พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

รักแท้นั้นไซร้อยู่ใกล้แค่ใจเรา

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. (2554)
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ
การจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี
รุ่นที่ ๒ สถาบันพระปกเกล้า


         
          ๑. เกริ่นนำ

          ผู้เขียนได้อ่านผลการศึกษาของเอแบคโพลล์ ซึ่งได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “ความเข้าใจของเด็กเยาวชนไทยเกี่ยวกับวันมาฆบูชา และความตั้งใจทีจะทำกิจกรรมต่างๆ ในวันมาฆบูชา: กรณีศึกษาเยาวชนอายุ ๑๒-๒๔ ปี ในเขตกรุเทพมหานครและปริมณฑล โดยศึกษาจากประชากรกลุ่มตัวอย่าง ๑,๓๒๕ คน ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ ๑๑-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า เด็กเยาวชนจำนวน ๖๕.๔% ที่ไม่รู้ว่าวันใดคือวันมาฆบูชา และ ในจำนวนเหล่านี้ ประชาชนจำนวน ๒๗% ไม่ทราบว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” คือ หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา

          นอกจากนี้ จากการสำรวจทำให้พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยที่ให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชามากกว่าวันวาเลนไทน์ มีจำนวนมากกว่า กลุ่มเด็กที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา คือ ร้อยละ ๔๓.๒ ต่อร้อยละ ๖.๔ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ ๒๗.๓ ให้ความสำคัญเท่ากันทั้ง ๒ วัน และร้อยละ ๒๓.๑ ไม่มีความเห็น

       จากประสบการณ์ของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก การทำกิจกรรมทางศาสนาในอดีตที่ผ่านมา คำถามสำคัญที่กลุ่มเด็กเยาวชนทั่วไปมักจะตั้งคำถามก็คือ “เพราะเหตุใด? กลุ่มคนทั่วไปจึงเรียกวันมาฆบูชาว่าเป็นวันแห่งความรักแนวพุทธ หรือแบบพุทธ” หลักการหรือธรรมะชุดใดใน “โอวาทปาฏิโมกข์” ที่บ่งบอกถึงนัยของคำว่า “พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนให้มนุษยชาติรักและห่วงใยซึ่งกันและกัน”

           จากการวิเคราะห์หลักธรรมในโอวาทปาฏิโมกข์ เราจะพบชุดของพุทธพจน์ที่น่าสนใจ และบ่งบอกนัยให้เราได้ตระหนักรู้ว่า “นี่คือร่องรอยของถ้อยคำที่บ่งบอกว่าวันนี้เป็นวันแห่งความรัก” ได้อย่างประจักษ์ชัด กล่าวคือ ในประโยคที่ว่า “การไม่กล่าวร้าย (อนูปวาโท) การไม่ทำร้าย (อนูปฆาโต)” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พระองค์ตรัสเตือนในประเด็นเดียวกันนี้ว่า “ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต (ผู้เว้นขาด) ซึ่งคำว่า “บรรพชิต” ในบริบทนี้จึง “หมายถึง ผู้ที่เว้นขาดจากการทำร้ายคนอื่น” และ “ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะ (ผู้สงบ) ซึ่งคำว่า “สมณะ” ในบริบทนี้ จึงหมายถึง การสงบกาย วาจา และใจโดยไม่พยายามที่จะเบียดเบียนคนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ”

           การตีความในลักษณะนี้ จึงสอดรับกับผลการวิจัยในเรื่องเดียวกันนี้บางประเด็นที่ชี้ว่า “สำหรับพฤติกรรมที่เยาวชนไทยตั้งใจจะลด ละเลิกในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ ได้แก่ การงดเว้นจากการใช้วาจาที่ไม่ดี เช่น พูดปด โกหก นินทาว่าร้าย พูดส่อเสียด และไร้สาระ การลดการดื่มเหล้า การเลิกสูบบุหรี่ การเลิกเล่นการพนัน และอบายมุข การเลิกลักเล็กขโมยน้อย การเลิกขี้เกียจ การเลิกใช้ยาเสพติด การเลิกทำสิ่งผิดกฎหมาย และเลิกทะเลาะวิวาทกับคนอื่น รวมถึงการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน จากพฤติกรรมและการแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม”

             จะเห็นว่า หากเรามุ่งที่จะตีความใน “ภาษาธรรม” แล้ว เด็กเยาวชนเหล่านี้ สามารถเป็นได้ทั้ง “บรรพชิต” และ “สมณะ” ในคราวเดียวกันดังที่ปรากฎในผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่า “ในวันมาฆบูชานั้น เด็กเยาวชนกลุ่มตัวอย่างมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเว้นขาดจากสิ่งเหล่า นั้น” ที่นำไปสู่การเบียดเบียน และทำร้ายบุคคลอื่นๆ หรือ สิ่งอื่นๆ ในสังคม

               อย่างไรก็ดี หลักธรรมที่ถือได้ว่าเป็น “แก่น” หรือ “แกน” ที่จะทำหน้าที่ในการกำกับ และควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจของเด็กเยาวชนเหล่านั้นใน “วันแห่งความรักแบบพุทธ” คือ “ความอดทน” (ขันติ) ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง” ความอดทนในบริบทนี้จึงหมายถึง “การรักษาความเป็นปกติของตนไว้ได้ ในเมื่อได้รับผลกระทบด้วยสิ่งอันไม่พึงปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอดทนต่อการล่วงเกินของคนอื่น ความอดทนต่อความเจ็บใจ และความทนต่อความกระทบกระแทกแดกดันของคนอื่น

             เมื่อใดก็ตาม เด็กเยาวชน หรือหมู่ชนทั่วไป อดทนต่อสภาวะการณ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบอารมณ์ในลักษณะดังกล่าวได้ ย่อมเกิดผลในเชิงบวกตัวเราเอง และสังคมโดยภาพรวมโดยที่ (๑) เราจะไม่พยายามที่จะตอบโต้ หรือทำร้ายคนอื่น แม้คนอื่นๆ จะพยายามว่าร้าย หรือมุ่งร้ายเรามากเพียงใดก็ตาม (๒) เราจะไม่เบียดเบียน และทำร้ายคนอื่นๆ เพียงเพราะว่า “ต่างสถาบัน” “ต่างวัฒนธรรม” “ต่างสี” หรือ “ต่างความคิด”ทั้งๆ ที่คนบางกลุ่มไม่เคยทะเลาะ หรือทำร้ายเราในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

          ๒. อดทนไม่ได้ จึงต้องตายเพื่อประชดรัก

       ประเด็นที่ควรค่าแก่การห่วงใยอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันคือ การที่เด็กเยาวชนบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับความรัก และกำลังสูญเสียในสิ่งที่ตัวเองรัก หรือเข้าใจว่าคนรักกำลังตีจาก และอดทนไม่ได้ต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของตัวเอง โดยมองว่า “ตัวเองกำลังได้รับการปฏิเสธการรับรักจากคนอื่น” จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อ “ประชดคนรัก” ดังจะเห็นจากกรณีของ “หญิงสาววัย ๒๔ ปีที่ฆ่าตัวผ่านแคมฟรอก (Camfrog) เพราะประจักษ์ชัดว่า ชายหนุ่มผู้เป็นที่รักได้บอกเลิกความสัมพันธ์”

            ประเด็นคำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อถึงจุดหนึ่งของภาวะวิกฤติ ทำไมเด็กสาวคนดังกล่าวจึงไม่เลือก "พ่อแม่ หรือพี่น้อง" ที่อยู่เคียงข้างเธอมาตลอดชีวิต เธอกลับไปเลือกที่จะตายเพื่อ "ประชดผู้ชาย" ที่เพิ่งผ่านเข้ามาในชีวิตได้ไม่ถึงปี และหมดสิ้นความรักในตัวเธอ

           นักพูด นักคิด และนักปฏิบัติการด้านความรักหลายท่านในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักจะตั้งข้อสังเกตว่า “วัยรุ่นมักจะมอบ และทุ่มเทความรักให้แก่เพื่อนมากกว่าพ่อและแม่” แท้ที่จริงแล้ว วัยรุ่นรักเพื่อนมากกว่ารักพ่อและแม่จริงหรือ? หรือว่า วัยรุ่นไม่ได้รักเพื่อนของตัวเอง แต่เขากำลังนำเพื่อนมาสนองตอบต่อความรักที่ตัวเองกำลังเรียกร้องและค้นหา

            ๓. ความรักเสมอด้วยตนย่อมไม่มี

           พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความรักเสมอด้วยตนย่อมไม่มี” หมายความว่า ไม่มีมนุษย์ตนใดที่จะรักคนอื่นมากกว่าการรักตัวเอง ฉะนั้น การที่ใครสักคนฆ่าตัวตายคือการที่เขาไม่ต้องที่จะให้ตัวเองต้องทุกข์ทรมาน กับอดีตที่เลว ร้าย และไม่ต้องการให้ตัวเองต้องจมปลักอยู่กับความเจ็บปวด และการเลือกฆ่าตัวตายคือการเลือกที่จะหนี หรือไปเจอ และแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าหรืออนาคตที่ดีกว่าให้แก่ตัวเอง

            ประเด็นนี้สอดรับกับงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง "การฆ่าตัวตาย" และสัมภาษณ์ผู้หญิงที่ตัดสินฆ่าตัวแต่ไม่ตาย ได้พบคำตอบที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า "การที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย" ไม่ได้เกิดจากการที่เธอไม่รักตัวเอง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “เพราะเธอรักตัวเองมากที่สุด และไม่ต้องการให้ตัวเองเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ดังนั้น การฆ่าตัวตายนอกจากหนีปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังอาจจะพาตัวเองไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่าโลกที่เป็นอยู่ด้วย จากเหตุผลนี้ เธอจึงต้องฆ่าตัวตาย”

            ๔. รักแท้ รักเทียม

            เราควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรักอย่างไร? จึงจะพบทางรอดในอนาคต เมื่อหันกลับมาพิจารณา "ความรัก" สรุปโดยหลักใหญ่ใจความในบริบทนี้มี ๒ ประการ คือ

             (๑) รักเทียม คือ ความรักที่เราต้องเอาเขามาทำให้เรามีความสุข แม้ว่าเขาจะทุกข์ทรมานจากการนำเขามาเพียงใดก็ตาม (สิเนหา) เป็นความรักแบบมีเงือนไข และเต็มไปด้วยพรมแดน เคียดแค้นยามไม่สมหวังในรัก พระพุทธเจ้าตรัสเรียกรักประเภทนี้ว่า "ความเศร้าโศก และความกลัว ย่อมเกิดจากความรัก (ไม่ว่าจะเป็นสิ่งหรือคนที่เรารัก) หากเราหลุดพ้นจากความรักประเภทนี้แล้ว ความเศร้าโศก และความกลัวจะหาได้จากที่ไหน" ฉะนั้น รักในบริบทแรก จึงได้รับการประเมินว่า "ความรักคือความทุกข์"

               (๒) รักแท้ คือ ความรักที่เราต้องการจะทำให้เขามีความสุข คำว่า "เขา" ในที่นี้ หมายถึงใครก็ได้ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายในโลกนี้ ความรักแบบนี้ เราเรียกว่า "เมตตา" เป็นความรักสากล (Universal love) ที่ไม่มีเงื่อนไข (Un-condition) อิสระ (Freedom) ที่ปราศจากคาดหวัง (Expectation) ไม่เรียกร้องรักตอบ รักในความหมายนี้ จึงได้รับการตีค่าว่า "ความรักคือความสุขแท้ มิใช่สุขเทียม" หากทุกคนขยายพื้นที่ของความรักเช่นนี้ออกไปมากเพียงใด ครอบครัว สังคม และโลกก็จะได้รับไออุ่นจากความรักประเภทนี้เพียงนั้น ฉะนั้น "โลกของเราจะอยู่รอดได้ ก็เพราะความรัก"

            การที่จะแสวงหาความรักจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความรักที่แท้จริงซ่อนตัวและนอนนิ่งอยู่ภายในใจของเรา เราสามารถสร้างให้มีขึ้นภายในใจของเรา เป็นความรักที่ไร้เงื่อนไข ไร้ทุกข์ ไร้เสียงร้องให้ และไร้น้ำตาอันเกิดจากการสูญเสีย

             หากเราจะมีรักสักครั้ง ทำไมความรักที่ใครสักคนจะมอบให้แก่กันและกัน จึงต้องคลอเคล้าด้วยน้ำตา หรือว่าการจะมีรักสักครั้ง จะต้องลงทุนแลกมาด้วย "น้ำตา" ทำไมเราต้องวิ่งไปหาสิ่งภายนอกมาทำให้เรารู้สึกว่า "เรามีรัก" เพื่อให้รัก "เติมเต็มให้กับชีวิตของเรา" การวิ่งหาความรักเช่นนี้ เราจะตอบตัวเองได้ไหม กี่ปี กี่เดือน เราจึงจะค้นพบรักแท้ แต่ใครจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว "รักแท้นั้นไซร้อยู่ใกล้แค่ใจเรา"

               ๕. หากจะลองรักครั้งใด อย่าไร้สติและปัญญา

               หากคิดจะรักใครหรือสิ่งใด จงโปรด "รักอย่างมีสติและปัญญา" เพราะสองสิ่งนี้ จะทำให้เราหลุดพ้นไปจากกลัว หวาดระแวง และหยาดน้ำตา หากเมื่อใดก็ตาม "สติและปัญญา" ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนั้น เมฆหมอกอันดำมืดของ "อวิชชา" คือ "ความโง่" ก็จะเข้ามาปกคลุม กินพื้นที่ และครอบครองอาณาจักร

              การที่เรารักใครสักคนมากเกินไปจนไร้สติ จึงทำให้เรา "กลัว" กลัวว่า เราจะสูญเสียรักไป ในขณะเดียว เพราะเรารักใคร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป เราจึงต้อง "เศร้าโศกเสียใจ" หากสักวันหนึ่ง เราต้องจากสิ่งที่เรารัก หรือสิ่งที่เรากำลังจะตีจาก หรือหนีหายไปจากใจของเรา

              เมื่อใดก็ตาม ที่จิตของเราอยู่เหนือ "อิทธิพลของรักเทียม" ไม่ตกเป็นทาสของความรักโดย "ขาดสติ" ก่อนรัก ในขณะที่เรากำลังรัก และหลังจากที่เรารัก เมื่อนั้น ความกลัวว่า เรากำลังจะจากสิ่งที่เรารัก และกลัวว่าคนหรือสิ่งที่เรารักกำลังจะจากเราไป และ ความเศร้าโศกเสียใจที่เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก ก็จะเลือนมลายหายไปจากใจของเราด้วย

             ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราคงทำอะไร หรือ สิ่งใดไม่ได้มากไปกว่าการนั่งตระหนักอยู่ในมุมที่เงียบสงบว่า "เราไม่รู้หรอกว่าการยืนอยู่เหนือหุบเหวแห่งรักแท้นั้น เต็มไปด้วยความสุขขนาดไหน หากเราไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับความเจ็บปวด ทรมานในหุบเหวแห่งรักเทียมที่เรากำลังเผชิญหน้ากับมัน" ในวินาทีนี้ จะมีเพื่อนมนุษย์กี่คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความหนาวเหน็บในหุบเหว และจะมีสักกี่คนที่กำลังอิ่มเอมกับสุขแท้ที่เกิดจากรักอย่างมีสติ

             ถึงกระนั้น ประสบการณ์ วัน และเวลาทำให้พวกเราเข้าใจว่า "รักแท้คือความอิสระ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรารัก" เพราะเมื่อใดที่เรายึด เมื่อนั่นเราจะรู้สึกว่าขาดความอิสระ หรือเบาสบาย การเด็กที่รักตุ๊กตามาก จะกอดรักตุ๊กตาแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อกอดแน่น สิ่งที่จะตามมือคือความอัดอัดขัดใจ ความไม่สบายใจ ไม่สบายใจ ก็จะเกิดตามมาอย่างเห็นได้ชัด

             สรุปก็คือ จะเห็นว่า เมื่อใดก็ตาม เรายิ้มให้กับความรัก และเข้าไปสัมพันธ์กับความรักประดุจดัง "กัลยาณมิตร" รวมไปถึงการมองความรักอย่างเข้าใจ และมีปัญญา เมื่อนั้น ความรักก็จะมอบ "ความเข้าใจ" "ปัญญา" และ "กัลยาณมิตร" ตอบแทนต่อเราเช่นกัน

              ๖. นึกถึงรักแท้ครั้งใด นึกถึงลมหายใจของตัวเอง

                พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพวกเราว่า "กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์และตัวของมันเอง" ความจริง เวลาก็คือเวลา และในฐานะที่ "เวลา" เป็นสิ่งสมมติที่ชาวโลกสร้างขึ้นเพื่อใช้เรียกขาน และกำหนดนับสิ่งต่างๆ ให้สะดวกและง่ายต่อการดำเนินชีวิต ถึงกระนั้น "เวลา" หาได้มีอิทธิพลต่อ "ความดี" หรือ "ความชั่ว" ภายในของเราไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอื่นไปไม่ได้ หากเราไม่ใช้เวลาที่เราสมมติมาเป็นเครื่องมือ "รับใช้" การพัฒนาคุณค่าภายใน หรือความดีความงามของเรา รวมไปถึงพฤติกรรมการคิด การพูด หรือการทำของเรา

               เมื่อมองย้อนไปกลับหาวัน และเวลาในอดีต หากมีสิ่งใดผิดพลาด หรือบกพร่องอันเกิดจากการไม่รู้เท่าทัน หรือขาดประสบการณ์ในการคิดวิเคราะห์ ขอได้โปรดนำประสบการณ์ที่ "เลวร้าย" หรือ "ความบกพร่อง" มาเป็นเครื่องมือพัฒนาตัวเอง หรือยกระดับจิตของตนเองให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น ดังพุทธพจน์ที่ว่า "จงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท" ด้วยการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความโลภ ความโกรธ และความหลง ฉะนั้น "จงนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน แต่อย่านำอดีตมาครอบงำปัจจุบัน"

               นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนพวกเราด้วยความห่วงใยว่า "วันคืนล่วงเลยไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่” ประเด็นคือ “วันคืนเคลื่อนคล้อย ชีวิตเหลือเหลือน้อยลงทุกวัน" คำถามคือ หากปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เราจะสามารถมีชีวิตอยู่ สิ่งแรกที่เราปรารถนาจะทำคือ "การได้อยู่กับลมหายใจของตนเองอย่างมีสติ"

                สิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดคือ "ลมหายใจ" และในขณะเดียวกัน "ลมหายใจ" ได้ทำหน้าที่ในการหยิบยื่น "ชีวิต" ให้แก่เรา แทนที่เราจะสนใจ หรือใส่ใจอยู่ทุกเวลาและนาที รวมไปถึงการให้ความสำคัญโดยการกล่าวคำว่า "ขอบคุณลมหายใจ" ในวันใหม่ หรือปีใหม่ แต่เรากลับหลงลืมที่จะใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ และหลายสถานการณ์เรากลายเป็นคน "อกตัญญูต่อลมหายใจของเราเอง" อย่างไม่น่าเชื่อและไม่น่าให้อภัย

                ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงย้ำเตือนเราทุกคนว่า "หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้" ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เช่น ขับรถ ทำงาน และทำกิจกรรมอื่นๆ หากเมื่อใดก็ตาม เราหลงลืมกัลยาณมิตรของเราโดยไม่รู้ว่าเรากำลังหายใจ คำถามคือ เราจะต่างอะไรจากคนที่ตายแล้ว เพราะลืมหายใจหนึ่งวินาที ก็เหมือนกับว่าเรากำลังตายหนึ่งวินาที หากลืมหนึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งวัน เราก็ตายหนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งวันเช่นกันตามพุทธพจน์ที่ว่า "คนขาดสติเหมือนคนที่ตายแล้ว"

                เมื่อใดก็ตามที่เราใส่ใจต่อกัลยาณมิตรของเราโดย "กตัญญูต่อลมหายใจของเรา" หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ซึ่งเป็นการระลึกนึกถึงกัลยาณมิตรของเราตลอดเวลาเช่นนี้ เมื่อนั้น เราจะได้รับ "ความตื่น" และ "เบิกบาน" มาเป็น "ของขวัญ" แก่ชีวิตของตนเอง และแล้วเราจะพบว่า "ความสุขที่ยิ่งใหญ่คือการได้อยู่กับลมหายใจของตัวเอง"

ขอเชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมแบ่งปันความรักได้ที่
(ที่มา: บทความทางวิชาการ)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...