลือกว่าจะผิดจะถูก จะเสียความยุติธรรมหรือไม่ สุดแต่ให้พ้นความทุกข์ร้อนได้ก็แล้วกัน แต่พอถึงคราวตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ เป็นฝ่ายเหนือผู้อื่น ก็จะข่มขู่หรือเหยียบคนอื่นอย่างปราศจากความปรานี
เพราะเหตุนั้น ทางพระพุทธศาสนาเมื่อสอนให้คนรู้สึกฝึกจิตใจให้ประกอบด้วยเมตตากรุณา จึงได้จัดลำดับในการแผ่เมตตาไว้ 4 ลำดับ คือ:-
๑. ให้แผ่เมตตาไปในตัวเองก่อน นึกปรารถนาให้ตนมีความสุขพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพื่อจะได้ตนเองเป็นพยานว่าเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็รักสุดเกลียดทุกข์ฉันนั้น การแผ่เมตตาในตัวเองนี้ ทำได้ง่ายที่สุด แม้ไม่หัด คนก็มีความรู้สึกกันอยู่โดยปกติแล้ว แต่ถ้าหักแผ่เมตตาในตนเองก็จะเป็นการก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นแรก เพื่อก้าวไปยังขั้นอื่นต่อไป
๒. เมื่อแผ่เมตตาในตนเองจนเห็นประจักษ์แก่ใจถึงความรู้สึกรักตนของเราแล้ว ในลำดับต่อไปให้หัดแผ่เมตตาในคนที่เรารัก เช่น พ่อแม่ บุตร ภริยา สามี หรือคนที่เป็นญาติมิตร ซึ่งแผ่ได้ง่าย เป็นลำดับที่ ๒
๓. แล้วจึงเมตตาไปในบุคคลที่เรารู้สึกเฉย ๆ ไม่รักไม่ชัง หรือเป็นผู้ที่เราไม่ค่อยมีความสนใจเท่าไรนัก
๔. ต่อจากนั้นจึงหัดแผ่เมตตาขั้นยากที่สุด คือแผ่เมตตาในคนที่เป็นศัตรู เพราะตามปกติคนเรามักจะคิดแต่ให้ศัตรูพินาศย่อยยับ พอใจที่จะเห็นศัตรูมีอันเป็นไปต่าง ๆ แม้เช่นนั้นทางพระพุทธศาสนาก็สอนให้มีใจสูงพอที่จะหัดให้อภัย และให้มีความปรารถนาดีต่อศัตรู ใครไม่เคยหักจะลอง หัดดูบ้างก็จะเป็นการดี เพราะเรามักจะได้ยินแต่ว่า ถ้าเป็นคน ๆ นั้นแล้วก็จะขอผูกพยาบาลหรือผูกโกรธตลอดไป ยากที่จะมีใครหัดยกระดับจิตใจให้สูงโดยให้อภัยแก่ศัตรู และแผ่ความปรารถนาดีไปยังบุคคลเหล่านั้นได้
เป็นอันขอสรุปไว้ในท้ายบทนี้ อันว่าด้วยคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาว่าด้วยการส่งเสริมศีลธรรมว่า การนึกถึงอกเขาอกเรา หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่ง คู่เคียงกับหลักเศรษฐกิจส่วนบุคคล ในที่ใดไม่มีการเห็นอกเห็นใจกัน ในที่นั้นจะมีการแบ่งแยกเป็นพวกเขาพวกเรา คอยจ้องจับผิดหาความกัน และคอยปกปิดความผิดของตนขยายความผิดของคนอื่นเพียงเล็กน้อยให้ดูใหญ่โตขึ้น ความเมตตากรุณา แม้จะเป็นคุณธรรมชั้นสูง ละเอียดอ่อน ยังความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้น แต่ถ้าคนเรายังไม่ยอมเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ยอมเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้ว ก็ยากที่คนจะปลูกฝังความเมตตากรุณานั้นในจิตใจของตนเองได้ จะปลูกฝังได้ก็เฉพาะความเมตตากรุณาต่อตนเองฝ่ายเดียว แล้วเหยียบย่ำผู้อื่นให้แหลกลาญลงไป เรื่องควรจะเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ควรจะให้อภัยได้ กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายไป เพราะฉะนั้น คุณลักษณะข้อนี้ของพระพุทธศาสนา จึงช่วยเผยแผ่สันติสุขให้แพร่หลายไปอย่างแท้จริง...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น