พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทนำ

                 ความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนามีมากขึ้นเพียงใด ความจำเป็นที่จะพึงเรียนรู้หรือรู้จักพระพุทธศาสนาในทางที่เป็นแก่นสาร มีคุณประโยชน์ มีคุณลักษณะพิเศษ และในทางที่มีเหตุผล ไม่ใช่เพียงศาสนาที่นับถือสืบๆกันมาตามบรรพบุรุษก็ยิ่งสำคัญเพียงนั้นเพราะปรารภเหตุดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงเกิดขึ้น เป็นหนังสือที่ต้องการจะชี้ให้เพื่อนร่วมชาติ และร่วมศาสนาได้รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผลและหลักฐาน โดยได้พยายามประมวลเอาคุณลักษณะที่ดีเด่นมากล่าวไว้ เพื่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะภูมิใจได้ว่าศาสนาที่เรานับถือนั้นมีความประเสริฐและคุณค่าอันควรเทิดทูน อย่างไร และเพื่อคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนสมัยใหม่ จะได้พิจารณาดูว่าพระพุทธศาสนามีความหมายสำหรับคนสมัยใหม่อย่างไรบ้าง ถ้าพบว่าตนเองยังล้าสมัยกว่าพระพุทธศาสนา จะมีทางทำอย่างไรให้ดำเนินชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาโดยไม่ต้องรู้สึกว่ากระทำไปพอเป็นพิธี หรือตามขนบประเพณี แต่ทำไปอย่างมีเหตุผล
                   อีกประการหนึ่ง พระพุทธศาสนานั้น ถ้าเราจะเคารพนับถือหรือยกย่องว่าประเสริฐวิเศษก็ยังมีทางจะทำได้ โดยไม่ต้องด่าศาสนาอื่น หรือถือว่าคนในศาสนาอื่นเป็นศัตรู พุทธศาสนิกชนที่ดีย่อมมีใจกว้าง ไม่รังเกียจเบียดเบียนผู้นับถือศาสนาอื่น ไม่จำเป็นต้องหาความดีโดยเหยียบบ่าของคนอื่น และเพราะเหตุนี้ คุณลักษณะคือความเป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ซึ่งรวมลงในคำภาษาอังกฤษว่า “Tolerance” จึงเป็นข้อความที่ชาวตะวันตกสรรเสริญยกย่องพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนไว้เป็นอย่างมาก
                 ส่วนที่จะกล่าวถึงพระพุทธศาสนาว่า มีคุณลักษณะพิเศษอย่างไรบ้างในบทต่อๆไป ผู้เขียนเห็นเป็นการสมควรเสนอให้รู้จักพระพุทธศาสนาโดยหลักการกว้างๆ พอเข้าใจเค้าโครงหน้าตาไว้ก่อน อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ต้องการเสนอเน้นเป็นพิเศษถึงคุณลักษณะที่ดีเด่นของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น การบรรยายให้รู้จักพระพุทธศาสนาโดยละเอียดทุกแง่ทุกมุม จึงไม่อาจทำได้หมดด้วยหนังสือเล่มเดียวนี้ ผู้เขียนยังไม่อาจรับรองที่จะเขียนหนังสือชุดทางพระพุทธศาสนาให้จบสมบูรณ์ ตามที่เคยนึกหมายไว้ แต่จะพยายามเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ทำได้ บนพื้นฐานแห่งความตั้งใจที่จะเสนอหลักและเกล็ดความรู้ทางพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ได้นามอย่างหนึ่งว่า “ทนต่อการเพ่ง” ของผู้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล ผู้ไม่เชื่ออะไรอย่างงมงาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...