พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ Buddhist Economics พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต)

วันนี้ ทางคณะผู้จัดงานได้ตั้งชื่อเรื่องปาฐกถาให้อาตมภาพว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เริ่มต้นผู้ฟังบางท่านก็อาจจะสงสัยว่าเศรษฐศาสตร์แนวพุทธนั้นมีจริงหรือเป็นไปได้จริงหรือ

ปัจจุบันนี้ วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรารู้จักกันอยู่ เป็นวิชาเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก เมื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์และเรื่องราวเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์ เราก็ใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก เมื่อคิดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ เราก็คิดในกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกด้วย ดังนั้น ถ้าจะมาพูดถึงเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก็ยากที่จะทำตัวเองให้พ้นออกไปจากกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์และภาษาเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกนั้น เพราะฉะนั้นการพูดถึงเศรษฐศาสตร์แนวพุทธก็อาจจะเป็นการพูดถึงพระพุทธศาสนาด้วยภาษาเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ภายในกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าให้เราลองมาช่วยกันพิจารณาเรื่องนี้ บางทีอาจจะได้รับข้อคิดบางอย่าง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเศรษฐศาสตร์แนวพุทธจริง ก็อาจจะมีแนวคิดทางพุทธบางอย่างที่เอามาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์ได้บ้าง

เมื่อประมาณ 18 ปีมาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งคนหนึ่งชื่อว่า นาย อี.เอฟ ชูมาเกอร์ (E.F. Schumacher) ได้พิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Small Is Beautiful มีผู้แปลเป็นภาษาไทยดูเหมือนจะใช้ชื่อว่า จิ๋วแต่แจ๋ว ในหนังสือเล่มนี้ บทหนึ่งคือ บทที่ 4 ได้ตั้งชื่อว่า "Buddhist Economics" แปลว่า เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ หนังสือเล่มนี้ และโดยเฉพาะบทความบทนี้ ได้ทำให้คนจำนวนมากทั้งในตะวันออก และตะวันตกเกิดความสนใจในเรื่องพุทธศาสนาด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจขึ้นมา จึงนับว่าท่านชูมาเกอร์นี้เป็นผู้มีอุปการคุณอย่างหนึ่ง ในการที่ทำให้เกิดความสนใจพุทธศาสนาในแง่เศรษฐศาสตร์ขึ้น

แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีก การที่ท่านชูมาเกอร์ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยมีบทความเรื่องเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธนั้น และการที่ฝรั่งในสถานศึกษาต่างๆ หันมาสนใจเรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธนี้ ก็มีภูมิหลังที่ว่า มาถึงปัจจุบันนี้วิทยาการ และระบบการต่างๆของตะวันตก ได้มาถึงจุดหนึ่งที่เขาเกิดความรู้สึกกันว่ามีความติดตัน หรือความอับจนเกิดขึ้น หรือสำหรับบางคนอาจจะไม่ยอมรับภาวะนี้ ก็อาจจะเรียกว่ามาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อจุดหนึ่ง ที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและวิธีปฏิบัติในวิทยาการสาขาต่างๆ คือมีความรู้สึกกันว่า วิชาการต่างๆ ที่ได้พัฒนากันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาของโลกและชีวิตให้สำเร็จได้ จะต้องมีการขยายแนวความคิดกันใหม่หรือหาช่องทางกันใหม่

เมื่อเกิดความรู้สึกอย่างนี้กันขึ้น ก็จึงมีการแสวงหาแนวความคิดที่นอกจากวงวิชาการของตนออกไป อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการสนใจในพุทธศาสนารวมทั้งปรัชญาอะไรต่ออะไรเก่าๆ โดยเฉพาะที่เป็นของตะวันออกขึ้นด้วย อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นกันชัดเจนในประเทศตะวันตกปัจจุบัน ที่ว่าได้หันมาสนใจตะวันออก ทีนี้ การที่ชูมาเกอร์จับหลักการของพุทธธรรมโดยพูดถึง Buddhist economics หรือพุทธเศรษฐศาสตร์นั้น เขาก็จับเอาที่เรื่องมรรคนั่นเอง มรรคนั้นเรารู้จักกันว่าเป็นข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคนั้นเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา

ชูมาเกอร์กล่าวว่า มรรคคือวิถีชีวิตของชาวพุทธนั้นมีองค์ประกอบอยู่ข้อหนึ่ง คือ สัมมาอาชีวะ ซึ่งแปลว่า การเลี้ยงชีพชอบ ในเมื่อสัมมาอาชีวะนี้เป็นองค์ประกอบอยู่ข้อหนึ่งในมรรคหรือวิถีชีวิตของชาวพุทธ ก็แสดงว่าจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Buddhist economics คือ เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ อันนี้คือจุดเริ่มต้นของท่านชูมาเกอร์

แต่ท่านชูมาเกอร์จะมีทัศนะอย่างไร เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธเป็นอย่างไร ตอนนี้ อาตมภาพจะยังไม่พูดก่อน จะขอเล่าเรื่องคล้ายๆนิทานเรื่องหนึ่ง จากคัมภีร์พุทธศาสนาให้ฟัง ที่จริงไม่ใช่นิทานแต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เรื่องราวเรื่องนี้จะบอกอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ในพุทธศาสนา และผู้ฟังก็อาจจะตีความของตนเองว่า พุทธเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า

สมัยหนึ่งในพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ขณะที่พระองค์เสด็จประทับ ณ พระเชตวัน ในพระนครสาวัตถี วันหนึ่งตอนเช้า พระองค์ได้ทรงพิจารณาว่า มีคนเข็ญใจคนหนึ่งอยู่ในเมืองอาฬวีห่างไกลออกไป เป็นผู้มีความพร้อม มีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะฟังธรรม พระองค์สมควรจะเสด็จไปโปรด ดังนั้น วันนั้นตอนสาย พระองค์ก็เสด็จเดินทางไปยังเมืองอาฬวี ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป 30 โยชน์ ตีเสียว่าประมาณ 480 กิโลเมตร เมื่อเสด็จถึงเมืองอาฬวี ชาวเมืองอาฬวี มีความนับถือพระองค์อยู่แล้ว ก็ต้อนรับ และในที่สุดก็จัดสถานที่เตรียมที่จะฟังธรรมกัน แต่จุดมุ่งของพระพุทธเจ้านั้น เสด็จไปเพื่อจะโปรดคนคนเดียวที่เป็นคนเข็ญใจนั้น พระองค์จึงทรงรั้งรอไว้ก่อน รอให้นายคนเข็ญใจคนนี้มา

ฝ่ายนายคนเข็ญใจนี้ได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมา เขามีความสนใจอยู่แล้ว อยากจะฟังธรรม แต่พอดีว่าวัวตัวหนึ่งของเขาหายไป เขาจึงคิด เอ! เราจะฟังธรรมก่อนหรือหาวัวก่อนดีนะ คิดแล้วก็ตัดสินใจว่าหาวัวก่อน หาวัวเสร็จแล้วค่อยไปฟังธรรม ตกลงเขาก็ออกเดินทางเข้าไปในป่า ไปหาวัวของเขา ในที่สุดก็ได้พบวัวนั้นและต้อนกลับมาเข้าฝูงของมันได้ แต่กว่าเขาจะทำอย่างนี้สำเร็จก็เหนื่อยมาก ครั้งแล้วเขาจึงคิดว่า เอ! เวลาก็ล่วงไปมากแล้ว ถ้าเราจะกลับไปบ้านก่อนก็จะยิ่งเสียเวลา เราจะไปฟังธรรมเลยทีเดียว ตกลงนายคนเข็ญใจคนนี้ก็เดินทางไปยังที่เขาจัดเพื่อการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า เข้าไปฟังธรรม แต่มีความเหนื่อยและหิวเป็นอันมาก

พระพุทธเจ้า เมื่อทอดพระเนตรเห็นนายคนเข็ญใจนี้มา พระองค์ทรงทราบดีว่า เขาเหนื่อยและหิว พระองค์จึงได้ตรัสบอกให้คนจัดแจงทาน จัดอาหารมาให้นายคนเข็ญใจนี้กินเสียก่อน เมื่อคนเข็ญใจคนนี้กินอาหารเรียบร้อยอิ่มสบายใจดีแล้ว พระองค์ก็แสดงธรรมให้ฟัง นายคนเข็ญใจนี้ฟังธรรมแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ก็เป็นอันว่าบรรลุความมุ่งหมายในการเดินทางของพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมครั้งนี้เสร็จก็ลาชาวเมืองอาฬวีเสด็จกลับยังพระเชตวัน แต่ในระหว่างทางนั้น พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้าว่า เอ๊ะ! วันนี้เรื่องอะไรนะพระพุทธเจ้าทรงค่อนข้างจะวุ่นวายมีการให้คนจัดอาหารให้คนเข็ญใจรับประทาน

พระพุทธเจ้าได้ทรงรับทราบ ก็ได้ทรงหันมาตรัสชี้แจงแก่พระภิกษุเหล่านั้น ตอนหนึ่งพระองค์ตรัสว่า คนที่ถูกความหิวครอบงำ มีความทุกข์จากความหิว แม้จะแสดงธรรมให้เขาฟัง เขาก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ แล้วพระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า ชิมฆจฉา ปรมา โรคา เป็นต้น แปลว่า ความหิวเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ที่หนักหน่วงที่สุด เมื่อทราบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จึงจะบรรลุนิพพานที่เป็นบรมสุข

นี่คือเรื่องที่อาตมภาพเล่าให้ฟัง ลักษณะทั่วไปของเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธนั้นคิดว่าปรากฏอยู่ในเรื่องที่เล่ามานี้แล้ว แต่ผู้ฟังก็อาจจะตีความไปได้ต่าง ๆกัน ถ้าหากมีเวลา เราอาจจะได้หันกลับมาวิเคราะห์เรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้จะขอผ่านไปก่อน ขอให้เป็นเรื่องของผู้ฟังที่จะตีความกันเอาเอง

ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม

1. การแยกตัวโดดเดี่ยว เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ทีนี้หันกลับมาพูดถึงเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน เศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันนี้ได้แยกเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจอกมาพิจารณาต่างหากโดดเดี่ยวจากกิจกรรมด้านอื่นๆของชีวิตมนุษย์ และจากวิทยาการด้านอื่นๆ เขาเรียกว่าเป็นไปตามแนวของ specialization คือ ความชำนาญพิเศษในทางวิชาการ หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นลักษณะของความเจริญในยุคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น ในการพิจารณากิจกรรมของมนุษย์ เศรษฐศาสตร์จึงได้พยายามตัดนัย หรือแง่ความหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐกิจออกไปเสีย เมื่อจะพิจารณาเรื่องกิจกรรมการดำเนินชีวิตอะไรก็ตามของมนุษย์ ก็จะพิจารณาในแง่เดียว คือแง่ที่เกี่ยวกับวิชาการของตนเองเท่านั้น การที่เศรษฐศาสตร์แยกตัวออกมาโดดเดี่ยวอย่างนี้นี่แหละ นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งจะต้องมาพิจารณาว่า ทัศนะของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร?

ถ้ามองในแง่ของพุทธศาสนา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธไม่แยกโดดเดี่ยวจากความรู้และความจัดเจนด้านอื่นๆของมนุษย์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่แยกโดดเดี่ยวจากกิจกรรมด้านอื่นๆในการแก้ปัญหาของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์ไม่เป็นศาสตร์ที่เสร็จสิ้นในตัวโดยลำพัง แต่อิงอาศัยกันกับวิทยาการด้านอื่นๆ ในระบบความสัมพันธ์ของชีวิตและสังคม ถ้ามีกิจกรรมอันใดอันหนึ่งขึ้นมา เราก็สามารถมองได้หลายแง่ ยกตัวอย่างเช่น การโฆษณา การโฆษณาเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏในสังคม และเป็นกิจกรรมที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจได้แน่นอน ในแง่ของเศรษฐกิจนั้น การโฆษณาเป็นการชักจูงใจให้คนมาซื้อของ ซึ่งจะทำให้ขายของได้ดีขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนทำให้ของนั้นแพงขึ้นไปด้วย

ทีนี้ ถ้าพิจารณาในแง่สังคม การโฆษณาก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมของสังคมด้วย โดยที่ว่าคนที่จะโฆษณานั้นเขามักจะอาศัยค่านิยมของสังคมนั้นเอง มาเป็นเครื่องช่วยในการที่จะจัดวิธีการโฆษณาให้ดึงดูดใจคนโดยสัมพันธ์กับจิตวิทยา คือใช้จิตวิทยาสังคมเป็นเครื่องมือเอาค่านิยมไปใช้ในทางเศรษฐกิจ ในทางจริยธรรม การโฆษณาก็มีความหมายเหมือนกัน เช่น อาจจะต้องคิดว่า วิธีการโฆษณาของบริษัท หรือกิจการ หรือธุรกิจนั้น เป็นการชักจูงให้คนมัวเมาในวัตถุมากขึ้นหรือไม่ อาจจะมีผลไม่ดีทางจิตใจอะไรบ้าง หรืออาจจะใช้ภาพที่ไม่เหมาะไม่ควร ทำให้เกิดผลเสียทางศีลธรรมอย่างไร หรือทางฝ่ายการเมืองก็มีเรื่องต้องพิจารณาว่า จะมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับการโฆษณานี้ เช่นว่า จะควรควบคุมหรือไม่อย่างไร เพื่อผลดีในทางเศรษฐกิจก็ตาม หรือในทางศีลธรรมก็ตาม

แม้แต่ในทางการศึกษาก็ต้องเกี่ยวข้อง เพราะอาจจะต้องพยายามหาทางสอนคนให้รู้เท่าทัน ให้พิจารณาการโฆษณาอย่างมีวิจารณญาณว่า ควรจะเชื่อคำโฆษณาแค่ไหน ซึ่งเมื่อให้การศึกษาดีแล้ว ก็มีผลย้อนกลับมาทางเศรษฐกิจอีก ทำให้คนนั้นมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นในการที่จะซื้อข้าวของ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า กิจกรรมต่างๆ ในสังคมมนุษย์นั้นมีแง่พิจารณาหลายแง่ ซึ่งสัมพันธ์โยงกันไปหมด จะพิจารณาแง่หนึ่งแง่เดียวไม่ได้

Specialization หรือความชำนาญพิเศษในวิทยาการเฉพาะแง่ใดแง่หนึ่งนั้น ความจริงก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ตราบเท่าที่เรายังไม่ลืมความมุ่งหมายเดิม กล่าวคือ การที่เรามีกิจกรรมหรือวิทยาการพิเศษต่าง ๆ ขึ้นมานั้น ก็เพื่อเป็นส่วนร่วมกันในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ ถ้าเรากำหนดขอบเขตของตัวเองให้ดี กำหนดจุดที่เป็นหน้าที่ของตัวเองให้ดี ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง และกำหนดจุดที่จะประสานกับวิทยาการสาขาอื่นๆ ให้ดีแล้ว ก็จะเป็นการร่วมกันทำงานในการแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จุดผิดพลาดก็อยู่ที่ว่า จะเกิดความลืมตัว นึกว่าวิทยาการของตัวเองนั้นแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หมด ถ้าถึงอย่างนั้นแล้วก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้น และจะแก้ปัญหาไม่สำเร็จด้วย

เมื่อยอมรับกันอย่างนี้แล้ว ข้อสำคัญก็อยู่ที่จะต้องจับจุดให้ได้ว่า เศรษฐศาสตร์นี้จะโยงต่อกับศาสตร์ หรือวิทยาการอื่น ๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ที่จุดไหน เช่นว่าเศรษฐศาสตร์จะเชื่อมโยงกับการศึกษาที่จุดไหน จะเชื่อมโยงกับจริยธรรมที่จุดไหน ในการร่วมกันแก้ปัญหาของมนุษย์ ถ้าจับอย่างนี้ได้ ก็มีทางที่จะทำให้การที่ตนเป็นศาสตรวิทยาที่ชำนาญพิเศษโดยเฉพาะนั้น เกิดประโยชน์ขึ้นอย่างแท้จริง

การที่ชูมาเกอร์พูดว่าในเมื่อสัมมาอาชีวะเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของมรรคมีองค์ 8 ก็ทำให้เห็นว่าจะต้องมี Buddhist economics คำของชูมาเกอร์นี้ยังมีความหมายแฝงต่อไปอีกด้วย คือ ข้อที่ 1 แสดงว่า สัมมาอาชีวะนั้นมีความสำคัญมาก หรือว่าเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในทางพุทธศาสนาจึงได้จัดเป็นองค์มรรคขึ้นมาข้อหนึ่ง แสดงว่าพระพุทธศาสนายอมรับความสำคัญของเศรษฐกิจ ยกให้เป็นองค์มรรคข้อหนึ่งเลยทีเดียว แต่ข้อที่ 2 มองในทางกลับตรงกันข้ามก็มีความหมายว่า สัมมาอาชีวะหรือเรื่องราวทางเศรษฐกิจนั้น ก็เป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่งในบรรดาองค์ประกอบหลายอย่างของวิถีชีวิตที่ถูกต้องที่จะแก้ปัญหาของชีวิตได้ ซึ่งในทางพุทธศาสนานั้นก็ได้บอกไว้ว่า มีองค์ประกอบถึง 8 ประการด้วยกัน

2. ไม่เป็นอิสระจากจริยธรรม แต่ไม่ใส่ใจจริยธรรม

ในบรรดาองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของมนุษย์ซึ่งมีหลายอย่างนั้น ในที่นี้จะยกขึ้นมาพูดสักอย่างหนึ่ง คือเรื่อง จริยธรรม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระ ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้ทำหน้าที่ทางจริยธรรมมากสักหน่อย เรามาพิจารณาโดยยกเอาจริยธรรมเป็นตัวอย่างว่า จริยธรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น มีผลสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างไร โดยทั่วไปเราก็มองเห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรื่องจริยธรรมนั้น มีความหมายสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

แต่ในที่นี้ จะขอให้เรามายอมเสียเวลากันสักนิดหน่อย ดูตัวอย่างบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า จริยธรรมนั้นมีความสัมพันธ์และสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์อย่างไร สภาพทางจริยธรรมย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ยกตัวอย่างเช่นว่า ถ้าท้องถิ่นไม่ปลอดภัย สังคมไม่ปลอดภัย มีโจรผู้ร้ายมาก มีการลักขโมยปล้นฆ่าทำร้ายร่างกายกันมาก ตลอดกระทั่งว่าการคมนาคมขนส่งไม่ปลอดภัย ก็เห็นได้ชัดว่า พ่อค้าหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ จะไม่กล้าไปตั้งร้าน ไม่กล้าไปลงทุน คนก็อาจจะไม่กล้าเดินทางไปเที่ยว ชาวต่างชาติก็ไม่กล้าที่จะมาทัศนาจร อะไรอย่างนี้ ผลเสียทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่มองเห็นได้ง่าย ในการโดยสารรถยนต์อย่างในกรุงเทพฯ ถ้าคนโดยสารซื่อสัตย์ คนเก็บตั๋วซื่อสัตย์ คนรถซื่อสัตย์ นอกจากว่ารัฐจะได้เงินเข้าเป็นผลประโยชน์ของรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ก็อาจจะทุ่นเงิน ประหยัดทรัพย์ ไม่ต้องมาเสียเงินจ้างคนคุม นายตรวจ ตลอดจนกระทั่งว่าบางทีไม่ต้องมีคนเก็บตั๋วก็ได้ เพราะใช้วิธีของความซื่อสัตย์ อาจจะให้จ่ายตั๋วใส่ในกล่องเองอะไรทำนองนี้

ในเรื่องของบ้านเมืองโดยทั่วไป ถ้าพลเมืองเป็นคนมีระเบียบวินัย ช่วยกันรักษาความสะอาด รัฐก็อาจจะไม่ต้องเสียเงินมากเพื่อจ้างคนกวาดขยะจำนวนมากมาย และการใช้อุปกรณ์ก็สิ้นเปลืองน้อย ทำให้ประหยัดเงินที่จะใช้จ่าย ในทางตรงข้ามหรือในทางลบ พ่อค้าเห็นแก่ได้ ต้องการลงทุนน้อย แต่ให้ขายของได้ดี ใช้ส่วนประกอบที่ไม่ได้มาตรฐานปรุงเข้าไปในอาหาร เช่น ใช้สีย้อมผ้าใส่ในขนมเด็ก เป็นต้น หรือใช้น้ำส้มที่ไม่ใช่น้ำส้มสายชูจริง แต่เป็นน้ำกรด หรือใช้น้ำยาประสานทองใส่ในลูกชิ้นเด้งอะไรทำนองนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดอันตราย มีผลเสียต่อสุขภาพของคน เมื่อคนเสียสุขภาพแล้วก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองในการรักษาพยาบาลคนนั้นอีก แล้วเราก็จะต้องใช้เงินมากมายในการตรวจจับ และดำเนินคดี นอกจากนั้น คนที่เสียสุขภาพแล้ว ก็เสียประสิทธิภาพในทางแรงงาน ทำให้การผลิตลดลงหรือเสื่อมเสียไปอีก

พ่อค้าที่เห็นแก่ได้อย่างเดียวนั้น ทำการในขอบเขตกว้างขวางออกไป โดยปลอมปนสินค้าที่ส่งไปขายต่างประเทศ ก็อาจจะทำให้สูญเสียความไว้วางใจ ในที่สุดผลเสียหายทางเศรษฐกิจก็สะท้อนกลับมา คืออาจจะสูญเสียตลาดการค้าขายในต่างประเทศ เสียรายได้ที่จะเข้าประเทศ พ่อค้าที่เห็นแก่ได้นั้น เมื่อทำธุรกิจในระบบการแข่งขันเสรี ก็อาจจะทำให้การค้าเสรีกลายเป็นไม่เสรีไป ด้วยความเห็นแก่ได้ของตัวเอง โดยใช้วิธีแข่งขันนอกแบบ ทำให้การแข่งขันเสรีนำไปสู่ความหมดเสรีภาพ เพราะอาจจะใช้อิทธิพลทำให้เกิดการผูกขาดในทางตลาดขึ้น อาจจะเป็นการทำให้หมดเสรีในแบบ หรือหมดเสรีนอกแบบก็ได้ หมดเสรีนอกแบบก็เช่นว่า ใช้เงินจ้างมือปืนรับจ้างฆ่าผู้แข่งขันในทางเศรษฐกิจเสีย อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็หมดเสรีเหมือนกัน แต่หมดเสรีนอกแบบ บางทีในตำราเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้เขียนไว้ด้วยซ้ำ

ในทางต่างประเทศ บริษัทต่างประเทศส่งยาที่ห้ามขายในประเทศของตน เข้ามาขายในประเทศด้อยพัฒนา ก็เกิดเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน เสื่อมเสียคุณภาพและประสิทธิภาพของแรงงานในทางเศรษฐกิจ และเสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น สิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ

ในอีกด้านหนึ่ง พ่อค้าโฆษณาเร้าความต้องการให้คนอยากซื้อสินค้า ก็สิ้นเปลืองค่าโฆษณา เอามาบวกเข้าในต้นทุน ทำให้สินค้าแพงขึ้น คนก็พากันซื้อสินค้าทั้งที่ไม่จำเป็น และแพงโดยไม่จำเป็นด้วย มีความฟุ่มเฟือย ใช้ทิ้งใช้ขว้าง โดยไม่คุ้มค่า บางทีใช้เดี๋ยวหนึ่งก็เปลี่ยน เดี๋ยวหนึ่งก็เปลี่ยน อันนี้ก็เป็นความสิ้นเปลืองในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาสัมพันธ์กับค่านิยมของคนที่ชอบอวดโก้ ชอบอวดฐานะ ทำให้พ่อค้าได้โอกาสเอาไปใช้ประโยชน์ เอากลับมาหาเงินจากลูกค้าอีก คนที่มีค่านิยมชอบอวดโก้ อวดฐานะ ก็อาจจะซื้อสินค้าที่แพงโดยไม่จำเป็น โดยไม่พิจารณาถึงคุณภาพ เอาความโก้เก๋นี้มาเป็นเกณฑ์ ทั้ง ๆที่แพงก็ซื้อเอามา ยิ่งกว่านั้น คนจำนวนมากในสังคมของเรา ซึ่งชอบอวดโก้แข่งฐานะกัน พอมีสินค้าใหม่เข้ามา แต่เงินยังไม่พอ ก็รอไม่ได้ ต้องรีบกู้ยืมเงินเขามาซื้อ เป็นหนี้เขา ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงในทางเศรษฐกิจ เสร็จแล้วตัวเองก็มีฐานะแย่ เศรษฐกิจของชาติก็แย่ ดุลการค้าของประเทศก็เสียเปรียบเขาไป ฉะนั้น ค่านิยมของคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียดุลการค้าระหว่างประเทศ ค่านิยมไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจโดยตรง แต่มีผลต่อเศรษฐกิจมาก

คนที่อยู่ในวงการธุรกิจคนหนึ่งเคยพูดให้ฟังว่า ถ้าเห็นพี่น้องชาวซิกส์คนหนึ่งนั่งรถมอเตอร์ไซด์ ให้สันนิษฐานได้เลยว่ามีเงินล้าน ถ้าหากเห็นพ่อค้าชาวซิกส์นั่งรถเก๋งให้สันนิษฐานว่ามีเงินเป็นสิบเป็นร้อยล้าน แต่ถ้าเห็นคนไทยนั่งรถมอเตอร์ไซด์ ท่านลองไปบ้านนอกดู 50% อาจจะกู้ยืมเงินเขามาซื้อ นี่ก็เป็นเรื่องของค่านิยมเหมือนกัน ทีนี้ ถึงแม้นั่งรถยนต์ก็เหมือนกัน บางทีมีเงินไม่เท่าไรหรอกก็ไปกู้ยืมเขามา หรือใช้ระบบผ่อนส่ง เราก็มีรถเก๋งนั่งกันเกร่อไปหมด แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดมาก จราจรติดขัดมากก็มีผลเสียทางเศรษฐกิจอีก ผลที่สุดมันวุ่นกันไปหมด เรื่องทางสังคมกับเศรษฐกิจนี้หนีกันไม่พ้น

เรื่องค่านิยมอวดเด่นอวดโก้ถือหน้าถือตานี้ ในสังคมไทยเรามีเรื่องพูดได้มาก คนไทยบางคนทั้ง ๆที่มีเงินมีฐานะดีพอสมควร แต่จะตีตั๋วเข้าไปดูการแสดงเพียงค่าตั๋ว 20 บาท หรือ 100 บาท เสียไม่ได้ ต้องการจะแสดงว่าฉันมีอิทธิพล ก็ไปหาทางเข้าดูฟรี ไปเอาบัตรเบ่ง วางโต อวดโก้เข้าดูฟรี ไม่ยอมเสียเงิน 20 บาท หรือ 100 บาท แต่คนๆเดียวกันนี้แหละ อีกคราวหนึ่ง ต้องการแสดงความมีฐานะมีหน้ามีตา จัดงานใหญ่โตเลี้ยงคนจำนวนมากมาย เสียเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเสียได้ ลักษณะจิตใจหรือคุณค่าทางจิตใจแบบนี้ มีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งบางทีนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเข้ามาเมืองไทย เจอเข้าแล้ว ต้องขออภัยพูดว่า หงายหลังไปเลย คือแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตก เพราะว่ามาเจอลักษณะนิสัยจิตใจและพฤติกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอเข้าแบบนี้แล้วคิดไม่ทัน ไม่รู้จะแก้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ในเรื่องเศรษฐกิจนี้ เราจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเหล่านี้ด้วย เราจะเห็นว่า เรื่องศรัทธาความเชื่อต่าง ๆ มีผลในทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก เราต้องมีความเชื่อถือต่อธนาคาร มีความเชื่อถือตลาดหุ้น ถ้าเกิดความไม่เชื่อถือ หมดศรัทธาเมื่อไร บางทีตลาดหุ้นแทบจะล้มเลย ธนาคารบางทีก็ล้มไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การมีศรัทธาก็ดี การเชื่อแม้แต่คำโฆษณาก็ดี จึงมีผลต่อพฤติกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น และความมีศรัทธาก็ดี ความหมดศรัทธาก็ดี ในหลายกรณี เป็นอาการที่ปลุกเร้ากันขึ้น เช่น ด้วยการโฆษณา เป็นต้น

ในวงงานของเรา ถ้านายงานวางตัวดี มีความสามารถ หรือมีน้ำใจ ลูกน้องรักใคร่ศรัทธา ลูกน้องมีความสามัคคี ขยัน ตั้งใจทำงาน ก็ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ถ้านายจ้างนั้นมีความดีมากให้ลูกน้องเห็นใจ บางทีกิจการของบริษัทจะล้ม ลูกน้องก็พากันเสียสละช่วยกันทุ่มเททำงานเต็มกำลังเพื่อกู้ฐานะของบริษัท ไม่หลีกหนีไป แม้กระทั่งยอมสละค่าแรงงานที่ตนได้ก็มี แทนที่จะเรียกร้องเอาอย่างเดียว

ฉะนั้น คุณค่าทางจิตใจเหล่านี้จึงเป็นตัวแปรในทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น ซึ่งเราก็เห็นกันชัดๆว่า ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความรักงาน ความตรงต่อเวลา มีผลต่อสิ่งที่เราเรียกว่า Productivity คือการเพิ่มผลผลิต รวมทั้ง Efficiency คือความมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ในทางตรงข้าม ความเบื่อหน่าย การคดโกง ทุจริต ความรู้สึกแปลกแยก ท้อถอย ความขัดแย้ง แม้แต่ความกลุ้มใจกังวลในเรื่องส่วนตัว ก็มีผลลบต่อ Productivity ทำลายการเพิ่มผลผลิตนั้นได้ เรื่องนี้ไม่จำเห็นจะต้องพรรณนาในวงกว้างออกไป เกี่ยวกับลัทธิชาตินิยม ความรู้สึกชาตินิยม ถ้าปลูกฝังให้มีขึ้นในคนได้ ก็อาจจะทำให้คนในชาตินั้น ไม่ยอมซื้อของนอกใช้ ทั้งๆที่ว่าของนั้นดี ล่อใจให้อยากจะซื้อ อยากจะบริโภค เขาจะสลัดความต้องการส่วนตัวได้ เพื่อเห็นแก่ความยิ่งใหญ่แห่งชาติของตน จะใช้แต่ของที่ผลิตในชาติ และตั้งใจช่วยกันผลิต เพื่อให้ชาติของตนมีความเจริญรุ่งเรือง มีความเป็นเอก มีความยิ่งใหญ่ จนกระทั่งบางทีถึงกับว่า รัฐบาลอาจจะต้องชักชวนให้คนในชาติหันไปซื้อของต่างประเทศก็มี เช่น อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นต้น ชาตินิยมนี้ก็เป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจที่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

3. ไม่อาจจะเป็น แต่อยากจะเป็นวิทยาศาสตร์

อาตมภาพได้พูดยกตัวอย่างมานี้ก็มากมายแล้ว ความมุ่งหมายก็เพียงเพื่อให้เห็นว่าเรื่องจริยธรรมและค่านิยม หรือคุณค่าทางจิตใจนั้น มีผลเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ก็เป็นความสัมพันธ์และความสำคัญของธรรมในแง่ความดีความชั่ว ที่เรียกว่าจริยธรรม แต่ธรรมที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่จริยธรรมเท่านั้น นอกจากจริยธรรมแล้ว ธรรมอีกแง่หนึ่งที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ ก็คือ ธรรมในแง่สัจธรรม หรือสภาวธรรม

ความจริง ธรรมในแง่ "สภาวธรรมหรือสัจธรรม"นี้ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่ามันเป็นแก่น เป็นตัว เป็นเนื้อของเศรษฐศาสตร์เอง ธรรมในที่นี้ก็คือ ความจริง ในแง่ของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ถ้าหากว่าเศรษฐศาสตร์รู้ เข้าใจ และปฏิบัติการไม่ทั่วถึง ไม่ตลอดสายกระบวนการของเหตุปัจจัยแล้ว วิชาการเศรษฐศาสตร์นั้นก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างผลดีให้สำเร็จตามความประสงค์ได้ เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ถูกธรรมในแง่ที่สอง คือ แง่ของสัจธรรม

ธรรมในแง่ของสัจธรรมนี้ ก็คือ ธรรมดาของธรรมชาติ หรือสภาวะที่มีอยู่ในวิชาการ และกิจกรรมทุกอย่าง มันไม่ได้เป็นสาขาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่แยกออกไปต่างหากจากวิชาการอื่นๆเลย แต่เป็นแก่นแท้ของวิทยาศาสตร์ หรือเป็นสาระที่วิทยาศาสตร์ต้องการจะเข้าถึง การที่ปัจจุบันนี้เรามีแนวโน้มทางความคิดที่ชอบแยกอะไรต่ออะไรออกไปต่างหากจากกัน แม้กระทั่งในเรื่องธรรม คือสภาวะความเป็นจริง จึงเป็นอันตรายที่ทำให้เราอาจจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ดังนั้น จะต้องมีความเข้าใจในความเป็นจริงที่กล่าวแล้วนี้ไว้ด้วย

เศรษฐศาสตร์นั้นได้กล่าวกันมาว่า เป็นสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด และเศรษฐศาสตร์ก็มีความภูมิใจในเรื่องนี้ด้วยว่า ตนเป็นวิทยาการที่เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เอาแต่สิ่งที่วัดได้ คำนวณได้ จนกระทั่งมีผู้กล่าวว่า เศรษฐศาสตร์นี้เป็นศาสตร์แห่งตัวเลข มีแต่สมการล้วน ๆ ในการพยายามที่จะเป็นวิทยาศาสตร์นี้ เศรษฐศาสตร์ก็เลยพยายามตัดเรื่องคุณค่าที่เป็นนามธรรมออกไปให้หมด เพราะคำนวณไม่ได้ จะทำให้ตนเองเป็น value-free คือเป็นศาสตร์ที่เป็นอิสระ หรือปลอดจากคุณค่า แต่ก็มีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นนักวิจารณ์เศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เองบางคนบอกว่า ความจริงแล้วเศรษฐศาสตร์นี้เป็นสังคมศาสตร์ที่ขึ้นต่อ value มากที่สุด เรียกว่าเป็น value-dependent มากที่สุด ในบรรดาสังคมศาสตร์ทั้งหลาย จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร เพราะจุดเริ่มของเศรษฐศาสตร์นั้นอยู่ที่ความต้องการของคน ความต้องการของคนนี้เป็นคุณค่าอยู่ในจิตใจ แล้วในเวลาเดียวกัน จุดหมายของเศรษฐศาสตร์ก็เพื่อสนองความต้องการให้เกิดความพอใจ ความพอใจนี้ก็เป็นคุณค่าอยู่ในจิตใจของคน เศรษฐศาสตร์จึงทั้งขึ้นต้นและลงท้ายด้วยเรื่องคุณค่าในจิตใจ

นอกจากนั้น การตัดสินใจอะไรต่างๆ ในทางเศรษฐกิจ ก็ต้องอาศัยคุณค่าต่างๆเป็นอันมาก ฉะนั้น การที่เศรษฐศาสตร์จะเป็น value-free หรือเป็นอิสระจากคุณค่านั้นจึงเป็นไปไม่ได้ รวมความว่า เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถจะเป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ได้ เพราะจะต้องขึ้นต่อคุณค่าบางอย่าง เมื่อมองในแง่นี้ จะขอตั้งข้อสังเกตเป็น 2 อย่าง คือ

ในแง่ที่หนึ่ง เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ได้โดยสมบูรณ์ หรือไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ได้แท้จริง เพราะไม่อาจเป็นอิสระจากคุณค่าต่างๆ นอกจากนั้น ในหลักการและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ จะเต็มไปด้วยอัสซัมชั่น (assumptions) คือข้อที่ถือว่ายุติเป็นอย่างนั้น เป็นความจริงโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ เมื่อยังเต็มไปด้วยอัสซัมชั่นต่าง ๆ แล้ว จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นข้อแย้งที่สำคัญ

ในแง่ที่สอง การเป็นวิทยาศาสตร์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง วิทยาศาสตร์นั้นมีขีดจำกัดมากในการกแก้ปัญหาของมนุษย์ วิทยาศาสตร์แสดงความจริงได้แง่หนึ่งด้านหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวัตถุเป็นสำคัญ ถ้าหากว่าเศรษฐศาสตร์จะเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ก็จะพ่วงตัวเข้าไปอยู่ในแนวเดียวกับวิทยาศาสตร์ คือสามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้เพียงในวงจำกัดด้วย

ท่าทีที่ดีของเศรษฐศาสตร์ก็คือ การมองและยอมรับตามเป็นจริง การที่เศรษฐศาสตร์จะเป็นวิทยาศาสตร์หรือพยายามเป็นวิทยาศาสตร์นั้น ก็เป็นความดีอย่างหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็เป็นคุณค่าที่น่าจะรักษาเอาไว้ด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน เพื่อการแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น หรือให้ได้ผลจริง เศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ ที่ถึงยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมมนุษย์ ก็น่าจะเปิดตัวกว้างออกไป ในการที่จะยอมรับร่วมมือกับวิทยาการและกิจกรรมสาขาอื่นๆ ของมนุษย์ ยอมรับที่จะพิจารณาเรื่องคุณค่าต่าง ๆ ในสายตาที่มองอย่างทั่วตลอดยิ่งขึ้น เพราะในเมื่อเรายอมรับเรื่องคุณค่าแล้ว คุณค่านั้นก็จะมาเป็นองค์ประกอบของวิทยาการตามฐานะที่ถูกต้องของมัน ทำให้มองเห็นตลอดกระบวนการของความจริงด้วย

แต่ถ้าเราไม่ศึกษาเรื่องคุณค่านั้นให้ตลอดสาย การที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเราจะไม่สามารถมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนความจริงที่มีคุณค่านั้นเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยโดยตลอด หรือโดยสมบูรณ์ เศรษฐศาสตร์นั้นต้องอิงอาศัยคุณค่าที่เป็นนามธรรม แต่ปัจจุบันนี้เศรษฐศาสตร์ยอมรับคุณค่านั้นแต่เพียงบางส่วน บางแง่ไม่ศึกษาระบบคุณค่าให้ตลอดสาย ทำให้เกิดความผิดพลาดในการคาดหมายหรือคาดคะเนผลเป็นต้น ในเมื่อมีองค์ประกอบด้านคุณค่าเข้ามาเกี่ยวข้องเกินกว่าแง่หรือเกินกว่าระดับที่ตนยอมรับพิจารณา ขอยกตัวอย่างเช่น เรามีหลักทางเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่งว่า คนจะยอมเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ต่อเมื่อได้สิ่งอื่นมาทดแทน จึงจะได้ความพอใจเท่ากัน อันนี้เป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่ง

เรื่องนี้ทางฝ่ายของพวกนามธรรมก็อาจจะแย้งว่าไม่จริงเสมอไป บางทีคนเราได้คุณค่าความพอใจทางจิตใจ โดยที่เสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปโดยไม่ได้สิ่งอื่นมาทดแทนก็มี อย่างเช่น พ่อแม่รักลูก พอรักลูกมาก ก็ยอมเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ เมื่อลูกได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นไป พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องได้อะไรตอบแทน แต่พ่อแม่ก็มีความพึงพอใจมากกว่าการได้อะไรตอบแทนด้วยซ้ำ ในกรณีนี้ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าพ่อแม่มีความรัก ทีนี้ ถ้าหากว่ามนุษย์สามารถมีความรักคนอื่นได้กว้างขวางขึ้น ไม่รักเฉพาะลูกของตัวเอง แต่ขยายออกไป รักพี่รักน้อง รักเพื่อนร่วมชาติ รักเพื่อนมนุษย์แล้ว เขาก็อาจจะเสียสละสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปโดยไม่ได้อะไรตอบแทนมา แต่กลับมีความพึงพอใจมากขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่ได้รับความพึงพอใจหรือพึงพอใจเท่ากัน แต่พึงพอใจมากขึ้นด้วยซ้ำไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของคุณค่าที่เข้ามาแสดงผลในทางเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน

หลักอีกข้อหนึ่งบอกว่า ราคาต่ำลงคนยิ่งซื้อมาก ราคายิ่งแพงคนยิ่งซื้อน้อยลง นี้ก็เป็นหลักทางเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่ง และตามธรรมดาทั่วไปก็เป็นอย่างนั้น ถ้าของราคาต่ำลง คนก็มีอำนาจซื้อมาก แต่ถ้าของนั้นแพงขึ้น อำนาจซื้อของคนก็น้อยลง คนก็มาซื้อน้อยลง

แต่มันไม่ใช่เป็นอย่างนั้นเสมอไป ถ้าเรารู้ว่าคนในสังคมมีค่านิยมชอบอวดโก้ อวดฐานะกันมาก เราก็เอาค่านิยมมาใช้เร้าให้เกิดความรู้สึกว่าของแพงนี่มันโก้มาก คนไหนซื้อของแพงได้ คนนั้นเด่นมีฐานะสูง ปรากฏว่า ยิ่งขึ้นราคาของแพงขึ้น คนกลับยิ่งไปซื้อมากใหญ่ เพราะอยากจะโก้แสดงว่าตัวมีฐานะ ฉะนั้นหลักเศรษฐศาสตร์บางอย่างจึงต้องขึ้นต่อเรื่องคุณค่าเป็นอย่างมาก

ว่าที่จริง ตัวอย่างต่างๆ ก็มีทั่วๆไป ที่แสดงให้เห็นว่า ค่านิยมหรือคุณค่าต่างๆในสังคมนี้เป็นตัวกำหนดราคา ซึ่งเศรษฐศาสตร์ก็เอามาใช้ ดังจะเห็นได้ในตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่ามีคนสองคนเรือแตก ไปติดอยู่บนเกาะหนึ่ง คนหนึ่งมีข้าวตาก 1 กระสอบ อีกคนหนึ่งมีสายสร้อยทองคำ 100 สาย ตามปกติ ในสังคมทั่วไปคนที่มีสายสร้อยทองคำ 1 สาย อาจจะซื้อข้าวตังหรือข้าวตากได้หมดทั้งกระสอบ หรือว่าข้าวตากทั้งกระสอบนั้น อาจจะไม่พอกับราคาค่าสายสร้อยทองคำสายเดียวด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้เขาไปติดอยู่บนเกาะ มองไม่เห็นทางว่าจะรอด ไม่เห็นว่าจะมีเรืออะไรมาช่วยเหลือ ตอนนี้มูลค่าจะต่างไป ผิดจากเดิมแล้ว ตอนนี้คนที่มีข้าวตากหนึ่งกระสอบอาจจะใช้ข้าวตากเพียง 1 ชิ้น แลกเอาสายสร้อยทองคำทั้ง 100 สายก็ได้ บางทีไม่ยอมรับด้วยซ้ำไป คุณค่าจึงเป็นไปตามความต้องการ

แต่ที่ต้องการชี้ในที่นี้ก็คือว่า เศรษฐศาสตร์จะต้องแยกแยะเกี่ยวกับความหมายของความต้องการ ตลอดจนคุณภาพของความต้องการด้วย เศรษฐศาสตร์บอกว่า เราเกี่ยวข้องแต่ความต้องการอย่างเดียว เราไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของความต้องการ นี้เป็นหลักการของเศรษฐศาสตร์ แต่คุณภาพของความต้องการนั้นก็มีผลต่อเศรษฐศาสตร์ นอกจากนั้น คนสองคนนี้อาจจะไม่แลกเปลี่ยนกันก็ได้ คนที่มีสายสร้อยทองคำอาจจะถือโอกาสตอนที่คนมีข้าวตากไม่อยู่มาลักเอาข้าวตากไปเสียก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแลกกับคนอื่น หรือดีไม่ดีแกอาจจะฆ่านายคนมีข้าวตากเสียเลย เพื่อจะเอาข้าวตากไปเสียทั้งหมดกระสอบ ในทางตรงกันข้าม สองคนนั้นอาจจะเกิดมีความรักกันขึ้นมา ก็เลยร่วมมือกัน เลยไม่ต้องซื้อต้องขาย ไม่ต้องแลกเปลี่ยน ก็กินข้าวตากด้วยกันจนหมดกระสอบ อันนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น นอกจากการแลกเปลี่ยน กิจกรรมอาจจะมาในรูปของการทำร้าย การร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน หรืออะไรก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เป็น objective คือ มองอะไรๆตามสภาววิสัย ไม่เอาคุณค่าความรู้สึกทางจิตใจเข้าไปปะปน นักเศรษฐศาสตร์บางทีก็จะยกตัวอย่างต่างๆมาให้ดู เช่นบอกว่า เหล้าหรือสุรา 1 ขวด กับก๋วยเตี๋ยว 1 หม้ออาจจะมีคุณค่าหรือมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์เท่ากัน การเสียเงินไปเข้าไนท์คลับครั้งหนึ่ง อาจมีค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการเข้าฟังปาฐกถาครั้งหนึ่งในเวลาเท่ากัน อันนี้เป็นความจริงในทางเศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์ไม่พิจารณาคุณค่าใด ๆ ทั้งสิ้น เขาจะไม่พิจารณาว่า สินค้านั้น หรือการกระทำนั้น การผลิต การบริโภค หรือการซื้อขายนั้น จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์หรือโทษอะไรขึ้นหรือไม่ เข้าไนท์คลับแล้วจะสิ้นเปลืองเงินทำให้หมกมุ่นมัวเมาเป็นอบายมุข หรือจะดีจะชั่วในแง่หนึ่งแง่ใดก็ตาม เศรษฐศาสตร์ไม่เกี่ยว หรือว่าเข้าฟังปาฐกถาแล้วจะได้ความรู้เจริญปัญญา เป็นประโยชน์แก่จิตใจ ก็ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์ เราอาจจะพิจารณาคุณหรือโทษในแง่อื่น ๆ แต่เศรษฐศาสตร์จะไม่พิจารณาด้วย

ในกรณีตัวอย่างที่ยกมานี้ ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ความเป็นวิทยาศาสตร์ และความเป็น objective ของเศรษฐศาสตร์นั้นออกจะผิวเผินและคับแคบมาก คือมองความจริงช่วงเดียวสั้น ๆ แบบตัดตอนขาดลอยเท่าที่ตัวต้องการ ไม่มองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เป็นจริงให้ทั่วถึงตลอดสาย ซึ่งเป็นลักษณะของเศรษฐศาสตร์ในยุคอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐศาสตร์ไม่อาจจะเป็นวิทยาศาสตร์ได้จริง และไม่เป็น objective เพียงพอ เศรษฐศาสตร์ยุคต่อไปอาจจะขยายการมองให้ทั่วถึงตลอดกระบวนการของเหตุปัจจัย โดยสอดคล้องกับความจริงมากยิ่งขึ้น ดังที่มีแนวโน้มขึ้นบ้างแล้วในปัจจุบัน ดังในตัวอย่างที่ยกขึ้นมาพูดเรื่องเหล้า 1 ขวด กับก๋วยเตี๋ยว 1 หม้อ เรามองได้ว่า มูลค่าในทางตลาดซื้อขายนั้นเท่ากันจริง แต่มูลค่าแม้ในทางเศรษฐกิจนั้นเอง ความจริงก็ไม่เท่ากัน ถ้าพิจารณาลึกซึ้งลงไป จะมองเห็นว่า สุรา 1 ขวดนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกมากมาย

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่มาจากการเสียคุณภาพชีวิต สุราขวดนั้นอาจจะทำลายสุขภาพของคน และทำให้ต้องเสียเงินรักษาสุขภาพของคนนั้น จะสิ้นเปลืองเงินไปอีกเท่าไร นี่เป็นความสูญเสียในด้านคุณภาพชีวิต แต่มีผลทางเศรษฐกิจด้วย

ในการผลิตสุรานั้น โรงงานสุราอาจจะทำให้เกิดควันที่มีกลิ่นเหม็น ควันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดส่าเหล้า เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ แล้วมูลค่าความเสียหายทางธรรมชาตินี้ก็กลับมามีผลต่อเศรษฐกิจอีก อาจจะทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณระยะยาวในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม

คนที่กินสุราแล้วนั้น อาจจะขับรถไปแล้วก็เกิดรถชนกัน ก็ทำให้เกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจอีก

ผลเสียหายในทางสังคม เช่น ทำให้เกิดอาชญากรรม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก

เหล้า 1 ขวดนี้ อาจจะทำให้คนนั้นเมามาย มีสติไม่ค่อยดี ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ก็กระทบต่อ Productivity คือ การเพิ่มผลผลิตอีก

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจทั้งสิ้น เป็นอันว่า เราจะต้องคิดเรื่องเศรษฐกิจ หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจกว้างออกไป ไม่ใช่เฉพาะราคาที่ตีในตลาดเท่านั้น ปัจจุบันนี้ก็มีความโน้มเอียงในการที่จะเอามูลค่าในด้านอื่นนี้เข้ามารวมด้วย เรียกว่าเป็น External costs แต่ปัจจุบันนี้ยังมองเฉพาะเรื่องมูลค่าทางด้านสภาพแวดล้อม คือมลภาวะดังที่นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มให้นำเอามูลค่าในการทำลายสภาพแวดล้อมนี้ รวมเข้าในมูลค่าทางเศรษฐกิจแม้แต่ในการที่จะตีราคาสินค้าด้วย แต่ว่าที่จริงแล้วยังไม่พอหรอก ก็อย่างสุรา 1 ขวดที่ว่าเมื่อกี้ เราอาจจะคิดแต่ค่าสภาพแวดล้อม แต่ค่าทางสังคมศีลธรรมและสุขภาพ (เช่น อาชญากรรม ประสิทธิภาพในการผลิต) อีกเท่าไร ซึ่งมูลค่าเหล่านี้ล้วนย้อนกลับมามีผลทางเศรษฐกิจอีกทั้งสิ้น

4 ขาดความชัดเจนเกี่ยวกับความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์

เท่าที่พูดมาในตอนนี้ให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์นี้มีความสัมพันธ์กับเรื่องอื่น ๆ ที่มีผลย้อนกลับมาหาเศรษฐกิจอีก ซึ่งโดยมากก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าต่างๆ ก็เลยเข้ามาสู่ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่ง คือปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญมากในศาสตรวิทยาทุกแขนงเลยทีเดียว เราจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์นี้เป็นฐานก่อน ถ้าเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ผิดพลาดแล้ว วิทยาการนั้นๆจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์ และจะไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้จริงด้วย
ในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นี้ เศรษฐศาสตร์เข้าใจอย่างไร

และพุทธศาสนาหรือพุทธเศรษฐศาสตร์เข้าใจอย่างไร

ได้บอกแล้วว่า เศรษฐศาสตร์นั้นมองถึงธรรมชาติของความต้องการของมนุษย์ แต่มองความต้องการของมนุษย์นั้นเพียงด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของความต้องการ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องถามว่า คุณภาพของความต้องการของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติหรือไม่ ถ้ามันเป็นธรรมชาติก็แสดงว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ยอมพิจารณาความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะมีเศรษฐศาสตร์ที่สมบูรณ์ได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์อย่างไร เศรษฐศาสตร์อาจจะแก้ตัวออกไปได้ว่า เราก็เป็นสาขาสเปชเชียลไลเซชั่น มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านหนึ่ง จะต้องไปร่วมมือกับวิทยาการอื่นๆ ในด้านที่ตัวเรานั้นเกี่ยวข้องต่อไป ถ้ายอมรับอย่างนี้ก็พอไปได้ แต่อาจจะช้าไป หรือเข้าแง่เข้ามุมไม่ถนัด

ก. ความต้องการ (Want)

ทีนี้ มาพูดกันถึงเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ความต้องการก่อน ในแง่ความต้องการของมนุษย์นั้นอย่างน้อยเศรษฐศาสตร์ในสมัยใหม่นี้ก็มีความเข้าใจตรงกับพุทธศาสนาที่ว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่จำกัด มนุษย์มี unlimited wants เราบอกว่า ความต้องการของมนุษย์ นั้นไม่มีที่สิ้นสุด

ในพุทธศาสนานั้นมีพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย เช่นว่า แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี เพราะว่าแม่น้ำนั้น บางโอกาส บางเวลา มันยังมีเวลาเต็มได้ แต่ความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันเต็ม บางแห่งบอกว่า ถึงแม้เงินตราจะตกลงมาเป็นห่าฝน ความอิ่มในกามทั้งหลายของมนุษย์ก็ไม่มี หรือบางแห่งท่านบอกว่า ถึงจะเนรมิตภูเขาให้เป็นทองทั้งลูก ก็ไม่สามารถจะทำให้คนแม้แต่คนหนึ่งคนเดียวพึงพอใจได้โดยสมบูรณ์ ไม่เต็มอิ่มของเขา

ฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาจะมีเรื่องพูดมากมายเกี่ยวกับความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์ ในที่นี้ อาตมภาพจะเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง จะยอมเสียเวลากับนิทานสักนิดหนึ่ง ความจริงนิทานนี้มิใช่เอามาเล่าเฉย ๆ มันมีนัยความหมายแฝงอยู่ ก็เอามาเล่าดูซิว่า มันมีความหมายแฝงว่าอย่างไร ท่านเล่าไว้ในชาดกเรื่องหนึ่งว่า

ในอดีตกาลเรียกว่าปฐมกัปป์ทีเดียว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง พระนามว่าพระเจ้ามันธาตุ (พอดีชื่อมาใกล้กับนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษคนหนึ่ง ที่ชื่อว่ามัลธัส Malthus) พระเจ้ามันธาตุนี้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่มาก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

พระเจ้าจักรพรรดิมันธาตุก็ปรากฏเป็นเรื่องราวในนิทานว่า มีอายุยืนนานเหลือเกิน มีรัตนะ 7 ประการ ตามแบบแผนของพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย แล้วก็มีฤทธิ์ 4 ประการ ซึ่งท่านรู้กันจึงไม่ได้บอกไว้ว่าฤทธิ์อะไรบ้าง รวมความว่า เป็นบุคคลที่เรียกว่าอัจฉริยมนุษย์ ไม่มีใครเหมือน มีอะไรพรั่งพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง

พระเจ้ามันธาตุนี้มีอายุยืนยาวมาก ได้เป็นเจ้าชายอยู่ 84,000 ปี แล้วก็ได้เป็นพระอุปราชอยู่ 84,000 ปี ครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมาอีก 84,000 ปี

พอล่วงมา 84,000 ปีแล้ว วันหนึ่งพระเจ้ามันธาตุก็แสดงอาการเบื่อหน่ายให้ปรากฏว่าทรัพย์สมบัติที่มีมากมายนี้พระองค์ไม่เพียงพอเสียแล้วเมื่อพระองค์แสดงอาการให้ปรากฏแล้วข้าราชบริพารทั้งหลายก็ทูลถามว่า พระองค์เป็นอย่างไร มีอาการอย่างนี้ ไม่สบายพระทัยอะไรพระองค์ก็ตรัสว่า แหม! ความสุขสมบูรณ์หรือสมบัติที่นี่มันน้อยไป มีที่ไหนที่มันดีกว่านี้มั๊ย ข้าราชบริพารก็กราบทูลว่า ก็สวรรค์ซิพระเจ้าข้า พระเจ้ามันธาตุนี้เป็นจักรพรรดิ และมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่มากที่ว่า 4 ประการ นั้น และมีจักรรัตนะ เมื่อเขาบอกว่าสวรรค์ดีกว่า ก็ทรงใช้จักรรัตนะนั้น (จักรรัตนะก็คือวงล้อของพระเจ้าจักรพรรดิ) พาให้พระองค์ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช มหาราชทั้ง 4 พระองค์ก็ออกมาต้อนรับ ทูลถามว่า พระองค์มีความต้องการอย่างไร เมื่อรู้ความประสงค์แล้วก็เชิญเสด็จให้เข้าครองราชสมบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชทั้งหมด

พระเจ้ามันธาตุนี้รองราชสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชเป็นเวลายาวนานมาก จนกระทั่งต่อมาวันหนึ่งก็แสดงอาการเบื่อหน่ายให้ปรากฏอีก แสดงว่าไม่พอเสียแล้ว สมบัติในชั้นนี้ไม่มีความสุขเพียงพอ ข้าราชบริพารก็ทูลถาม พระองค์ก็บอกให้ทราบและตรัสถามว่ามีที่ไหนดีกว่านี้อีกไหม? ข้าราชบริพารก็ทูลตอบว่า มีซิพะย่ะค่ะ ก็สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไงล่ะ พระเจ้ามันธาตุก็เลยอาศัยจักรรัตนะหรือวงล้อของพระเจ้าจักรพรรดินั้นขึ้นไปอีกถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นพระอินทร์ครอบครอง พระอินทร์ก็ออกมาต้อนรับเชิญเสด็จ แล้วก็แบ่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง

พระเจ้ามันธาตุครอบครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ร่วมกับพระอินทร์คนละครึ่ง ต่อมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งพระอินทร์องค์นั้นหมดอายุสิ้นไป พระอินทร์องค์ใหม่ก็เกิดมาแทนครองราชย์ไปก็สิ้นอายุอีก พระอินทร์ครอบครองราชสมบัติสิ้นอายุไปอย่างนี้ 36 องค์ พระเจ้ามันธาตุก็ยังครองราชย์อยู่ในสวรรค์ มาถึงตอนนี้พระเจ้ามันธาตุชักไม่พอใจ เอ! สวรรค์ครึ่งเดียวนี่มันน้อยไป เราน่าจะครองสวรรค์ทั้งหมด ก็เลยคิดจะฆ่าพระอินทร์เสียเลย แต่มนุษย์นั้นฆ่าพระอินทร์ไม่ได้ เพราะมนุษย์ฆ่าเทวดาไม่สำเร็จ เมื่อความอยากนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง ความอยากหรือตัณหาของพระเจ้ามันธาตุนั้นท่านบอกว่ามีรากเน่า ตัณหามีรากเสียเสียแล้ว ไม่ได้สมประสงค์ไม่ได้ความพึงพอใจ พระเจ้ามันธาตุก็เลยแก่ แก่แล้วก็เลยตาย ตกจากสวรรค์ หล่นตุ้บลงมาในสวน ท่านบอกว่าอย่างนั้น

เป็นอันว่า พระเจ้ามันธาตุก็ตกจากสวรรค์หล่นลงมาในสวน คนสวนมาพบเข้า ก็เลยไปกราบทูลพระญาติวงศ์ทั้งหลายมากันพร้อมหน้าแล้ว ก็ทำพระแท่นที่ประทับบรรทมให้พระเจ้ามันธาตุก็เลยสวรรคตในสวนนั้นเอง แต่ก่อนจะสวรรคต พระญาติวงศ์ก็ถามว่า พระองค์มีพระราชดำริอะไรจะฝากฝั่งสั่งเสียไหม พระเจ้ามันธาตุก็ประกาศความยิ่งใหญ่ว่า เรานี่นะเป็นจักรพรรดิยิ่งใหญ่ ได้ครองราชสมบัติในมนุษย์มาเท่านั้น ได้ขึ้นไปครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชเท่านั้น และได้ไปครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีกครึ่งหนึ่งเป็นเวลาเท่านั้น แต่ยังได้ไม่เต็มตามต้องการก็ตายเสียแล้ว ก็เลยจบ

เรื่องพระเจ้ามันธาตุก็จบเท่านี้ เอาละ นี่เป็นการเล่านิทานให้ฟังว่า ในเรื่องความต้องการของมนุษย์นั้น พุทธศาสนาเห็นตรงกับเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่งว่า มนุษย์มีความต้องการไม่จำกัดหรือไม่สิ้นสุด แต่ไม่เท่านี้ พุทธศาสนาไม่จบเท่านี้ พุทธศาสนาพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ อย่างน้อยที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์จะพึงเข้าใจ 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง คือ ความต้องการนี้ ตามหลักพุทธศาสนา ในแง่ที่หนึ่งยอมรับว่ามนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด แต่นั้นเป็นเพียงความต้องการประเภทที่ 1 พุทธศาสนาแยกความต้องการเป็น 2 ประเภท ความต้องการอีกประเภทหนึ่งจำกัดชัด ความต้องการ 2 ประเภทนี้ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ยังหาศัพท์โดยตรงไม่ได้ ความต้องการประเภทที่หนึ่ง ขอเรียกว่า ความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน คือ ตัณหา เป็นความต้องการที่ไม่จำกัด ส่วนความต้องการประเภทที่ 2 ขอเรียกว่า ความต้องการคุณภาพชีวิต คือ ฉันทะ เป็นความต้องการที่มีขอบเขตจำกัด

ประการที่สอง ซึ่งสัมพันธ์กับหลักความต้องการ คือ พุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ และการที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้นี้ ก็สัมพันธ์กับความต้องการคุณภาพชีวิต กล่าวคือ การที่มนุษย์ต้องการคุณภาพชีวิตนั้น เป็นการแสดงถึงการที่มนุษย์ต้องการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาศักยภาพของตนเองขึ้นไป เพราะฉะนั้น สาระอย่างหนึ่งของการพัฒนามนุษย์ก็คือ การที่เราจะต้องพยายามหันเห หรือปรับเปลี่ยนความต้องการจากความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน มาเป็นความต้องการคุณภาพชีวิต นี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ ซึ่งก็มาสัมพันธ์กับเรื่องความต้องการ

เป็นอันว่า พุทธศาสนาถือว่า ความต้องการมี 2 ประเภท คือความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตนที่ไม่มีขีดจำกัด และความต้องการคุณภาพชีวิตที่มีขอบเขตจำกัด ความต้องการ 2 อย่างของมนุษย์นั้นมักจะมีปัญหาขัดแย้งกันเองบ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่นว่า เราจะกินอาหาร เราย่อมมีความต้องการ 2 ประเภทนี้ซ้อนกันอยู่ แต่ในมนุษย์ทั่วไปนั้นความต้องการคุณภาพชีวิตอาจจะมีโดยไม่ตระหนัก มนุษย์มักตระหนักรู้ตัวแต่ความต้องการประเภทที่ 1

ความจริงนั้น ความต้องการที่เป็นสาระคือต้องการคุณภาพชีวิต มนุษย์ต้องการกินอาหารเพื่ออะไร เพื่อจะหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรง ให้มีสุขภาพดี อันนี้แน่นอน

แต่อีกด้านหนึ่งที่ปรากฏแก่มนุษย์คืออะไร มนุษย์ต้องการเสพรสอาหาร ต้องการความอร่อย ต้องการอาหารที่ดี ๆ ในแง่ของความเอร็ดอร่อย และความต้องการนี้อาจจะขัดแย้งกับความต้องการคุณภาพชีวิต คือมันอาจจะกลับมาทำลายคุณภาพชีวิตด้วย ความต้องการเสพรสนี้จะทำให้เราแสวงหาอาหารที่มีรสชาติดีที่สุด แล้วอาจจะมีการปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งสิ่งที่ปรุงแต่งกลิ่น สี และรสของอาหารนั้น อาจจะเป็นโทษต่อร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสียคุณภาพชีวิต อีกประการหนึ่ง คนที่กินเอาแต่ความอร่อย ก็อาจจะกินโดยไม่มีประมาณ กินเกินไป กินจนกระทั่งท้องอืดไม่ย่อย หรืออาจจะอย่างน้อยทำให้อ้วนเกินไป ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีก กับทั้งทำให้แพงโดยใช่เหตุ

อาหารที่ให้คุณภาพชีวิตอำนวยคุณค่าที่ชิวิตต้องการนั้นอาจจะหาได้ในราคาเพียง 20 บาท แต่คนที่กินเพื่อเสพรสอร่อย เสริมความโก้ จะต้องวิ่งไล่ตามตัณหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ราคาอาหารเพื่อจะสนองความต้องการประเภทที่ 1 ที่ว่าสนองความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน อาจจะร้อยบาท พันบาท ค่าอาหารมื้อเดียวเป็นหมื่นบาทยังเคยได้ยินเลย เพราะฉะนั้นความต้องการประเภทที่ 2 กับประเภทที่ 1 บางทีก็ขัดกัน และขัดกันบ่อย ๆด้วย ถ้ามนุษย์สนองความต้องการประเภทสิ่งเสพปรนเปรอตนนี้มาก ก็จะทำลายคุณภาพชีวิตไปเรื่อย ไม่เฉพาะในการบริโภคอาหารเท่านั้น ในกิจกรรมของมนุษย์ทุกอย่าง แม้แต่เทคโนโลยีก็เหมือนกัน จะต้องแยกให้ได้ว่าอันไหนเป็นความต้องการคุณภาพชีวิต อันไหนเป็นความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน และเอาสองด้านนี้มาพิจารณา

หลักเรื่องความต้องการสองอย่างนี้นำต่อไปสู่เรื่องคุณค่า เพราะความต้องการทำให้เกิดคุณค่า ในเมื่อความต้องการมี 2 อย่าง คุณค่าก็เกิดขึ้นเป็น 2 อย่างเช่นเดียวกัน จะแยกเป็น

คุณค่าแท้ คือ คุณค่าที่สนองความต้องการคุณภาพชีวิต

คุณค่าเทียม คือ คุณค่าเพื่อสนองความอยากเสพสิ่งปรนเปรอตน

ถ้าเราจะมีอะไรสักอย่างหนึ่ง คุณค่าที่แท้ก็จะมีส่วนหนึ่ง แต่มักจะมีคุณค่าเทียมที่เกิดจากตัณหาและมานะ เพื่อให้ได้อร่อย เพื่อให้ได้โก้เก๋ เพื่อแสดงความมีฐานะ ตลอดจนค่านิยมทางสังคมอะไรต่ออะไรพรั่งพรูเข้ามา

ข. การบริโภค

จะพูดต่อไปคือ เรื่องการบริโภค ซึ่งก็เช่นเดียวกัน ต้องแยกว่า เป็นการบริโภคเพื่อสนองความต้องการแบบไหน บริโภคเพื่อสนองความต้องการคุณค่าแท้ หรือเพื่อเสพคุณค่าเทียม

การบริโภคนี้เป็นจุดยอดของเศรษฐศาสตร์ก็ว่าได้ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์นั้น จุดยอดอยู่ที่การบริโภค เราเข้าใจความหมายของการบริโภคว่าอย่างไร เศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมกับเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ จะให้ความหมายของการบริโภคไม่เหมือนกัน การบริโภคเป็นการบำบัดหรือสนองความต้องการ อันนี้แน่นอน เราอาจจะพูดในแง่เศรษฐศาสตร์ว่า การบริโภค คือ การใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ เพื่อให้เกิดความพอใจ นี่คือคำจำกัดความของเศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรม บำบัดความต้องการเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจ แล้วก็จบ

ที่นี้ขอให้มาดูเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ เศรษฐศาสตร์แบบพุทธบอกว่า การบริโภค คือการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ เพื่อให้ได้รับความพอใจ โดยเกิดคุณภาพชีวิตขึ้น หมายความว่าการบริโภคจะต้องมีจุดหมายที่ตระหนักรู้ ไม่ใช่แค่บริโภคให้พอใจ แต่มองเห็นด้วยปัญญาว่าบริโภคเพื่อประโยชน์อะไร

เศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมบอกว่าต้องการแล้วก็บริโภคแล้วเกิดความพึงพอใจก็จบ ไม่ต้องรู้ว่าหลังจากนั้นมันจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นจะบริโภคอะไรก็ได้ ให้เราพอใจก็แล้วกัน มันจะเสียคุณภาพชีวิตหรือไม่เสีย ไม่คำนึง แต่พระพุทธศาสนาบอกว่า จะบำบัดความต้องการเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจก็ถูกต้อง แต่ได้รับความพึงพอใจแล้วต้องให้มีผลตามมา โดยเกิดคุณภาพชีวิต ฉะนั้น การบริโภคก็ต้องมีความมุ่งหมายว่าเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิต นี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ต่างกัน

ค. งาน และการทำงาน

เมื่อต่างกันในธรรมชาติของเรื่องเหล่านี้ คือ เรื่องความต้องการ เรื่องคุณภาพของความต้องการ เรื่องคุณค่า เรื่องการบริโภคแล้ว มันก็ต่างกันแม้กระทั่งในเรื่องธรรมชาติของงาน ความหมายของงานในแง่ของเศรษฐศาสตร์กับพุทธเศรษฐศาสตร์ต่างกันอย่างไร โดยสัมพันธ์กับความต้องการสองอย่างนั้น

แบบที่ 1 ถ้าทำงานด้วยความต้องการคุณภาพชีวิต (รวมทั้งต้องากรพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพของมนุษย์) ผลได้จากการทำงานตรงกับความต้องการทันที เพราะฉะนั้นการทำงานจึงเป็นความพึงพอใจ

แบบที่ 2 ถ้าทำงานด้วยความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน ผลได้จากการทำงานไม่ใช่ผลที่ต้องการ แต่เป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้ผลอย่างอื่นที่ต้องการ เพราะฉะนั้น การทำงานจึงเป็นความจำใจ

ความหมายของงานเป็นคนละอย่าง เมื่อกี้การทำงานเป็นความพอใจ แต่เดี๋ยวนี้ การทำงานเป็นความจำใจ

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตะวันตกนั้นมาจากฐานความคิดที่ถือว่า work คือ การทำงานเป็นเรื่องจำใจ เราทำงานคือ work ด้วยความลำบากเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ได้เงินมาซื้อหาสิ่งเสพบริโภค เราจึงต้องมีเวลาเหลือที่จะมี leisure หาความสุขสำราญยามพักผ่อนจากงานแล้วก็ได้รับความพึงพอใจ ฉะนั้น งานกับความพึงพอใจจึงเป็นคนละเรื่องกัน อยู่ต่างหากเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมตะวันตกได้ปลูกฝังนิสัยรักงานและความใฝ่รู้ให้แก่ฝรั่งอย่างแน่นลึก ฝรั่งจำนวนมากจึงมีความสุขจากการศึกษาค้นคว้าและทำงานอย่างเอาจริงเอาจังอุทิศตัว แต่ถ้าสังคมใดไม่มีวัฒนธรรมที่ใฝ่รู้และรักงานเป็นฐานที่มั่นคง แล้วไปรับเอาความคิดแบบทำงานเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ได้ผลตอบแทนมายึดถือปฏิบัติ ก็จะต้องเกิดปัญหามีผลเสียแก่การทำงาน แก่เศรษฐกิจ แก่ชีวิตและสังคมทั้งหมด

ขอยกตัวอย่างการทำงานที่มีลักษณะต่างกันสองแบบนั้น นาย ก. ทำงานวิจัยเรื่องหนึ่ง สมมติว่าเรื่องการกำจัดแมลงด้วยวิธีไม่ใช่สารเคมี นาย ก. ทำงานวิจัยเรื่องนี้เพื่อความรู้และการใช้ประโยชน์จากตัวความรู้นี้โดยตรง เขาต้องการความรู้ในเรื่องนี้จริง ๆ นาย ก. จะทำงานนี้ด้วยความพอใจ เพราะว่าความรู้และการที่ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้คือตัวผลที่ต้องการจากการทำงาน ฉะนั้น ความก้าวหน้าของงานวิจัย และการได้ความรู้เพิ่มขึ้น จึงเป็นความพึงพอใจทุกขณะ เมื่อเขาทำงานไปเขาก็ได้รับความพึงพอใจ เมื่อความรู้เกิดขึ้น มีความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ความพึงพอใจก็ยิ่งเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยไป

นาย ข. ทำงานวิจัยอย่างเดียวกัน คือเรื่องกำจัดแมลงด้วยวิธีไม่ใช้สารเคมี แต่วิจัยเพื่อเงิน เพื่อจะได้เลื่อนขั้น ทีนี้ ผลได้จากงาน คือความรู้และประโยชน์จากการวิจัยนั้น ไม่ใช่ผลที่เขาต้องการโดยตรง แต่จะเป็นเงื่อนไขให้เขาได้เงิน คือเป็นเงื่อนไขให้เขาได้ผลตอบแทนอย่างอื่นที่เขาต้องการอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น ตอนที่เขาทำงานนี้เขาจะทำงานด้วยความจำใจ ไม่เกิดความสุขจากการทำงาน

เท่าที่ว่ามาในตอนนี้ เป็นเรื่องธรรมชาติของงาน ซึ่งจะเห็นว่า งานในแง่ของพุทธศาสนาที่ทำเพื่อสนองความต้องการคุณภาพชีวิต จะทำให้เกิดความพอใจได้ตลอดเวลา คนสามารถทำงานด้วยความสุข เราจึงเรียกการทำงานประเภทนี้ว่า ทำด้วยฉันทะ

แต่ถ้าทำงานด้วยความต้องการอีกประเภทหนึ่ง คือด้วยความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน ก็เรียกว่า ทำงานด้วยตัณหา ถ้าทำงานด้วยตัณหา ก็ต้องการได้บริโภค แต่เมื่อยังทำงานอยู่ ยังไม่ได้บริโภค ก็ยังไม่ได้รับความพึงพอใจ จึงทำงานโดยไม่มีความสุขตลอดเวลา

ในเรื่องธรรมชาติของความต้องการ ธรรมชาติของคุณค่า ตลอดมาจนกระทั่งถึงเรื่องของงานนี้ พุทธศาสนายอมรับความจริงทุกขั้นตอน ความจริงที่ว่า คนทั้งหลายจะต้องมีตัณหาเป็นธรรมดานี้ ก็ยอมรับด้วย แต่ในเวลาเดียวกันก็มองเห็นว่า มนุษย์มีความต้องการคุณภาพชีวิตอยู่ด้วย ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้ของชีวิตเอง และในการต้องการคุณภาพชีวิตนี้เขาก็ต้องการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย

เพราะฉะนั้น ในการเป็นอยู่ของมนุษย์ แม้ว่ามนุษย์จะมีตัณหา แต่ทำอย่างไรเราจะหันเหความต้องการนี้ให้เบนไปสู่ความต้องการคุณภาพชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วให้การสนองความต้องการคุณภาพชีวิตนั้น เป็นไปเพื่อการพัฒนาตนต่อไป ความหมายที่เปลี่ยนไปนี้จะมีผลโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก แม้แต่คำจำกัดความเกี่ยวกับ wealth หรือ โภคทรัพย์ คำจำกัดความเกี่ยวกับสินค้าและบริการ คำจำกัดความเกี่ยวกับเรื่องการแข่งขัน และการร่วมมือ เป็นต้น เมื่อฐานความคิดต่างกันแล้ว มันก็ต่างกันไปหมด

ง. การแข่งขันและการร่วมมือ

ขอยกมาพูดอีกเรื่องหนึ่งคือ การแข่งขันและการร่วมมือ ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ เขาบอกว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีการแข่งขันกัน แต่ในทางพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์นั้นมีธรรมชาติทั้งแข่งขันและร่วมมือ ยิ่งกว่านั้นยังอาจจะแยกเป็นว่า มีความร่วมมือแท้ และความร่วมมือเทียม

ความร่วมมือเทียมเป็นอย่างไร การแข่งขันกันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราแข่งขันกันเพื่อสนองความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน เราจะแข่งขันกันเต็มที่ เพราะต่างคนต่างก็อยากได้เข้ามาหาตัวให้มากที่สุด เพราะมันไม่รู้จักพอ มันไม่รู้อิ่ม มันไม่เต็ม ฉะนั้น ถ้าเอาเข้ามาที่ตัวเองได้มากที่สุดคนอื่นไม่ได้เลยก็เป็นการดีจึงต้องแข่งขันเพื่อให้ตนได้มากที่สุดเป็นเรื่องธรรมดามนุษย์มีธรรมชาติแห่งการแข่งขันกันเพราะเป็นไปตามธรรมชาติของความต้องการในแง่ที่หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะเอาธรรมชาติของการแข่งขันนั้นมาใช้เป็นแรงจูงใจใจให้ความร่วมมือกัน เรียกว่าทำให้คนฝ่ายหนึ่งร่วมมือกันเต็มที่เพื่อจะแข่งขันกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอาศัยการแข่งขันนั้นเองมาทำให้เกิดการร่วมมือกันขึ้น เช่นว่า เราอาจจะยั่วยุชักจูงให้ประชาชนมีชาตินิยม รวมหัวกันแอนตี้สินค้าจากต่างประเทศก็ได้ แต่ฐานของมันก็คือการแข่งขันทั้งสิ้น การนำเอาการแข่งขันมายั่วยุทำให้เกิดการร่วมมือกันในระดับหนึ่งอย่างนี้ เรียกว่า ความร่วมมือเทียม

อีกอย่างหนึ่งคือความร่วมมือแท้ ความร่วมมือแท้ก็คือ การร่วมมือกันในความพยายามที่จะสนองความต้องการคุณภาพชีวิต เมื่อต้องการคุณภาพชีวิตนั้น มนุษย์สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาของมนุษย์เอง ฉะนั้น ธรรมชาติของมนุษย์นี้จึงมีทางที่จะฝึกให้ร่วมมือกันได้ และการฝึกฝนพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง ก็คือ การที่จะหันเหให้มนุษย์เปลี่ยนจากการแข่งขันกันมาร่วมมือกัน ในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์

เป็นอันว่า เพื่อคุณค่าแท้ มนุษย์ก็สามารถร่วมมือกันได้ แต่เพื่อคุณค่าเทียม มนุษย์จะแข่งขันกันสุดชีวิตจิตใจ เพื่อช่วงชิงตำแหน่งหรือล่าผลประโยชน์ นี่ก็เป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่ขอยกมาเพื่อเป็นตัวอย่างแสดงถึงความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะก็คือ ธรรมชาติของความต้องการ

จ. สันโดษ - ค่านิยมบริโภค

จะขอแทรกเรื่องหนึ่งเข้ามา ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นที่กำลังพูดโดยตรง แต่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ เราเคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง สันโดษ ก็จึงอยากจะยกมาพูดในที่นี้ด้วย ความสันโดษนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิต เกี่ยวกับเรื่องความต้องการของมนุษย์ ที่แยกเป็นความต้องการประเภทที่ 1 และความต้องการประเภทที่ 2 ตามธรรมดาที่เราเห็นกันง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคนใดสันโดษ ความต้องการของเขาก็น้อยกว่าคนไม่สันโดษอันนี้เป็นธรรมดาแท้ๆ แต่ในกรณีที่ถูกต้อง ความสันโดษก็คือ ไม่มีความต้องการเทียม ไม่เห็นแก่ความต้องการประเภทเสพสิ่งปรนเปรอตน แต่มีความต้องการคุณภาพชีวิต การที่เราเข้าใจความหมายของสันโดษผิดพลาด ก็เพราะไม่ได้แยกเรื่องความต้องการคนที่มีความสันโดษนั้น ยังต้องมีความต้องการคุณภาพชีวิตด้วย จึงจะเป็นความหมายที่ถูกต้อง จุดที่พลาดก็คือ เมื่อไม่รู้จักแยกประเภทความต้องการ ก็เลยพูดคลุม ปฏิเสธความต้องการไปเลย คนสันโดษก็เลยกลายเป็นคนที่ไม่ต้องการอะไร อันนี้เป็นความผิดพลาดขั้นที่หนึ่ง

ที่จริงแล้ว ความต้องการคุณค่าแท้ - คุณค่าเทียม ยังนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าความขาดแคลนแท้-ความขาดแคลนเทียม แต่อันนี้เดี๋ยวจะมากไป ขอผ่านไปก่อน หันกลับมาเรื่องความสันโดษ เรามีความเชื่อกันว่า คนไทยสันโดษ แต่มีงานวิจัยแสดงผลออกมาว่า คนไทยมีค่านิยมบริโภคมาก เคยสังเกตหรือไม่ว่า สองอย่างนี้มันไปกันไม่ได้ มันขัดแย้งกันในตัว เราเคยจับมาเข้าคู่เทียบกันหรือเปล่า

มีความเชื่อว่าคนไทยนี้สันโดษ แต่พร้อมกันนั้นก็มีผลงานวิจัยออกมาว่า คนไทยมีค่านิยมบริโภคมาก ถ้าคนไทยสันโดษ คนไทยจะไม่สามารถมีค่านิยมบริโภค ถ้าคนไทยมีค่านิยมบริโภค คนไทยจะไม่สามารถสันโดษ ฉะนั้นจะต้องผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ที่เราพูดได้อย่างหนึ่งก็คือ มีคำติเตียนว่า คนไทยสันโดษ ทำให้ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ไม่ดิ้นรน ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา อันนี้ขอเรียกว่าเป็นคำกล่าวหา ทีนี้ก็มีคำพูดอีกด้านหนึ่งว่า คนไทยมีค่านิยมบริโภค คนไทยไม่ชอบผลิต ก็ขัดขวางการพัฒนาเช่นเดียวกัน ตกลงว่า มองแง่หนึ่งคนไทยสันโดษ ก็ขัดขวางการพัฒนา อีกแง่หนึ่ง คนไทยมีค่านิยมบริโภค ก็ขัดขวางการพัฒนา แต่ที่แน่ ๆก็คือ การที่เร้าความต้องการให้ชอบบริโภคมาก ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เกิดการผลิตมากเสมอไป

ฉะนั้น การที่มีความเชื่อกันในช่วงหนึ่งว่า จะต้องเร้าความต้องการให้คนอยากบริโภคให้มาก จึงจะทำให้คนพัฒนาประเทศชาติได้สำเร็จ แต่เสร็จแล้วปรากฏผลคือ คนไทยมีค่านิยมบริโภคมาก โดยไม่ชอบผลิต เลยกลับทำให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาประเทศชาติหนักลงไปอีก เพราะมีอะไรก็จะกินจะใช้จะซื้อจะหาท่าเดียว แต่ไม่รู้จักทำ ประเทศอื่นเจริญอย่างไร ๆ เขามีอะไรใช้อย่างไร เราก็อยากจะมีจะใช้บ้าง แล้วก็ภูมิใจที่มีที่ใช้อย่างเขา แต่ไม่ภูมิใจที่จะทำให้ได้อย่างเขา นี่แหละคือค่านิยมที่ขัดขวางการพัฒนาเป็นอย่างมาก มันเป็นเครื่องส่อแสดงว่าการเร้าความต้องการโดยไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ให้ถูกต้องนั้น จะไม่นำไปสู่ผลที่ต้องการอย่างแท้จริง

การที่เราเร้าค่านิยมบริโภคต้องการให้คนบริโภคมากไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดการผลิตขึ้น แต่จะทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ การกู้หนี้ยืมสิน ทุจริต เพื่อการบริโภคได้มาก เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง เป็นไปได้ไหมว่า คนไทย (สมัยหนึ่ง) อาจจะสันโดษจริง และคนไทย (อีกสมัยหนึ่ง) ก็มีค่านิยมบริโภคมากจริง โดยที่คนไทยเปลี่ยนนิสัย เคลื่อนจากความสันโดษมาสู่การมีค่านิยมบริโภค ถ้าเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่า การนำเอาระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทย หรือการนำเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ได้นำมาใช้อย่างผิดพลาด ทำให้เกิดผลเสีย

ที่แท้นั้น ถ้าคนไทยมีความสันโดษจริง มันก็เป็นโอกาสว่า เราสามารถใช้สันโดษนั้นเป็นฐาน แล้วส่งเสริมให้เกิดการผลิตขึ้น คือเดินหน้าจากความสันโดษนั้นมาต่อเข้ากับการผลิต เหมือนอย่างประเทศตะวันตกเมื่อเริ่มยุคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็เริ่มความเจริญทางอุตสาหกรรมด้วย work ethic ที่เรียกว่า Protestant ethic ระบบจริยธรรมโปรเตสแตนต์นี้สอนฝรั่งให้รักงานมีความเป็นอยู่แบบสันโดษให้ประหยัด ให้เป็นอยู่อย่างมัธยัสถ์ใช้จ่ายเขียมที่สุด ไม่หาความเพลิดเพลินสุขสำราญหรือฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เมื่อมีรายได้ ก็เก็บออมไว้ เพื่อเอาเงินที่เก็บออมไว้มาลงทุนต่อไป เพื่อจะได้ผลิตให้มากขึ้น ฉะนั้น คนในยุคที่เรียกว่าปฏิวัติอุตสาหกรรมในตะวันตกนั้น จะมีความเป็นอยู่อย่างสันโดษ แต่มีความต้องการในการผลิตมาก ก็จึงหันเหแรงงานของตัวเอง แทนที่จะใช้ในการบริโภค ก็เอามาใช้ในการผลิต เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาให้เกิดความเจริญทางอุตสาหกรรม

โดยนัยนี้ ก็หมายความว่า เรามีทุนดีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง คือคนของเรามีความสันโดษ ไม่ชอบฟุ้งเฟ้อ ไม่เห่อในการบริโภค รู้จักประหยัด ใช้น้อย เราก็ปลุกเร้าความต้องการอีกด้านหนึ่งเติมหรือผนวกเข้ามา คือสร้างนิสัยรักงาน และความอยากทำให้สำเร็จขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดการผลิตขึ้นได้ ทำให้บรรลุผลคือความเจริญทางอุตสาหกรรม

แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของคนผิด แล้วใช้ระบบเศรษฐกิจนี้อย่างผิดพลาด ก็มาเร้าความต้องการบริโภค ให้คนเกิดค่านิยมบริโภคขึ้น ความสันโดษที่มีอยู่เดิมก็หายไป และการผลิตก็ไม่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย อย่างเดียว พัฒนาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ฉะนั้น สันโดษนั้นถ้าเข้าใจให้ถูกต้อง ก็คือว่า มันตัดความต้องการประเภทที่ 1 คือความต้องการคุณค่าเทียม ตัดความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน แต่กลับมีความต้องการคุณภาพชีวิต ซึ่งจะต้องหนุนเสริมขึ้นไป ในทางพุทธศาสนานั้น สันโดษจะต้องมาคู่กับความเพียรเสมอไป สันโดษเพื่ออะไร เพื่อจะได้ประหยัดแรงงานและเวลาที่จะสูญเสียไปในการที่จะปรนเปรอตน แล้วเอาแรงงาน และเวลานั้นไปใช้ในการทำงานปฏิบัติหน้าที่ สันโดษมีความมุ่งหมายอย่างนี้ นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ฉ. การผลิต

ที่จริงมีเรื่องจะต้องพูดอีกมากเกี่ยวกับการผลิต การผลิตนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ การพิจารณาเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นการพิจารณาธรรมชาติทั้งหมดในวงกว้าง

ในทางเศรษฐศาสตร์ การผลิตเป็นคำพูดที่ลวงตาและลวงสมอง ในการผลิต เราคิดว่าเราทำอะไรให้เกิดขึ้นใหม่ แต่แท้ที่จริงนั้นมันเป็นการแปรสภาพ คือแปรสภาพอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากวัตถุอย่างหนึ่งไปเป็นวัตถุอีกอย่างหนึ่ง จากแรงงานอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง การแปรสภาพนี้เป็นการทำให้เกิดสภาพใหม่โดยทำลายสภาพเก่า เพราะฉะนั้นในการผลิตนั้นตามปกติจะมีการทำลายด้วยเสมอไป

ถ้าเศรษฐศาสตร์จะเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้วจะคิดถึงแต่การผลิตอย่างเดียวไม่ได้ การผลิตแทบทุกครั้งจะมีการทำลายด้วย การทำลายในบางกรณีนั้นเรายอมรับได้ แต่การทำลายบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ฉะนั้น จึงมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการผลิตในทางเศรษฐกิจนี้ เช่นว่า การผลิตบางอย่างเป็นการผลิตที่มีค่าเท่ากับการทำลาย ซึ่งจะมีปัญหาว่าควรจะผลิตดีหรือไม่ ในบางกรณีเราอาจจะต้องมีการงดเว้นการผลิต และการงดเว้นการผลิตนั้นก็เป็นกิจกรรมที่เสริมคุณภาพชีวิตได้ด้วย

ฉะนั้น ในเศรษฐศาสตร์แบบใหม่นี้ จะพิจารณาคนด้วยการผลิตหรือไม่ผลิตเท่านั้นไม่ถูกต้อง การไม่ผลิตอาจจะเป็นการกระทำหรือเป็นกิจกรรมที่ดีทางเศรษฐกิจก็ได้ เราจะต้องพิจารณาเรื่องการผลิตโดยแยกออกอย่างน้อยเป็น 2 ประเภท คือ การผลิตที่มีค่าเท่ากับการทำลาย (เช่น การผลิตที่เป็นการทำลายทรัพยากร และทำให้สภาพแวดล้อมเสีย) กับการผลิตเพื่อการทำลาย (เช่น การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์) มีทั้งการผลิตที่มีผลในทางบวก และการผลิตที่มีผลในทางลบ มีผลในทางเสริมคุณภาพชีวิต และในทางทำลายคุณภาพชีวิต

อีกประการหนึ่ง ในเศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมนี้ การผลิตมีความหมายแคบ มองเฉพาะในแง่ของการที่จะเอามาซื้อขายกันได้ เป็นเศรษฐกิจแบบการตลาด เพราะฉะนั้นอาตมาภาพอยู่ที่วัด ทำโต๊ะ ทำเก้าอี้ขึ้นมาชุดหนึ่ง เอามานั่งทำงาน เศรษฐศาสตร์บอกไม่ได้ผลิต คนหนึ่งขึ้นเวทีแสดงจำอวดตลกจี้เส้น ทำให้คนหายเครียด บันเทิงใจ จัดการแสดงโดยเก็บเงิน เราบอกว่ามีการผลิตเกิดขึ้น การจัดแสดงจำอวดเป็นการผลิต แต่อีกคนหนึ่งอยู่ในสำนักงานหรือสถานศึกษา เป็นคนที่มีอารมณ์แจ่มใส คอยพูด คอยทำให้เพื่อนร่วมงานร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ จนกระทั่งไม่ต้องมีความเครียด ไม่ต้องไปดูจำอวด แต่เราไม่พิจารณาพฤติกรรมของคนผู้นี้ว่าเป็นการผลิต แล้วทีนี้ คนที่ทำให้คนอื่นเครียด มีกิริยาวาจาที่ทำให้คนอื่นเครียดอยู่เสมอ จนเขาต้องหาทางแก้เครียดด้วยเครื่องบันเทิงคือไปดูจำอวด เราก็ไม่คิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกันเลย

อีกตัวอย่างหนึ่ง เขาจัดแสดงการฆ่าวัว เช่นในเมืองสเปน เขาให้คนลงไปฆ่าวัวกระทิงให้คนดู โดยเก็บเงิน การจัดการแสดงนี้เราเรียกว่าเป็นการผลิตในทางเศรษฐกิจ แต่เด็กคนหนึ่งพาผู้ใหญ่พาคนแก่ข้ามถนน เราไม่เรียกพฤติกรรมของเด็กนี้ว่าเป็นการผลิต

กรณีเหล่านี้ขอให้คิดดู นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาในทางเศรษฐกิจนั้นยังแคบมาก ความหมายของการผลิตก็ยังแคบ ในทางพุทธเศรษฐศาสตร์จะต้องขยายวงความคิดนี้ออกไป ในเรื่องนี้ถ้าเราจะมองหา the invisible hand (มือล่องหน) ของ Adam Smith ก็คงต้องร้องทุกข์ว่า the invisible hand ของ อาดัม สมิธนี้ ทำงานไม่ทั่วถึง เรื่อง Economic growth คือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ดี เรื่อง Wealth คือความมั่งคั่งก็ดี จะต้องเอามาพิจารณากันใหม่ เช่นว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนี้เพื่ออะไรกันแน่ ถ้ามันเป็นไปเพื่อ the increase of the quality of life คือ เพื่อความเจริญเพิ่มพูนของคุณภาพชีวิต ก็จึงน่าจะรับได้

ลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

1. เศรษฐศาสตร์มัชฌิมา: การได้คุณภาพชีวิต

เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ก็จะขอชี้ถึงลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ กล่าวคือ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนี้มีลักษณะเป็นสายกลาง อาจจะเรียกว่าเศรษฐศาสตร์สายกลาง หรือ เศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าระบบชีวิตของพุทธศาสนาที่เรียกว่ามรรคนั้น ก็มีชื่ออยู่แล้วว่ามัชฌิมาปฏิปทา องค์ของมรรคนั้นแต่ละข้อเป็นสัมมา เช่น สัมมาอาชีวะ การที่เป็นสัมมานั้นก็คือ โดยถูกต้อง โดยถูกต้องก็คือทำให้เกิดความพอดี ความเป็นมัชฌิมาหรือสายกลางนั้น ก็คือความพอดีนั่นเอง

ชูมาเกอร์บอกว่า เมื่อมีสัมมาอาชีวะ ก็ต้องมี Buddhist economics ต้องมีเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ ขอพูดต่อไปว่า เมื่อมีสัมมาอาชีวะก็ต้องมีมิจฉาอาชีวะด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อมีสัมมาอาชีวะ คือ พฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ก็ต้องมีมิจฉาอาชีวะคือพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดด้วย ทีนี้เศรษฐกิจถูกต้องที่เป็นสัมมา ก็คือ เศรษฐกิจแบบทางสายกลาง หรือเศรษฐกิจแบบมัชฌิมาปฏิปทา

ในทางพุทธศาสนา มีข้อปฏิบัติที่เต็มไปด้วยเรื่องมัชฌิมา ความเป็นสายกลาง ความพอดี มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ รู้จักพอดี เต็มไปหมด ตลอดจนสมตา เทียบกับที่เราใช้คำว่า สมดุล หรือดุลยภาพ คำเหล่านี้เป็นคำสำคัญในทางพุทธศาสนา

ที่ว่าเป็นสายกลาง เป็นมัชฌิมา มีความพอดี พอประมาณ ได้ดุลยภาพ อันนี้เป็นอย่างไร ความพอดีหรือทางสายกลางอยู่ที่ไหน

ความพอดี คือ จุดที่คุณภาพชีวิตกับความพึงพอใจมาบรรจบกัน หมายความว่าเป็นการได้รับความพึงพอใจด้วยการตอบสนองความต้องการคุณภาพชีวิต เมื่อถึงจุดนี้ ก็จึงโยงกลับไปหาการบริโภค ที่พูดมาเมื่อกี้นี้ว่า การบริโภคเป็นจุดยอดของเศรษฐกิจ

ขอทบทวนความหมายของการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นการบริโภคในทางเศรษฐศาสตร์ก็หมายถึง การใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ ซึ่งทำให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด แต่ในแบบพุทธ การบริโภคคือการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ ซึ่งทำให้ได้รับความพึงพอใจโดยมีคุณภาพชีวิตเกิดขึ้น พอบริโภคปั๊บก็เกิดมีคุณภาพชีวิตนั้น นั่นคือการบริโภคที่สำเร็จผล ถ้าบริโภคเฉยๆ ได้รับความพึงพอใจก็จบ แค่นี้ไม่ถือว่าเป็นเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ เพราะบริโภคแบบคลุมเครือ ทำตามๆกันไป ไม่เข้าใจและไม่คำนึงถึงเหตุผลของการบริโภคไม่รู้ความมุ่งหมายที่แท้ของการบริโภคนั้น เมื่อบริโภคไปได้รับความพึงพอใจหลงเพลินไป ก็จบเท่านั้น แต่พึงพอใจอาจจะเกิดโทษแก่ชีวิตก็ได้ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าทำให้เสียคุณภาพชีวิต

ส่วนการได้คุณภาพชีวิต ย่อมเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ต่อไป ทำให้ชีวิตมีความดีงามยิ่งขึ้น ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์จึงไปสัมพันธ์กับการมีชีวิตของมนุษย์ทั้งหมดที่จะเป็นอยู่อย่างดี มีชีวิตที่ดีงาม ทำสังคมให้มีสันติสุข โดยนัยนี้ ถ้าเศรษฐศาสตร์จะมีความหมายอย่างแท้จริง เศรษฐศาสตร์จะต้องมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ในการทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตที่ดีงาม มีความสุขร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นด้วย มิฉะนั้นเศรษฐศาสตร์จะมีไว้เพื่ออะไร

จุดยอดของเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเมื่อกี้อยู่ที่การบริโภค เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ จึงปรากฏตัวในหลักที่เรียกว่า โภชเน มตฺตญฺญุตา หลักนี้มีกล่าวอยู่เสมอ แม้แต่ในโอวาทปาติโมกข์ที่เราเรียกว่าหัวใจพุทธศาสนาก็ระบุไว้ว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความรู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักประมาณคือรู้จักพอดี ความพอประมาณ คือความพอดี คำว่า มัตตัญญุตา คือความรู้จักพอดี เป็นหลักสำคัญกระจายอยู่ทั่วไปในสัปปุริสธรรม 7 ประการ ก็มี โดยเฉพาะในหลักการบริโภคจะมีมัตตัญญุตานี้เข้ามาทันที

ตัวกำหนดเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก็คือ มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ รู้จักพอดีในการบริโภค หมายถึงความพอดีที่ให้คุณภาพของชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจ

ในคำสอนแสดงข้อปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะพระสงฆ์ เมื่อจะบริโภคอะไรก็ต้องพิจารณาเหตุผลหรือความมุ่งหมายของการบริโภค ตามสูตรที่ว่า ปฏิสังฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาต… ?… พิจารณาทุกอย่างไม่ว่าจะบริโภคอะไร แต่เดี๋ยวนี้เราว่ากันเป็นมนต์ไปเลย ไม่รู้เรื่อง สวดจบเป็นใช้ได้ อันที่จริงนั้นท่านสอนว่า เวลาจะบริโภคอะไรก็ให้พิจารณา คือพิจารณาว่า เราพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงบริโภคอาหาร เนว ทวาย นมทาย นมณฺฑนาย มิใช่เพื่อสนุกสนาน มิใช่เพื่อลุ่มหลงมัวเมา มิใช่เพื่อโก้ หรูหรา ฟุ่มเฟือย ยาวเทว อิมสฺส กายฺสส แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายมั่นคงดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตดำเนินไป เพื่อกำจัดทุกขเวทนาเก่า เพื่อป้องกันมิให้มีทุกขเวทนาใหม่ เพื่อเกื้อหนุนชีวิตอันประเสริฐ เพื่อเกื้อกูลต่อชีวิตที่ดีงาม

เวลาบริโภคจะต้องเข้าใจความหมายอย่างนี้ และบริโภคให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย แล้วความพอดีก็อยู่ที่นี่ ฉะนั้น จึงบอกว่า ความพอดีหรือสายกลาง อยู่ที่คุณภาพชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจ เพราะว่าผู้ที่เป็นชาวพุทธพิจารณาเข้าใจความหมายของการบริโภคว่าเพื่อความมีสุขภาพดี เพื่อเกื้อกูลต่อการมีชีวิตที่ดี เพื่ออยู่เป็นสุข ดังนั้น คุณภาพชีวิตคือสิ่งที่ต้องการในการบริโภค และบริโภคแล้วได้รับความพึงพอใจที่ได้คุณภาพชีวิตนั้น นี้คือความหมายของ มัตตัญญุตา คือ ความพอดีที่ว่าเป็นทางสายกลาง

เป็นอันว่า กิจกรรมในทางเศรษฐกิจนี้ เป็น means คือ มรรคา ไม่ใช่เป็น end หรือจุดหมายในตัวเอง ผลที่ต้องการในทางเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง แต่เป็นมรรคา คือ เป็นฐานสนับสนุนกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์ เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เขาบริโภคอาหารแล้วไม่ใช่อิ่มเฉย ๆ ไม่ใช่อิ่มแล้ว พออร่อย ๆ ก็จบเสร็จกัน ไม่ใช่แค่นั้น แต่ให้เขาอิ่มเพื่อให้เขามีกำลังกาย มีกำลังความคิดจะได้ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ จะได้ฟังได้พิจารณาในเรื่องที่เจริญปัญญาต่อไป ดังในเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างที่ว่า พระพุทธเจ้าให้คนจัดหาอาหารให้คนเข็ญใจรับประทาน เมื่อเขารับประทานเสร็จแล้ว ก็ไม่ใช่จบแค่นั้น แต่เพื่อให้เขาได้ฟังธรรมต่อไป มันจึงเป็น means

ในเมื่อหลักการมีอยู่อย่างนี้แล้ว ก็จะมีวิธีปฏิบัติปลีกย่อยที่แยกซอยออกไปอีก เช่น ในกรณีที่คนมีกินอยู่แล้ว เรากลับไม่สอนให้เขากินให้เต็มที่ ไม่สอนให้กินตามที่อยาก ยิ่งกว่านั้น บางครั้งยังมีการยกย่องพระบางองค์ที่ฉันมื้อเดียว

ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์ยุคอุตสาหกรรม ก็ต้องสรรเสริญคนที่กินให้มากที่สุด บริโภคสี่มื้อสิบมื้อคงยิ่งดีใหญ่ แต่ในกรณีที่พอแก่ความต้องการคุณภาพชีวิต เรากลับสรรเสริญพระบางองค์ที่ฉันมื้อเดียว แต่ไม่ใช่การฉันมื้อเดียวนั้นเป็นจุดหมายนะ ถ้าฉันมื้อเดียวแล้วไม่ได้ทำอะไรให้เกิดผลจากการฉันมื้อเดียวก็ไม่ได้เรื่อง กลายเป็นเบียดเบียนตัวเองไป ฉะนั้น จะต้องพิจารณาโดยมีเงื่อนไข คือบริโภคสิ่งที่และเท่าที่จะช่วยเกื้อหนุนให้การพัฒนาตนได้ผลดี

ในเรื่องนี้แม้แต่ชาวบ้านก็เหมือนกัน ไม่เฉพาะแต่พระ บางทีมาถืออุโบสถงดอาหารในเวลาเลยเที่ยวไปแล้ว ไม่รับประทานในเวลาบ่าย เวลาค่ำ การงดกินอาหารที่เคยกินมาตามปกติ กลับมีความหมายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีคุณค่าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ฉะนั้น การบริโภคจึงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นไปได้ทั้งในแง่บวกคือกิน และแง่ลบคือไม่กิน หมายความว่า "ไม่กิน" ก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตได้เหมือนกัน แล้วคนก็สามารถมีความพึงพอใจจากการงดกินได้ด้วย คือ สามารถได้รับความพึงพอใจจากการไม่บริโภค แต่ได้รับคุณภาพชีวิต

ตามปกติ เราต้องมีความพึงพอใจจากการบริโภค แต่ในหลายกรณี เรามีความพึงพอใจจากการไม่บริโภคหรือไม่ได้บริโภค อย่างไรก็ตาม การได้รับความพึงพอใจจากการงดการบริโภคอาจจะเกิดจากกิเลส เช่น มีมานะถือตัว จะแสดงให้เห็นว่าเรานี่เก่ง เรานี่แน่ จึงงดไม่รับประทานอาหาร แล้วรู้สึกภูมิพองในใจว่า เรานี้รับประทานอาหารมื้อเดียวได้ เราเก่งแล้วก็พึงพอใจ แต่เป็นความพึงพอใจจากกิเลส คือมานะ เป็นเพียงการก้าวจากตัณหาขึ้นไปสู่มานะ

ส่วนความพึงพอใจที่ถูกต้อง คือความพึงพอใจที่ว่า การกินน้อยลงหรือการอดอาหารครั้งนี้ เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง หรือเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต การที่เรางดการบริโภคครั้งนี้ มันช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น ถ้าเกิดความพึงพอใจอย่างนี้ขึ้นก็เป็นความพึงพอใจที่ถูกต้อง

ในกิจกรรมของมนุษย์ปุถุชนที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจในการบริโภคนั้น คนจำนวนมากทีเดียว เมื่อบริโภคเพื่อบำบัดความต้องการ เช่นกินอาหารโดยมุ่งรสอร่อย แต่กลับทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น กินสุราทำให้พอใจ แต่ทำให้เสียสุขภาพ ก่อการวิวาท เกิดอุบัติเหตุ ของบางอย่างอร่อย บริโภคมากเกินไป เกิดเป็นโทษต่อสุขภาพ หรือกินโดยไม่มุ่งคุณภาพ กินโดยไม่มุ่งคุณค่าอาหาร กินมากเปลืองมาก บางทีกินมากเปลืองมาก แต่กลับขาดธาตุอาหาร บางคนกินของดีเอร็ดอร่อยมากมาย แต่ต่อมาปรากฏว่าเป็นโรคขาดอาหาร ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว และไม่เท่านั้น แถมทำให้คนอื่นอดกินไปเสียด้วย ตัวเองก็ขาดธาตุอาหาร คนอื่นก็พลอยอดกิน เพราะตัวเองกินมากเกินไป

ฉะนั้น ความพอใจไม่เป็นตัวตัดสินอรรถประโยชน์ ถ้าความพอใจนั้นไม่มาพร้อมกับการได้คุณภาพชีวิต ความพึงพอใจบางครั้งกลับเป็นตัวการทำลายอรรถประโยชน์ เช่น ทำให้คนหลงมัวเมา ทำลายสุขภาพ เสียคุณภาพชีวิต เป็นต้น

ทางเศรษฐศาสตร์นั้นเขามีหลักอันหนึ่งว่า สินค้ามีอรรถประโยชน์โดยสามารถทำให้เกิดความพอใจแก่ผู้บริโภค เศรษฐศาสตร์เขาวางหลักไว้อย่างนี้ แต่มองในทางกลับกัน เราก็สรุปได้ว่า ถ้าอย่างนั้นก็บริโภคให้มาก กินเข้าไปเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจ แต่แล้วก็เกิดผลอย่างเมื่อกี้นี้ ผลบวกก็มี ผลลบก็มี ทำลายคุณภาพชีวิตก็มี อย่างนี้หรือเป็นอรรถประโยชน์

ทีนี้ถ้ามองในแง่พุทธเศรษฐศาสตร์ก็ต้องบอกว่า สินค้าและบริการมีอรรถประโยชน์โดยสามารถทำให้เกิดความพอใจ ในการที่ได้เสริมคุณภาพชีวิตแก่ผู้บริโภค ต้องเติมต่อท้ายอย่างนี้ ฉะนั้น คำจำกัดความเรื่องสินค้า เรื่องบริการ เรื่องโภคทรัพย์ อะไรต่ออะไร ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนทั้งหมด แต่อาจจะต้อง modify ต้องมีการดัดแปลงกันมากบ้างน้อยบ้าง

2. เศรษฐศาสตร์มัชฌิมา: ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของความพอดีหรือมัชฌิมา คือไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อันนี้เป็นหลักสำคัญเหมือนกัน เป็นหลักตัดสินพฤติกรรมมนุษย์ของพุทธศาสนา ไม่เฉพาะในการบริโภคเท่านั้น แต่ในทุกกรณีทีเดียว เป็นมัชฌิมาก็คือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คำว่า ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ในพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เฉพาะคน เรามีหลักว่า อหึสา สพฺพปาณาน แปลว่า ไม่เบียดเบียนชีวิตทั้งปวง ซึ่งสมัยนี้เขาเรียกว่า ecosystems ความหมายอีกอย่างหนึ่งของความพอดีหรือมัชฌิมา คือไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อันนี้เป็นหลักสำคัญเหมือนกัน

เมื่อมองในแง่ของพระพุทธศาสนาอย่างนี้ หลักการทางเศรษฐศาสตร์ก็เลยมาสัมพันธ์กับเรื่องระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ว่ามีองค์ประกอบ 3 อย่างสัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่ องค์ประกอบ 3 อย่างนี้คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ธรรมชาติในที่นี้ จำกัดวงแคบเข้ามา ในความหมายของคำว่า ecosystems ซึ่งในภาษาไทยบัญญัติศัพท์ไว้ว่า ระบบนิเวศ หรือเรียกง่าย ๆว่า ธรรมชาติแวดล้อม

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนั้นต้องสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างครบวงจร การที่จะสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างครบวงจร ก็ต้องเป็นไปโดยสัมพันธ์ด้วยดีกับองค์ประกอบทุกอย่างในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ องค์ประกอบทั้งสามในการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นจะต้องประสานเกื้อกูลกัน หมายความว่า องค์ประกอบเหล่านี้ประสานกันด้วย และเกื้อกูลต่อกันด้วย ในการดำรงอยู่ร่วมกันและก็เดินไปด้วยกัน ฉะนั้น พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์จะต้องเป็นไปในทางที่ไม่เบียดเบียนตน คือ ไม่ทำให้เสียคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ให้เป็นไปในทางที่พัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมคุณภาพชีวิตนั้น นี่เป็นการไม่เบียดเบียนตน และไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และไม่ทำให้เสียคุณภาพของ ecosystems หรือระบบธรรมชาติแวดล้อม

ปัจจุบันนี้ได้มีความตื่นตัวกันมากในประเทศพัฒนาแล้ว โดยพากันห่วงใยต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคน เช่น การใช้สารเคมี และการเผาผลาญเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลในการทำลายสุขภาพตนเอง ทำลายสุขภาพผู้อื่น และทำลายสภาพแวดล้อม เข้าหลักว่าเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอารยธรรมมนุษย์

เมื่อพูดถึงองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคมนี้ ก็มีเรื่องแทรกเข้ามาคือเรื่อง เทคโนโลยี ปัญหาอย่างหนึ่งคือ เราเข้าใจเทคโนโลยีว่าอย่างไร ในความหมายของพุทธศาสนาหรือเฉพาะพุทธเศรษฐศาสตร์ว่า เทคโนโลยีคืออะไร เนื่องจากเวลาหมดแล้ว จึงขอรวบรัดว่า ในความหมายของพระพุทธศาสนา เทคโนโลยี คือ เครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์

เรามีมือ มีเท้า มีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เรามีอินทรีย์ แต่อินทรีย์ของเรามีขีดความสามารถจำกัด เราต้องการจะตอกตะปูตัวหนึ่งเราต้องการเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง เราจะเดินก็ช้า เราจะเอามือตอกตะปูก็เจ็บแย่ แล้วจะทำอย่างไร เราก็เลยต้องผลิตฆ้อนขึ้นมา ฆ้อนก็มาช่วยขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ ทำให้มือของเราสามารถทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น ตอกตะปูได้สำเร็จ เราขยายวิสัยของเท้า จะเดินทางก็มีรถยนต์ ต่อมาก็มีเครื่องบิน ตาของเราเห็นได้จำกัด ของเล็กนักก็มองไม่เห็น เราก็สร้างกล้องจุลทรรศน์ขึ้นมา ทำให้สามารถมองเห็นจุลินทรีย์ตัวเล็ก ๆได้ ตาของเรามองไปได้ไกลไม่พอที่จะเห็นดวงดาว ซึ่งอยู่ไกลมากดูเล็กเกินไป บางดวงก็ไม่เห็น เราก็สร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นมา มองไปเห็นสิ่งเหล่านั้นได้

ปัจจุบันนี้เราก็สามารถขยายวิสัยแห่งอินทรีย์สมองของเราออกไป โดยสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา รวมความว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์

ในยุคปัจจุบันนี้ เราขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ด้วยวิธีการทางวัตถุ ทำให้เกิดความเจริญในระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา แต่ในสมัยโบราณยุคหนึ่ง คนเอียงสุดไปทางจิต ก็ได้พยายามขยายวิสัยแห่งอินทรีย์โดยทางจิต การขยายวิสัยแห่งอินทรีย์โดยทางจิตนั้นก็ทำให้เกิดเป็นฤทธิ์เป็นอภิญญาขึ้นมา ดังที่มีเรื่องบอกไว้ว่า คนนั้นคนนี้มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์เหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นต้น ก็เป็นการขยายวิสัยแห่งอินทรีย์เหมือนกัน เป็น physical technology คือ เทคโนโลยีทางกายอย่างหนึ่ง กับ psychical technology คือ เทคโนโลยีทางจิตอย่างหนึ่ง

เป็นอันว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์และเทคโนโลยีนั้นก็ได้เข้ามาสัมพันธ์กับระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่มีองค์ประกอบ 3 ประการนั้น กล่าวคือ มนุษย์ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของตนในการเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบส่วนอื่นในการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือธรรมชาติและสังคม และเทคโนโลยีนี้ก็เกิดเป็นสภาพแวดล้อมอย่างใหม่ขึ้นมา เป็นสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น

สภาพแวดล้อมส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ บางทีก็ไปรุกรานหรือขัดแย้งกับสังคมและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเดิม และทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ปัญหาทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นว่าโดยรวบยอด คือ สภาพแวดล้อมส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ บางทีก็ไปรุกรานหรือขัดแย้งกับสังคมและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเดิม และทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ปัญหาทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นว่าโดยรวบยอด คือ

การพัฒนาเทคโนโลยีนั้น อาจจะเป็นการพัฒนาในลักษณะที่ขัดแย้งกับระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ทำให้เสียคุณภาพ ทำให้เสียดุลในระบบของมนุษย์ ธรรมชาติ สังคม แล้วก็ขัดขวางความสัมพันธ์ที่ดี ที่เกื้อกูลกัน ระหว่างองค์ประกอบทั้งสามอย่างนั้น

มีการใช้เทคโนโลยีนั้น ในลักษณะที่เป็นการเบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่น

ฉะนั้น เมื่อสัมพันธ์กับเทคโนโลยี มนุษย์จะต้องแก้ปัญหานี้โดยพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะที่จะทำให้เกิดการประสานและเกื้อกูลกัน ภายในระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสามอย่างแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้น และใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น

      ที่มา พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...