พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศาสนากับการสร้างสันติภาพโลก

  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. (2553)


                             เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนเดินทางไปเป็นวิทยากรเสวนาร่วมกับ ดร.บรรจง ชมพูวงศ์, รองประธานสภาคริสตจักรประเทศไทย และ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการสำนักงานจุฬาราชมนตรี ศูนย์ภาคใต้ โดยมี อาจารย์ซากี พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในหัวข้อเรื่อง “ศาสนากับสันติภาพ” ซึ่งเป็นการจัดประชุมนานาชาติ โดยเครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมอาเซียน (The ASEAN Muslim Research Organizations Network: AMRON) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำหรับหัวข้อหลักในการจัดการครั้งนี้คือ “มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา: เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา” (ASEAN Islamic Education: Change from within through Ecucation) ผู้เขียนจึงสรุปเนื้อหาจากการนำเสนอมาเป็น “บทความ” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดในโอกาสต่อไป

การเพรียกหา “สันติภาพ” สะท้อนสถานการณ์อะไรในสังคมโลก

                   ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา สังคมไทย และสังคมโลกได้กล่าวถึง “วาทกรรม” ที่เป็นเครื่องมือ และเป้าหมายในการที่จะเชื่อมชาวไทยและชาวโลกให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในหลายถ้อยคำ คือ “สันติภาพ” (Peace) “สันติวิธี” (Peaceful means) “ความสมานฉันท์” (Reconciliation) และ “ความปรองดอง” ( Harmonious Society) ซึ่งแต่ละถ้อยคำที่นำเสนอนั้น มักจะได้รับการตอกย้ำในบริบทที่แตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่แตกต่างกันโดยมี “เวลา” “ผลประโยชน์และความต้องการ” และ “สถานการณ์” เข้ามาทำหน้าที่เชื่อมประสาน

                    ถึงกระนั้น การนำเสนอคำเหล่านี้ ผ่านเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดข้อสังเกตที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

                  (๑) มนุษยโลก และชาวไทย ได้ให้ความสำคัญกับถ้อยดังกล่าว การนำเสนอถ้อยคำเช่นนี้จะส่งผลในเชิงจิตวิทยาและการดำรงอยู่ของคนในสังคม ว่าอย่าได้ละเลย และควรตระหนักไว้ในใจ รวมไปถึงการรักษา และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ในเชิงบวกอยู่ตลอดเวลาเพื่อความผาสุกของมนุษย์ในเชิงปัจเจกและสังคมโดยรวม

                (๒) สังคมของมนุษยโลกและสังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่าง “ไม่มีสันติภาพทั้งภายในและภายนอก หรือมีในเชิงคุณภาพจำนวนน้อย” เมื่อเกิดปัญหา หรือความขัดแย้งขึ้นครั้งใด จึงขาดวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาแบบ “สันติวิธี” แต่มักมีพฤติกรรมในการแก้ไขปัญหาโดย “ใช้ความรุนแรง” เป็นเครื่องมือ และทางออก

                 ในขณะเดียวกัน แม้จะเน้นวาทกรรมว่า “สมานฉันท์” ซึ่งหมายถึง “การแบ่งปันผลประโยชน์ และความต้องการทั้งอำนาจ และทรัพยากรเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความพึงพอใจในความเสมอภาค เที่ยงธรรม และยุติธรรม” แต่บางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดคำถามในมุมกลับว่าหมายถึง “การสมานฉัน” หรือไม่? กล่าวคือ “เน้นตอบสนองความสุข และความพึงพอใจเฉพาะกลุ่มของฉัน โดยไม่สนใจว่า กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคมจะดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไร”

                  อย่างไรก็ดี เมื่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมไทยไม่สามารถที่จะ “สมานฉันท์” หรือตอบรับประเด็นดังกล่าวอย่างแพร่หลาย ได้ จึงนำไปสู่การพัฒนาวาทกรรมที่ว่าด้วย “ความปรองดอง” อันหมายถึงการสร้างความเป็นเอกภาพ และสามัคคีในกลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ถึงกระนั้น “ความปรองดอง” มักจะยึดโยงกับการแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการด้านอำนาจ และทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เที่ยงธรรม และยุติธรรมเช่นกัน

              ฉะนั้น การเกิดวาทกรรมที่ว่า “สันติภาพ สันติวิธี ความสมานฉันท์ และความปรองดอง” นั้น โดยสรุปในประเด็นที่ (๒) คือ สิ่งเหล่ากำลังขาดหายไปจากสังคมโลกและสังคมไทย จึงเป็นที่มาของการเพรียกหาเพื่อจักได้ฟื้นฟู และพัฒนาให้คำเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งภายในใจ และสังคมต่อไป

พลังของศาสนาช่วยสร้างโลก หรือทำลายโลก???

                เมื่อกล่าวโดยหลักการแล้ว พลังของศาสนา “ควรและต้อง” เข้ามากระชับการทำหน้าที่ดังเช่นที่เคยเป็นปรัชญาและปณิธานสำคัญของการก่อตั้งศาสนาขึ้นมาเป็นที่พึ่งพาของชาวโลก โดยทำหน้าที่หลักใน ๒ ประการ คือ

                (๑) ในขณะที่ “การเมือง” ทำให้หมู่คนหวาดกลัว และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ศาสนาควรเข้ามาทำหน้าที่ที่จะทำให้มนุษยชาติ และชาวไทยหายหวาดกลัว หวาดระแวงซึ่งกันและกัน และประเด็นสำคัญก็คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำหลักการสำคัญของแต่ละศาสนามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินทั้งในเชิงปัจเจก และสังคม

              (๒) เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “การเกิดขึ้นของศาสนาเป็นไปเพื่อการอยู่รวมกันอย่างร่มเย็น และเป็นสันติสุขแก่ชาวโลก” เราควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ศาสนาได้กลับมาทำหน้าที่อย่าง “หนักแน่น และเต็มศักยภาพ” และสร้างสังคมให้เกิดการตื่นรู้มากยิ่งขึ้นทั้งในมิติของแนวคิด และแนวปฏิบัติที่สอดรับกับวิถีความเปลี่ยนของสังคมโลก

ศาสนาช่วยโลก หรือว่าโลกช่วยศาสนา???

                อย่างไรก็ดี ในขณะที่ศาสนากับเผชิญหน้ากับ “กระแสของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม” ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมโลกและสังคมไทยในขณะนี้ ได้ทำให้สังคมภาคส่วนต่างๆ ได้ตั้งคำถามที่แหลมคมต่อศาสนาเช่นเดียวกันว่า

                (๑) ศาสนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมนำเสนอทางรอด และร่วมแก้ปัญหาให้มวลมนุษยชาติได้อย่างไร? จึงจะทำให้มนุษยชาติไม่ตกอยู่ในห้วงเหว และหลุมพรางของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม จนนำไปสู่ความสามารถที่จะรู้เท่าทันโดยไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ และเสพสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็น “สิ่งจำเป็นต่อการดำรงเผ่าพันธุ์” และ “สร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่ตัวเองและสังคมโลก”

              (๒) ศาสนาอาจจะกลายเป็นส่วนของปัญหาหรือไม่? อันเนื่องจากการที่ศาสนาในแง่ศาสนาบุคคลในรูปขององค์กรศาสนาเองไม่ได้ตระหนักรู้ หรือรู้เท่าทันต่อกระแสของโลกาภิวัตน์ จึงไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกระแสของการเปลี่ยนของสังคม และทำอย่างไร ศาสนาจึงจะไม่กลายเป็นภาระ หรือส่วนเกินของสังคมในโอกาสต่อไป

              (๓) ศาสนาผ่ายแพ้ต่อลัทธิบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยมจริงหรือไม่? ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ร่องรอยของความพ่ายแพ้” คือ การร่วมสนับสนุนแนวคิดและส่งเสริมอุดมการณ์ดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของการนำเสนอหลักการและแนวทางผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จับต้องได้และไม่ได้ โดยมุ่งเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณค่าแท้” ที่จะเกิดขึ้นแก่ปัจเจกชน และสังคมโดยรวม

คุณค่าของศาสนา: จากการแย่งชิงสู่การแบ่งปัน

             (๑) แบ่งปันความรัก คำถามที่สำคัญคือ “เพราะเหตุใด? มนุษย์จึงต้องรักผู้อื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น” เหตุผลเนื่องมาจาก “การที่มนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ได้” มนุษย์ สัตว์ทุกชนิด และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยและกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต ดำเนินชีวิตเพื่อให้สิ่งเหล่านี้รอดเพื่อพัฒนา “คุณค่าอื่นๆ” ต่อไป ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การอยู่รอดของคนอื่น สัตว์อื่น หรือสิ่งอื่นๆ จึงส่งผลในเชิงบวกต่อการอยู่รอดของเราเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ โดยการแบ่งปันความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน จึงเป็น “ความจำเป็น” ที่ “มนุษย์” จะต้องมีและแสดงออกต่อกันและกัน

               (๒) แบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการ การดำรงอยู่ของมนุษยชาติที่ต้องสัมพันธ์กับวิถีโลกมีความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ และโลกธรรมอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากมนุษย์มีความจำเป็นในการของการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัดนั้น การแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ เกิดความพึงพอใจสูงสุดจึงมีความจำเป็นที่ใส่ใจ โดยใช้กฎกติกามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ นอกจากนั้น การแบ่งปัน “โลกธรรม” ให้สอดรับกับความต้องการของคน หรือกลุ่มคนย่อมมีความสำคัญเช่นเดียวกัน คำถามคือ “เราจะแบ่งปันความต้องการด้านทรัพยากรให้สอดรับกับความต้องการด้านโลกธรรมได้อย่างไร” จึงจะทำให้กลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายในสังคมเกิดความพึงพอใจสูงสุดตามข้อเสนอและข้อเรียกร้อง ประเด็นนี้ รัฐ ผู้นำหรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะวางกรอบหรือกติกาอย่างไร จึงจะใช้เป็นเกณฑ์เพื่อรองรับการตัดสินใจดังกล่าว โดยไม่ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความรู้สึก และสงสัยในความเสมอภาค เป็นธรรมและเที่ยงธรรม

               (๓) แบ่งปันความสุข ความสุขในบริบทนี้ ครอบคลุมถึงความสุขทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก เป็นทั้งความสุขที่ต้องพึ่งพาสิ่งเร้า หรือสิ่งภายนอก และไม่ต้องพึ่งพา ในขณะเดียวกัน ความสุขในครอบครัว ย่อมมีความแตกต่างจากความสุขในระดับสังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก เราจะนิยามความสุขในระดับต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เพราะการนิยามจะมีผลต่อการออกแบบกิจกรรม หรือการดำเนินการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ปรารถนาที่จะมีและเป็น ย่างไรก็ดี เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ล้วนต้องการ และเพรียกหาความสุข ไม่ว่าจะเป็นสุขแท้ หรือเทียม พึ่งพาสิ่งภายนอกหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังและใส่ใจก็คือ การแสวงหาความสุขภายในนับเป็นเรื่องเชิงปัจเจก แต่เราจะแสวงหาความสุขภายนอกอย่างไร จึงจะไม่ทำสุขที่เราแสวงหานั้น ไปกระทบหรือกินพื้นที่ความสุขของคนอื่นๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงลบและนำไปสู่ความรุนแรงต่อไป

              (๔) แบ่งปันถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่า จะเห็นว่า ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ล้วนมีความต้องการและปรารถนาที่จะสัมผัสทางหู และภาษากายส่วนอื่นๆ และสิ่งเหล่านี้ หากมองในเชิงโลกธรรม นับได้ว่ามีผลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต และการดำรงอยู่ของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ในสังคม การออกแบบถ้อยคำโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล ผ่านการปรุงแต่งทางอารมณ์ที่เน้นเรื่องความรู้สึกรัก และใส่ใจกันและกันจึงนับเป็นความสำคัญ ฉะนั้น ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่าจึงควรประกอบด้วยเกณฑ์ที่ว่า “จริง ไพเราะ ไม่เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ และมีเมตตา” เกณฑ์นี้จะเป็นกรอบที่จะทำให้การเปล่งเวลาของแต่ละมีเป้าหมายและท่าทีที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้น

            (๕) แบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ มนุษย์ทุกคนในโลกนี้อาจจะคิดว่า เรากำลังหายใจเอาอากาศจากภายนอกเข้าไปเท่านั้น กลุ่มคนจำนวนน้อยที่จะคิดว่า อากาศที่มีอยู่ทั่วไปนั้น ล้วนเคยเป็นอากาศที่เพื่อนมนุษย์ของเราเคยหายใจเข้าไปแล้วหายใจออกมาทั้งสิ้น ประเด็นก็คือ “เรากำลังสูดดมลมหายใจของกันและกันอยู่ทุกวินาที” ฉะนั้น เมื่อใดก็ตาม ในขณะที่เราหายใจเข้าไป ในขณะนั้น เราโกรธ เกลียด ปองร้าย เกลียดชังเพื่อนของเรา หรือใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อหายใจออกมา เพื่อนรอบข้างของเราย่อมจักหายใจเอาลมหายใจแห่งความเกลียดชัง ความโกรธ ความอิจฉาริษยา และอาฆาตมาดร้ายเข้าไปด้วย แต่หากการหายใจของเราเป็นไปในเชิงบวก การหายใจเข้าออกของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบข้างเราก็จะเป็นไปในเชิงบวกเช่นเดียวกัน

ส่งท้าย
          “ศาสนาช่วยโลกของเราได้อย่างไร?” เป็นประเด็นที่บทความนี้ให้ความสนใจ และใส่ใจคือว่า “หากศาสนาใดๆ ก็ตามในโลกนี้ (๑) ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้นับถือมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างยั้งยืน (๒) ไม่สามารถทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่นอย่างสงบ และสันติสุข (๓) สร้างความหวาดระแวง และหวาดกลัวต่อมวลมนุษยชาติ (๔) ทำให้ผู้นับถือขาดความตระหนักรู้ และเป็นทาสของวัตถุนิยม หรือคล้อยตามลัทธิบริโภคนิยมโดยขาดการรู้เท่าทัน” คำถามคือ “ศาสนาในลักษณะเช่นนี้ มีคุณค่าเพียงใดที่มนุษยชาติจะต้องให้ความตระหนักรู้ และใส่ใจ เคารพ และนับถือบูชา”

               จากการประเมินศาสนาหลักๆ ในโลกนี้ จะพบว่า ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ “เนื้อแท้ หรือแก่นแท้” ของศาสนา เพราะหลักการของศาสนาทุกศาสนาล้วนมีนัยที่มุ่งเน้นให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และสันติ อีกทั้งเป็นไปเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางสันติภาพ สันติวิธี ความสมานฉันท์ และความปรองดองของคนในชาติและสังคมโลก

                อย่างไรก็ดี คำถามหลักที่เรามักจะสงสัยก็คือ “ศาสนบุคคล หรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ในโลกนี้” ได้พยายามหรือสนับสนุน รวมไปถึงการพัฒนา หรือยึดมั่นในหลักการและแก่นแท้ของศาสนาตัวเองมากน้อยเพียงใด ทำอย่างไร? ศาสนบุคคลหรือองค์กรศาสนาต่างๆ จะไม่พยายามที่จะ “บิด” หรือ “แปรรูป” หลักการทางศาสนาที่ทรงคุณค่าไปสู่การรับใช้อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ความต้องการ และอำนาจของกลุ่มตน หรือองค์กรของตน

                 นอกจากนี้ ศาสนบุคคลหรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ได้พยายามมากน้อยเพียงใดที่จะชักนำ และชักพาให้ศาสนิกที่เคารพ ศรัทธาและนับถือให้หลุดออกไปจากวงโคจรของวัตถุนิยม หรือบริโภคนิยมที่กำลังถาโถม และพัดพาให้สังคมโลกกำลังประสบกับปัญหาและชาตากรรมที่ดังที่ประสบอยู่ในขณะนี้ อีกทั้ง เราจะนำ “ลัทธิบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม” มารับใช้มนุษยชาติเพื่อการรู้เท่าทัน และพัฒนาตัวเองและสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร

                  หลักการสำคัญที่ผู้เขียนให้ความใส่ใจคือ “เราจะหันหลังให้แก่ “การแย่งชิง” ไปสู่ “การแบ่งปัน” สิ่งดีๆ ให้แก่กันแลกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะแบ่งปันความรักให้สอดรับกับความรู้ได้อย่างไร เราจะแบ่งปันผลประโยชน์ และความต้องการด้านทรัพยากร ให้สอดรับกับโลกธรรมที่มีอยู่และดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร เราจะช่วยกันนิยามความสุขในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อกันเพื่อให้สอดรับกับความสุขที่คนเหล่านั้นต้องการได้อย่างไร เราจะแบ่งปันถ้อยคำที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีที่มีต่อกันได้อย่างไร และเราจะแบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ เพื่อให้ลมหายใจของเราเป็นลมหายใจแห่งความรักแทนลมหายใจแห่งการเกลียดชังกันได้อย่างไร ประเด็นคือ “การตอบคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดของตัวเราเองเท่านั้น หากแต่เป็นความอยู่รอดของสรรพสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้”

           เชิญร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ http://gotoknow.org/blog/peaceful-means/400751
(ที่มา: บทความทางวิชาการ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...