ผู้หวังความเจริญในการปฏิบัติจำเป็นต้องรักษาต้นพรหมจรรย์คือศีล ให้บริสุทธิ์สะอาด เพราะศีลนี้เป็นการปรับพื้นฐาน คือ กาย วาจา ให้อยู่ในระเบียบพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ในเมื่อพื้นฐานที่เราปรับดีแล้ว เราจะปลูกฝังศีล สมาธิ ปัญญา ลงไป มันก็เป็นสิ่งที่จะผลิดอกออกผลได้ง่าย อันนี้เป็นหลัก และท่านทั้งหลายก็คงทราบดีอยู่แล้วว่า หลักการใหญ่ๆ ในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เราจะต้องยึดศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลัก เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นหลักการที่จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องศีล ผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ นอกจากจะอบรมสมาธิให้มีให้เป็นขึ้นง่ายแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ป้องกันความเข้าใจผิดในพระธรรมวินัยอีกด้วย ผู้ปฏิบัติแล้วเกิดสัญญาวิปลาศสำคัญผิดว่าเป็นถูก สาเหตุเนื่องมาจากความเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ การทำสมาธินั้น ไม่เฉพาะแต่ในพระพุทธศาสนา แม้ในลัทธิศาสนาอื่นๆ เขาก็มีการทำสมาธิกัน เช่นอย่างในลัทธิศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาพราหมณ์นี้ มีมาก่อนพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก เพราะฉะนั้น ในหลักการของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงยกว่าศีลเป็นหลักการสำคัญ เพราะศีลที่บริสุทธิ์สะอาดแล้วนั้น มันเป็นสิ่งซึ่งเป็นกำแพงกั้นความเข้าใจผิดในพระพุทธศาสนามิให้เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้หวังความเจริญพึงยังศีลของตนให้บริสุทธิ์ ในเมื่อศีลบริสุทธิ์ บำเพ็ญสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นแล้ว เราจะใช้สมาธิของเราไปในแนวไหน เราก็เอาหลักศีลมาเป็นเครื่องวัดมาเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าหากการใช้สมาธิออกไปนอกขอบเขตของศีลก็เรียกว่า เราใช้สมาธิผิด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้มุ่งหวังที่จะปฏิบัติให้สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน หรือแม้แต่คุณธรรมชั้นสูงที่ถูกต้องตามหลักคำสอนนั้น จะต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์
การเจริญบริกรรมภาวนาจนทำจิตให้เป็นสมาธิได้ดีแล้ว ควรจะต้องผ่านการพิจารณาอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาร่างกายของตนเองและร่างกายของผู้อื่นให้เห็นเป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก เมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานเป็นที่เข้าใจ จนจิตยอมรับว่า ร่างกายทั้งสิ้น ทั้งของตนและของคนอื่น เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกสกปรก ยอมรับลงไปอย่างจริงจังแล้ว หลังจากนั้น เพื่อความก้าวหน้าของการบำเพ็ญ ให้เจริญธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณากายของตนเองแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้จิตยอมรับลงไปว่า ร่างกายที่เรายึดถือว่าเป็นของๆ เราอยู่นี้ แท้ที่จริงก็หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี เป็นสักแต่ว่าความประชุมของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อาศัยวิญญาณเข้าไปสิงสถิตยึดครองโดยยึดมั่น ถือมั่น โดยการถือว่าเป็นของๆ ตน นี่ท่านอาจารย์เสาร์ได้ให้คำแนะนำและแนะแนวไว้อย่างนี้ ดังนั้น
การพิจารณาอสุภกรรมฐานนั้น เราจะยึดอะไรเป็นหลัก เราก็ยึดกายกับใจนั้นแหละเป็นหลัก ใจเป็นตัวสำคัญ ในที่นี้ขอใช้คำว่า จิต พูดทั้งจิตทั้งใจเดี๋ยวจะเป็นการเข้าใจสับสน จะขอใช้คำว่า จิต กับ กาย เราเอาจิตนี้พิจารณาร่างกาย ตั้งแต่เบื้องบนลงมาถึงเบื้องล่าง ตั้งแต่เบื้องล่างขึ้นไปถึงเบื้องบน โดยแยกออกเป็นส่วนๆ ซึ่งเรียกว่า กายคตาสติ ซึ่งมีอาการ ๓๒ พิจารณาตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
อนึ่ง เมื่อจะเจริญอสุภะ พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า อัตถิ อิมัสมิง กาเย ของไม่งามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดมีอยู่ในกายนี้ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มังสา นะหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง วักกัง คือ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง คือเนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด อันตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรีสัง คือ ไส้ใหญ่ สายเหนี่ยวไส้ ราก ขี้(คูถ) มัตถะเกมัตถะลุงคังคือ เยื่อในสมองศีรษะ ปิตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท คือ น้ำดี น้ำเสมหะ น้ำเหลืองน้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น อัสสุ วะสา เขโฬ สิงฆานิกา ละสิกา มุตตัง คือ น้ำตา น้ำมันเปลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำเยี่ยว
ผมนั้น งอกอยูตามหนังศีรษะ ดำบ้างขาวบ้าง ขน นั้น งอกอยู่ตามขุมขนทั่วกาย เว้นไว้แต่ฝ่ามือฝ่าเท้า เล็บ นั้น งอกอยู่ตามปลายมือปลายเท้า ฟันนั้น งอกอยู่ตามกระดูกคางข้างบนข้างล่าง สำหรับ เคี้ยวอาหาร ชุ่มอยู่ด้วยน้ำลายเป็นนิตย์ หนัง นั้น หุ้มทั่วกาย เอาผิวนอกออกเสียแล้ว มีสีขาว เนื้อ นั้น มีสีแดง เหมือนกับชิ้นเนื้อสัตว์ เอ็น นั้น รัดรวบโครงกระดูกไว้ มีสีขาว กระดูก นั้น เป็นร่างโครงค้ำแข้งอยู่ในกาย มีสีขาว เยื่อในกระดูก นั้น มีสีขาว เหมือนกับยอดหวายที่เผาไฟอ่อน แล้วใส่ไว้ในกระบอกไม้ฉะนั้น เยื่อในขมองศีรษะ นั้น เป็นยวงๆ เหมือนกับเยื่อในหอจุ๊บแจง ม้าม นั้น คือแผ่นเนื้อมีสีแดงคล้ำๆ สองแผ่นมีขั้วอันเดียวกัน เหมือนกับผลมะม่วงสองผลมีขั้วอันเดียวกันฉะนั้น อยู่ข้างซ้ายเคียงกับหัวใจ เนื้อหัวใจ นั้น มีสีแดง สัณฐานดังดอกบัวตูม ตั้งอยู่ท่ามกลางอก ตับ นั้น คือแผ่นเนื้อสองแผ่น สีแดงคล้ำๆ ตั้งอยู่ข้างขวาเคียงเนื้อหัวใจ พังผืด นั้น มีสีขาว เหนี่ยวหนังกับเนื้อ เอ็นกับเนื้อ กระดูกกับเอ็น ติดกันไว้บ้าง ไต นั้น เป็นชิ้นเนื้อสีดำคล้ำเหมือนกะลิ้นโคดำอยู่ชายโครงข้างซ้าย ปอด นั้น เป็นแผ่นเนื้อสีแดงคล้ำ ชายเป็นแฉกปกเนื้อหัวใจอยู่ท่ามกลางอก ไส้ใหญ่ นั้น ปลายข้างหนึ่งอยู่คอหอย ปลายข้างหนึ่งอยู่ทวาร ทบไปทบมา มีสีขาว ชุ่มอยู่ด้วยเลือดในท้อง สายเหนี่ยวไส้ใหญ่ นั้น มีสีขาว ราก นั้น คือของที่กลืนกินแล้วสำรอกออกมาเสียฉะนั้น คูถ นั้น คือของที่กินขังอยู่ในท้องแล้วถ่ายออกมาฉะนั้น น้ำดี นั้น สีเขียวคล้ำๆ ที่เป็นฝักอยู่ท่ามกลางอก ที่ไม่เป็นฝักซึมซาบอยู่ในกาย น้ำเสมหะ นั้น มีสีขาวคล้ำๆ เป็นเมือกๆ ติดอยู่กับพื้นไส้ข้างใน น้ำเหลืองน้ำหนอง นั้น มีอยู่ในที่สรีระมีบาดแผล เป็นต้น น้ำเลือด นั้น มีอยู่ตามขุมถูกในกายและซึมซาบอยู่ในกาย น้ำเหงื่อ นั้น ซ่านออกตามขุมขนในกายเมื่อร้อนหรือกินของเผ็ด น้ำมันข้น นั้น มีสีเหลือง ติดอยู่กับหนังต่อเนื้อ น้ำตา นั้น ไหลออกมาจากในกายเมื่อไม่สบาย น้ำมันเหลว นั้น เป็นเปลวอยู่ในพุงเหมือนกับเปลวสุกร น้ำลาย นั้น ใสบ้าง ข้นบ้าง น้ำมูก นั้น เหลวบ้า ข้นบ้าง เป็นยวงออกจากนาสิก น้ำไขข้อ นั้น ติดอยู่ตามข้อกระดูก น้ำเยี่ยว นั้น เกรอะออกจากรากแลคูถ
อะยะเมวะ กาโย กายประชุมส่วนเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดนี้นั่นแลอุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตะจะปะริยันโต มันมีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบปุโร นานับปะการัสสะ อะสุจิโน มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เชคุจโฉ ปะฏิกุโล แต่ล้วนเป็นของไม่งามมีกลิ่นเหม็น ปฏิกูลน่าเกลียดหมดทั้งสิ้น อสุภกัมมัฏฐานหรืออสุภสัญญานี้ เป็นข้าศึกแก่ราคะ ความกำหนัดยินดีโดยตรง ผู้ใดมาเจริญอสุภะ เห็นเป็นของไม่งามในกาย เห็นกายเป็นของไม่งามปฏิกูลน่าเกลียด จนเกิดความเบื่อหน่ายไม่กำหนัดยินดี ดับราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่า ดื่มกินซึ่งรสพระนฤพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญ กายะคตาสติอสุภกัมมัฏฐานนี้ว่า “ผู้ใดได้เจริญกายคตาสตินี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบริโภคซึ่งรสคือนฤพาน เป็นธรรมที่ผู้ตายไม่มี” ดังนี้ นฤพานนั้นก็ดับราคะ โทสะ โมหะนั้นเอง
เหตุนั้น เราทั้งหลายจง อย่าได้ประมาทในกายะคตาสติ นี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิด จะได้ประสพพบพระนฤพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เลิศกว่าธรรมหมดทั้งสิ้นนี้ วิธีเจริญอสุภะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น