พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทที่ 5 ปฏิวัติการทำบุญโดยวิธีฆ่าเป็นวิธีสังคมสังเคราะห์

                  “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ โดยวิธีฆ่าสัตว์ หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ” ประเพณีของอินเดียมีการบูชายัญอยู่ 4 ประเภทคือ :-
                  ๑. อัศวเมธะ ฆ่าม้าบูชายัญ
                  ๒. โคเมธะ ฆ่าโคบูชายัญ
                  ๓. ราชสูยะ ฆ่าช้างบูชายัญ
                  ๔. นรเมธะ ฆ่าคนบูชายัญ
                 ประเภทแรก คือ อัศวเมธะ ฆ่าม้าบูชายัญนั้น เป็นเรื่องการบูชาเทวดา ภายหลังที่แผ่อาณาจักรสำเร็จ มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือประเพณีชาวฮินดู1 ของ Abbe J.A. Dubois หน้า 514 ว่า ได้มีการเลือกม้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องดูแลประคบประหงมเป็นพิเศษตลอดเวลา 3 ปี มีการบูชาเทวดา 3 องค์ คือ พระอินทร์ เพื่อให้ดูแลลูกม้าตัวนั้น พระยม เพื่อป้องกันม้านั้นจากความตายและอุบัติเหตุต่าง ๆ พระวรุณ เทพเจ้าแห่งฝนเพื่อให้ฝนตกลงมายังความชุ่มชื้นให้เกิดแก่พื้นดิน เพื่อจะได้มีหญ้าดี ๆ ให้ลูกม้านั้นกิน ภายหลังที่ลูกม้านั้นอายุเกิน 3 ปีแล้ว ก็มีการปล่อยให้เที่ยวไปตามชอบใจ มีผู้คนติดตามไปเป็นอันมาก และมีกองทัพยกตามไปด้วย เข้าบ้านเมืองไหนถ้าเขายอมแพ้ก็แล้วไป ถ้าไม่ยอมแพ้ก็รบกัน คราวนี้มีผู้ใดต้องการทำลายพิธีนี้ ผู้นั้นก็ยกทัพมาไล่จับม้า ถ้าจับได้ก็เป็นอันทำลายพิธีสำเร็จ แต่โดยมากผู้จะทำพิธีนี้มักแน่ใจในชัยชนะ คือได้เตรียมการรุกรานไว้แล้ว มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมในหนังสือเล่มอื่นว่า เจ้าชายแห่งประเทศต่าง ๆ ที่ม้านี้ผ่านไป ถ้ายอมแพ้ก็ต้องร่วมไปในขบวนทัพที่ติดตามม้านี้ด้วย เมื่อครบปีแล้ว จึงพาม้ากลับเมืองแล้วฆ่าม้านั้นบูชายัญ การบูชายัญแบบฆ่าม้านี้สังเกตว่ามีจุดประสงค์เป็น 2 ประการคือ ในทางการเมือง เป็นการแผ่อาณาเขต โดยถือเอาพิธีทางศาสนาเป็นข้ออ้าง ในทางศาสนา เชื่อกันว่าเมื่อบูชาได้ครบ 100 ครั้ง จะได้ไปเป็นพระอินทร์ ผู้มีอำนาจอยู่ในเมืองสวรรค์ ฉะนั้น พระอินทร์จึงเดือดร้อนไม่ใคร่ยอมให้ใครทำสำเร็จครบ 100 ครั้ง เพราะเกรงจะไปแย่งตำแหน่งจึงมีการทำลายพิธีไม่ให้สำเร็จอยู่เสมอ
               ประเภทที่ 2 ฆ่าโคบูชายัญ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากการเลือกโคที่มีลักษณะดี ไม่มีที่ตำหนิมาฆ่าบูชาเทวดา
               ประเภทที่ 3 ราชสูยะ เป็นการประกาศพิธีราชาภิเษก มีการเชิญกษัตริย์ใน ประเทศใกล้เคียง มาร่วมพิธีบูชายัญนี้ด้วย เพื่อแสดงว่ามีสามัคคีธรรมต่อกันเป็นอันดี และในพิธีนี้มีการฆ่าช้างบูชายัญด้วย เพื่อแสดงว่ามีสามัคคีธรรมต่อกันเป็นอันดี และในพิธีนี้มีการฆ่าช้างบูชายัญด้วย
               ประเภทที่ 4 นรเมธะ การฆ่าคนบูชายัญสังเวยเทพเจ้า เป็นเรื่องมีจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือนวนิยายเท่านั้น ในอินเดียปัจจุบันนี้ยังมีสถานที่หลายแห่งซึ่งมีซากเหลืออยู่ อันเคยเป็นที่ซึ่งกษัตริย์ใช้เป็นแหล่งบูชายัญเชลยศึกในสงคราม เพื่อบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือเป็นการแสดงความขอบคุณที่เทพเจ้านั้น ๆ ได้ช่วยให้ตนมีชัยในการรบ ผู้เขียนเรื่องประเพณีฮินดูซึ่งกล่าวถึงข้างต้นได้ไปดูสถานที่หลายแห่ง ที่พิธี นรเมธะได้เกิดขึ้น และบรรยายไว้ว่า โดยมากที่ประกอบพิธีฆ่าคนบูชายัญมักจะตั้งอยู่บนยอดเขา หรือในที่ซึ่งปลอดจากชุมชน ในที่เช่นนั้น จะมีโบสถ์ซึ่งสร้างขึ้นหยาบ ๆ หรือบางที่ก็เป็นเพียงโรงซึ่งบรรจุรูปเคารพของเทพเจ้าที่จะบูชาตั้งอยู่ ผู้ถูกทำพิธีบูชาจะถูกตัดศีรษะ และแขวนศีรษะไว้ในบริเวณใกล้เคียงนั้น บางครั้งการบูชายัญก็ไม่ถึงกับประหารชีวิต เพียงแต่ตัดจมูก ตัดหูของเชลยศึกแล้วก็ปล่อยไป โดยมากการฆ่าคนบูชายัญนี้เป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีข้อกำหนดอยู่ว่า คนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์ก็จะนำมาฆ่าบูชาไม่ได้ ทั้งนี้อาจเป็นด้วยผู้เขียนตำราบูชายัญเกรงภัยจะย้อนมาหาตนก็เป็นได้ นอกจากนั้น ยังมีกฎเกณฑ์พิเศษต่อไปว่า คนที่จะถูกฆ่าบูชายัญจะต้องไม่มีร่างกายพิกลพิการหรือเคยถูกลงโทษเพราะประกอบอาชญากรรมร้ายแรงใด ๆ รวมความว่า การฆ่าคนเซ่นเทพเจ้านั้น จะต้องเลือกคนที่ดี ๆ ไม่ใช่คนเหลือเดน หรือคนที่เทพเจ้าพึงรังเกียจ เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกอย่างถี่ถ้วนจึงจะใช้บูชายัญได้ อายุของคนที่ถูกฆ่ามิได้กำหนดไว้ แต่สำหรับสัตว์ที่จะใช้บูชายัญจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีร่างกายสมบูรณ์ไม่บกพร่องพิกลพิการ
                ผู้เขียนเรื่องประเพณีฮินดู ได้อ้างไว้ว่า ในคัมภีร์กาลิปุราณะได้มีคำบรรยายไว้อย่างละเอียดถึงพิธีกรรมบูชายัญเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์เป็นขั้น ๆ รวมทั้งได้ออกนามเทพเจ้าผู้ชอบรับพลีกรรมประเภทนี้ คือ ไภรวะ พระยม นันทิ และเจ้าแม่กาลี

การบูชายัญนอกจาก 4 อย่างข้างต้น
                ในสมัยปัจจุบัน การฆ่าแพะและแกะบูชายัญยังคงมีอยู่ดาษดื่นในประเทศอินเดีย ผู้ไปแวะที่กัลกัตตา ถ้าไปที่วัดฮินดูก็อาจจะเห็นได้เสมอ เขาทำไม้ไว้เป็นที่เอาคอแพะพาดเพื่อใช้มีดฟันให้คอขาด วันหนึ่ง ๆ มีสัตว์ประเภทนี้ถูกฆ่าตายเป็นเทวพลีไม่น้อยทีเดียว ผู้เขียนขออ้างหนังสือประเพณีฮินดูของดูบัวส์ (Dubois) ต่อไปอีกเพราะได้เล่าไว้ชัดเจนดี ดูบัวส์กล่าวว่า การบูชายัญที่เป็นสามัญในหมู่พราหมณ์ที่เป็น “วนปรัสถะ” คือพวกอยู่ป่า หรือหลีกออกหาความสงบ คือการบูชาที่เรียกว่า “โหมะ” เมื่อก่อไฟขึ้นแล้ว ก็เอาเมล็ดข้าวซึ่งคลุกน้ำมันเนยใส่ลงไปในไฟเป็นครั้งคราว แล้วสาธยายมนต์ โดยปกติการบูชานี้เป็นการบุชาไฟ แต่บางครั้งผู้บูชาก็มุ่งบูชาพระอาทิตย์ หรือดาวเคราะห์อื่น ๆ พวกฤาษีเหล่านี้ยังได้ทำการบูชาเป็นประจำวัน โดยใช้ผลิตผลตามธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ของหอม ข้าวเปลือก ผัก และผลไม้ เวลาทั้งหมดของฤาษีพวกนี้ล่วงไปด้วยการบูชาเช่นนี้ วันละหลาย ๆ ครั้ง ด้วยการอาบน้ำชำระกายให้บริสุทธิ์สะอาดบ้าง ด้วยการเพ่งถึงความสมบูรณ์แห่งปรพรหมบ้าง ดูบัวส์ให้ข้อสังเกตเหตุการณ์ในอินเดียเมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้วว่า แม้การฆ่าสัตว์บูชาจะเป็นของธรรมดาสามัญในอินเดีย แต่พวกพราหมณ์ก็ไม่ค่อยได้ฆ่าสัตว์ หรือไม่ได้ลงมือเองในการฆ่า แต่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนในวรรณะอื่น ซึ่งได้มีบันทึกเพิ่มเติมของผู้พิมพ์หนังสือเล่มนั้นในครั้งหลังว่า โดยมากเป็นคนในวรรณะช่างหม้อ คือพวกทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นคนฆ่าสัตว์
                 แต่ก็มีบางโอกาสที่พวกวนปรัสถ์จะฆ่าสัตว์ โดยไม่มีการลังเลใจ ในเมื่อมีการบูชาใหญ่ที่เรียกในภาษาสันสกฤต “ยัชญะ” ซึ่งเป็นการบูชาอันมีเกียรติ แม้ในพวกพราหมณ์สมัยใหม่โดยมากใช้แกะ แต่ในกรณีที่พราหมณ์ลงมือเองเช่นนี้ ก็มักไม่ใช้วิธีตัดคอ จะเป็นด้วยเห็นเป็นการเลือดตกยางออกหรืออย่างไรสักอย่าง จึงใช้วิธีอื่นคือ ใช้ไม้ตี หรือเอาเชือกรัดคอแกะนั้นให้ตาย แต่พวกพราหมณ์ที่นับถือพระวิษณุ ที่เรียกว่า ไวษณพ ไม่รับรองการบูชายัญที่ต้องฆ่าสัตว์ชนิดนี้ พวกพราหมณ์ด้วยกันจึงหาว่าพวกไวษณพเป็นพวกนอกศาสนา
                การบูชายัญโดยฆ่าสัตว์นี้ พวกพราหมณ์ถือว่าเป็นบุญยอดเยี่ยม และเป็นที่ถูกใจเทพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ผู้บูชาจะได้บุญและพ้นจากบาปทั้งหมด ซึ่งเคยทำมาแล้วตั้งร้อยชั่วคน อนึ่ง สิทธิในการบูชายัญชนิดนี้ เป็นของพวกพราหมณ์โดยส่วนเดียว คนในวรรณะอื่นไม่มีโอกาสได้อยู่ในพิธี การบูชายัญชนิดนี้สิ้นค่าใช้จ่ายมาก เพราะพราหมณ์เป็นอันมากที่ได้รับเชิญมาในพิธีนี้ จะต้องได้รับของไทยธรรมจากผู้เป็นเจ้าของงานโดยทั่วกัน คนที่ยากจนจึงไม่มีโอกาส ทำมหายัญอย่างนี้ได้ ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดในพิธีกรรม
               ผู้จะเป็นประธานในพิธีจะประกาศกำหนดวันประกอบพิธีทั่วทั้งเขตนั้นแล้วเชิญพราหมณ์ทั้งหมดมาร่วมพิธี เป็นการจำเป็นที่จะต้องเชิญพราหมณ์ผู้แตกฉานในแต่ละประเภทแห่งพระเวททั้ง 4 (ฤคเวท, ยชุรเวท, สามเวท และอถรรพเวท) มาร่วมด้วย ถ้าขาดผู้แทนในส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นไม่มีพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในฝ่ายฤคเวท แม้ในฝ่ายอื่นจะมาหมด ยัญนั้นก็ใช้ไม่ได้ ในพิธีกรรมนี้คนวรรณะศูทรไม่ว่าตำแหน่งจะสูงสักเท่าไร พวกพราหมณ์ที่ไม่สมประกอบคือเป็นโรค หรือพิการ หรือแม้เป็นพ่อหม้ายก็เข้าในพิธีนั้นไม่ได้ !
            แกะที่จะใช้ในพิธีจำเป็นต้องได้รับการคัดเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะต้องขาวปลอด มีอายุประมาณ 3 ปี และมีลักษณะสมบูรณ์ไม่บกพร่อง (ในบันทึกของฉบับที่พิมพ์ครั้งหลังกล่าวว่าไม่ใช่ขาวปลอด ต้องดำปลอด)
               ปุโรหิตผู้หนึ่งจะประกาศว่า เป็นกาลอันสมควรที่พิธีกรรมจะเริ่มแล้ว พวกพราหมณ์ประมาณกว่า 2,000 คน ซึ่งไปร่วมในพิธีนั้นจะรับเข้านั่งประจำที่ จะมีการขุดหลุม มีพิธีบูชา “โหมะ” ดังกล่าวข้างต้นและพิธีกรรมเริ่มต้นอีกต่าง ๆ เมื่อก่อไฟติดแล้วก็ใช้ขอนไม้และหญ้าเหล่านี้ ชุ่มด้วยน้ำมันเนยจึงทำให้ไฟติดมีเปลวไฟพวยพุ่งขึ้น ขณะนั้นปุโรหิตจะร่ายมนต์ด้วยเสียงอันดัง พราหมณ์ผู้ไปร่วมพิธีจะกล่าวซ้ำเป็นทำนองลูกคู่รับในบางตอน ครั้นแล้วก็จะมีการนำแกะเข้าไปในที่ประชุม เอาน้ำมันทาให้ทั่วตัว เอาน้ำอาบให้ และเอาอักษตะ (คือข้าวเปลือกทั้งเมล็ดที่ยังมิได้ตำเอาเปลือกออกโดยล้างน้ำให้สะอาดใช้เป็นเครื่องบูชาในพิธีกรรม) มาโรยตามตัวที่ตัวและที่เขา สวมพวงมาลัยดอกไม้ให้แกะเอาเชือกทำด้วยหญ้าคามัดรอบตัวสัตว์ ระหว่างเวลาดังกล่าวนี้ ปุโรหิตยังคงร่ายมนต์ต่อไป ต่อจากนั้นมีการอุดรูจมูกและปากของสัตว์ พราหมณ์หลายคนจะช่วยกันตีและลงสุดท้ายด้วยพราหมณ์คนหนึ่ง เอาเข่าทั้ง 2 ของตนกดลงไปที่คอแกะ เพื่อให้หายใจไม่ออกตาย ปุโรหิตพร้อมด้วยสานุศิษย์จะเร่งเสียงสวดมนต์ซ้ำ ๆ ให้ดังขึ้นด้วยเสียงอันดัง เพื่อช่วยให้แกะตายได้เร็วขึ้น โดยไม่เจ็บปวดทรมานมากนัก และจะถือกันว่าเป็นเสนียดจัญไรอย่างร้ายแรง ถ้าแกะร้องออกมาได้แม้เพียงเล็กน้อย เพราะจะเป็นเครื่องหมายแห่งความค่อย ๆ ดับสูญไปของวงศ์สกุลนั้น เมื่อสัตว์ตายแล้ว พราหมณ์ผู้เป็นประธานในพิธีจะผ่าท้องแกะ เอาตับไตไส้พุงพร้อมทั้งเปลวมันออกย่างบนไฟ ให้เปลวมันหยดลงไปเป็นเครื่องสังเวย พร้อมทั้งเอาน้ำมันเนยทาลงไปในไฟเป็นครั้งคราว
                ต่อจากนั้นก็ถลกหนังและตัดเนื้อออกเป็นชิ้น ๆ เอาลงผัดด้วยน้ำมันเนย บางส่วนก็โยนลงไปในไฟเป็นเครื่องสังเวย ส่วนที่เหลือก็แบ่งกันในระหว่างพราหมณ์ผู้ทำพิธีกับเจ้าภาพ บางส่วนก็จะให้แก่พวกพราหมณ์ที่มาร่วมพิธี โดยพราหมณ์เหล่านั้นจะแย่งชิ้นส่วนกันอย่างโกลาหล เพราะถือว่าเป็นของวิเศษอำนวยสวัสดิมงคล ตอนนี้เองเป็นที่น่าสังเกตว่าพวกพราหมณ์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ได้มีโอกาสกินเนื้อสัตว์
                 ลำดับต่อไปมีการนำข้าวสุกและข้าวสารที่ล้างสะอาดแล้วมาสังเวยไฟอีก
                ของต่าง ๆ ที่วางรอบกองไฟเช่นหมากพลูเมื่อเสร็จพิธีแล้วก็แจกไปแก่พราหมณ์ ในที่สุดเจ้าภาพจะแจกเงินและเสื้อผ้าแก่พราหมณ์ทุกคนที่มาร่วมพิธีตามความเหมาะสมแก่ตำแหน่งและเกียรติของบุคคลนั้น ๆ อันเป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก พราหมณ์ผู้เป็นประธานในพิธีมหายัญเช่นนี้ ถือกันว่าเป็นคนสำคัญมาก มีสิทธิหลายอย่าง เช่น การบูชาไฟในบ้าน โดยก่อไฟในบ้าน โดยก่อไฟให้ติดอยู่ตลอดกาล ถ้าไฟดับห้ามใช้ไฟอื่นมาต่อใหม่ ต้องใช้ไม้แห้งมาสีไฟให้เกิดเปลวขึ้น เพื่อเป็น เชื้อไฟต่อไป เวลาพราหมณ์นั้นตายก็ไม่ให้ใช้ไฟธรรมดาเผา ต้องใช้ไฟที่สีให้เกิดด้วยไม้ในทำนองนี้ และเมื่อเผาศพแล้วก็ต้องปล่อยให้ไฟดับมอดไปเอง
              ในการบูชายัญนี้ พราหมณ์จะเลือกบูชาเทวดาองค์ใดก็ได้ที่เป็นใหญ่ตามความเชื่อถือของเรา แต่เทวดาผู้ยิ่งใหญ่ในการนี้ดูเหมือนจะเป็นพระอัคนีศวร หรือเทพเจ้าแห่งไฟ
                การบูชายัญตามที่กล่าวในวรรณคดีพระพุทธศาสนา
               ส่วนการฆ่าสัตว์บูชายัญซึ่งปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอันเท่ากับเป็นบันทึกเหตุการณ์ ในสมัยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว มีต่างออกไปจากที่กล่าวข้างต้นบ้างในประการ การเล่าเรื่องที่ปรากฏในวรรณคดี เช่นนั้นย่อมแสดงไปในตัวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงมีส่วนช่วยสัตว์ซึ่งจะถูกฆ่าจำนวนไม่น้อยนั้นให้รอดชีวิตได้อย่าง
               เรื่องที่ 1 ทรงช่วยสัตว์ที่กูฏทันตพราหมณ์จะบูชายัญ
               เรื่องนี้ปรากฏในกูฏทันตสูตร ทีฆนิกาย สุตตันตปิฏก เล่ม 9 หน้า 162 ว่า กูฏทันตพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าพิมพิสารให้เป็นผู้ครองหมู่บ้านพราหมณ์ ชื่อขานุมัตตะ เตรียมการบูชายัญโดยใช้โค 700 ลูกโคตัวผู้ 700 ลูกโคตัวเมีย 700 แพะ 700 แกะ 700 เตรียมผูกไว้กับเสา จะฆ่าบูชายัญ เผอิญทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไป ณ หมู่บ้านนั้น จึงเข้าไปเฝ้าทูลถามปัญหาต่าง ๆ เมื่อได้ฟังหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้วก็เลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต พร้อมทั้งประกาศให้อภัยทานแก่สัตว์ที่เตรียมฆ่าอย่างละ 700 ตัวนั้น ด้วยคำว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอปล่อยสัตว์เหล่านั้น ให้ชีวิตสัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงกินหญ้าอันเขียวสด ดื่มน้ำอันเย็นสนิท และขอลมเย็นลงโชยมาต้องกายสัตว์เหล่านั้นเถิด
                เรื่องนี้แสดงว่า สัตว์ที่ใช้ในการบูชายัญมากมายเหลือเกิน ถ้าจะนึกวาดภาพสัตว์ 1 ตัว ต่อเสา 1 ต้น ก็จะต้องปักเสาถึง 3,500 ต้น จะกินเนื้อที่สักเท่าไร การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนั้น ได้ผลเป็นการช่วยชีวิตสัตว์ถึง 3,500 ชีวิต
             เรื่องที่ 2 ทรงช่วยสัตว์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะบูชายัญ
            เรื่องนี้ปรากฏในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุตตันปิฏกเล่ม 15 หน้า 109 ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสั่งให้เตรียมการบูชายัญ โดยใช้สัตว์คือโค 500 ลูกโคตัวผู้ 500 ลูกโคตัวเมีย 500 แพะ 500 และแกะ 500 ผูกไว้กับเสาเพื่อฆ่าสังเวยเทพเจ้า
              ท้องเรื่องตอนนี้มีขยายความต่อไปอีกในอรรถกถาธรรมบท (ภาค 6 เรื่องอัญญตรปุริส หน้า 391) ว่ามีสัตว์และมนุษย์ที่เตรียมจะฆ่ามากประเภทด้วยกัน มีช้าง, ม้า, โคผู้, โคเมีย, แพะ, แกะ, ไก่, สุกร, เด็กหญิง และเด็กชาย แต่ละประเภทนับจำนวนร้อย
             ใครที่เป็นญาติของเด็กเหล่านั้น ก็คร่ำครวญร้องไห้ในการที่จะสูญเสียบุตรหรือหลานของตนอย่างน่าเวทนายิ่ง พระนางมัลลิกา อัครมเหสีไม่เห็นด้วยกับการนี้จึงกราบทูลเชิญให้พระเจ้าปเสนทิไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อพระเจ้าปเสนทิได้ไปเฝ้าสดับพระธรรมเทศนาแล้วก็สั่งปล่อยสัตว์และคนที่เตรียมฆ่านั้นทั้งสิ้น
              ตามวรรณคดีที่ปรากฏครั้งนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงช่วยชีวิตมนุษย์และสัตว์ไว้เป็นอันมาก ยังความปลื้มปีติให้เกิดแก่มนุษย์หลายร้อยครอบครัว ซึ่งจะถูกฆ่าไป เพราะความเชื่อถืออย่างผิด ๆ
             เรื่องที่ 3 ปรากฏในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย สุตตันตปิฏก เล่ม 21 หน้า 54 มีเรื่องเล่าว่าอุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามว่า พระองค์ไม่สรรเสริญการบูชายัญมิใช่หรือ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ เรามิได้สรรเสริญการบูชายัญทุกชนิด แต่จะไม่สรรเสริญเลยก็ไม่ใช่ ก็แต่ว่าในการบูชายัญใด โค แพะ ไก่ สุกรและสัตว์มีชีวิตต่าง ๆ ถูกฆ่า เราย่อมไม่สรรเสริญการบูชายัญที่มีการริเริ่มเช่นนั้น เพราะเหตุว่าในยัญเช่นนั้น พระอรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหันตมรรคย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น แต่ในการบูชายัญใด โค แพะ ไก่ สุกร และสัตว์มีชีวิตต่างๆ ไม่ถูกฆ่า เราย่อมสรรเสริญการบูชายัญ ซึ่งไม่มีการริเริ่มเช่นนั้น อันได้แก่การให้ทาน ซึ่งเป็นยัญสืบสกุล เพราะเหตุว่า พระอรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหันตมรรค ย่อมเข้าไปสู่ยัญที่ไม่มีการริเริ่มเช่นนี้ (ไม่มีการฆ่าสัตว์)
               เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องทำนองเดียวกับเรื่องที่ 3 เป็นแต่ผู้เข้าไปทูลถามเป็นพราหมณ์อีกผู้หนึ่งชื่อ อุทายิพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงตอบทำนองเดียวกัน แต่ต่างกันที่คำสรุปท้ายคำที่เป็นนิคมคาถา หลักฐานในเรื่องที่ 4 นี้อยู่ติดต่อกับหลักฐานในเรื่องที่ 3
               หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่องปฏิเสธการฆ่าสัตว์บูชายัญ
              ๑. ในเมตตาวรรค อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม 23 หน้า 152 มีคำพรรณนาส่งเสริมให้มีเมตตาไว้ว่า “ผู้ใดมีสติเจริญเมตตาอันมีประมาณไม่จำกัด ผู้นั้นผู้เห็นธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส ย่อมมีกิเลสเครื่องผูกมัดน้อยลง คนมีจิตไม่ประทุษร้าย แผ่เมตตาไปยังสัตว์เพียงตัวเดียวยังได้กุศล ถ้ามีใจอนุเคราะห์ในสัตว์ทั้งปวง ก็ชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐ ชื่อว่าทำบุญเป็นอันมาก ราชฤษีทั้งหลายผู้รบชนะแผ่นดินอันเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ ทำการบูชายัญชื่อสัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ นิรัคคฬะ ราชฤษีเหล่านั้นก็ยังมิได้รับผลแม้เสี้ยวที่ 16 ของเมตตาจิตอันอบรมดีแล้ว เหมือนแสงจันทร์เทียบกับหมู่ดาวทั้งปวงฉะนั้น”
             “ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า ไม่เอาชนะเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นเอาชนะ ผู้นั้นมีเมตตาต่อสัตว์ทั้งปวง ย่อมไม่มีเวรกับใคร ๆ”
             ในหลักฐานซึ่งแสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาตรงนี้ มีข้อที่ควรอธิบายเทียบเคียงให้เห็นได้กับโบราณคติของอินเดีย คือในสมัยของพระพุทธเจ้า การบุชายัญมี 5 วิธี แต่ละวิธีนั้น ล้วนจะต้องฆ่าสัตว์หรือมนุษย์บูชาหรือวุ่นวายในพิธีกรรมแปลก ๆ ทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าการบูชายัญทั้ง 5 อย่างนั้น ได้ผลไม่เท่า 1 ใน 16 ของการมีเมตตาจิตในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะการบูชายัญแบบนั้นเป็นการประทุษร้ายสัตว์ หรือไม่ก็เป็นการหลงติดในพิธีโดยตรง
              ทางพระพุทธศาสนา ได้อธิบายการบูชายัญทั้ง 5 ประการนั้นเสียใหม่ อันเข้าทำนอง Reinterpretation ที่กล่าวไว้ในบทนำของหนังสือนี้ดังจะเทียบให้ดูเป็นข้อ ๆ คือ
            (๑) อัสสเมธะ หรือ สัสสเมธะ ประเพณีของศาสนาพราหมณ์ คือการบูชายัญโดยวิธีฆ่าม้าดังกล่าวไว้แล้ว ในข้อที่ว่าด้วย “อัศวเมธะ” ทางพระพุทธศาสนาดัดแปลงใหม่ ใช้คำว่า สัสสเมธะ แปลว่า ฉลาดในการบำรุงข้าวกล้า พูดง่าย ๆ ก็คือแทนที่จะฆ่าม้ามาสนใจในเกษตรกรรมเร่งให้เกิดผลิตผลดีกว่า คำว่า “เมธะ” ที่แปลว่า ฆ่า นั้น แปลว่า ฉลาด ก็ได้ คำว่า อัสสะ หรือ อัศวะ ที่แปลว่าม้าทางพระพุทธศาสนาเปลี่ยนคำเป็น สัสสะ แปลว่า ข้าวเกล้า เป็นการดัดแปลงความหมายให้ต้องด้วยเหตุผลและหลักธรรมยิ่งขึ้น
               (๒) ปุริสเมธะ วิธีดั้งเดิมเรียก นรเมธะ แปลว่าการบูชายัญโดยฆ่าคน พระพุทธศาสนาแปลคำว่า “เมธะ” ใหม่ว่าฉลาด จึงแปลปุริสเมธะว่า ฉลาดในการบำรุงคน คือการสร้างบุคลากรและการสงเคราะห์คน ท่านผู้อ่านคงเห็นได้แล้วว่า พระพุทธศาสนามีคุณลักษณะพิเศษอะไรอยู่บ้างในเรื่องนี้หรือไม่
               (๓) สัมมาปาสะ วิธีดั้งเดิมต้องโยนไม้ให้ลอดบ่วง ไม้ตกตรงไหนก็สร้างเวทีขึ้นตรงนั้น แล้วตั้งเครื่องบูชาบนเวทีนั้น โดยทำให้เป็นเวทีเคลื่อนที่ได้ หรือเป็นแพ ผู้บูชาดำน้ำลงไปในแม่น้ำสรัสสดีโผล่ขึ้นมาตรงไหนให้ทำพิธีบูชาทวนกระแสน้ำขึ้นไปจากตรงนั้น พระพุทธศาสนาเห็นว่าจะยุ่งด้วยเรื่องโยนไม้เข้าบ่วงไม่มีประโยชน์ จึงแปลใหม่ว่าวิธีการสงเคราะห์ความยากจน หรือประชาชนพลเมืองชนิดที่คล้ายบ่วงคล้องใจคน คือดูแลความทุกข์สุขของคนยากจนหรือคนส่วนรวม เป็นการทำให้จิตใจของประชาชนเลื่อมใสในรัฐบาลหรือผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องไปโยนไม้เข้าบ่วงอาบน้ำดำหัวอย่างแบบพราหมณ์
               (๔) วาชเปยยะ ตามแบบของพราหมณ์ ต้องฆ่าสัตว์ 17 ชนิด ตั้งเสาไม้มะตูมเป็นหลักสำหรับผูกสัตว์ 17 ชนิดนั้นแล้วฆ่าบูชาเทพเจ้า มีการดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีนั้นด้วย ทางพระพุทธศาสนาดัดแปลงใหม่ โดยแปลว่าชเปยยะซึ่งแปลว่า ดื่มน้ำ มาเป็น ดื่มน้ำคำ คือให้รู้จักพูดจาไพเราะต่อกัน ซึ่งเป็นที่ดื่มด่ำในอัธยาศัยไมตรีและในรสแห่งไมตรีจิตนั้น ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ถึง 17 ชนิดดังกล่าวเลย
               (๕) นิรัคคฬะ เป็นการบูชายัญที่ฆ่าหมดทั้งสัตว์และคน ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็ว่า เป็นการบูชายัญชนิดที่จะทำลายอุปสรรคทุกชนิด กล่าวคือ ในการแก้ไข หรือฝ่าฟันอุปสรรคนั้น ผู้บูชาต้องฆ่าทั้งมนุษย์และสัตว์สังเวยเทพเจ้า เพื่อให้เห็นอกเห็นใจจะได้ช่วยให้พ้นอุปสรรคนั้น ๆ เมื่อจะกล่าวโดยวิธีการก็นับว่าใหญ่ยิ่งกว่ายัญแบบอัศวเมธ เพราะยัญแบบนี้มีคำเรียกรวมว่า “สรรพเมธะ” คือ ฆ่าหมดทุกชนิด ทางพระพุทธศาสนาแปลความหมายใหม่อีกตามเคย คือคำนี้อาจแยกเป็นนิร (ไม่มี) อัคคฬะ (ลิ่มหรือกลอน) จึงแปลความว่า ได้แก่การปกครองแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโจรผู้ร้าย บ้านเรือนก็ไม่ต้องลงลิ่มลงกลอนเปิดประตูทิ้งไว้ก็ไม่มีขโมย
                การแปลความหมายอย่างนี้ เมื่อแปลไปแล้วแทนที่จะถือว่าเป็นเกียรติที่ได้แปลใหม่ ทางพระพุทธศาสนากลับถือว่า ความหมายดั้งเดิมในโบราณกาล ไม่ได้หมายให้เบียดเบียนกัน แต่พราหมณ์ชั้นหลังแปลความหมายผิดไปเอง กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระพุทธศาสนายกเกียรตินี้ให้แก่คนโบราณ
                ผู้ประสงค์จะสอบสวนหลักฐานตามที่อธิบายมานี้ จะอ่านได้จากหนังสืออรรถกถาอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ฉบับบาลี ภาค 3 หน้า 239
                 ๒. ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุตตันตปิฏก เล่ม 15 หน้า 110 แสดงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาคัดค้านยัญทั้ง 5 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนี้ :-
                “มหายัญเหล่านี้คือ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ มีการริเริ่มใหญ่ แต่ไม่มีผลมาก เพราะในยัญเช่นนั้น แพะ โค และสัตว์ต่าง ๆ ย่อมถูกฆ่า ท่านผู้ปฏิบัติชอบ ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ ย่อมไม่เข้าสู่ยัญนั้น ส่วนยัญเหล่าใดที่ไม่มีการริเริ่มดังกล่าว เป็นยัญที่สืบสกุลมา (เช่นการให้ทานสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์) แพะ โค และสัตว์ต่าง ๆ ย่อมไม่ถูกฆ่าในยัญนั้น ทั้งท่านผู้ประพฤติชอบ ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ย่อมเข้าไปสู่ยัญนั้น ผู้มีปัญญาควรบูชายัญชนิดนั้น ซึ่งมีผลมาก เมื่อบูชายัญนั้น ก็มีแต่ความดีงาม ไม่มีต่ำทราม ยัญก็เป็นของไพบูลย์และเทวดาทั้งหลายก็ชื่นชม”
                 มีข้อความอธิบายในที่นี้ คือยัญสืบสกุลอันได้แก่การให้ทาน หรือการสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับสรรเสริญ ก็เพราะว่าไม่มีการเบียดเบียนชีวิตร่างกายของใคร ๆ มีแต่ให้ความสุข ส่วนยัญทั้ง 5 ที่กล่าวข้างต้นจำเป็นต้องใช้ชีวิตเลือดเนื้อของสัตว์และมนุษย์เป็นเครื่องสังเวยเทพเจ้า ต้องมีพิธีกรรมและลงทุนลงแรงมาก เมื่อกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาก็นับเป็นบาป มิใช่เป็นบุญอย่างไรเลย
                ส่วนข้อที่ว่าเทวดาก็ชื่นชมนั้น หมายความว่าถ้าจะบูชาเทวดากันจริง ๆ ก็ควรบูชาด้วยการทำความดีไม่ใช่ฆ่าสัตว์ ฆ่าคนบูชา เพราะการทำเช่นนั้นไม่ทำให้เกิดบุญ ถ้าจะมีเทวดาชอบก็คงเป็นเทวดาประเภทมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่เทวดาชั้นดี ส่วนเทวดาชั้นดีก็พลอยยินดีเฉพาะการทำที่ถูกต้อง ผู้เขียนได้เคยกล่าวมาแล้วในบทที่ 4 อันว่าด้วยการเลิกชั้นวรรณะว่า ทางพระพุทธศาสนามิได้ยกย่องเทวดามากกว่าคนเลย จุดสำคัญอยู่ที่ความประพฤติ ใครมีความรู้ดี มีความประพฤติดี ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แม้ใครจะเป็นเทวดา ถ้าเกเรหรือไม่ดีก็สู้มนุษย์ที่ดีไม่ได้ เป็นการตัดสินอย่างตรงไปตรงมา

เหตุผลเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์
              ในที่นี้ควรจะได้กล่าวไว้ด้วย ถึงข้อที่พระพุทธศาสนาไม่นิยมการฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์ พระพุทธศาสนามิได้สอนให้เราเห็นแก่ตัว เหยียบย่ำไปบนชีวิตเลือดเนื้อของคนอื่นให้นึกถึงอกเขาอกเรา ตราบใดที่เรามองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว คืออะไรก็ตามถ้าขัดประโยชน์ของเราเราก็ประณามแล้วเราก็ยังไม่เชื่อว่าปฏิบัติตามแนวธรรมะทางพระพุทธศาสนา เพราะถ้าทุกคนในโลกถือเอาแต่ประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ ก็จะเบียดเบียนล้างผลาญกันไม่ต่างอะไรจากสัตว์ป่า ใครมีกำลังกว่าก็จะแย่งชิงข่มเหงผู้มีกำลังน้อยกว่า การที่มนุษย์เราชื่อว่าสูงกว่าสัตว์ ก็เพราะมีคุณธรรมและระเบียบแบบแผนอันดีงาม รู้จักยับยั้งชั่วใจประพฤติปฏิบัติในทางที่พอเหมาะพอควร พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้มองแง่เดียวเฉพาะที่จะเป็นฝ่ายได้เท่านั้น หากสอนให้มองถึงความรู้สึกของผู้อื่นบ้าง ในที่ใดก็ตาม ถ้าไม่มีการเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้ว ในที่นั้นจะหาความผาสุกสงบไม่ได้ จากหลักการนึกถึงอกเขาอกเรานี้ ทำให้ขยายออกไปเป็นหลักศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาชั้นสามัญที่เรียกว่าเบญจศีลเบญจธรรม คือ ศีล 5 ธรรม 5 ถ้าท่านผู้อ่านจะลองพิจารณาดูเนื้อหาของศีล 5 ธรรม 5 สักเล็กน้อย ท่านก็จะเห็นและเข้าใจได้ดีว่า พระพุทธศาสนาสอนไว้ทั้งแง่เว้นความชั่วและแง่ทำความดี เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการครองชีวิตเพียงไร

เบญจศีล เบญจธรรม
               ศีลหมายถึงการเว้นความชั่ว ธรรมหมายถึงการเพิ่มพูนความดี แบ่งออกเป็นฝ่ายละ 5 เป็นคู่ ๆ กันดังนี้
               (ก) เว้นจากฆ่าสัตว์และมนุษย์ เป็นศีลข้อที่ 1
                มีเมตตากรุณาต่อสัตว์ และมนุษย์ เป็นธรรมข้อที่ 1
               (ข) เว้นจากลักทรัพย์ เป็นศีลข้อที่ 2
               ประกอบสัมมาอาชีพ และมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นธรรมข้อที่ 2
              (ค) เว้นจากประพฤติผิดในกาม เป็นศีลข้อที่ 3
               สำรวมในกาม ยินดีเฉพาะคู่ครองของตน เป็นธรรมข้อที่ 3
              (ง) เว้นจากพูดปด เป็นศีลข้อที่ 4
              พูดจริง เป็นธรรมข้อที่ 4
              (จ) เว้นจากดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นศีลข้อที่ 5
               มีสติสำรวมระวัง เป็นธรรมข้อที่ 5
              จากการเข้าใจศีลธรรมตามหัวข้อที่กล่าวมานี้ จะทำให้เห็นเนื้อหาของศีลธรรมชัดขึ้น เพราะโดยปกติถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้ดีแล้ว ก็ชี้ไม่ถูกว่าอะไรเป็นศีล อะไรเป็นธรรม และต่างกันอย่างไร คนที่ร้องว่าคนอื่นไม่มีศีลธรรมนั้น ถ้าให้อธิบายว่าศีลธรรมคืออะไร ก็คงจะตอบลำบาก เพราะไปสนใจในคำว่าศีลธรรม ต่อเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนขึ้นแล้วเท่านั้น ถ้าได้ช่วยกันเข้าใจและเผยแผ่ความหมายที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็จะทำให้ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่คิดจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว มีทางแพร่หลายไปในโลกยิ่งขึ้น
               ความจริงคนที่จะรู้สึกคุณค่าของศีลธรรมนั้น ถ้ายังเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ก็ยังมองไม่เห็นนัก เมื่อใดเป็นฝ่ายเสียเปรียบถูกเบียดเบียน ถูกข่มเหงรังแก ถูกลักฉ้อล่อลวงเป็นต้น เมื่อนั้นจะวิ่งวุ่นเรียกหาศีลธรรม หาความยุติธรรมอยู่สับสน เห็นง่าย ๆ เวลาเราคิดว่าจะไปยิงสัตว์หาความสนุก หรือเป็นกีฬาแล้ว เราอาจรู้สึกคึกคักสดชื่น แต่ถ้ามีใครสักคนหนึ่ง ไม่ต้องถึงกับจะเอาปืนมายิงเรา เพียงแต่เขามีความสนุก ในการเอาก้อนอิฐขว้างหลังคาบ้านคนเล่นเท่านั้น ก็จะรู้สึกว่าตอนที่ถูกคนขว้างบ้านนี้ เราช่างต้องการศีลธรรมเสียจริง ๆ
             เพราะฉะนั้น จึงน่าจะยินดีว่า ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลธรรมขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ไม่ข่มเหงเบียดเบียนกัน ให้มีเมตตากรุณาต่อกันนั้น เป็นการสอนให้มองอย่างรอบคอบเพียงไร
               ไอน์สไตน์นักวิทยาศาสตร์ และปรัชญาเมธีผู้มีชื่อเสียงมากซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้ว เคยเสนอทฤษฎีใหญ่แก่โลกทฤษฎีหนึ่ง คือทฤษฎี สัมพัทธภาพ (Relativity) ซึ่งมาช่วยอธิบายหรือสนับสนุนหลักเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ดียิ่ง กล่าวคือทฤษฎีนี้ของไอน์สไตน์ ไม่ให้เรามองอะไรเพียงจุดเดียว แต่ให้มองถึงจุดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วย
                สมมติว่าเราอยู่ในเมืองไทย เราดูนาฬิกาเป็นเวลา 12.00 น. ก็ไม่ควรคิดว่าขณะนี้เป็นเวลา 12.00 น. ตรงกันหมดทั่วโลก อาจมีเวลาทุกเวลาตั้งแต่ 01.00 น. ถึง 24.00 น. สุดแต่ภูมิภาคส่วนไหนจะกำลังอยู่ห่างจากจุดของดวงอาทิตย์องศาเท่าไร ในขณะที่ประเทศไทยเที่ยงวันนั้นในนิวยอร์ค กำลังเที่ยงคืน ในอังกฤษกำลัง 05.00 น. ในญี่ปุ่นบ่าย 14.00 น. ไปแล้ว การรู้เทียบเคียงหรือความเกี่ยวพันกันเช่นนี้ ทำให้มีความเข้าใจกว้างขวางขึ้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เราตั้งโจทย์เลขว่า รถยนต์แล่นได้ ช.ม. ละ 60 ไมล์ ถ้าแล่น 3 ช.ม. จะไปได้กี่ไมล์ ตอบอย่างธรรมดาสามัญก็ดูง่าย ๆ เพียง 3 คูณ 60 ก็ได้ 180 ไมล์ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าในขณะที่รถแล่นไปนั้นโลกเราได้มีการเดินทางด้วย มีทั้งในลักษณะหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วประมาณชั่วโมงละ 1,650 กิโลเมตรและการเดินทางรอบดวงอาทิตย์ และการเดินทางร่วมกันกับดวงอาทิตย์ไปในเวหาอันเวิ้งว้างสู่จุดอื่น โดยมีความสัมพันธ์ความดึงดูดอันได้สมดุลกัน ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกเราและดาวเคราะห์อื่น ๆ ด้วย เมื่อคิดแบบนี้แล้วที่ตอบไว้เดิม 180 ไมล์ ก็จะต้องคำนวณใหม่ หรือต้องให้คำจำกัดความใหม่ว่าที่ตอบนี้หมายเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง ไม่ได้หมายรวมถึงส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องอื่น
                ความจริงทฤษฎีนี้ของไอน์สไตน์ไม่เกี่ยวกันเลยกับพระพุทธศาสนา เพราะเขาต้องการพิสูจน์เรื่องกาล (Time) และอวกาศ (Space) อันเกี่ยวกับการเดินทางของแสงและกฎการดึงดูดเป็นต้น แต่สาระสำคัญที่ไม่ให้มองเพียงแง่เดียวนี้ กลับมาช่วยส่งเสริมหลักศีลธรรมที่ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการรู้จักมองดูความรู้สึกของคนอื่นบ้าง เป็นอย่างดี

พระพุทธศาสนากับการสังคมสงเคราะห์
                เมื่อกล่าวถึงว่า พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้วิธีสังคมสงเคราะห์แทนการฆ่าสัตว์บูชายัญนั้น ก็น่าจะได้พิจารณาต่อไปด้วยว่า หลักการสังคมสงเคราะห์ทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร
               หลักการสังคมสงเคราะห์ หรือที่ตรงกับศัพท์อังกฤษว่า (Social work) นั้น หมายถึงการสงเคราะห์คนเพื่อให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้ โดยไม่หวังผลตอบแทนจากเขา และจะต้องมีการสอบสวนดูก่อนว่า ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือนั้นเดือดร้อนจริงหรือมาหลอกลวง และความเดือดร้อนนั้นบางครั้งเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้าแนะได้ก็อาจแนะให้เท่านั้น ถ้าถึงกับต้องสงเคราะห์ด้วยวัตถุหรืออย่างอื่นก็จะใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็น นี่เป็นหลักการทั่วไปของการสงเคราะห์ในทางโลก
                ในทางพระพุทธศาสนา ก็มีคำสอนให้สงเคราะห์คนด้วยเมตตากรุณาไม่ใช่หวังตอบแทน หากให้เป็นการสงเคราะห์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ส่วนการจะสอบสวนก่อนแค่ไหน เพื่อไม่ให้ผู้มาขอความช่วยเหลือหลอกลวงนั้น ก็เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล การทำความดีทุกชนิด พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญากำกับ ไม่ใช่ทำด้วยความโง่ ชาวนาที่เอางูเห่าขึ้นมากกกอดให้อบอุ่น เมื่อเห็นงูนั้นหนาวเหน็บ ครั้นงูได้ไออุ่นมีแรงขึ้นก็กัดชาวนาตาย เราจะโทษว่าเมตตากรุณาทำให้คนตายไม่ได้ ต้องโทษความโง่ การทำความดีด้วยความโง่นั้นบางครั้งก็เป็นการทำลายตัวเอง และไม่ได้ผลดีอะไรเลย ด้วยเหตุนี้ การใช้ปัญญากำกับในการดำรงชีวิตจึงเป็นหลักการใหญ่ ๆ ที่พระพุทธศาสนาสั่งสอน ดังคำว่า ชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาชื่อว่าเป็นชีวิตอันสูงสุด

หลักธรรมในการสงเคราะห์มีชื่อเรียกว่า สังคหวัตถุ มีอยู่ 4 ประการ คือ
                ๑. ทาน การให้ปัน
                ๒. ปิยวาจา การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน
                ๓. อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์
              ๔. สมานัตตตา การวางตนให้เข้ากับผู้ที่จะรับการสงเคราะห์ได้ คือไม่ไว้ตัวเกินไปจนใครเข้าด้วยไม่ต
             การให้ทานหรือให้สิ่งของจะเป็นอาหารหรือเครื่องใช้ ถือว่าเป็นการสังคมสงเคราะห์ ดูก็ไม่แปลก แต่ที่สอนว่าการใช้วาจาไพเราะเป็นการสังคมสงเคราะห์นั้น น่าจะพิจารณาอยู่บ้าง เพราะเราอาจมองข้ามเรื่องนี้ไป จนกระทั่งทางราชการเองก็ต้องออกหนังสือเวียนอยู่บ่อย ๆ ว่าถ้าประชาชนมาติดต่อให้พูดจาด้วยดี ๆ การติดต่อกับคนทั้งหลายด้วยคำพูดกระโชกโฮกฮากนั้น เป็นการสร้างความขมขื่นให้แก่ผู้ฟังไม่น้อย ไม่ต้องอื่นไกลถึงคนหมู่มากเพียงการพูดโทรศัทพ์บางครั้งพอได้ฟังเสียงของผู้ไม่มีมารยาทที่ปลายทางเข้า เราก็คงเคยนึกอยากวางหูบ่อย ๆ แต่ความจำเป็นในการงานทำให้ต้องจำใจพูดด้วยทั้ง ๆ ที่ผู้พูดกับเรานั้นไม่ได้เป็นศัตรูกันมาก่อน แต่ก็ส่งเสียงตวาดหรือตะคอกมาอย่างกับว่าเราจะไปขอทานอะไรเขา ในข้อบำเพ็ญประโยชน์ที่ 3 เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการสังคมสังเคราะห์ แต่ในข้อที่ 4 การวางตนให้เข้ากันได้กับผู้รับการสงเคราะห์นี้เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เมื่อมีผู้มาติดต่อกับเรา ถ้าเรามีหน้าบึ้งบูดอยู่เป็นนิตย์ หรือพูดจาด้วยแบบมะนาวไม่มีน้ำ ก็น่าจะทำให้ผู้ที่มานั้นกลับไปด้วยความรู้สึกไม่เป็นมงคล

การทำบุญตามความหมายทางพระพุทธศาสนา
                  คำว่าบุญในพระพุทธศาสนา อาจแบ่งความหมายได้เป็น 3 ประการ คือ :-
                 ๑. กล่าวโดยสภาพ ได้แก่คุณชาติที่ชำระสันดานให้ผ่องใส เพราะคำว่าบุญ แปลว่าชำระหรือล้าง อันได้แก่ล้างมลทินหรือความชั่วในจิตใจ
                  ๒. กล่าวโดยเหตุ ได้แก่การทำคุณงามความดีต่าง ๆ
                  ๓. กล่าวโดยผล ได้แก่ความสุข
                 คนโดยมากเข้าใจไปว่า การทำบุญจะต้องมีเงินจึงจะทำได้ เพราะเข้าใจว่าการบริจาคทรัพย์เท่านั้นเป็นบุญ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ บุญก็จะต้องใช้ทรัพย์แลกเท่านั้น แต่ถ้าเรารู้ความหมายว่า บุญหมายถึงการชำระจิตใจให้สะอาดแล้วเราก็เข้าใจทันทีว่า ทางที่จะให้เกิดบุญนั้นมีมากมายนัก คนจนอาจทำบุญได้มากกว่าคนมั่งมีด้วยซ้ำ ถ้าทำเป็นปัญหาเรื่อง “ทำเป็น” จึงสำคัญมาก คนที่ไม่ใช่ช่างแก้นาฬิกา ปล้ำแก้นาฬิกาอยู่หลายวัน เสร็จแล้วใส่เครื่องเข้าอย่างเก่าได้ไม่ครบ แต่นาฬิกาเรือนเดียวกันนั้นให้ช่างที่มีความรู้มาแก้ เขาเพียงใช้น้ำมันหยอดหน่อยเดียวเครื่องก็เดินได้ปกติ การทำบุญแบบที่ผิด เช่นฆ่าสัตว์บูชายัญก็เปรียบได้กับตัวอย่างนี้ มีการริเริ่มมาก วุ่นวายมาก แต่ไม่ได้ผลดีอะไร ส่วนผู้รู้จักความหมายของบุญเพียงรักษากาย วาจา ใจของตนให้เรียบร้อยเป็นปกติสงบ ระงับก็ได้บุญโดยไม่ต้องเปลืองแรงและเปลืองทรัพย์ เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา จึงให้ความรู้เรื่องการทำบุญไว้ว่ามีอะไรบ้างรวม 10 ประการด้วยกันคือ :-
                   ๑. บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน เรียกว่า ทานมัย
                   ๒. บุญสำเร็จด้วยการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย หรือรักษาศีล เรียกว่า สีลมัย
                   ๓. บุญสำเร็จด้วยการอบรมจิตใจให้สงบและให้เกิดปัญญาเรียกว่า ภาวนานัย
                ๔. บุญสำเร็จด้วยความอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญกว่าโดยชาติ โดยคุณวุฒิหรือโดยวัยตามความเหมาะสม เรียกว่า อปจายนมัย
                  ๕. บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในการทำความดีของผู้อื่น เช่น ช่วยเป็นธุระออกแรง หรือออกความคิด เรียกว่า เวยยาวัจจมัย
                  ๖. บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม เรียก ธัมมัสสวนมัย
                  ๗. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม หรือชี้แจงธรรมให้ผู้อื่นฟัง เรียก ธัมมเทสนามัย
                  ๘. บุญสำเร็จด้วยการแบ่งส่วนบุญแก่คนอื่น เรียกว่า ปัตติทานมัย
                ๙. บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญของคนอื่น คือพลอยยินดีในการทำคุณงามความดีของคนอื่น เรียก ปัตตานุโมทนามัย
             ๑๐.บุญสำเร็จด้วยการทำความคิดเห็นให้ถูกให้ตรง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เรียก ทิฏฐุชุกรรม
                ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าในการทำบุญทั้ง 10 ประการนี้มีที่ต้องลงทุนใช้ทรัพย์สินเพียงข้อต้นข้อเดียว นอกจากนั้นอาจทำบุญได้อีกถึง 9 วิธี โดยการประกอบคุณงามความดีอย่างอื่น ซึ่งเป็นไปเพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจจุดประสงค์ดีแล้วว่าการทำบุญที่แท้จริงมิใช่เพื่อเอาหน้า มิใช่เพื่ออวดความมั่งมีหรือเพื่อกอบโกยผล หากมุ่งให้จิตใจบริสุทธิ์สะอาดเป็นสำคัญแล้ว ก็จะทำบุญได้อย่างถูกต้องตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และจะได้พยายามระงับความวุ่นวายขุ่นหมองต่าง ๆ ในขณะทำบุญ เช่น บางคนถึงวันทำบุญตื่นแต่เช้า เอะอะคนในบ้านด่าซ้ายด่าขวากินแถวจนใครต่อใครรอหน้าไม่ติด ทั้งนี้เพียงเพื่อจะทำบุญใส่บาตร แต่ก็โกลาหลวุ่นวายกันไปหมดทั้งบ้าน ความเข้าใจถูกต้องจะช่วยให้เราทำบุญถูกต้องไม่ใช่ทำพอเป็นพิธีอย่างที่เคยทำกันมา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...