พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีคุณธรรม นำไปสู่ความสงบ ตามหลักคำสอนของพระองค์ที่ทรงเดินแล้ว บอกชาวพุทธให้เดินตาม สอนให้คนหมดทุกข์ได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย คือนิพพาน ทั้งปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จอย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า “ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น” จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

ประสบการณ์ คือบทเรียนที่ดีต่อการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนาของชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

ยากอะไรไม่เท่ากับปฎิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมาณะ ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบรรพชา หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา.
“พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ที่มา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทำไมต้องเทศน์มหาชาติ..?

          คนไทยทุกชนชั้นล้วนมีวีถีการดำเนินชีวิตที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลักธรรมทางศาสนา คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์นำหลักพุทธธรรมออกมาเผยแผ่แนะนำพร่ำสอนปลูกคุณธรรมจริยธรรมให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุขสวัสดีแก่สังคมส่วนรวมด้วยกระแสหลักพุทธธรรมคำสอนนี้เป็นบ่อเกิดความศรัทธาให้ผู้นับถือได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์กลายเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าต่อชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม กวี เพื่อถ่ายทอดเจตนาอันบริสุทธิ์ใจออกมาเป็น มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม ตามหลักคำสอนทางศาสนา เช่น เกิดมีผลงานเทศน์มหาชาติแหล่ทำนอง ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก
           โดยพระสงฆ์นำไปเทศน์เพื่อเชิญชวนชาวพุทธให้มีความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนของพระพุทธสาสนาให้มั่นคงดำรงอยู่ตลอดไปตราบนานเท่านาน
      การเทศน์มหาชาติมีมาแต่สมัยพุทธกาลเมื่อครั้งพระโสณกุฏิกัณณเถระได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์อนุญาตให้ที่พักใกล้ ๆ กันและให้สวดทำนองสรภัญญะให้ฟังด้วย
             พอพระโสณกุฏิกัณณะสวดจบ พระพุทธเจ้าทรงประทานสาธุการ คือชมว่าสวดเสียงอันไพเราะดีมาก ท่านเลยได้รับเอตทัคคะว่าเป็นผู้มีวาจาไพเราะด้วยการสวดทำนอง ซึ่งผู้เขียนมีมติว่า สรภัญญะนี้เองได้สืบทอดมาจนกลายเป็นการเทศน์มหาชาติแหล่ทำนองขึ้น
           สำหรับการเทศน์มหาชาติในประเทศแถบเอเชียที่นับถือพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในประเทศไทยมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกนครชุม หลักที่ 3 สมัยพญาลิไท ทำนองว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลยเป็นคาถาบาลีเรียกว่าคาถาพันมี 13 กัณฑ์ ต่อมาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ( พ.ศ. 1991-2030 ) ได้ประชุมนักปราชญ์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสมาแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2025
            ต่อมาอีกในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้ประชุมนักปราชญ์แต่งกาพย์มหาชาติขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2145-2170 ( ดร.พระครูวินัยธรมานพ ปาละพันธ์ ( กนฺตสีโล ). 2553 : 59 )
          ต่อแต่นั้นมาเข้าใจว่ามีการฝึกหัดเทศน์มหาชาติตามที่นักปราชญ์ได้ประชุมแต่งขึ้นไว้โดยยึดถือเป็นแบบอย่างของหลวงหรือทำนองหลวง ทีนี้ชาวบ้านชอบตรงไปตรงมาตามภาษาปากเลยดัดแปลงทำนองออกมาเป็นเทศน์ทำนองแบบบ้านก่อเกิดเป็นการเทศน์มหาชาติ 2 แบบคือทำนองหลวงและทำนองราษฏร์สืบมาจนทุกวันนี้.
           บรรณานุกรม
           ดร.พระครูวินัยธรมานพ ปาละพันธ์ ( กนฺตสีโล ). 2553 . สืบสานการเทศน์มหาชาติ.
           กรุงเทพ ฯ : บริษัท เอดิสัน เพรส โพรดักส์ จำกัด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...