“พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยจนทุกวันนี้”เราควรจะได้พิจารณากันก่อนว่า คำว่าประชาธิปไตยที่เราแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Democracy นั้น หมายความว่ากระไร ครั้นแล้วจึงค่อยพิจารณากันต่อไปว่า พระพุทธศาสนานับว่าเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยอยู่อย่างไร
ประชาธิปไตยแยกออกเป็นประชากับอธิปไตย แปลว่าประชาชนเป็นใหญ่ เป็นคำที่ถอดได้ใกล้เคียงกับคำอังกฤษมาก คือ คำอังกฤษที่ว่า Democracy นั้น มาจากภาษากรีกว่า Demokratia อีกต่อหนึ่ง ภาษากรีกคำนี้แยกได้ดังนี้ Demos = ประชาชน Kratia = อำนาจ เมื่อแปลรวมกันก็ตรงกับคำอังกฤษว่า People’s Power (อำนาจของประชาชน)คำนิยามของประชาธิปไตยอย่างสั้น ๆ มีอยู่ว่า “ประชาธิปไตยคือรูปการปกครองที่ประชาชนทรงอำนาจสูงสุดและใช้อำนาจนั้นทางผู้แทนของตน” (Democracy is a form of government in which the people retain supreme power and exercise their power through representatives.)
ประเทศกรีกได้ชื่อว่าเป็นที่ให้กำเนิดแก่ลัทธิประชาธิปไตยแห่งแรกของโลก เพราะฉะนั้น คำอังกฤษที่ตรงกับประชาธิปไตยจึงเป็นคำที่มีมูลรากมาจากภาษากรีก
เมื่อสอบดูประวัติศาสตร์ว่า ประชาธิปไตยของกรีกเริ่มต้นเมื่อไรก็จะพบว่านักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ บางคนกล่าวว่า โซลอน (Solon) ผู้เกิดประมาณ 638 ปีก่อนคริสตศก อันเป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกับพระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นบิดาประชาธิปไตยของกรีก บางคนกล่าวว่าคลิสเธนีส (Cleisthenes) ซึ่งเกิดภายหลังโซลอนประมาณร้อยปีต่างหากควรจะชื่อว่าเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยของกรีก แต่ที่รับรองกันว่าประชาธิปไตยของกรีกเจริญมาก คือในสมัยของเปริคลิส (Pericles) อันเป็นสมัยเดียวกับโสเครตีส (Socrates) และเพลโต (Plato) นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงของกรีก ซึ่งเป็นระยะเวลาถัดมาจากสมัยของคลิสเธนีสไม่ถึง 100 ปีเป็นอันขอสรุปไว้ในชั้นนี้ก่อนว่า ถ้าจะดูเรื่องกำเนิดประชาธิปไตยของกรีก ก็ดูได้เป็น 3 ระยะอันมีเวลาไล่เลี่ยกันหรือห่างกันไม่ถึง 100 ปี คือ ;-
1.ระยะแรกเมื่อ 594 ปีก่อนคริสตศก เมื่อโซลอนแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรีก อันเป็นครั้งแรกที่มีสภาประชาชน (Popular Assembly)
2.ระยะต่อมา เมื่อ 509 ปีก่อนคริสตศก เมื่อคลิสเธนีสแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรีกอีก โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนยิ่งขึ้น
3.ระยะต่อมาเมื่อ 461 ปีก่อนคริสตศก อันนับเป็นยุคทองของกรีก เปริคลีสซึ่งยึดหลักประชาธิปไตยตามแบบคลิสเธนีสได้สร้างเสริมให้ลัทธิประชาธิปไตยตามแบบคริสเธนีสได้เจริญมากที่สุดในยุคนั้น
ทั้ง 3 ระยะนี้มีเวลาใกล้เคียงกันภายใน 300 ปี ระยะแรกเป็นระยะไล่เลี่ยกับพุทธกาล ส่วน 2 ระยะหลังเป็นเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพาน (พระพุทธเจ้านิพพานเมื่อ 543 ปีก่อน คริสตศก)
เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องราวชัดเจนขึ้น จะขอเล่าความเป็นไปที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยของกรีกไว้ให้ต่อเนื่องกันทั้ง 3 ระยะ เพื่อจะได้เทียบเคียงกับแนวประชาธิปไตยที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ แต่ก็ไม่พึงลืมว่าอย่างหนึ่งเป็นเรื่องการเมือง อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องศาสนา จะให้เหมือนกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ข้อที่ควรพิจารณาจึงอยู่ที่หลักการ
ในสมัยที่โซลอนแก้รัฐธรรมนูญของกรีกอันเป็นเหตุให้ได้รับเกียรติว่าเป็นบิดาประชาธิปไตยของกรีกนั้น เป็นสมัยที่การปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือ กลุ่มชนชั้นสูงเป็นใหญ่ยังครองอำนาจอยู่ทั่วไป คนที่เกิดในตระกูลสูงเท่านั้นจึงจะเป็นชนชั้นปกครองได้ คนยากจนที่เป็นหนี้เป็นสิน ถ้าไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ก็จะถูกนำตัวไปขายเป็นทาส แม้ว่าการเป็นหนี้นั้นในบางครั้งเกิดเพราะความจำเป็น อันเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล โซลอนเป็นผู้ตัดสินใจเลิกกฎหมายหนี้สินไม่ยอมให้เจ้าหนี้เอาลูกหนี้ไปขายเป็นทาสอีกต่อไป อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญของโซลอนก็ยังแบ่งชั้นของคนออกเป็น 4 ชั้นตามรายได้และคนชั้นที่มีรายได้สูงสุดเท่านั้นจึงมีส่วนเป็นผู้บริหารประเทศ
คนที่มีรายได้จากผลิตผลตั้งแต่ปีละ 500 บุเชลขึ้นไป จัดเป็นคนชั้นที่ 1 (แต่ต้องเกิดในตระกูลสูงด้วย)
คนที่มีรายได้จากผลิตผลตั้งแต่ปีละ 300 บุเชลขึ้นไป จัดเป็นคนชั้น 2
คนที่มีรายได้จากผลิตผลตั้งแต่ปีละ 200 บุเชลขึ้นไป จัดเป็นคนชั้นที่ 3
คนที่มีรายได้ต่ำกว่านั้นจัดเป็นคนชั้นที่ 4
(บุเชลเป็นมาตราตวงของอังกฤษ 1 บุเชล เท่ากับ 36 ลิตรเศษ ในสมัยกรีกมิได้ใช้มาตรานี้ เป็นแต่เทียบเคียงให้ดู เมื่อเทียบกับของไทย 1 บุเชล ประมาณข้าวเปลือกเกือบ 2 ถัง (2 ถังเท่ากับ 40 ลิตร)
ในคน 4 ชั้นนี้ ผู้มีสิทธิจะเป็นชนชั้นปกครองโดยได้รับเลือกเป็นขุนนาง (archon) ต้องเป็นคนชั้นที่ 1 ส่วนตำแหน่งต่ำ ๆ คนเพียง 3 ชั้น เว้นชั้นที่ 4 จึงจะเข้ารับหน้าที่ได้ เป็นอันว่าในสมัยของโซลอนซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนยกย่องให้เป็นบิดาประชาธิปไตยของกรีกนั้น คนจนยังถูกถือเป็นคนชั้นต่ำและไม่มีสิทธิเข้าไปมีส่วนในการรับตำแหน่งใด ๆ ของรัฐ ฉะนั้น นักประวัติศาสตร์บางคนจึงไม่ถือว่า โซลอนเป็นบิดาประชาธิปไตย เพราะยังชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมลัทธิอภิชนาธิปไตย (คนชั้นสูงเป็นใหญ่) อยู่นั่นเอง
ในสมัยเดียวกันนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้สิทธิแก่พระสงฆ์มีอำนาจในการบริหารหมู่คณะ มีสิทธิคัดค้านในเมื่อไม่เห็นด้วย โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นผู้เกิดในสกุลสูงหรือต่ำ จะเกิดในสกุลมั่งมีหรือยากจน ทุกคนเมื่อเข้ามาบวชแล้วก็มีสิทธิเท่าเทียมกัน และจะต้องเคารพกันตามลำดับบวชก่อนหลัง เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านจึงอาจตัดสินได้เองว่าประชาธิปไตยที่เก่าของกรีกยังเป็นอภิชนาธิปไตยอยู่ แต่ของพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยแท้มาแล้วในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
ในสมัยต่อมาจากโซลอนไม่ถึง 100 ปีที่นักประวัติศาสตร์เพ่งเล็งว่าเป็นสมัยที่ประชาธิปไตยก่อรูปขึ้นในขนาดที่น่าพอใจก็คือ สมัยของคลิสเธนีส ท่านผู้นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ขับลัทธิอภิชนาธิปไตยจากกรุงเอเธนส์และสถาปนาลัทธิประชาธิปไตขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คลิสเธนีสได้กระทำไปนั้นได้ให้ลัทธิในการออกเสียง (Right to vote) แก่ประชาชนทั้ง 10 เผ่าที่ไม่เป็นทาส (สมัยนั้นยังมีระบบทาส) การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมชนอย่างเสรีได้มีมากขึ้น และที่นับเป็นประวัติอย่างหนึ่งก็คือ คลิสเธนีสได้ตั้งลัทธิออสเตรซิสม์ คือการให้ประชาชนเขียนข้อความลงไปในเปลือกหอยแล้วลงคะแนนโวตเป็นคะแนนลับคนละเปลือก สามารถขับใครต่อใครที่เห็นว่าไม่สมควรออกไปนอกบ้านเมืองได้ โดยถือว่าเสียงไม่ชอบใจ 1 พันเสียงให้เนรเทศได้ 10 ปี แต่อย่างไรก็ตามคนชั้นปกครองก็ยังคงมีอยู่ เป็นแต่ว่าจะนับว่าเป็นคนชั้นที่ 1 ซึ่งมีสิทธิเป็นขุนนาง (archon) ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดในสกุลสูงเพียงมีรายได้เกินปีละ 500 บุเชล หรือประมาณ 900 ถังของไทยก็เป็นคนชั้นที่ 1 ได้
ครั้นมาถึงยุคทองของกรีกอันเป็นยุคที่ถือกันว่าประชาธิปไตยรุ่งโรจน์ที่สุดนั้น ก็คือ ถัดจากสมัยคลิสเธนีสมาไม่ถึง 100 ปี อันเป็นสมัยของเปริคลิส มีคำพรรณนาไว้ว่ากรุงเอเธนส์มีอาณาเขตเล็ก มีพลเมืองน้อย จึงอาจใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบตรง คือ ไม่ต้องเลือกผู้แทน ทุกคนมีสิทธิเข้าประชุมออกเสียงและตัดสินโชคชะตาของประเทศชาติในเรื่องการสงครามหรืออื่นๆ แต่ก็เป็นการยากที่คนทุกคนจะเข้าประชุมในกิจการของประเทศชาติได้หมด เพราะฉะนั้นจึงมีผู้เข้าประชุมเฉพาะผู้ที่สนใจ
ดังกล่าวมานี้จึงเห็นได้ว่าประชาธิปไตยของกรีกนั้นเพิ่งจะเป็นรูปจริงจังในภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วหลายสิบปี ส่วนในสมัยที่นับได้ว่าเป็นยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า คือ ยุคโซลอนนั้นก็ยังเป็นอภิชนาธิปไตยในที่นี้จะได้กล่าวถึงลัทธิประชาธิปไตยที่อาจเห็นได้จากพระพุทธศาสนาตามหลักฐานที่ปรากฏในวินัยปิฏกต่อไป
อนึ่ง ขอซ้อมความเข้าใจไว้อีกครั้งหนึ่งว่า คำว่า พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยนั้น ได้มุ่งกล่าวเพียงหลักการใหญ่ ๆ หาได้มุ่งกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ อันเป็นข้อปลีกย่อยไม่ เพราะในรายละเอียดปลีกย่อยนั้น ถึงอย่างไรการปกครองคณะสงฆ์ก็จะต้องมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่นเดียวกับการที่การปกครองบ้านเมืองย่อมมีปัญหา หรือลักษณะพิเศษแตกต่างออกไปจากทางศาสนาฉะนั้น
พระพุทธเจ้าประทานความเป็นใหญ่แก่สงฆ์
ในชั้นเดิมเมื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ ๆ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานการอุปสมบทหรือรับคนเข้าหมู่เองต่อมาได้ขยายให้พระสาวกแต่ละองค์ผู้ไปเผยแพร่ศาสนาในทิศทางนั้น ๆ เป็นผู้อนุมัติการอุปสมบทได้ โดยมีพิธีกรรมเพียงให้ผู้ขออุปสมบทเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะก็ใช้ได้ ภายหลังวิธีการนี้ได้ยกเลิกไป และนำไปใช้เฉพาะในการบรรพชาสามเณร (การบวชมีศัพท์เรียกสองอย่าง บวชเป็นพระเรียกอุปสมบท บวชเป็นสามเณรเรียกว่าบรรพชา) ต่อมาเมื่อมีผู้เข้าบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น จนมีปัญหาเรื่องการปกครองเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงเลิกการประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง รวมทั้งเลิกการให้อำนาจแก่พระสาวกซึ่งเป็นเอกชน ทรงบัญญัติให้การอุปสมบทแก่ราธพราหมณ์เป็นคนแรก (วินัยปิฎก เล่ม 4 หน้า 103)
เมื่อประมวลความเป็นมาในเรื่องการอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานไว้จึงเป็น 3 ขั้น คือ
1.ขั้นแรกทรงอนุมัติให้อุปสมทบด้วยพระองค์เอง เรียก “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” แปลว่า การบวชที่สำเร็จด้วยการที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจงเป็นภิกษุมาเถิด
2.ขั้นต่อมา ทรงอนุญาตให้พระสาวกเป็นผู้อนุมัติการอุปสมบทโดยให้ผู้ขออุปสมบท (ในวินัยปิฎกเล่ม 4 หน้า 104 พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ผู้ขอบวชเท่านั้นบวชได้ คนที่ไม่ได้ขอบวชไปบวชให้ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ให้บวช) เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่เรียกว่า “ติสรณคมนูสัมปทา” แปลว่า การบวชด้วยการถึงสรณะสาม
3.ขั้นสุดท้ายที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ ทรงอนุญาตให้สงฆ์เท่านั้นเป็นผู้อนุมัติการอุปสมบท ที่เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา” แปลว่า การบวชที่ต้องสวดประกาศอันมีการสวดเสนอญัตติด้วยรวมเป็น 4 ครั้ง คือ สวดเสนอญัตติเล่าเรื่องมีผู้ขอบวช 1 ครั้ง แล้วสวดประกาศขอความเห็นชอบโดยเปิดโอกาสให้ทักท้วงได้ 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง
กำหนดจำนวนสงฆ์ 5 ประเภท
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่แล้วก็ได้ทรงกำหนดจำนวนไว้ด้วยว่า กิจกรรมแต่ละอย่างย่อมต้องการจำนวนภิกษุมากน้อยกว่ากัน ดังต่อไปนี้
1.ภิกษุสงฆ์ 4 รูป เรียก จตุวรรค ทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด เว้นแต่การบวชพระ การปวารณาซึ่งเป็นพิธีกรรมวันออกพรรษาที่อนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ และการสวดอัพภาน คือ การสวดถอนอาบัติหนักบางข้อ ที่กำหนดให้ใช้พระภิกษุจำนวนมากกว่านั้น
2.ภิกษุสงฆ์ 5 รูป เรียก ปัญจวรรค ทำปวารณาได้ทำการบวชพระในชนบทชายแดนได้ ทำสังฆกรรมอย่างอื่นได้ เว้นแต่สังฆกรรม 2 อย่าง คือ การสวดอัพภาน และการบวชพระในมัชฌิมชนบทคือชนบทภาคกลางที่มีความเจริญ (ปัจจันตชนบท ชนบทชายแดน มัชฌิมชนบท ชนบทภาคกลางมีกำหนดเขตไว้ครั้งพุทธกาล ในปัจจุบันอนุโลมตามความเจริญและไม่เจริญของท้องที่ถ้าที่เจริญก็ใช้พระ 10 รูปขึ้นไป)
3.ภิกษุสงฆ์ 10 รูป เรียกว่า ทสวรรค ทำการบวชกุลบุตรในมัชฌิมชนบท คือ ชนบทภาคกลางของอินเดีย และทำสังฆกรรมอื่น ๆ ได้เว้นการสวดอัพภานถอนอาบัติอย่างเดียว
4.ภิกษุสงฆ์ 20 รูป เรียกว่า วีสติวรรค โดยเจาะจงเพื่อใช้ในการประชุม ซึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สวดถอนอาบัติของภิกษุบางรูป
5.ภิกษุสงฆ์เกินกว่า 20 รูป เรียก อติเรกวีสติวรรค ใช้ทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด(วินัยปิฎก เล่ม 5 หน้า 258)
เงื่อนไขของการกำหนดจำนวนดังกล่าวนี้มีอยู่ว่า กิจกรรมชนิดไหนกำหนดจำนวนอย่างต่ำของสงฆ์ไว้กี่รูป สงฆ์เกินจำนวนนั้นใช้ได้ ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งโดยใช้ถึงประเภทของสังฆกรรมแต่ละชนิดว่า อย่างไหนใช้พระภิกษุสงฆ์เท่าไร ก็อาจกล่าวได้ดังนี้ :-
1.การทำอุโบสถ คือ สวดปาฏิโมกข์ หรือสวดทบทวนศีลของภิกษุ 227 ข้อ ทุกกึ่งเดือน ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทำได้
2.การสวดกฐิน คือ สวดประกาศมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยขอความเห็นชอบของพระสงฆ์ทั้งปวง ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทำได้ ในข้อนี้หนังสือซึ่งแต่งขึ้นชั้นหลังพระไตรปิฏก เช่น อรรถกถา กล่าวว่า ต้อง 5 รูปขึ้นไปจึงทำได้ ข้าพเจ้าได้ตรวจดูแล้วไม่มีข้อกำหนดไว้โดยเฉพาะในวินัยปิฏก แม้ที่ว่าด้วยเรื่องกฐินโดยตรง ฉะนั้น จึงถือตามที่กล่าวไว้ในวินัยปิฏก เล่ม 5 หน้า 258 ที่ว่าสงฆ์ 4 รูปทำกรรมได้ทุกชนิด เว้นเพียง 3 อย่าง คือ ปวารณา อุปสมบท และอัพภาน (ผู้ต้องการสอบหลักฐานเรื่องนี้ควรดูวินัยปิฏก เล่ม 5 หน้า 135 เป็นต้นไป และเล่ม 8 หน้า 426 เป็นต้นไปด้วย)
3.การสวดสมมติต่าง ๆ เช่น สมมติ หรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ เป็นผู้แจกจีวร แจกเสนาสนะ คือ ที่อยู่อาศัย ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทำได้
4.การปวารณา คือ การบอกอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน ถ้าจะทำเป็นการสงฆ์ ภิกษุตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปจึงทำได้ ทั้งนี้มีเหตุผลว่า เมื่อถือว่าภิกษุ 4 รูปขึ้นไปเป็นสงฆ์ ถ้ามีภิกษุเพียง 4 รูป รูปหนึ่งกล่าวปวารณาจึงเท่ากับอนุญาตแก่บุคคล 3 คน ให้ว่ากล่าวได้ พระพุทธเจ้าให้ถือเป็นการปวารณาต่อบุคคล จะนับว่าเป็นการสงฆ์ได้ก็ต่อเมื่อสงฆ์ผู้รับฟังคำปวารณามีครบ 4 รูป เป็น 5 รวมทั้งผู้ปวารณาหรือจำนวนมากกว่านั้น
5.การอุปสมบท หรือบวชพระ ถ้าในปัจจันตชนบท คือ ชายแดน หรือเขตที่ไม่มีความเจริญหาพระยาก ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปทำได้ ถ้าในมัชฌิมชนบทหรือในเขตภาคกลางซึ่งในสมัยพระพุทธเจ้ามีกำหนดเขตไว้ อันพอจะหาพระได้ ให้ใช้พระตั้งแต่ 10 รูปขึ้นไป ในเมืองไทยเราซึ่งนับเป็นเขตนอกจากที่กำหนดไว้ในครั้งพุทธกาล ถ้าจะกล่าวตามตัวอักษรพระ 5 รูปขึ้นไปก็ใช้ในการบวชกุลบุตรได้ แต่พระเถระผู้ใหญ่ท่านพิจารณาตามเจตนารมณ์ของพระวินัย ถ้าบวชในเขตจังหวัดพระนครหรือในเมืองที่เจริญ ก็ใช้พระตั้งแต่ 10 รูปขึ้นไป ในเขตกันดารจึงใช้พระน้อยกว่านั้น คือ 5 รูปขึ้นไป
6.การสวดอัพภาน คือ สวดเพิกถอนอาบัติ ของภิกษุบางรูป ซึ่งต้องทำเป็นการสงฆ์ ใช้ภิกษุตั้งแต่ 20 รูปขึ้นไป
7.สังฆกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นการสงฆ์ นอกจากที่กล่าวไว้แล้วใช้พระตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทั้งสิ้น
ข้อกำหนดเรื่องสถานที่ประชุม
การทำสังฆกรรม คือ การสงฆ์ทุกอย่างต้องมีข้อกำหนดเรื่องสถานที่ประชุม เขตแดนที่ใช้กำหนดที่ประชุม เรียกว่า สีมาสีมาหรือเขตแดนสำหรับกำหนดสถานที่ประชุมนี้ไม่ให้เล็กเกินไปจนไม่อาจให้ภิกษุ 21 รูปนั่งได้ และไม่ให้ใหญ่เกินไปเกิน 3 โยชน์ เล็กเกินไปก็ไม่อาจทำสังฆกรรม ที่ต้องใช้ภิกษุสงฆ์ 20 รูป พร้อมด้วยภิกษุผู้ขอให้สงฆ์จำนวนนั้นประชุมถอนอาบัติให้รวมเป็น 21 รูปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องกำหนดส่วนไม่ให้เล็กกว่านั้น ส่วนที่ใหญ่เกินไปกว่า 3 โยชน์ ก็ยากแก่การที่จะมาประชุมพร้อมกันในที่นัดหมาย และยากที่จะตรวจตราว่าใครมาบ้างไม่มาบ้าง
วัตถุอันใช้กำหนดเขตสีมา มีภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และแอ่งน้ำ
การที่ต้องมีกำหนดหมายว่าที่ประชุมต้องมีเขตแค่นั้นแค่นี้ก็เพื่อให้ภิกษุทุกรูปผู้อยู่ในเขตนั้นรู้หน้าที่ของตนว่า เมื่อมีการประชุมเกิดขึ้นทุกรูปจะต้องเข้าประชุมทั้งหมด ถ้าไม่เข้าประชุม กรรมนั้นก็ใช้ไม่ได้ และถ้าเป็นกรรมที่มีข้อบังคับให้ทุกรูปต้องเข้าประชุมด้วย ผู้ไม่เข้าประชุมต้องเป็นอาบัติ
ในกรณีที่ภิกษุผู้อยู่ในเขตสีมา หรือเขตที่ประชุมอาพาธไม่สามารถเข้าประชุมได้ จะต้องมอบฉันทะไปประกาศแก่สงฆ์ผู้ประชุมว่า ผู้นั้นผู้นี้มาไม่ได้เพราะอาพาธ ขอมอบฉันทะ คืออนุมัติให้สงฆ์ทำการประชุมได้ด้วยความยินยอมรับรู้เห็นด้วยของตน และที่ประชุมนั้นเป็นการประชุมฟังปาฏิโมกข์ คือศีล 227 ข้อของพระภิกษุ ถ้าภิกษุรูปใดอาพาธจะต้องบอกบริสุทธิ์ คือมอบให้ภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งไปประกาศแก่สงฆ์ว่าภิกษุรูปที่อาพาธนั้นยังเป็นภิกษุผู้บริสุทธิ์อยู่ การบอกความบริสุทธิ์ของตนนั้น ถ้าไปบอกเองได้ก็ไปเองเมื่อจวนเลิกประชุม ถ้าไปไม่ได้จึงมอบให้ภิกษุรูปอื่นบอกแทน
อนึ่งในขณะที่นั่งประชุมกันอยู่ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีธุระเช่นเสรีรกิจจะลุกออกไปจากที่ประชุมต้องให้ฉันทะ คือ อนุญาตให้สงฆ์ทำกรรมต่อไป โดยความยินยอมของตนก่อน มิเช่นนั้นเป็นอาบัติ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีการพูดขึ้นได้ในภายหลังว่า สงฆ์ทำไปโดยภิกษุรูปนั้นรูปนี้ไม่เห็นด้วย
การที่ภิกษุผู้อยู่ในเขตสีมา เมื่อถึงเวลาทำสังฆกรรมที่มีข้อกำหนดให้ทุกรูปขาดไม่ได้ เช่น ฟังปาฏิโมกข์และปวารณา จะขาดประชุมได้เฉพาะในกรณีเดียวคือเจ็บไข้ ติดธุระอื่น ๆ อ้างไม่ได้เลย ถ้าติดธุระอื่น ๆ อยู่นอกเขตสีมาไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าละเลยหน้าที่ คือ เมื่อครบ 15 วันที่จะต้องเข้าประชุมฟังสวดปาฏิโมกข์หรือปวารณา แต่ไถลไปไหน ๆ เสียต้องอาบัติ
ในกรณีที่เป็นสังฆกรรมไม่บังคับ เช่น การอุปสมบทกุลบุตร การกฐิน หรือการประชุมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ ภิกษุจะไม่เข้าประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่อยู่ในเขตสีมา ถ้าอยู่ภายในเขตสีมาแล้วไม่เข้าประชุมกรรมนั้นเชื่อว่าไม่เป็นอันทำ
สิทธิของภิกษุผู้เข้าประชุม
ภิกษุผู้เข้าประชุมในกิจการของสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิแสดงความคิดเห็น ทั้งในทางค้านและในทางเห็นด้วย โดยปกติเมื่อถามความคิดเห็นของที่ประชุม ถ้าเห็นด้วยให้ใช้วิธีนิ่ง ถ้าไม่เห็นด้วยให้คัดค้านขึ้น ในกรณีที่มีผู้คัดค้านขึ้นก็จะต้องมีการทำความเข้าใจกันจนกว่าจะยอมเห็นด้วย ถ้าปรากฏว่า ภิกษุผู้คัดค้านยังคงยืนกรานไม่เห็นด้วยการอุปสมบทซึ่งเป็นการรับสมาชิกใหม่เข้าสังฆมณฑลก็ดี การให้ผ้ากฐินก็ดี ย่อมไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่ามติของที่ประชุมต้องถือมติเอกฉันท์ คือเห็นพร้อมกันทุกรูปแต่ก็พึงเห็นว่าการใช้มติเอกฉันท์มิได้เป็นไปในทุกกรณี กล่าวคือ มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ก็ต้องหาทางระงับโดยวิธีจับฉลากหรือที่ตรงกับการลงคะแนน เพื่อดูว่าเสียงข้ามากไปทางไหน ก็ตัดสินให้เป็นไปตามเสียงข้างมากนั้น วิธีนี้เรียกว่า เยภุยยสิกา คือ ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
เท่าที่เล่ามานี้ ท่านผู้อ่านคงมองเห็นความเป็นประชาธิปไตยของพระพุทธศาสนามาโดยลำดับต่อไปนี้ จะแสดงตัวอย่างการสวดประกาศที่ให้สิทธิออกเสียงแก่ผู้เข้าประชุม การสวดประกาศแบ่งออกเป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งเสนอญัตติ 1 ครั้ง สวดขอความเห็นชอบ 1 ครั้ง เรียกว่า ญัตติทุติยกรรม แปลว่า กรรมที่มีญัตติเป็นที่ 2 หรือเป็น 2 ครั้งทั้งข้อเสนอญัตติ อีกอย่างหนึ่งเสนอญัตติ 1 ครั้ง สวดขอความเห็นซ้ำ ๆ กัน 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม แปลว่ากรรมที่มีญัตติเป็นที่ 4 หรือเป็น 4 ครั้งทั้งข้อเสนอญัตติ
การสวดประกาศโดยทั่วไปเป็นข้อเสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเห็นชอบ 1 ครั้งที่เรียกว่าญัตติทุติยกรรมโดยมาก ต่อเมื่อเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การรับคนเข้าหมู่ที่เรียกว่า อุปสมบท การลงโทษภิกษุผู้ประพฤติมิชอบ 7 อย่าง มีตัชชนียกรรมเป็นต้น การยกโทษเมื่อภิกษุนั้นประพฤติตนดีขึ้นแล้ว การสวดสมมติ คือแต่งตั้งภิกษุให้เป็นผู้สอนนางภิกษุณี และอื่น ๆ ที่ต้องมีการสวดขอความเห็นซ้ำ ๆ ถึง 3 ครั้ง ก็เพื่อให้มีเวลาพิจารณาได้รอบคอบ ส่วนเรื่องที่สำคัญน้อยลงไปสวดขอความเห็นชอบเพียงเสนอญัตติแล้ว สวดเพียงครั้งเดียวก็พอตัวอย่างคำสวดขอความเห็นชอบที่มีข้อเสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเห็นชอบ 1 ครั้งที่เรียกว่า ญัตติทุติยกรรมเฉพาะในเรื่องให้ผ้ากฐิน
“ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดขึ้นแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ“ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดขึ้นแก่สงฆ์ให้ผ้าผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ย่อมชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงนิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ผ้ากฐินผืนนี้สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ย่อมชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยประการอย่างนี้”
ตัวอย่างคำสวดขอความเห็นชอบ
ที่มีข้อเสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเห็นชอบ 3 ครั้งเรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม
เฉพาะในเรื่องการให้อุปสมบทแก่กุลบุตร“ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์ฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ (ผู้มุ่งจะบวช) ของท่านผู้มีชื่อนี้ (ระบุชื่ออุปัชฌาย์ผู้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์) บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรม (ข้อขัดข้องต้องห้าม) ทั้งหลาย บาตร จีวร ของเขาครบแล้ว ผู้มีชื่อขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ นี้เป็นญัตติ
“ท่านผู้เจริญ ! ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย บาตร จีวรของเขาครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
“ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ 2 ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ฯลฯ ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
“ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ 3 ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ฯลฯ ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
“ผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ย่อมชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยประการอย่างนี้”
ข้อแย้งเรื่องประชาธิปไตยเก่าแก่
ถ้าจะมีคำแย้งว่า ข้อที่กล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลกนั้นขอแย้งด้วยประวัติศาสตร์ที่ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้นเองมีลัทธิประชาธิปไตยอยู่แล้วในอินเดีย ดังจะเห็นได้เช่นการปกครองแคว้นวัชชี ซึ่งมีนครหลวงชื่อกรุงเวสาลีนั้น มีลิจฉวีสภาคือ สภาของเจ้าลิจฉวีมีการประชุมแบบสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกัน หรือการปกครองของมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราและเมืองปาวา ก็เป็นไปในรูปมีสภาประชุมฟังความเห็นคนข้างมากเหมือนกัน เมื่อเป็นอย่างนี้จะว่าพระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยอันเก่าแก่ที่สุดอย่างไร
ขอตอบว่าการปกครองของเจ้าลิจฉวี และมัลลกษัตริย์เหล่านั้นหาใช่ประชาธิปไตยไม่ แต่เป็นอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือ มีกลุ่มชนชั้นสูงเป็นใหญ่ โดยการผูกขาดว่าจะต้องเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ลิจฉวี และวงศ์มัลละเท่านั้น ประชาชนทั่วไปหามีส่วนเป็นผู้ออกเสียงในสภานั้นไม่ แม้ประวัติของประชาธิปไตยในยุคทอของกรีกเอง เท่าที่เราสอบได้จากชีวประวัติของนักปราชญ์คนสำคัญ เช่น โสเครตีส (Socrates) เพลโต (Plato) และแอริสตอเติล (Aristotle) ก็เป็นยุคหลังพุทธปรินิพพาน กล่าวคือ พระพุทธเจ้านิพพานก่อนโสเครตีสเกิดประมาณ 75 ปี ก่อนเพลโตเกิดประมาณ 115 ปี และก่อนแอริสตอเติลเกิดประมาณ 159 ปี และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เท่าที่พบในชาวกรีกนั้นเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน เราอาจจะดูได้จากการที่โสเครตีสถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายด้วยยาพิษด้วยคำตัดสินดังนี้ :-
“โสเครตีสเป็นผู้มีความผิดอันเนื่องจากอาชญากรรม คือประการแรกเพราะไม่บูชาเทวดาทั้งหลายที่ชาวเมืองบูชา แต่กลับแนะนำให้รู้จักเทวดาอื่นของตนเอง ประการต่อไป ก็เพราะทำให้เยาวชนเสื่อมเสีย การลงโทษที่กำหนดให้คือ ความตาย” (ดูหนังสือ Great Philosophers หน้า 7 และ New Popular Encyclopaedia เล่ม 13 หน้า 182 คอลัมน์ 2)
จากหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงว่าในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนากำลังได้เสวยสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุม โดยไม่มีเลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกว่าเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่นั้น ประชาธิปไตยของกรีกได้ฆ่าคนที่สำคัญยิ่งคนหนึ่งของโลก ซึ่งแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเสรี
จึงขอเสนอให้ท่านผู้อ่านได้วินิจฉันเรื่องนี้เอาเองว่า หลักประชาธิปไตยที่ปรากฏในพระพุทธศาสนานั้น มีข้อที่น่าสนใจและเห็นเป็นลักษณะพิเศษได้อย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น